“เมื่อไหร่จะจบสักที?” หากถามคำถามนี้กับเด็กปริญญาเอก ก็เหมือนถามพวกเขาว่า “คนเราตายแล้วไปไหน?”
ช่วงปีที่ 1–2 ยังใสๆ พร้อมลองผิดลองถูก ปีที่ 3-4 ไฟมอดท้อแท้ ปีที่ 5-6 นี่ฉันทำอะไรอยู่อ่ะ
ช่วงเวลาการเรียนอันแสนยาวนานในโลกวิชาการ ทำให้บ้างครั้งก็อดอิจฉาเพื่อนๆ ที่ทำงานจนเป็นหัวหน้าคน มีรายได้ไปเที่ยวรอบโลกเลี้ยวถึงดาวอังคาร ในขณะเรายังวนเวียนในห้องแล็บลุ้นผลการทดลองที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ถึงเด็กปริญญาเอกจะเผชิญความท้าทายที่ยากลำบากราวผูกตาเดินในเขาวงกต ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะทำวิจัยส่งเดชเพียงเพื่อให้ได้ ‘ด็อกเตอร์’ (PhD) แล้วผ่านมันไป แต่งานวิจัยปริญญาเอกกลับเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาผู้คน เป็นงานที่ตอบสนองต่อโลก เข้าใจสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ผันแปรรุนแรงในศตวรรษที่ 21 งานวิจัยจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการพัฒนาคลังปัญญาให้กับประเทศพร้อมแข่งขันในโลกที่ไม่รอใคร
จากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) โครงการของรัฐฯ ที่ให้ทุนวิจัยระดับปริญญาเอกเพื่อผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอกและผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ ‘เข้มมาก’ คัดเน้นๆ โครงการวิจัยที่โดดเด่นจากเด็กปริญญาเอกทั่วเมืองไทย จนได้วิจัยเด่นที่แลกมาด้วยความทุ่มเทของนักวิจัยหนุ่มสาว
The MATTER ขออาสาพาไปรู้จักกับงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอก 4 เรื่อง อะไรคือความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ หากคุณกำลังทำวิจัย ป.เอก แล้วท้อแท้ใจ 4 นักวิจัยที่ทำสำเร็จนี้ อาจทำให้คุณใจชื้นขึ้นมาบ้าง
1. สีธรรมชาติที่มีความเสถียรสูง
เรื่องกินเรื่องใหญ่ สีสันของอาหารก็ใหญ่ไม่แพ้กัน ยุคนี้กระบวนผลิตอาหารคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่เราต้องการใช้ ‘สีธรรมชาติ’ แทนการใช้สีสังเคราะห์ ซึ่งดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมไปถึงหลายประเทศเริ่มกำหนดมาตรฐานการนำเข้าอาหารที่ใช้ผลิตภัณฑ์สีสังเคราะห์มากขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอน! ใครๆ ก็อยากใช้สีธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น แต่มันติดปัญหาสำคัญมาก เมื่อสีธรรมชาติที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ‘ไม่ค่อยสดใส’ ซีดเร็ว จืดจาง คุณภาพสีเอาแน่เอานอนไม่ได้ สีมักเปลี่ยนแปลงไปเมื่อสัมผัสความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหาร ตลอดจนเมื่อค่าความเป็นกรด-ด่างของอาหารเปลี่ยนแปลงไป เก็บไว้สักพักสีก็ยังเปลี่ยนไปอีก
ด้วยความไม่เสถียรนี้เอง ทำให้ผู้ประกอบการระดับอุตสาหกรรมอาหาร ยังไม่ค่อยไว้ใจสีธรรมชาติมากนัก เพราะให้ผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน
นักวิจัยสาว ‘ปิ๊ง-ลักษิกา งามวงศ์ล้ำเลิศ’ จึงได้โจทย์พัฒนาสีธรรมชาติที่มีความเสถียรสูงจากแหล่งวัตถุดิบตามธรรมชาติที่หาได้ง่ายในบ้านเรา โดยใช้ความรู้ด้านเคมีสร้างพันธะระหว่างสารสีธรรมชาติกับสารอินทรีย์ชนิดอื่นๆ เช่น กรดอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความเสถียรของสีให้สดใส และติดคงทนดีกว่าสีสังเคราะห์เองเลยด้วยซ้ำ
งานวิจัยทำสำเร็จกับ ‘สีเขียว’ (green) โดยพบว่า สีเขียวธรรมชาติที่ได้จากคลอโรฟิลล์นั้นมีองค์ประกอบของแมกนีเซียมที่ทำให้สีเขียวไม่เสถียรเมื่อเจอความร้อนหรือกรด-ด่างระหว่างปรุงอาหาร งานวิจัยจึงสกัดแมกนีเซียมออกไป แล้วเติมคอปเปอร์หรือซิงค์คลอโรฟิลลินเข้าไปแทน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ปลอดภัย สีเขียวที่ได้จึงสดใส ไม่ซีดเร็ว สีมีความเสถียรสูงมากจนสามารถนำไปดัดแปลงเข้ากับอาหารได้ทุกประเภท
แผนการต่อไปของวิจัยจึงศึกษาสีอื่นๆ บ้าง เช่น สีแดง สีเหลือง ซึ่งแต่ละสีล้วนมีองค์ประกอบทางเคมีไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากเราไขสำเร็จในทุกสียอดนิยม ก็สามารถต่อยอดให้อุตสาหกรรมอาหารไทยใช้สีธรรมชาติแทนสีสังเคราะห์ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคในขณะที่อาหารยังมีสีสันสวยงามน่าลิ้มลอง
การผลิตสีธรรมชาติ: การปรับปรุงสีและความเสถียรโดยใช้กระบวนการเตรียมตัวอย่าง การสกัดและการอบแห้งที่เหมาะสม
ผู้วิจัย : ลักษิกา งามวงศ์ล้ำเลิศ, ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา
คุยกับนักวิจัย
“เราสนใจการทำอาหารอยู่แล้ว เวลาเดินซื้อของเราเห็นอะไรจากอาหารเป็นอย่างแรก นั่นก็คือ สีที่ดึงดูดเรามากที่สุด สีที่ใส่ในอาหารส่วนใหญ่เป็นสีสังเคราะห์ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าสีเหล่านี้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เราจึงอยากให้คนในสังคมหันมาใช้สีธรรมชาติกันมากขึ้น ทำให้สีธรรมชาติเสถียรมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับในระดับอุตสาหกรรมอาหาร”
ความท้าทายของวิจัย ป.เอก
“งานวิจัยมีความยากตลอดทุกกระบวนการ ตอนแรกๆ วางแผนทุกอย่างไว้ดีหมดเลย แต่ผลออกมากลับไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ ก็ต้องหาเวลาทบทวนตัวเอง ทำจิตใจให้เบิกบาน อันนี้สำคัญมาก ไม่งั้นจะท้อแน่ๆ
ปิ๊งจะกลับมานั่งทบทวนตัวเองบ่อยๆ ว่าพลาดอะไรไปบ้าง ความล้มเหลวนี้ทำให้เราท้อแท้ แต่มันเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ ถ้าไม่ล้มเหลวซะบ้าง เราก็จะไม่เจอสิ่งที่เราตามหาเลย”
2. เสื้อเกราะกันกระสุน ‘พอลิเมอร์คอมพอสิท’ สมรรถนะสูง
ในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับอาวุธสงครามและความปลอดภัย นักวิจัย ป.เอก ผู้หญิงก็มีความสามารถในการแก้โจทย์สำคัญที่สามารถช่วยชีวิตทหารใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน
พวกเราทราบข่าวกันดีว่า ทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่เสี่ยงภัยมีเกราะกันกระสุนไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเกราะที่ป้องกันกระสุนระดับ III (กันกระสุนไรเฟิลอัตโนมัติ หัวกระสุนขนาด 7.62×51 มิลลิเมตร ความเร็วของหัวกระสุน 847 เมตร/วินาที) มีราคาแพงถึงตัวละ 29,000 บาท ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศเราต้องพัฒนาเกราะกันกระสุนคุณภาพสูงใช้เอง เพื่อลดการนำเข้าเสื้อเกราะกันกระสุนจากต่างประเทศ
‘เมย์-มนัญญา โอฆวิไล’ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงลงมือวิจัยเกราะกันกระสุนสมรรถนะสูง ประเภท ‘พอลิเมอร์คอมพอสิท’ เสริมแรงด้วยเส้นใยชนิดต่างๆ ให้มีความสามารถในการป้องกันการเจาะทะลุในระดับ III หรือสูงกว่า โดยยังคงรักษาโครงสร้างโดยรวมของเกราะกันกระสุนไว้ได้
เสื้อเกราะต้องถูกยิงจากกระสุนจริง ตามมาตรฐานสากลถึง 6 นัด โดยตัวเกราะต้องไม่ยุบเกิน 44 มิลลิเมตร (เป็นระดับที่ร่างกายผู้สวมใส่ไม่บอบช้ำจากแรงกระสุน) ผลปรากฏว่า เสื้อเกราะของเด็กปริญญาเอกสอบผ่านตามมาตรฐาน โดยมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 6.5 กิโลกรัม มีต้นทุนค่าวัสดุเพียง 7,000 บาทต่อตัวเท่านั้น
งานวิจัยนี้จึงเป็นการสร้างความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ที่แม่นยำ และปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ ที่สำคัญประเทศเราจะมีเกราะกันกระสุนระดับ III ราคาไม่แพงไว้ใช้เอง และคุณภาพยังระดับเดียวกันหรือดีกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
การพัฒนาเกราะกันกระสุนสมรรถนะสูงจากพอลิเบนซอกซาซีนคอมพอสิทที่เสริมแรงด้วยเส้นใยชนิดต่างๆ
ผู้วิจัย : มนัญญา โอฆวิไล, ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา : ศ.ดร.ศราวุธ ริมดุสิต
คุยกับนักวิจัย
“งานของเราใช้ความรู้ด้านวัสดุชั้นสูง ที่นำไปดัดแปลงได้นอกเหนือจากเสื้อเกราะอีก ซึ่งเสื้อเกราะของเมย์ผ่านมาตรฐานทั้งหมด งานนี้ยากตั้งแต่เราสังเคราะห์สารเองเลย ปรับสัดส่วนวัสดุทำให้มันเบาที่สุด แต่มีประสิทธิภาพสูงสุด”
“เอาเข้าจริง มันไม่ใช่โลกของผู้ชายหรอกค่ะ เพราะโครงการที่เกี่ยวกับเสื้อเกราะกันกระสุนส่วนใหญ่เป็นโครงการของเด็กผู้หญิงทั้งนั้น”
ความท้าทายของวิจัย ป.เอก
“กว่าจะเป็นเกราะที่กันกระสุนได้เนี้ย มันถูกยิงแล้วทะลุมาหลายครั้งมาก เราตั้งใจทำวัสดุไป แต่พอยิงจริงกลับทะลุ มันก็ท้อและต้องลุ้นทุกครั้ง แต่ต้องมีลูกฮึดกลับมาพัฒนาต่อให้มันสำเร็จ งานทุกคนล้วนเจออุปสรรคด้วยกันทั้งนั้น อย่าเพิ่งท้อแท้ หรือหมดกำลังใจในการพัฒนาต่อ”
3. ‘ฝรั่งเกษียณ’ ย้ายมาอยู่เมืองไทยเพื่ออะไรกัน?
คุณเคยรู้จัก ‘หมู่บ้านฝรั่ง’ ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ที่ฝรั่งเกษียณจำนวนมากโยกย้ายถิ่นฐานข้ามทวีป ข้ามวัฒนธรรมเพื่ออยู่ประเทศไทยถาวร ซึ่งพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนก็ว่าได้ ที่มีอัตราย้ายถิ่นฐานข้ามทวีปของผู้เกษียณอายุจากประเทศที่พัฒนาแล้วมากที่สุด แต่กลับมีการศึกษาคนกลุ่มนี้น้อยมาก
ฝรั่งเกษียณเขามาทำอะไรกัน ใครบ้างมีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อสังคมไทยเองก็กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แถมมีฝรั่งสูงอายุแห่มาอยู่กันเพียบ โจทย์วิจัยน่าสนใจของ ‘ไอซ์-ดร.กนกวรรณ ตั้งจิตนุสรณ์’ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงมือวิจัยโดยใช้วิธีการศึกษาแบบผสมผสาน ทั้งจากเอกสารและการวิจัยภาคสนามครอบคลุมผู้เกษียณอายุชาวตะวันตกหลายร้อยรายที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
พบว่าไทยเป็นประเทศใน ‘อุดมคติ’ สำหรับการเกษียณอายุของพวกเขา โดยเฉพาะค่าครองชีพที่อยู่ในเกณฑ์รับได้ สภาพอากาศกำลังเหมาะ และคนไทยส่วนใหญ่เป็นมิตร โดยวิทยาการทางการแพทย์ของไทยนั้นก็ถูกมองว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเช่นเดียวกับประเทศต้นทางที่พัฒนาแล้ว
งานวิจัยชิ้นนี้มอง ‘ฝรั่งเกษียณ’ เป็นโอกาส ซึ่งพวกเขาไม่ได้ส่งผลทางลบต่อสังคมและสภาพแวดล้อมอย่างที่เราเข้าใจกัน คนกลุ่มนี้มาไทยเพื่อใช้ชีวิตอิสระวัยเกษียณมากกว่าจะสร้างปัญหา ดังนั้นไทยเองควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้กับผู้สูงอายุ ปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกฎระเบียบและเงื่อนไขวีซ่า ปรับปรุงนโยบายการรับผู้เกษียณอายุต่างชาติเข้ามาในประเทศให้ยืดหยุ่นขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ให้สูญเสียทุนมนุษย์
งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของรัฐที่จะดำเนินนโยบายสังคมสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ
การย้ายถิ่นระหว่างประเทศของผู้เกษียณอายุชาวตะวันตกมาสู่ประเทศไทย: กระบวนการตัดสินใจความอยู่ดีมีสุข การผสมกลมกลืน และผลกระทบต่อพื้นที่ปลายทาง
ผู้วิจัย : ดร.กนกวรรณ ตั้งจิตนุสรณ์, คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ที่ปรึกษา : ศ.ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน, วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุยกับนักวิจัย
“ฝรั่งเกษียณเหล่านี้มาแบบ positive นะคะ เป็น active aging ไม่ใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอกหรือสุขภาพไม่ดี คนเหล่านี้ล้วนมีสุขภาพดี เป็นนักท่องเที่ยวมาก่อน เคยมาประเทศไทยแล้วรู้สึกว่า ไทยจะเป็นประเทศที่เขาอยู่ต่อได้ในอนาคต เราควรปลดล็อคเรื่องวีซ่าเกษียณอายุ ทำให้ง่ายขึ้นมีระยะเวลาที่นานขึ้น จาก 1 ปี เป็น 5 ปี หรืออาจจะทดลองก่อนสักอายุ 3 ปี เพื่อทดสอบว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ นอกจากนั้นที่เราควรพัฒนาคือ เรื่องอารยสถาปัตย์ ปรับปรุงให้เข้ากับคนทุกเพศทุกวัย และผู้สูงอายุสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข”
ความท้าทายของวิจัย ป.เอก
“กว่าจะทำให้ผู้สูงอายุตะวันตกคุยกับเราได้ยากเหมือนกันนะ บางคนคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องส่วนตัว กลัวจะมาถามเรื่องวีซ่าทำให้เขาโดนย้ายหรือเปล่า มาแอบเอาข้อมูลรายได้หรือเปล่า ซึ่งบางคนไม่ยอมให้เลย เพราะว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว
ก่อนจบนี่ท้อแท้อยู่ตลอดเวลา แต่พอทำไปสักพักมีคนมาชอบงานวิจัยเราเรื่อยๆ ไปที่ไหนหลายฝ่ายก็ถามตลอด แสดงว่างานวิจัยของเราน่าสนใจ เลยเป็นแรงผลักดันให้ทำต่อ เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อน งานวิจัยเราเลยมาถูกทางแล้ว มันเหนื่อยแต่มันคุ้ม
เด็กปริญญาเอกต้องถามตัวเองว่า เราจะสร้าง impact อะไรกับทั้งตัวเรา ครอบครัว และสังคม พวกเขาจะจดจำงานของเราต่อไปอย่างไร และต้องทำให้โดดเด่นกว่างานที่ผ่านมา”
4. สร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนในห้องทดลอง เพื่อผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
พอได้ชื่อว่าเป็นผู้สูงอายุ ก็หนีไม่พ้นโรค ‘สภาวะเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณเข่า’ จะขยับเดินเหินก็ลำบาก ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ซึ่งการรักษาที่ใช้กันในปัจจุบัน แพทย์จะใช้กายภาพบำบัด ใช้ยา ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งในกรณีเปลี่ยนข้อเข่านี้ แพทย์จะทำการตัดข้อเข่าเดิมออกทั้งหมด แม้ว่าจะยังมีกระดูกอ่อนที่ยังอยู่ในสภาพดีเหลืออยู่ก็ตาม
การฟื้นฟูเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่ยังเหลือของผู้ป่วยเป็นวิธีที่ดูมีอนาคตมากที่สุด เพราะหากให้เทียบกับข้อเข่าเทียม ยังไงเนื้อเยื่อจากธรรมชาติก็น่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าของเทียม จึงมีการใช้เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อมาใช้ในการรักษาข้อเข่าเสื่อม โดยการฉีดเซลล์กระดูกอ่อน (chondrocytes) ไปยังบริเวณข้อเข่าที่เสียหายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนขึ้นมาใหม่ แต่ปัญหาคือ เทคโนโลยีนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะเซลล์กระดูกอ่อนที่ฉีดเข้าไปไม่ได้เกาะที่เนื้อเยื่อเข่ามากพอที่จะฟื้นฟูให้ข้อเข่ากลับมาทำงานได้ดีขึ้น
จึงเป็นโอกาสให้นักศึกษาปริญญาเอก ‘รุ้ง-โศภิตา วงศ์อินทร์’ ภาควิชาวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาวิธีการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนขึ้นมาในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเนื้อเยื่อนี้จะนำไปปลูกถ่ายที่ข้อเข่าของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม จากนั้นเนื้อเยื่อนี้จะรวมตัวเข้ากับกระดูกอ่อนเดิมของผู้ป่วย และสร้างโปรตีนคอลลาเจนชนิดที่ 2 (collagen type II) และสารหล่อลื่นที่สำคัญเพื่อให้เข่าทำงานได้เป็นปกติและเป็นธรรมชาติมากที่สุด เพราะเป็นเนื้อเยื่อกระดูกจากผู้ป่วยเอง
งานวิจัยต้องเลี้ยงเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ เพื่อให้มีจำนวนเซลล์เพียงพอแล้วถึงค่อยเข้าสู่ขั้นตอนการสร้างแผ่นเซลล์กระดูกอ่อน เพื่อให้เซลล์เจริญเติบโตได้ดี สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงจึงต้องแม่นยำมาก ก่อนจะนำเซลล์มาวางทับเป็นชั้นๆ ให้มีความหนาและมีคุณภาพในการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนัก
ในอนาคตกระบวนการควบคุมคุณภาพของเซลล์และการสร้างแผ่นเซลล์นี้จะนำไปประยุกต์ใช้กับระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบที่สามารถควบคุมสภาวะการเลี้ยงเซลล์กระดูกอ่อนที่ปลอดเชื้อในปริมาณมากๆ ได้ และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการนำไปใช้ในกระบวนการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์แผ่นเซลล์พร้อมใช้ จนสภาวะเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณเข่าไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป
การสร้างเซลล์กระดูกอ่อนหลายชั้นโดยใช้พอลิเมอร์ชนิด Poly (N-Isopropylacrylamide-co-acrylamide) กราฟต์บนภาชนะเลี้ยงเซลล์ เพื่อนำไปใช้สำหรับแผลกระดูกอ่อนผิวข้อของมนุษย์ที่ถูกทำลายบางส่วน
ผู้วิจัย :โศภิตา วงศ์อินทร์, วิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
อาจาย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต
คุยกับนักวิจัย
“แทนที่เราจะตัดกระดูกอ่อนที่ยังทำงานได้ทิ้งไป เราจะเอามาเลี้ยงเพิ่มจำนวนโดยสร้างให้กระดูกอ่อนเป็นแผ่นชั้นๆ ให้แพทย์สามารถเอาชิ้นกระดูกอ่อนแปะกลับไปในผู้ป่วยได้
แต่กว่าจะถึงจุดนี้ เบื้องหลังการทำงานยากมากค่ะ เพราะเซลล์กระดูกอ่อนพวกนี้ห้ามปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเป็นอันขาด วันแรกที่เอาเซลล์มาก็ดูมีสุขภาพดี แต่พอไปเลี้ยงสัก 3–5 วัน เอามาดูก็พบว่าเซลล์ปนเปื้อนเชื้อก็ต้องทิ้งทั้งหมด การควบคุมคุณภาพเซลล์กระดูกอ่อนเป็นเรื่องละเอียดสุดๆ”
ความท้าทายของวิจัย ป.เอก
“ท้อมากๆ ในทุกกระบวนการ เพราะทุกขั้นตอนล้วนต้องการความละเอียด หลายครั้งการทดลองไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ ความล้มเหลวจึงเป็นเรื่องปกติที่สุด เราจึงต้องปรึกษาคนอื่นให้มากๆ หาองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่าพยายามแก้ปัญหาโดยมองว่ามันเป็น ‘ปัญหา’ ให้ออกมาข้างนอก เห็นภาพกว้างบ้างเราอาจจะได้ไอเดียใหม่ๆ อย่างไม่รู้ตัว”
ขอขอบคุณ
โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (Thailand Research Fund)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล