เมื่อข่าวร้ายมาเยือน ความโศกเศร้าเป็นกลไกทางอารมณ์ที่ช่วยให้เราลดทอนความวิตกกังวลในจิตใจ แต่ในน้ำตายังมีโอกาสเสมอ และมันสามารถกำหนดทิศทางชีวิตครั้งใหม่ได้
ก่อนหน้านี้พวกเราเข้าใจ Concept ย่อยๆ ของ ‘ความโศกเศร้า’ ซึ่งมีกระบวนการราว 5 ขั้นตอน
ตั้งแต่ภาวะปฏิเสธความเป็นจริง (Denial) โทสะ (Anger) พยายามต่อรอง (Bargaining) ภาวะซึมเศร้า (Depression) และ ยอมรับผลที่ตามมา (Acceptance)
มันแสดงถึงกลไกในการรับมือทางอารมณ์ ที่กว่าเราจะยอมรับความเป็นจริงได้ต้องใช้ระยะเวลา และการทำความเข้าใจภาวะอารมณ์ของตัวเองอยู่พอสมควร
แต่ในอีกแง่หนึ่ง อารมณ์โศกเศร้ายังแฝงไปด้วยพลังที่ผลักดันเราไปข้างหน้าอย่างเหลือเชื่อ และคุณมักแปลกใจทุกครั้งว่าสามารถรับมือความเศร้าได้ดีมากกว่าที่คิดเสียอีก แม้ความทุกข์ระทมทำให้คุณอ่อนไหวบ้าง แต่มันสร้างแรงตึงบางๆ ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคุณไว้ให้เผชิญหน้ากับความเป็นจริง
เพราะความเศร้าสลด (Grieving) ไปได้มากกว่า Sadness เพราะลึกๆ แล้ว เราเชื่อมโยงมันกับประสบการณ์ที่ดีต่างหาก มันจึงเป็นความรู้สึกเชิงบวก ที่หากอยู่ภายใต้การควบคุมที่เราเข้าใจมันอย่างดี ความเศร้าสลดจะเป็นประสบการณ์อันงดงาม
ความเศร้ากินเวลา
ทำไมคุณถึงรู้สึกเศร้าได้นานกว่าเกือบ 240 เท่าจากอารมณ์อื่นๆ อย่างเช่น เขินอาย ตื่นเต้น เบื่อหน่าย หรือสุขสมหวัง ก็เพราะความโศกเศร้านั้นมาพร้อมกับความสูญเสียจากเหตุการณ์โดยตรง เมื่อบุคคลที่เรารักถึงคราวต้องจากไป อย่าอายที่คุณต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นเพื่อรวบรวมเศษเสี้ยวอารมณ์ให้พร้อมเดินหน้าต่อ
มีงานวิจัยเชิงจิตวิทยาของ Philippe Verduyn และ Saskia Lavrijsen จากมหาวิทยาลัย Leuven ในเบลเยียม พวกเขาพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมบางอารมณ์ถึงผูกติดกับเราได้เนิ่นนานกว่าอารมณ์อื่นๆ
พวกเขาจึงเฝ้าติดตามพฤติกรรม และการแสดงออกทางอารมณ์ของนักเรียนในโรงเรียนเบลเยียมราว 233 ราย เป็นเวลาหลายเดือน แล้วมานั่งจับเข่าคุยกันจริงๆ จังๆ ว่า นักเรียนเหล่านั้นหาทางจัดการกับความรู้สึกอย่างไร โดยนักวิจัยเจาะจงไปที่อารมณ์ 27 ชุด
ผลปรากฏว่า ทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ความเศร้า (Sadness) จัดการยากที่สุด ใช้เวลานานที่สุด ในขณะที่ความอับอาย กลัว ตื่นเต้น หรือรังเกียจ มักผ่านเข้ามาเพียงชั่วครู่ชั่วยาม (โดยเฉพาะ ‘ความเบื่อหน่าย’ ที่มาเร็วไปเร็วที่สุด เพราะเมื่อคุณเบื่อก็เพียงไปหาอะไรใหม่ๆ ทำ)
ความรู้สึกที่ผูกพันกับเรานาน ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจ ที่ทำให้เราเผลอคิดถึงผลกระทบแบบย้อนกลับทุกๆ ครั้ง และแน่นอนมันเจ็บปวด
แกร่งราวเหล็กกล้าด้วยความเศร้า
เมื่อคุณเศร้า ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องพยายาม ‘ฝืนยิ้ม’ หรือทำเป็นนิ่งเฉย เพราะการแสดงออกอย่างเปิดเผยที่พอเหมาะ ก่อให้เกิดพัฒนาทางภาวะอารมณ์และมันก็รู้สึกดี ไม่ต้องอายที่จะร้อง หรือกล่าวคำร่ำลา
มันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้เวลาจัดการมันแค่ไหน (Timing) และเลี้ยงดูความโศกเศร้านั้น ไม่ให้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างถาวร ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์รอบข้าง และที่สำคัญคือไม่จมดิ่งไปกับความเศร้าจนพัฒนากลายเป็นปัญหาต่อความสัมพันธ์ของคนอื่นๆ
ประโยชน์จากความเศร้าทำให้แข็งแกร่ง มีชื่อเรียกทางจิตวิทยาว่า Steeling effect โดยนักจิตวิทยาคนสำคัญ Michael Rutter ในปี 1986 ซึ่งงานส่วนใหญ่ของเขาพยายามศึกษาภาวะซึมเศร้าของคนในสังคม และได้ชื่อว่า ‘บิดาแห่งจิตวิทยาเด็ก’
ทำไมคนส่วนหนึ่งเรียนรู้ที่จะงอเมื่อเจอความกดดัน ส่วนอีกคนกลับหักไปเสียดื้อๆ การเผชิญหน้ากับประสบการณ์แย่ๆ อย่างไม่ได้มองมันเป็นปรปักษ์ สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์คุณไปตลอดชีวิต
มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานวัย 16 ปี ถูกยิงศีรษะในระยะเผาขน กลายเป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในฐานะผู้รณรงค์เพื่อสิทธิให้เด็กหญิงมุสลิมในปากีสถานได้เรียนหนังสือ ปัจจุบันเธอไม่มีความแค้นมือปืนคนนั้นเลย
สตีเฟน วิลเลียม ฮอว์คิง ชายแทบเป็นอัมพาตทั้งร่างและต้องสื่อสารผ่านอุปกรณ์สังเคราะห์ ยังคงใช้ข้อจำกัดนั้นสู่การพัฒนาฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา ความทุพพลภาพไม่เป็นอุปสรรคในฐานะศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ความยืดหยุ่นต่อความเศร้าหรือความผิดหวัง (Resilience) ทำให้คุณเห็นมุมมองที่ดีซึ่งแอบแฝงในความโศกเศร้า แต่มันก็ไม่ใช่ของที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด สอนกันไม่ได้ในวันสองวัน ต้องมาจากการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตที่เหมือนการต่อกล่องเป็นบันไดขั้นแล้วขั้นเล่า ซับซ้อนและไม่ง่ายที่จะได้มา
ภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ในจิตวิทยา ไม่ต่างจากเชิงชีววิทยามากนัก คุณต้องปล่อยให้ร่างกายสัมผัสกับประสบการณ์ความเศร้า หรือความผิดหวังบ้าง เหมือนให้จุลชีพและไวรัสเข้ารุกล้ำไปยังร่างกายในปริมาณพอเหมาะ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันได้ออกแรงต่อต้านอย่างสม่ำเสมอ หรือกระทั่งการให้วัคซีนกับเด็กๆ เพื่อป้องกันโรคแก่พวกเขา
เห็นได้ว่า คนที่จัดการความรู้สึกของตัวเองได้ดี ล้วนเป็นคนที่มีประสบการณ์แย่ๆ มาแล้วทั้งนั้น แต่เลือกที่จะไม่จมตัวเองจนเป็นความซึมเศร้าเรื้อรัง ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ความเศร้าเรื้อรังและอิทธิพลของความเครียดก่อปัญหาให้กับร่างกาย ในระดับขัดขวางการเต้นของหัวใจ ภาวะไม่สมดุลน้ำตาลในเลือด หรือแม้กระทั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลไปสลายแคลเซียมในกระดูก ทำให้เสี่ยงภาวะกระดูกพรุน
การส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีภูมิต้านทานความเศร้า และแนะนำเขาให้แสดงออกอย่างเหมาะสมจุดประกายให้ชีวิตมีความหมาย
มันต้องใช้เวลา แต่คุณควรรู้ว่ามันต้องนานแค่ไหนเพื่อให้คุณกลับมาอีกครั้ง แข็งแกร่งกว่าและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา
อ้างอิงข้อมูลจาก
Interview with Sir Michael Rutter June 9th 2010