สวัสดีครับ หายไปนานสองสัปดาห์เพราะติดงานหลักเล่นเอาแทบสลบจนพอจะมาเขียนประเด็นวันนี้ก็อาจช้าไปหน่อย แต่ก็เป็นข้อดีอีกอย่างคือ ได้มีเวลาสำรวจประเด็นและผลกระทบนานขึ้น ซึ่งประเด็นที่จะคุยในวันนี้ก็คือ การฆ่าตัวตายของ ฮานะ คิมุระ (Hana Kimura) นักมวยปล้ำหญิงที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากรายการ Terrace House
ผมเองก็ทราบข่าวในเช้าวันที่เกิดเหตุคือวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จากเพจมวยปล้ำของมิตรสหายก่อนที่จะมารู้ที่หลังว่าเธอคือ หนึ่งในผู้ร่วมรายการ Terrace House รายการ เรียลลิตี้โชว์ชื่อดังของญี่ปุ่นที่ดังข้ามน้ำข้ามทะเลออกไปนอกเกาะจากการร่วมงานกับ Netflix ในตอนแรกผมก็งงๆ กับข่าว ก่อนจะพบว่า ฮานะตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยสาเหตุคาดว่าน่าจะเกิดจากการถูกรุมด่าทางโซเชียลติดต่อกันเป็นเวลานานจนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยอายุแค่ 22 ปีเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่เธอถูกรุมด่าหนักขนาดนี้ ก็น่าจะเป็นเพราะการร่วมรายการ Terrace House มากกว่าอาชีพมวยปล้ำของเธอ
Terrace House คือรายการเรียลลิตี้โชว์ของญี่ปุ่น ประเทศที่ไม่ได้นิยมรายการเรียลลิตี้เท่าไหร่นัก จนผมตกใจที่รายการนี้ประสบความสำเร็จได้ ก่อนหน้านี้รายการเรียลลิตี้ในญี่ปุ่นที่ผมเห็นว่าดังและเป็นที่รู้จักคือ Ainori ที่ให้วัยรุ่นออกเดินทางไปด้วยกันแล้วก็มีถอนตัว มีสมาชิกใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งก็ได้รับความนิยมในช่วงต้นยุค 2000 แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้เห็นรายการเรียลลิตี้แบบที่เขาฮิตกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแข่งร้องเพลง ไปอยู่บ้านเดียวกัน แข่งทำอาหาร หรือตามติดชีวิตไฮโซ คือญี่ปุ่นนี่ช่วงก่อน Terrace House นี่ผมไม่เห็นกระแสรายการอื่นเท่าไหร่ พอ Terrace House ดังค่อยเริ่มมีรายการอื่นเช่น The Bachelor เวอร์ชั่นญี่ปุ่นขึ้นมาบ้าง
จุดขายที่ Terrace House นำเสนอคือ ไม่มีสคริปต์ไม่ไดมีเป้าหมายอะไร แค่หนุ่มสาวในช่วงอายุประมาณ 20 ปีกลางๆ ที่มีความใฝ่ฝันและทะเยอทะยาน มาอยู่รวมกันในบ้านหลังเดียวกันและใช้ชีวิตไป ก็ค่อยๆ ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเสน่ห์คือไม่ได้มีการพยายามให้มีเหตุการณ์อะไรมากนัก แต่เรื่องราวเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ รวมไปถึงตัวบ้านและกิจกรรมต่างๆ ก็ดูเป็นชีวิตในฝันของหนุ่มสาวที่อยากจะใช้ชีวิตเก๋ไก๋ชิคๆ ไปด้วย
ในขณะเดียวกันคนก็ได้ดูการพัฒนาตัวในสิ่งที่ผู้ร่วมรายการสนใจหรือตั้งเป้าหมายไว้ (ไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกันแบบแข่งร้องเพลง) ดังนั้นก็เหมือนกันได้อยู่บ้านร่วมกันเฉยๆ นั่นล่ะครับ การทำรายการก็คงยากลำบากหน่อยที่ทีมงานก็คงต้องไล่หาดูฟุตเทจว่า ตรงไหนน่าสนใจแล้วค่อยเอามาตัดต่ออีกที จุดที่น่าสนใจอีกอย่างคือ รายการไม่ได้ห้ามติดต่อกับโลกภายนอก ดังนั้นทุกคนก็รับรู้ถึงกระแสของตนเองในรายการ รวมถึงคอมเมนต์จาก ผู้ดำเนินรายการ ที่เป็นดาราดังทั้งหลายที่คอยชมรายการแล้วคอมเมนต์ความเห็นตัวเองในสตูดิโอ และจากเดิมรายการฉายทางเครือ Fuji TV และพอได้รับความนิยมก็ได้ออกนอกเกาะจากการร่วมงานกับ Netflix กลายเป็นรายการฮิตอีกรายการหนึ่งของ Netflix ไป
ตัวฮานะเองร่วมรายการเวอร์ชั่น Terrace House Tokyo ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีก่อน แต่เธอเข้าร่วมในเดือนกันยายน และตัวเธอเองก็เป็นคาแรคเตอร์ที่น่าสนใจไม่น้อยเนื่องจากเธอเป็นเด็กสาวที่มุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จในฐานะนักมวยปล้ำหญิง และตัวเธอเองก็เป็นลูกครึ่งอินโดนีเซีย การร่วมรายการนี้ก็น่าจะเป็นสปริงบอร์ดส่งให้เธอได้รับความสนใจจากคนนอกวงการมวยปล้ำด้วย
แต่ปัญหาก็เริ่มขึ้นเมื่อในตอนหนึ่งของรายการ ฮานะได้ทิ้งชุดมวยปล้ำของเธอไว้ในเครื่องซักผ้า แล้วสมาชิกบ้านคนอื่นไปใช้เครื่องซักผ้าต่อทำให้ชุดมวยปล้ำแสนสำคัญ ซึ่งมีราคาแพงมากสำหรับนักมวยปล้ำน้องใหม่อย่างเธอ รวมไปถึงเป็นเหมือนตัวแทนของนักมวยปล้ำคนนั้น พังจนใช้งานไม่ได้ จนเธอโกรธและโวยวายในรายการ ผลก็คือ ชาวเน็ตเริ่มโจมตีเธอว่าน่ารำคาญ ออกไปให้พ้นๆ รายการ
รวมไปถึงด่าทอเรื่องรูปโฉมของเธอ
และไล่ไปตายอีกด้วย
ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้รายการต้องระงับการถ่ายทำและแน่นอนว่าคนในแวดวงบันเทิงหลายคนก็เลือกที่จะอยู่บ้านเป็นหลัก เพราะนอกจากการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านจะเสี่ยงติดโรคแล้ว หากความแตกออกมาก็อาจจะโดนสังคมรุมประณามได้ (ดังเช่นเคสของจุนอิจิ อิชิดะที่เพิ่งเขียนถึงไป) และช่วงนี้เองที่ฮานะก็อยู่ด้วยตัวคนเดียว
ลองคิดสภาพดูว่าคุณเป็นเด็กสาวที่มุ่งมั่นจะทำอะไรอย่างหนึ่ง และพยายามข้ามไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่งเพื่อสร้างชื่อกับความสำเร็จให้กับตัวเอง แต่พอพลาดไป กลายเป็นว่าต้องมาโดนรุมด่าแบบรัวๆ ทั้งที่เธอแค่แสดงออกรุนแรงไปบ้าง ในรายการทีวี มันไร้เหตุผลเกินไป และยิ่งอยู่ในสภาพที่ชีวิตวันๆ ต้องอยู่ตัวคนเดียวเพราะการระบาด ก็น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจไม่น้อย
ความตายของฮานะทำให้ดาราหลายคนออกมาพูดถึงเรื่องการถูกรุมด่า หรือบูลลี่ ในยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็กลายเป็นว่าใครก็เป็นนิรนามไปด่าใครก็ได้ และคนสาธารณะในญี่ปุ่นก็โดนกันไม่น้อย ของเขาก็มี ดราม่า หรือเรียกว่า Enjou เหมือนกันครับ บางคนก็โดนด่าซ้ำๆ ซากๆ แต่บางคนก็อาศัยก่อดราม่าเพื่อให้อยู่ในข่าวและเป็นที่สนใจเรื่อยๆ เรียกได้ว่าหาประโยชน์จากตรงนี้ มันเลยกลายเป็นเหมือนดาบสองคมที่คนใช้ประโยชน์เป็นก็ได้ประโยชน์ไป แต่อีกกลุ่มคือโดนด่าแบบสาดเสียเทเสียโดยที่ไม่ได้ต้องการด้วยซ้ำ ยังไม่นับกรณีที่ประกาศขู่ฆ่าคนดังอีกด้วย
การบูลลี่ทางโลกออนไลน์
ก็เป็นปัญหาของญี่ปุ่นอีกปัญหาหนึ่ง
ที่ผ่านมาก็มีกรณีที่ทำให้เชื่อว่า สาเหตุของการฆ่าตัวตายของเด็กสาวมัธยมคือ การบูลลี่ออนไลน์ แต่ปัญหานี้ก็ขยายวงกว้างมาถึงคนดังด้วย แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการสนใจอะไรจริงจัง จนกระทั่งฮานะตัดสินใจฆ่าตัวตาย กลายเป็นข่าวที่คนให้ความสนใจนั่นล่ะครับ คนถึงค่อยเริ่มพูดถึง
แน่นอนว่าปัญหานี้มันไม่ใช้ปัญหาที่ญี่ปุ่นแต่อย่างเดียว ปัญหาหนึ่งคือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เราใช้กันทุกวันนี้ มันให้โอกาสเราสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจคนไปใช้ในทางเสียหายด้วย ยิ่งในยุคความสนใจอันแสนสั้น เราพร้อมที่จะแห่ไปถล่มคนคนหนึ่งเพราะเหตุการณ์หนึ่ง ก่อนที่จะลืมๆ ไปแล้วก็ค่อยไปหาเหยื่อดราม่าสนองความสะใจของตัวเองรายใหม่ ไม่ต้องไปไกลหรอกครับ แค่ในเมืองไทย เราเคยไปดราม่ากับอะไรบ้าง จำได้ไหมครับ ถ้าผมไล่เรียงรายชื่อมาตอนนี้อาจจะนึกได้ว่า เออ มันมีเรื่องแบบนี้ด้วยนี่
การไล่โพสต์ด่าว่าแย่แล้ว ยังมีคนหาประโยชน์จากเรื่องแบบนี้ได้ ผมไปเจอยูทูปของคนที่โพสต์วิดีโอไล่ฮานะไปตาย ซึ่งหลังจากเธอฆ่าตัวตายแล้ว ก็รีบอัดคลิปลงช่อง เปิดแชมเปญฉลองที่เธอฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร เพราะต่อให้ยอดวิวหลักแสน แต่คอนเทนต์แบบนี้ยูทูปก็ไม่จ่ายเงินให้แน่นอนครับ แต่ก็คิดว่าคงมีทางหาประโยชน์จากการกระทำชั่วๆ แบบนี้แน่นอน
พอเกิดคดีดังแบบนี้ ก็เริ่มมีเสียงเรื่องการควบคุมการใช้โซเชียลมีเดีย และรวมไปถึงความคิดที่จะวางระบบเซนเซอร์ หรือลบโพสต์โดยอัตโนมัติจากการตรวจจับคำ ซึ่งฟังดูก็น่าสนใจดี แต่พอมาคิดอีกที มันปลอดภัยจริงไหม? หรือจะเป็นการเอาอำนาจไปประเคนให้กับอำนาจรัฐ หรือธุรกิจใหญ่ในการครอบงำความเห็นได้ เป็นเล่นไปนะครับ มีชาวญี่ปุ่นมาโวยแล้วว่า พวกชาวเน็ตก็รุมด่านายกฯ อาเบะเหมือนที่บูลลี่ฮานะล่ะครับ ถ้าคนแบบนี้มีส่วนออกนโยบายนี่ รับรองว่า เสียงวิจารณ์นักการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาลก็อาจจะหายไปได้ง่ายๆ (ส่วนตัวผมมองว่า ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ที่เอาความตายของเด็กสาวมาอ้างเพื่อปกป้องนายกฯ แบบนี้ ซึ่งจะต่างจากกรณีของอเมริกาที่มีคนโดนจับสมัยโอบาม่า อันนั้นโดนเพราะโพสต์จะฆ่า)
ส่วนนี้คือปัญหาในแง่ของสังคม แต่ส่วนหนึ่งที่เราไม่ควรพลาดมองคือ ตัวรายการเองด้วย พูดแบบนี้ผมอาจเจอแฟนรายการปาหินใส่ แต่ก็คงต้องพูด โทคุอิ โยชิมิ (Tokui Yoshimi) หนึ่งในดาราที่คอยดูผู้ร่วมรายการในสตูดิโอ ก็ออกมาโพสต์ว่า กลุ่มเป้าหมายของรายการคือวัยรุ่น ที่อาจจะยังไม่มีวุฒิภาวะในการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้เกินเรื่องเศร้าแบบนี้ได้ แต่คำถามคือ รายการนี้อยู่มา 8 ปี โตมาพร้อมกับโซเชียลมีเดีย
ไม่คิดจะแก้อะไรจนกว่า
จะมีคนฆ่าตัวตายจริงๆ เหรอครับ
ปัญหาสำคัญหนึ่งของรายการคือ ผู้ร่วมรายการรู้ความเห็นของคนทางบ้านแบบเรียลไทม์ และยังได้รู้ความเห็นของผู้ร่วมรายการในสตูดิโออีกด้วย ซึ่งความเห็นของผู้ร่วมรายการเหล่านี้ ก็มีบทบาทในการชี้นำความเห็นของคนทางบ้านอีกที พูดนิดเดียวอาจจะลามทุ่งได้อีก การออกมาพูดแบบนี้ก็ราวกับไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย เป็นเรื่องของคนทางบ้านใช้โซเชียลไม่ดีพอเอง
ยังไม่นับว่ามีข่าวจากอดีตทีมงานที่ออกมาแฉรายการว่า ไม่มีสคริปต์ แต่มีอะไรเกิดขึ้นน่าสนใจก็จะถ่ายอีกครั้งแล้วให้คนร่วมรายการแสดงออกให้ล้นมากขึ้น เพราะมันจะได้น่าสนใจ มีโบนัสในผู้ร่วมรายการหญิงถ้าจูบในรายการ มีการแพลนนั่นนี่เพื่อให้เกิดอีเวนต์ด้วย และจริงๆ แล้วผู้ร่วมรายการแค่มาถ่ายในบ้านที่เตรียมไว้แค่สัปดาห์ละ 2-3 วันเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าสิ่งที่แฉออกข่าวอย่างนี้เป็นจริง ก็ถือว่าเป็นการ abuse ผู้ร่วมรายการ ให้ทำอะไรที่ไม่จำเป็น เพื่อเรตติ้งรายการ โดยไม่ได้คิดเลยว่า คนที่ออกหน้าจะต้องเจออะไรบ้าง จนสุดท้ายก็เกิดเรื่องเศร้าแบบนี้ล่ะครับ
กะจะเขียนเรื่องบูลลี่เป็นหลัก แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าเจอปัญหากับระบบการผลิตรายการอีกเรื่องหนึ่ง ทำให้ชวนคิดได้มากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่ยังหารายละเอียดเจาะไปไม่เจอคือ ฮานะถูกบูลลี่ไม่ใช่แค่เพราะพฤติกรรมในรายการ หรือรูปลักษณ์ที่ไม่ใช่พิมพ์นิยมของชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นเพราะความเป็นลูกครึ่งของเธอด้วยหรือไม่ จริงๆ ประเด็นนี้ถูกถกในสื่อน้อยไปจนเหมือนถูกปัดไม่ให้ความสนใจเท่าไหร่นัก ทั้งๆ ที่ ที่ผ่านมาก็มีกรณีเด็กหญิงลูกครึ่งฟิลิปปินส์ฆ่าตัวตายเพราะถูกเพื่อนในโรงเรียนมัธยมรุมแกล้งมาแล้วด้วย
ขอไว้อาลัยให้กับฮานะ คิมุระ ดอกไม้ที่จากไปอย่างน่าเสียดายมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก