เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมากูเกิล เปิดตัวระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ไปถึงระดับ Quantum Supremacy หรือก็คือ เหนือกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั้งมวลแล้ว ถือเป็นประกาศความสำเร็จด้านเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ ที่เสียงฮือฮาจากผู้คนมากมาย
เทคโนโลยีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก เครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะ ไปจนถึงแอพพลิเคชันต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เราคุ้นชินกันอยู่แล้วทั้งนั้น แต่คอมพิวเตอร์ควอนตัมคืออะไร ยิ่งกว่านั้น Quantum Supremacy ที่กูเกิลออกมาเคลม มีผลอะไรกับเราบ้าง?
The MATTER จึงอยากพาทุกคนไปร่วมกันไขคำตอบ กับนักฟิสิกส์ทั้ง 3 คน ได้แก่ ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ดร.ปิยพัฒน์ พูลทอง นักมาตรวิทยาห้องปฏิบัติการเวลาและความถี่ ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ รวมถึงจิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ นักวิจัยแห่งศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม ประเทศสิงคโปร์ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง QTFT (Quantum Technology Foundation of Thailand) เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่า คอมพิวเตอร์ควอนตัม คืออะไร? และจะเปลี่ยนแปลง หรือส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตของเราบ้าง?
ควอนตัม (Quantum) คืออะไร?
เป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายโลกใบเล็กๆ ของอะตอม ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่ากฎเกณฑ์ในโลกของอะตอมแตกต่างจากโลกที่เราใช้ชีวิตกันอย่างสิ้นเชิง เพราะจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่เราคิดไม่ถึงว่า มันเป็นไปได้ด้วยเหรอ เช่น ในโลกของเรา เราเดินทางไปทางซ้าย หรือขวา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่อะตอมสามารถเดินทางไปทั้งซ้าย ขวา บน และล่าง ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ที่ในชีวิตประจำวันเราไม่เห็นแบบนั้น แต่อะตอมเคลื่อนที่แบบนี้จริงๆ
อะตอมมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง?
นอกจากเรื่องของการอยู่หลายตำแหน่งได้ในเวลาเดียวกัน หรือที่เรียกว่า สภาวะทับซ้อน (Superposition) แล้ว ก็มีอีกคุณสมบัติที่เรียกว่า การพัวพันเชิงควอนตัม (Quantum Entanglement) ซึ่งหมายถึงการที่อะตอมสองตัวที่อยู่ห่างกัน สามารถรู้สึกถึงกันได้ โดยไม่ต้องมีการส่งสัญญาณหากันเลย
อาจจะเปรียบเทียบอะตอมสองตัวนี้เป็นคนสองคนที่รักกันมาก จนรู้สึกถึงกันได้ แม้อยู่กันคนละที่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับคนนึง อีกคนก็จะรู้สึกได้ทันที หรือถ้ามีมือที่สามพยายามจะเข้ามาทำให้ฝ่ายหนึ่งหวั่นไหว อีกฝ่ายก็จะรับรู้ได้ทันที มือที่สามก็ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้เหมือนกับสองคนแรก
เราสามารถเอาควอนตัมเข้ามาใช้ในชีวิตได้อย่างไรบ้าง?
ต้องเท้าความก่อนว่า เราสามารถแบ่งยุคของควอนตัมได้เป็น 2 ยุค ยุคแรกคือ การเอาพฤติกรรมของอะตอมที่มีต่อกันเองตามธรรมชาติ เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผลผลิตในยุคนี้ เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ส่วนยุคต่อมา เราพยายามควบคุมการเคลื่อนที่ของอะตอม เพื่อพัฒนาเป็นเทคโนโลยีควอนตัมที่ไปไกลมากขึ้น
อีกเรื่องที่ต้องเข้าใจกัน คือเทคโนโลยีควอนตัมมันมีอยู่ 3 ขา คือ คอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum Computer) การสื่อสารเชิงควอนตัม (Quantum Communication) และ การวัดปริมาณอย่างละเอียดโดยอาศัยหลักทางควอนตัม ที่เรียกว่า Quantum Sensing and Metrology ซึ่งทั้ง 3 ขานี้ เป็นเหมือนรากที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีควอนตัมต่างๆ
สิ่งที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีควอนตัม ก็คือการเอาคุณสมบัติประหลาดๆ ของอะตอม มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
อย่างการหยิบเอาเรื่องที่อะตอมสามารถรู้สึกถึงกันได้แม้อยู่คนละที่ มาทำให้เกิดการสื่อสารเชิงควอนตัม เช่น เราโทรสั่งสินค้าอยู่ กำลังจะบอกรหัสบัตรเครดิตแล้วมีคนดักฟัง คุณสมบัตินี้ของอะตอมจะทำให้เรารู้ได้ทันทีว่ามีคนดักฟังอยู่ เราก็หยุดพูดได้ทันที ซึ่งวิธีนี้สามารถเอาไปใช้ในการป้องกันข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ควอนตัมได้ในอนาคต
แล้ว ‘คอมพิวเตอร์ควอนตัม’ คืออะไร?
เป็นเทคโนโลยีควอนตัมในยุคที่สอง หลักการก็คือ การเอาคุณสมบัติที่อะตอม 2 ตัวสามารถรู้สึกถึงกันได้ทันที หรือเอาเรื่องที่อะตอมสามารถอยู่ทั้งซ้าย ขวา ได้ในเวลาเดียวกัน มาใช้ในการประมวลผลคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มันคำนวณได้เร็วขึ้น ลองนึกภาพว่า เราเป็นพนักงานคนนึง ที่สามารถทำงานได้หลายออฟฟิศในเวลาเดียวกัน หรือทำงานหลายๆ อย่างได้พร้อมๆ กัน โดยใช้คนแค่คนเดียว คุณลักษณะนี้ ทำให้คอมพิวเตอร์ควอนตัม แตกต่างจากคอมพิวเตอร์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิงเลย
คอมพิวเตอร์ควอนตัมแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วไปอย่างไร?
คอมพิวเตอร์ปัจจุบัน ใช้ระบบบิต (Bit) หรือก็คือระบบ 0 หรือ 1 พอเราบอกว่ามีรูปภาพขนาด 1 เมกกะไบต์ แปลว่าเรามีรูปภาพขนาด 8 ล้านบิต ทีนี้การประมวลผลแบบ 0 หรือ 1 ของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน มันก็เหมือนกับการไปได้แค่ซ้ายหรือขวา แต่คอมพิวเตอร์ควอนตัม สามารถคุมกระแสซ้ายกับขวาได้พร้อมกันเลย จึงสามารถจัดเก็บข้อมูลเป็นทั้ง 0 และ 1 ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเราเรียกกันว่า คิวบิต (Qubit)
ทีนี้พอระบบมันไม่เหมือนกัน ทั้งวิธีการใช้โปรแกรม ภาษา ก็ต้องแตกต่างกันออกไป สิ่งที่แตกต่างมากที่สุดคือ พาวเวอร์ของคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ถ้าเราเพิ่ม 1 คิวบิตเข้าไป
ยกตัวอย่าง การทดลอง Quantum Supremacy ที่เพิ่งออกมาเดือนที่แล้ว ทางกูเกิลบอกว่า เขาสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาด 53 คิวบิตได้ ซึ่งใช้เวลา 200 วินาทีในการคำนวณงานๆ นึง ขณะที่ไอเอ็มบี (International Business Machines: IBM) บอกว่า งานเดียวกันนี้ ถ้าเขาใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งขนาดใหญ่เท่าสนามบาสเกตบอล ต้องใช้เวลาคำนวณประมาณ 10 วัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้ากูเกิลเพิ่มจาก 53 คิวบิต เป็น 54 คิวบิต ไอเอ็มบีจะต้องเพิ่มคอมพิวเตอร์เป็นทวีคูณ หมายความว่าต้องเพิ่มเป็น 4 สนามบาสเกตบอล ถ้ากูเกิลเพิ่มเป็น 70 คิวบิต ไอเอ็มบีต้องสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ขนาดใหญ่เท่าเมืองๆ นึง ถ้าคอมพิวเตอร์ควอนตัมมีขนาด 300 คิวบิต ไอเอ็มบีต้องสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เท่าจักรวาลนึง ถึงจะมารันแข่งกันได้ในงานจำเพาะงานใดงานหนึ่ง นี่คือความแตกต่างของคอมพิวเตอร์ควอนตัมกับคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิม
แล้วคอมพิวเตอร์ควอนตัม เอามาใช้ทำอะไรได้บ้าง?
คอมพิวเตอร์ที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน ใช้คิดคำนวณ บวกเลข พิมพ์งานก็เหมาะสมอยู่แล้ว การเอาคอมพิวเตอร์ควอนตัมไปคิดเลข พิมพ์งาน อาจจะไม่เหมาะสม เพราะมีงานเฉพาะเจาะจงที่เหมาะสมกับคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่สามารถรีดศักยภาพได้ดีกว่า
นึกง่ายๆ อย่างคอมพิวเตอร์เรา เวลาเล่นเกม หน่วยประมวลผลหลักที่ใช้คือ จีพียู (Graphical Processing Unit: GPU) ไม่ใช่ ซีพียู (Central Processing Unit: CPU) ถ้ามีคอมพิวเตอร์ควอนตัมในอนาคต งานบางงานอาจจะใช้ CPU ในการประมวลผล งานบางงานต้องโยนให้ Quantum Processing Unit ในการประมวลผลกลับมาเพื่อให้เราใช้งาน ไม่ใช่ว่าคอมพิวเตอร์ควอนตัมดีที่สุด เหมาะสมกับงานทุกรูปแบบบนโลกขนาดนั้น
การประกาศ Quantum Supremacy ของกูเกิลคืออะไร?
จริงๆ มันก็เหมือนไมล์สโตนอันนึงที่นักฟิสิกส์ปักไว้ เพื่อให้เราสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่มีความสามารถมากกว่าคอมพิวเตอร์ดั้งเดิม (Conventional Computer) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทุกวันนี้ กูเกิลใช้ แมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine learning) และ AI ประกอบกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ แต่เดิมการจับอะตอมมันทำได้ทีละแค่ตัวสองตัว แต่ที่กูเกิลประกาศแล้วทำให้คนฮือฮากันมาก คือจับได้ทั้งหมด 53 ตัว
ถามว่าก่อนหน้านี้มีใครผลิตออกมาไหม ก็มีเยอะแยะไปหมด แต่มันเป็นคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดเล็ก หมายความว่ามันไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าคอมปัจจุบัน อาจจะมีจำนวนอะตอมเยอะ แต่ก็ใช้งานจริงแค่ 2-3 อะตอม สิ่งที่กูเกิลออกมาประกาศคือ มันมีงานนึง ยังเป็นงานที่ไม่มีประโยชน์หรอก แต่ว่างานนี้เราโชว์ได้ว่าคอมพิวเตอร์ควอนตัมมันเร็วกว่าคอมปัจจุบันแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็เป็นไมล์สโตนอันนึงที่มีอยู่
คนทั่วไปจะมองว่านี่เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ว่าสำหรับคนที่ทำงานตรงนี้ เขาก็จะรู้ว่า มันเป็นไมล์สโตนอันนึง เหมือนกับว่า เฮ้ย ทุกทีเราคลานได้ มาวันนี้เรายืนได้แล้ว แต่ถามว่ายืนแล้วเดินได้ไหม? ไม่ได้นะ ยืนแล้วต้องยืนอยู่กับที่นิ่งๆ ถือเป็นสเต็ปนึงที่เราต้องผ่านไปให้ได้ เราผ่านมันก็เป็นเหมือนจุดเล็กๆ จุดหนึ่ง อย่างวันนี้เรามองย้อนกลับไปยังจำวันที่เรายืนครั้งแรกได้ไหม ก็จำไม่ได้ เราให้ความสำคัญกับวันที่เรายืนได้ไหม ก็ไม่ แต่ถามว่าจุดนั้นเป็นจุดเปลี่ยนไหม เป็นจุดเปลี่ยนนะ เพราะเป็นครั้งแรกที่ลำตัวเราตั้งฉากกับพื้นโลกซึ่งแสดงถึงความเป็นมนุษย์ แล้วเราก็กำลังจะเดิน เพราะก่อนหน้านั้นเราคลาน ซึ่งเหมือนกับสัตว์อื่น เป็นวิวัฒนาการว่า เราตั้งตัวได้แต่ยังเดินไม่ได้
หรืออาจจะเทียบกับ รถที่สามารถวิ่งเร็วที่สุดในโลกเลย แต่วิ่งตรงได้อย่างเดียว ถ้าให้โค้งก็อาจจะแหกโค้งได้ สิ่งที่กูเกิลประกาศมาตอนนี้ถามว่าใช้งานจริงได้ไหม ยังใช้ไม่ได้ แต่ถามว่าเป็นไมล์สโตนที่สำคัญไหม ตอบได้เลยว่าสำคัญ
อะไรที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม?
ตอนนี้ควอนตัมเทคโนโลยียังอยู่ในแล็บสเกล ควอนตัมเทคโนโลยีไม่ได้เพิ่งเกิด มันเกิดมานานแล้ว แต่เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะไปรองรับยังไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้จริง เช่น ถ้าจะใช้งานคอมพิวเตอร์ควอนตัม เราต้องทำให้มันเย็นมากๆ เย็นแบบเกือบ 0 องศาสัมบูรณ์ คือติดลบเกือบ 270 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอวกาศนอกโลก การทำให้เย็นเพื่อลดสิ่งรบกวน (Noise) ในคอมพิวเตอร์ควอนตัม ถ้ามีสิ่งรบกวนมากก็จะคำนวณผิดพลาด ด้วยคุณสมบัติทางควอนตัมปัจจุบัน ถ้ามีอะไรไปรบกวนนิดเดียวก็จะเปลี่ยนทันทีเลย เพราะมีความเซนซิทีฟสูงมาก
ทุกวันนี้มีสิ่งที่อาจจะยังอยู่ในแล็บวิทยาศาสตร์อยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่ได้ออกมาภายในเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี เพราะทุกวันนี้ วิธีการทำงานของสิ่งต่างๆ แม้แต่ภาคธุรกิจเอง ก็เปลี่ยนเร็วเหลือเกิน เช่น โลกเรามีการขับรถแท็กซี่ เผลอแปปเดียวเราเปลี่ยนมาใช้อูเบอร์ หรือแกร็บแล้ว ทั้งที่คนยังงงๆ กันอยู่เลย ซักพักนึงเปลี่ยนมาเป็นรถไร้คนขับแล้ว ซึ่งแปลว่าเราไม่ควรละเลยเรื่องนี้ แต่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับมันให้ดี
คิดแบบสนุกๆ เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์สามารถลอดอุโมงค์ควอนตัมแล้วย้อนเวลากลับไปในอดีต แบบในหนัง Avengers?
ในหนังคือการย่อตัวลงไปอยู่ในระดับเล็กๆ เท่าอะตอม เพื่อเข้าไปในมิติควอนตัม (Quantum Realm) ที่ทำให้เกิดคุณสมบัติแปลกๆ ออกมา แล้วเสริมจินตนาการเรื่องของการย้อนเวลาเข้าไปด้วย แต่ความเป็นไปได้ของการย้อนเวลาไม่ใช่ทฤษฎีควอนตัม เป็นเรื่องของทฤษฎีสัมพันธภาพมากกว่า ซึ่งนั่นก็เป็นสมมติฐานของทฤษฎีที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน
วงการฟิสิกส์ มีสองเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดในฟิสิกส์ตอนนี้คือ ควอนตัม ทฤษฎีที่เล่าเรื่องระดับเล็กๆ อย่างอะตอม กับอีกอย่างคือ ทฤษฎีสัมพันธภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากที่สุดแล้ว ตอนนี้ทั้งสองอย่างเป็นทฤษฎีที่อธิบายคนละโลกกัน ปัญหาของนักฟิสิกส์ตอนนี้คือ ทั้งสองทฤษฎีนี้ไม่ยอมบรรจบกัน ณ ที่ใดที่นึง นักฟิสิกส์ก็อยากให้มันบรรจบกันดีๆ แต่ส่วนใหญ่เวลามันบรรจบกัน ก็บรรจบกันในหนังนั่นแหละ ซึ่งในโลกของความเป็นจริง เรายังไม่สามารถทำได้ อันนี้คือปัญหาใหญ่ของเราเลย คือ เรามีสองทฤษฎีที่เวิร์คมาก แต่มันยังไม่ไปด้วยกัน
ต้องเข้าใจว่า ปรัชญาของวิทยาศาสตร์ต่อให้ทฤษฎีจะสวยแค่ไหน หรือจะเป็นไอน์สไตน์ก็ตาม ถ้าไม่มีการยืนยันทางการทดลอง หรือไม่สามารถตรวจวัดได้ ก็ไม่ถือว่าเป็นทฤษฎีที่ยืนยันได้แล้ว เป็นแค่สมมติฐาน
อย่างทฤษฎีสัมพันธภาพในหนังเรื่อง Interstellar ก่อนที่ตัวเอกจะเข้าไปถึงในหลุมดำ หนังเรื่องนี้อิงหลักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างถูกต้องพอสมควร แต่พอเข้าไปในหลุมดำก็เป็นเรื่องของจินตนาการแล้ว ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรนะ มันคือจินตนาการในแง่ที่ว่า สิ่งที่เข้าไปอยู่ในหลุมดำไม่สามารถวัดค่าได้ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นภายในหลุมดำของหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ได้วิทยาศาสตร์ขนาดนั้น แต่เป็นจินตนาการผสมด้วยมากกว่า
แล้วคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไรบ้าง?
คอมพิวเตอร์ควอนตัม อาจจะเปลี่ยนโลกในระดับนึง เพราะมันทำให้เราแก้โจทย์ที่เราไม่เคยแก้ได้ เช่น ในอนาคตเราอาจจะพยากรณ์แผ่นดินไหวได้ ปัจจุบันเราจะทำนายได้ ก็ต่อเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว เพราะคอมพิวเตอร์ปัจจุบันเล็กเกินไป ถ้าเรามีคอมพิวเตอร์ควอนตัมแล้วมันเหมาะกับอัลกอริทึ่ม การทำนายแผ่นดินไหวก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะกำลังในการประมวลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็คือการเพิ่มความสามารถในการแก้โจทย์ที่ซับซ้อน แต่ก็อย่างที่บอกว่า ต้องมีโจทย์ที่เหมาะสมด้วย
ปัจจุบัน ถ้าเราอยากใช้ก็ใช้ได้ เราก็เข้าผ่าน Cloud Computing เขียนโปรแกรมเข้าไปก็ใช้ได้ แต่คำว่า ใช้ ก็มีหลายความหมายนะ ใช้ในแง่ที่เราเข้าไปโปรแกรมเองเลยก็ความหมายนึง ใช้ในแง่ที่ว่าเราได้รับผลกระทบก็อีกความหมายนึง เช่น ถามว่าทุกวันนี้ คนแต่ละคนใช้ AI ไหม ก็อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่ถามว่า ทุกคนได้รับผลกระทบจาก AI ไหม ทุกคนแน่นอน แค่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่มันประมวลอยู่ภายในกูเกิล คือ Cloud computing ขนาดใหญ่ที่พยายามจะประมวลผลว่า เรากำลังคิดอะไรอยู่ เราอยากทำอะไร อยากดูอะไรเป็นอันถัดไป หรือควรขึ้นโฆษณาอะไรให้เราดู
ถ้ายกตัวอย่างอีก คืองานออกแบบปุ๋ย การทำปุ๋ยปัจจุบันมีขั้นนึงที่เรียกว่า การตรึงไนโตรเจน (Nitrogen Fixation) คิดค้นมาได้ประมาณ 100 ปีแล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ตอบโจทย์ และพลังงานของโลกก็หมดไปถึง 3% กับการทำปุ๋ยแบบนี้ เราคิดวิธีที่ดีกว่านั้นไม่ได้ เนื่องจาก มันต้องมีวิธีจำลองโมเลกุลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันทำไม่ได้ เพราะโมเลกุลมีคุณสมบัติทางควอนตัมบางอย่าง ก็เป็นโจทย์ๆ นึง ที่คิดกันว่า ถ้าเรามีคอมพิวเตอร์ควอนตัมเกิดขึ้นมา ก็น่าจะมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ บริษัทเองก็น่าจะมีวิธีการใหม่ๆ ในออกแบบปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมหลายร้อยเท่า ซึ่งถามว่า ลักษณะนี้ดิสรัปทีฟไหม ก็ใช่แหละ สมมติทั่วโลกมีบริษัททำปุ๋ยโดยใช้เทคนิคตรึงไนโตรเจนอยู่ 100 บริษัท แล้วมีอยู่บริษัทนึงใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมคิดค้นวิธีใหม่ได้โดยไม่เปลืองพลังงาน แล้วบริษัทนั้นก็จดสิทธิบัตรตัวเอง อีกร้อยบริษัทที่เหลือ ถ้าอยากจะมาทำปุ๋ยแบบนั้น ก็ต้องไปซื้อสูตรจากบริษัทนั้น
เพราะงั้นถามว่า คอมพิวเตอร์ควอนตัมเข้ามามันจะมีผลกระทบกับเราไหม ก็มีแน่นอน เพราะว่าบริษัทใหญ่เขาจะเข้ามาใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมพวกนี้ เพื่ออัพเกรดเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึง AI ไปอีกระดับนึง แล้วแน่นอนว่า เราจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบนี้
อาจสรุปได้ว่า คอมพิวเตอร์ควอนตัม คือคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนรูปแบบการประมวลจากคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิม ด้วยการใช้รูปแบบการเคลื่อนที่ของอะตอมมาช่วยคำนวณโจทย์ที่ยาก และเหมาะสมกับคอมพิวเตอร์ควอนตัม ซึ่งจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาบางอย่างในชีวิตของเราได้ ขณะเดียวกัน การประกาศ Quantum Supremacy ก็เป็นก้าวที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเราต่อไป