เห็นเพื่อนเศร้าเสียใจ บางทีเราก็อยากเดินเข้าไปโอบไหล่ และบอกว่า “ไม่เป็นไรนะ เราเข้าใจว่าเธอรู้สึกยังไง” ให้เขารู้ว่ามีคนเข้าใจและอยู่เคียงข้างเขา
แต่นักสังคมวิทยามองว่านั่นอาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะบางที นั่นอาจเป็นความพยายามครอบครองบทสนทนามากกว่าที่จะปลอบใจ
นักสังคมวิทยา Charles Derber อธิบายพฤติกรรมในการสนทนาของคนเราว่า หลักๆ จะมีการตอบรับสองแบบ หนึ่งคือเป็นการดึงความสนใจมาที่ตัวเอง (Shift Response) ขณะที่อีกแบบคือการสนับสนุนความคิดของคนอื่น (Support Response)
ยกตัวอย่างเช่น
A : เรายุ่งมากเลยช่วงนี้
B1 : หรอๆ เออ ช่วงนี้เราก็ยุ่งมากเหมือนกันแฮะ (Shift Response)
B2 : ทำไมอะ? เธอต้องทำอะไรบ้าง? (Support Response)
การที่บอกว่าเราเข้าใจคนอื่นนั้น แม้จริงๆ แล้วเราพูดออกไปด้วยความหวังดี แต่เป็นการตอบรับบทสนทนาในแบบ Shift Response ซึ่งทำให้เกิด ‘Conversational Narcissism’ หรือความต้องการครอบครองบทสนทนา ทำให้ตัวเองเป็นฝ่ายพูดมากกว่าฟัง เอาจุดโฟกัสมาไว้ที่ตัวเอง และโยงเอาเรื่องคนอื่นมาเป็นเรื่องตัวเอง (ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว)
การพูดเรื่องตัวเองเป็นเรื่องปกติของคนส่วนใหญ่ เคยมีงานวิจัยของ University of Liverpool เคยทำการศึกษาพฤติกรรมการสนทนาของคน พบว่าส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว อธิบายความรู้สึกตัวเอง หรือไม่ก็พูดถึงคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น
และการพูดเรื่องตัวเองก็อธิบายได้ด้วยการทำงานของสมอง โดยเริ่มจากพื้นที่สมองส่วนอินซูลา (Insula) รับเอาข้อมูลที่คนอื่นบอกเข้ามา จากนั้นก็พยายามหาสิ่งที่เกี่ยวข้องในความทรงจำของเรา มาผสมกับข้อมูลเหล่านั้น เพื่อทำให้สิ่งที่เราเห็นและได้ยินนั้นสมเหตุสมผล จากนั้น ส่งต่อไปยังสมองส่วนลิมบิก (Limbic) ซึ่งส่วนนี้เองที่บางทีก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะว่าประสบการณ์ของเราดันไปบิดเบือนการรับรู้สิ่งที่คนอื่นพูดหรือเจอมา
งานศึกษาของ Max Planck Institute for Human Cognitive and Brain Sciences ยังบอกว่าประสบการณ์ของเรานั้นมีส่วนบิดเบือนความเห็นอกเห็นใจของเราอีกด้วย ทีมวิจัยได้ทำการทดลองให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งดูคลิปหนอนน่าขยะแขยง พบว่าทุกคนก็สามารถอธิบายความรู้สึกขยะแขยงออกมาในระดับเดียวกัน ขณะที่เมื่อทำการทดลองกับอีกกลุ่ม โดยให้คนที่ดูคลิปหมามาอธิบายความรู้สึกของคนดูคลิปหนอน พบว่าอธิบายความรู้สึกขยะแขยงออกมาในเชิงบวกมากกว่า
นั่นก็เพราะคนที่ไม่ได้เจอเรื่องแย่ๆ จริงๆ จะไม่สามารถประเมินความรู้สึกแย่ที่อีกฝ่ายเจอได้ ในทางตรงกันข้าม คนเจอเรื่องแย่ๆ มาก็ไม่อาจเข้าใจว่าคนที่รู้สึกดีน่ะรู้สึกดีแค่ไหนเหมือนกัน สรุปก็คือ เราไม่สามารถใช้ประสบการณ์และความรู้สึกของตัวเอง ไปตัดสินความรู้สึกของคนอื่นได้นั่นเอง
แม้เจตนาของการบอกกับเพื่อนว่า “เราเข้าใจนะว่าเธอรู้สึกยังไง” คือการพูดด้วยความปรารถนาดี แต่บางทีก็อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก เพื่อนอาจสูญเสียโอกาสที่จะได้พูดในสิ่งที่คิดออกมาเพราะมัวแต่ฟังเรื่องของเรา ซ้ำร้าย บางครั้งเขาอาจอึดอัดใจหรือโกรธที่เราไม่ฟังเขาด้วยซ้ำ
เมื่อใครสักคนเสียใจหรือไม่สบายใจ สิ่งที่เราควรทำอาจะเป็นการถามคำถามเพื่อให้เขาพูดและเราฟัง มากกว่าที่จะพูดเรื่องตัวเองหรือเรื่องสอนใจจากคนอื่น บางทีเขาไม่ได้ต้องการคำแนะนำหรือบทเรียนจากเรื่องไหน แค่ต้องการใครสักคนที่รับฟังเท่านั้นเอง
ที่มา : http://ideas.ted.com/why-we-should-all-stop-saying-i-know-exactly-how-you-feel