ดูเหมือนเรื่องผีและวิญญาณอันโยงใยกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์กำลังกลายเป็นกระแสขึ้นครามครันอีกครั้ง ผมมิแคล้วสะดุดคิดให้แว่บหวนระลึกบุคคลแห่งวันวานผู้หนึ่ง เขาคือพระอมรฤดี (นารถ บุณยเกียรติ) นักบอกเล่าเรื่องราวการเห็นคนตายไปแล้วมาปรากฏร่าง ทั้งยังสร้างผลงานหนังสือบรรยายเกี่ยวกับความลี้ลับต่างๆ เอาไว้ไม่น้อย
นามของพระอมรฤดีอาจไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยสำหรับนักอ่านในปัจจุบัน แต่หากย้อนเวลาไปก่อนปี พ.ศ. 2500 และในทศวรรษ 2500 เพียงสายตาประจักษ์ชื่อนี้บนปกหนังสือ ภาพวิญญาณและสิ่งเร้นลับคงผุดพรายขึ้นมาในความนึกทันทีทันใด
พระอมรฤดีถือเป็นข้าราชบริพารคอยเข้าเฝ้ารับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเดชนายเวร พระองค์จะทรงเรียกนิกเนมของเขาอยู่เป็นนิตย์ว่า ‘เอม’ เพราะทรงจำชื่อเดิมมิได้ หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของพระอมรฤดีได้แก่การบอกเล่าเรื่องราวภูติผีปีศาจต่างๆ ถวายให้พระองค์ทรงสดับช่วงเสร็จจากการเสวยเครื่องใหญ่ตอนกลางคืน บางเรื่องก็ฟังคนอื่นๆ เล่าต่อมาอีกทอด ขณะบางเรื่องก็ได้เผชิญมากับตนเอง เฉกเช่น
“มีเรื่อง “ปีศาจ” อีกเรื่องหนึ่งซึ่งตัวของข้าพเจ้าได้ผจญมาเอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำมันพรายและเป็นเรื่องที่นำไปใช้ในทางหญิง? เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้เคยเล่าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ครั้งหนึ่ง ทรงโปรดมาก เพราะเป็นเรื่องจริงๆ ต่อมาเมื่อพระนางเจ้าลักษมีลาวรรณ์กำลังเฝ้าอยู่พร้อมด้วยพระญาติบางพระองค์ พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งเรียกตัวข้าพเจ้าให้ไปเล่าถวายนับเป็นครั้งที่ ๒”
ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2475 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย พระอมรฤดีซึ่งพำนักอยู่บ้านเลขที่ 1021 ข. เชิงสะพานเทเวศร์ได้ตีพิมพ์ผลงานหนังสือเล่มแรกของตนออกมาเผยแพร่ นั่นคือเรื่อง วิญญาณนายพันโทพระฤทธิรณจักร์ กรับ โฆษโยธินมาเฝ้าพระมงกุฎเกล้าฯได้อย่างไร เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลองรัฐธรรมนูญปีแรกสุด ดังเขาแจกแจงความในใจผ่าน ‘คำนำ’
“ในการเรียบเรียงหนังสือนั้น นักประพันธ์โดยมากมักจะถ่อมตัวและออกตัวเสมอว่าตนบกพร่องในเชิงหนังสืออย่างนั้นอย่างนี้ สุดแต่ความพอใจของผู้เรียบเรียงจะกล่าวในข้อนี้ ถึงแม้ตัวข้าพเจ้าเองก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะข้าพเจ้าไม่ชำนาญในทางเรียบเรียงหนังสือ และนับว่าไม่เคยเรียบเรียงหรือแต่งหนังสือเรื่องใดออกแสดงเลย ข้าพเจ้าเป็นนักอ่านเสียแหละมาก การเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ บางทีท่านผู้อ่านอาจคิดเห็นไปว่า ที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงขึ้นก็เพื่อจะยกตนหรืออวดตัวก็อาจเป็นได้ แต่ถ้าหากท่านผู้อ่านคิดเห็นเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จะตรงกันข้ามกับความมุ่งหมายของข้าพเจ้าทีเดียว ก็โดยที่ข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องมาโดยฉะเพาะ และเห็นว่าเป็นความจริง ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงไปตามความจริง หาได้คิดที่จะอวดอ้างยกตนคืออวดตัวแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดหามิได้ และที่ข้าพเจ้ากล้ากล่าวข้อความบางตอน ก็หวังที่จะให้เรื่องที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงนี้ศักดิ์สิทธิ์และสมเหตุสมผลเท่านั้น”
ผมเองเริ่มทำความรู้จักพระอมรฤดีหนแรกก็ด้วยความบังเอิญเจอหนังสือเก่าๆ เล่มนี้แหละครับ
พระอมรฤดีให้ข้อมูลการเห็นวิญญาณนายพันโทพระฤทธิรณจักร์ หรือที่เรียกขาน ‘ปีศาจคุณพระ’ ว่า
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชาธิราช รัชชกาลที่ 6 แห่งจักรีบรมวงศ์ได้ทรงเล่าพระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ที่ทรงคุ้นเคย รวมทั้งตัวข้าพเจ้าซึ่งได้เฝ้าฟังอยู่ด้วยโดยใกล้ชิด เป็นเรื่องที่ประหลาดน่าสยดสยอง จึงมีผู้สนใจกันอยู่ไม่น้อย ข้าราชการโดยมากไม่ใคร่ทราบความละเอียด เป็นแต่ได้ฟังเล่าต่อๆ กันมา จะสำเหนียกเอาความจริงที่แน่นอนไม่ได้ บางคนทราบแต่เพียงว่าปีศาจนายพันโท พระฤทธิรณจักร์ มาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ไม่ได้มีความจริงอีกต่อไป, เพราะไม่ได้ยินได้ฟังจากพระโอษฐ์เอง และทั้งเรื่องราวในสมัยนั้นก็ออกจะปิดบังกันเสีย ประกอบทั้งไม่ต้องพระราชประสงค์ให้เป็นข่าวเอิกเกริก มา ณ บัดนี้ กาลก็ได้ล่วงเลยมานานแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอถือเอาโอกาสนี้เขียนเรื่องขึ้น เพื่อให้ท่านผู้ที่สนใจอยากทราบได้ทราบความจริงสมดังความปรารถนาในเรื่องราวครั้งกระนั้นให้กระจ่างแจ้ง”
นายพันโทพระฤทธิรณจักร์ (กรับ โฆษโยธิน) มีพื้นเพเดิมเป็นชาวสิงห์บุรี เกิดปีวอก ตรงกับพ.ศ 2427 ครั้นเรียนหนังสือไทยเบื้องต้นครบถ้วนแล้ว ได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก และเริ่มรับราชการในกรมทหารบกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 จวบจนปีพ.ศ 2454 นายร้อยเอกกรับได้รับคัดเลือกมาเข้ารับราชการกรมทหารรักษาวังในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รั้งตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารรักษาพระราชวังดุสิตและราชองครักษ์ประจำเวร มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเผด็จสงคราม ช่วงหนึ่งเคยไปรับราชการประจำการกองทหารรักษาวังอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นได้เลื่อนยศเป็นนายพันตรี และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นฤทธิรณจักร์ ในปี พ.ศ. 2459 ได้เลื่อนยศเป็นนายพันโท และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระฤทธิรณจักร์ ตำแหน่งรองผู้บังคับการกรมทหารรักษาพระราชวัง ขณะอายุเพียง 32 ปี
พระอมรฤดีเอ่ยถึงเหตุการณ์คืนวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2464 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เวลา 23.00 น.เศษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าให้เขาและข้าราชบริพารใกล้ชิดราวเจ็ดคนฟังเรื่องที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นวิญญาณนายพันโทพระฤทธิรณจักร์มาเข้าเฝ้า ทรงรับสั่งว่าเรื่องผีและวิญญาณที่พระอมรฤดีเคยเล่าถวายเป็นเรื่องที่เขาเล่าต่อๆ กันมา เป็นเรื่องจริงบ้าง เป็นนิทานบ้าง เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อหรือเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เรื่องการเห็นวิญญาณที่ทรงกำลังจะเล่า นับเป็นเรื่องสดๆ ร้อนๆ ทีเดียว นั่นเพราะตอนบ่าย 4 โมงเศษของวันนั้น ภายหลังพระองค์เสด็จกลับจากไปอาบน้ำศพเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) โดยทรงแต่งพระองค์ครึ่งยศเพื่อให้เกียรติแก่ผู้ตาย
ขณะรถเคลื่อนจากชานพระที่นั่ง พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนายทหารรักษาวังผู้หนึ่งยืนอยู่กลางสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งและกระทำความเคารพตามแบบทหาร ครั้นเพ่งมองก็ทรงจำได้ว่าเป็นพระฤทธิรณจักร์แต่งกายเต็มยศ เนื่องจากรูปร่างสูงใหญ่โดดเด่นกว่านายทหารรักษาวังคนอื่นๆ และเหตุไฉนนายพันโทแต่งกายผิดระเบียบ เพราะตามธรรมเนียม ทหารรักษาพระองค์จะต้องแต่งกายตามอย่างพระเจ้าแผ่นดินทุกคราว ซึ่งในวันนี้คุณพระย่อมต้องแต่งกายครึ่งยศ จวนเวลา 1 ยาม พระองค์เตรียมจะไปเสวย แต่พอเข้าห้องทรงพระอักษรก็พบมหาดเล็กห้องบรรทมนายหนึ่งถือพานดอกไม้ธูปเทียนมาถวาย และมีซองหนังสือที่กระทรวงวังส่งมาทูลเกล้าถวาย เป็นหนังสือขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาตายมีเนื้อความว่า
“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า นายพันโท พระฤทธิรณจักร์ (กรับ โฆษโยธิน) ขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาตาย วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เวลา ๔.๓๔ ล.ท. ขอเดชะ”
หมายความว่าตอนพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนายพันโทพระฤทธิรณจักร์แต่งกายเต็มยศยืนอยู่กลางสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งและกระทำความเคารพ ตอนนั้นเองเขาได้ถึงแก่กรรมขณะนอนป่วยอยู่ที่บ้านพอดี อันที่จริง ตอนเช้าของวันเดียวกัน คุณพระยังได้ไปปฏิบัติหน้าที่ ตกบ่ายรู้สึกตัวไม่ค่อยสบายก็กลับไปบ้านแล้วเกิดเป็นลมหมดสติจนสูญสิ้นลมหายใจ
ในงานพิธีฌาปนกิจศพนายพันโทพระฤทธิรณจักร์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2464 ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส นอกจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานเครื่องปลงศพเป็นเกียรติยศแก่ผู้ตายตามชั้นยศบรรดาศักดิ์แล้ว ยังพระราชทานให้มีเทศน์อีกหนึ่งกัณฑ์เป็นพิเศษ
พระอมรฤดีพยายามวิเคราะห์ว่าการเห็นวิญญาณนายพันโทพระฤทธิรณจักร์นั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่โดยอาศัยเหตุผลและหลักฐานสมทบ ซึ่งเขาก็ยืนยันว่าเป็นไปได้จริงๆ มิหนำซ้ำ ยังมุ่งเน้นศึกษาถึงการที่วิญญาณของมนุษย์จะออกจากร่างได้เมื่อใด? เทียบเคียงแนวคิดเรื่อง ‘เจตภูติ’ ของสยามและเรื่อง ‘Astral Body’ ของฝรั่ง รวมถึงแปลใจความบันทึกของนายแพทย์ฝรั่งเรื่องจิตเหนือธรรมชาติในหนังสือของสมาคมค้นคว้าวิญญาณศาสตร์ (Society for Psychical Research) มาประกอบไว้
หลังจากเผยแพร่ผลงานเล่มแรกแล้ว ถัดมาพระอมรฤดีได้เรียบเรียงหนังสือนำเสนอเรื่องการเห็นวิญญาณผู้ล่วงลับและเรื่องความลี้ลับออกมาอีกหลายเล่ม เฉกเช่นงานเขียนเรื่อง วิญญาณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แสดงพระองค์ หรือ สดุดีพระวิญญาณของ ร๓ ที่เล่าถึงกรณีมีผู้อ้างว่าเห็นพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่หลายครั้งในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระอมรฤดีเอ่ยถึงคุณท้าวโสภานิเวศ (เล็ก ณ นคร) พี่สาวร่วมมารดาแต่ต่างบิดากันของพระอนุรักษ์โยธา (กลิ่น บุณยเกียรติ) ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของเขา โดยคุณท้าวเล่าให้ฟังว่าในปี พ.ศ. 2450 คืนหนึ่งขณะนอนในมุ้งกลางท้องพระโรงได้แลเห็นรูปร่างใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระภูษาแดงลอยชาย อีกคนที่เคยแลเห็นลักษณะนี้ก็คือสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถในวัยพระเยาว์และนายรอด ไกรฤกษ์ ข้าราชการใหม่ในปี พ.ศ.2456-2457 ที่ได้เห็นตอนอยู่เวรยาม ซึ่งล้วนมีรายละเอียดน่าสนใจ
อำนาจดวงจิตต์ (Will Power) เป็นงานเรียบเรียงอีกชุดสำคัญของพระอมรฤดีอันมีอยู่หลายเล่ม อธิบายถึงพลังแห่งจิตใจมนุษย์ นับแต่การฝึกสมาธิ การเห็นมโนภาพ จิตวิทยา การกำหนดจิต ญาณทิพย์ อิทธิปาฏิหาริย์ ไปจนถึงการมีตาทิพย์
พระอมรฤดียังผลิตงานเขียนเบ็ดเตล็ดต่างๆ มากมาย ทั้ง วิธีต่ออายุหรือทำให้อายุยืน ที่เน้นการมีอารมณ์ขันเพื่อทำให้อายุยืน, ประวัติเจ้าคุณนรรัตน์ พระภิกษุซึ่งพระอมรฤดีรู้จักดีสมัยรับราชการ และจำพวกงานเขียนเรื่องผีและวิญญาณต่างๆ มิเว้นกระทั่งเรื่อง แม่นากพระโขนง ที่เขียนขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2470 เรื่อยมา แบ่งออกเป็น 10 ภาค ได้แก่ ภาค 1 นากพระโขนงตอนดับชีพ, ภาค 2 อีนากจับขโมย และผจญอาคมขรัวตาสี, ภาค 3 อีนากไปหาผัว และเล่นงานเจ๊กขายมะพร้าว, ภาค 4 อีนากถูกปลุกปล้ำ,ภาค 5 อีนากมอบลูกชายให้คุณหญิงอ้น, ภาค 6 สามเณรเหลือฟันอีนากแขนขาด, ภาค 7 หมอทองขุดศพอีนาก, ภาค 8 นายมากกลับบ้านมาอยู่กับอีนาก, ภาค 9 อาจารย์โตผจญภัยกับอีนาก และภาค 10 วาระสุดท้ายของอีนาก
ว่าด้วยเรื่องผีและวิญญาณที่ผูกพันกับชีวิตพระอมรฤดี (นารถ บุณยเกียรติ) ยังคงมีหลายประเด็นชวนขบคิดอันควรได้เขียนถึงอีกแยะ อย่างน้อยที่สุดในครานี้ผมหวังว่าจะได้ผายมือแนะนำให้คุณผู้อ่านทำความรู้จักกับนักเล่าเรื่องผีในอดีตคร่าวๆ เสียก่อน โดยเฉพาะตอนที่เริ่มต้นนำเสนอการเห็นวิญญาณลงบนหน้ากระดาษของเขาตั้งแต่ช่วงงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475
เอกสารอ้างอิง
ส.พลายน้อย. ตำนานผีไทย.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ, 2552
อมรฤดี, พระ. วิธีต่ออายุหรือทำให้อายุยืน. ธนบุรี: การพิมพ์แม่ศรีเรือน, 2507
อมรฤดี, พระ. ประวัติเจ้าคุณนรรัตน์. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2527
อมรฤดี, พระ. วิญญาณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แสดงพระองค์. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., ม.ป.ป.
อมรฤดี, พระ. วิญญาณนายพันโทพระฤทธิรณจักร์ กรับ โฆษโยธินมาเฝ้าพระมงกุฎเกล้าฯได้อย่างไร.
พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2475
อมรฤดี, พระ. สดุดีพระวิญญาณของ ร.3 ผูกคอตาย และอหิวาต์. ธนบุรี : การพิมพ์แม่ศรีเรือน, 2507
อมรฤดี, พระ. อำนาจดวงจิตต์. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2498
อมรฤดี, พระ. อำนาจดวงจิตต์ ภาคผนวก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วิจิตรหัตถกร, 2511
อมรฤดี, พระ. อำนาจดวงจิตต์ ภาคพิเศษ. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2511