“อย่าไปคุยกับมันนะ ถ้าไม่อยากโดนคว่ำบาตรตามไปด้วย”
ไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนไหน เราเชื่อว่าหลายคนคงต้องมีความทรงจำเรื่องการ ‘คว่ำบาตร’ ใครสักคน ไม่ต้องถึงกับแกล้งกันรุนแรงแบบทำร้ายร่างกายกัน แต่ทำร้ายจิตใจโดยการ ‘เมิน’ ซึ่งมันเจ็บปวดไม่ต่างกัน และสามารถสร้างแผลใจไปได้ตลอดชีวิต
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เรารวมกลุ่มกันเพื่อความอยู่รอด ในยุคโบราณเราอาจจะรวมกันเพื่อผลประโยชน์ต่างตอบแทน แต่ในปัจจุบันที่เราไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มกันเพื่อรับมือภัยอันตรายจากสัตว์ป่าและธรรมชาติแล้ว เราก็ยังต้องการการรวมกลุ่มกันอยู่ดี มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีและสุขภาพกายใจของเรา
เมื่อเราถูกผลักออกจากกลุ่ม
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก มันเป็นความรู้สึกเสียใจจนบอกไม่ถูก เวลาที่ได้เห็นเพื่อนคนอื่นคุยกันสนุกสนาน วิ่งเล่นด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน แต่เรากลับต้องนั่งเงียบๆ อยู่คนเดียวเพราะถูก ‘คว่ำบาตร’ ไม่มีใครเล่นกับเรา ไม่มีใครคุยกับเรา เพื่อนที่เคยสนิทกันก็ตีตัวออกห่างไปเพราะไม่อยากมีปัญหาด้วย โดดเดี่ยว ไม่เหลือใครเลย แล้วชีวิตในโรงเรียนจะมีความหมายอะไร ถ้าไม่ได้มีเพื่อนอยู่ด้วย
ก็จริงอยู่ว่าบางทีการที่ใครคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นมาบอกว่า “เราจะคว่ำบาตรคนนี้กัน” อาจจะมีเหตุผล เราอาจจะไม่ได้เป็นคนน่ารักสำหรับเพื่อน เราอาจจะทำอะไรผิดพลาดไป แต่ทำไมถึงไม่เคยให้โอกาสเราได้รับรู้ว่าเราผิดตรงไหน ต้องแก้อะไรตรงไหนถึงจะกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ แต่หลายครั้งที่การคว่ำบาตรในห้องเรียนเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล หรือเหตุผลอะไรสักอย่างที่ฟังแล้วอยากจะถามว่า สิ่งนี้สามารถเป็นเหตุผลในการทำร้ายใจใครสักคนได้ด้วยเหรอ
การถูกหมางเมินอย่างตั้งใจอาจทำให้เรารู้สึกไม่พอใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ลึกลงไปในใจแล้ว มันทำร้ายเราได้มากกว่าที่คิด มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าคนที่มีความรู้สึกถูกเมินอยู่บ่อยครั้งจะมีระดับความเห็นคุณค่าในตัวเองที่น้อยลง รู้สึกไม่เป็นหนึ่งเดียวกับสังคม และรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย
เด็กหัวโจกคนนั้น ฝากแผลใจไว้กับเราไปตลอดกาล
คนพูดไม่เคยจำ แต่คนที่ฟังไม่เคยลืม ป่านนี้คนที่เคยคว่ำบาตรเราอาจจะได้ดิบได้ดีไปแล้ว เหลือเพียงเราที่ทรมานอยู่กับความกลัวที่จะเข้าสังคม กลัวว่าเหตุการณ์แบบในอดีตจะเกิดขึ้นกับเราอีก แม้ว่าในตอนนี้เราจะโตเป็นผู้ใหญ่และอยู่ในสังคมที่ไม่มีใครทำแบบนั้นกันแล้ว (แน่นอนสิ การทำแบบนั้นในวัยผู้ใหญ่มันไร้เหตุผลสิ้นดี) แต่ความกลัวก็ยังไม่วายมากัดกินใจจนตีตัวออกห่างจากสังคมมาเอง มันเป็นเพราะอะไรกันนะ
มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็กนั้นเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้าที่ต้องการการรักษาในวัยผู้ใหญ่ ดร.อังเดร ซาแรนเดอร์ (Dr. Andre Sourander) ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยาเด็ก มหาวิทยาลัยตุรกุ ประเทศฟินแลนด์ ได้ทำการศึกษาวิจัยในเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และติดตามผลอีกครั้งในตอนที่เด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้น เขาค้นพบว่า 20% ของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งนั้นมีปัญหาทางสุขภาพจิตที่ต้องทำการรักษาเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 23% ของเด็กเหล่านั้นออกมาขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาทางจิตเวชก่อนที่พวกเขาจะย่างเข้าอายุ 30
แต่เด็กกลุ่มที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตหนักที่สุดในวัยผู้ใหญ่คือกลุ่มที่ทั้งเคยถูกกลั่นแกล้งและไปกลั่นแกล้งคนอื่นในโรงเรียน ซึ่งมีกว่า 31% เลยทีเดียวที่มีปัญหาทางจิตเวชที่ต้องทำการรักษา และไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มไหน พวกเขามีอัตราสูงสุดของภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเภท และมีการใช้สารเสพติดด้วย
แล้วจะทำยังไง ถ้าเราไม่กล้าคุยกับใครอีกแล้ว
การถูกคว่ำบาตรในวัยเด็กนั้นสามารถส่งผลถึงความเครียดในการเข้าสังคมเมื่อเราเติบโตขึ้น ทั้งอาการเล็กน้อยอย่างการไม่กล้าคุยกับคน ไม่สบตาใคร คิดมาก ไปจนถึงความกลัวที่จะทำเรื่องอับอายต่อหน้าคนอื่น การแสดงออกทางร่างกายอย่างการตัวสั่น เสียงสั่น เมื่อต้องเข้าสังคม การหลีกเลี่ยงที่จะเป็นจุดสนใจ และบางครั้งก็พัฒนาไปเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพได้เลย
ฟังดูเหมือนเรื่องเล็กๆ ในวัยเด็ก แต่เมื่อเราเจอประสบการณ์ที่ย่ำแย่มาแบบนั้น ไม่แปลกที่ในวัยผู้ใหญ่เราจะเริ่มปฏิเสธสังคม เราไม่ต้องมีเพื่อนก็ได้นี่ ไม่เห็นเป็นอะไร อยู่บ้านคนเดียวก็สบายดี ไม่ต้องเจอใคร แต่สุดท้ายแล้วอาการเหล่านี้จะหาทางเข้ามาทำให้เราเจ็บปวดใจได้อยู่ดี อย่างเวลาเราไปทำงานแล้วรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องคุยกับใคร แต่สุดท้ายแล้ว ก็หยุดตัวเองให้มือสั่นเสียงสั่นไม่ได้เลยในเวลาที่ต้องพูดในที่ประชุม หรืออยากร้องไห้ทุกทีที่ต้องโทรศัพท์ไปจองคิวทำธุระอะไรบางอย่าง ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาที่เราจะ “โอเค ฝืนใจเอาหน่อย เดี๋ยวมันก็จบแล้ว” ได้นะ
เมื่อแผลใจเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาให้มันหาย แต่ก็ยังพอมีวิธีที่จะทำให้เรากล้ากลับมาเจอกับสังคม คุยกับผู้คนอีกครั้ง เราเข้าใจว่าแผลใจที่ลึกขนาดนั้น จะให้มารักษาโดยการปรับเปลี่ยนมุมมองมันยาก เราไม่มีคำแนะนำอะไรมากไปกว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะช่วยให้เราเดินออกมาจากความทรงจำที่ทำร้ายได้อย่างแน่นอน
ในวันที่เราหายดีแล้ว จะพบว่าถึงเราจะผ่านเรื่องราวเลวร้ายมาขนาดไหน แต่มีคนที่พร้อมจะรักเราอย่างถูกต้องอยู่เสมอ
อ้างอิงจาก