พอเราเริ่มชินกับโลกออนไลน์ คอยติดตามข่าวสาร แอบส่องดราม่าอยู่เป็นประจำ อาการที่จะตามมาหลังจากแอบออฟไลน์ไปแวบนึง หรือไม่ได้ตามเรื่องใดเรื่องนึงไปสักพัก คือความกระวนกระวายว่าจะตกข่าว (fear of missing out) ยิ่งเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีไปไกลและเร็ว อะไรที่คิดว่าใหม่ พรุ่งนี้อาจเก่าไปแล้ว
เพราะเทคโนโลยีอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด และกลัวว่าหลายคนจะไถฟีดไวจนพลาดข่าวนวัตกรรมสำคัญๆ ไป The MATTER เลยมาสรุปรวบยอด 10 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่จะมีผลกระทบกับเราอย่างมากภายในหนึ่งทศวรรษนี้ จากงาน THAILAND TECH SHOW 2019 จาก สวทช.
มัวแต่พูดเดี๋ยวจะยิ่งตามไม่ทัน เพราะเทคโนโลยีออกสตาร์ทวิ่งแซงเราไปก่อนแล้ว ไปดูเลยดีกว่าว่า มีอะไรที่จะมาพัฒนาให้ชีวิตเราดีขึ้นบ้าง
1.เครือข่ายมือถือ 5G/6G (Mobile Network 5G/6G)
ลืมความเร็วเน็ตมือถือแบบ 4G ที่ใช้อยู่ตอนนี้ไปได้เลย เพราะเครือข่าย 5G จะทิ้งห่างไปแบบไม่เห็นฝุ่น ที่ความเร็วประมาณ 20 gbps หรือเร็วกว่าเดิมถึง 100 เท่า!(ของ 4G อยู่ที่10-20 Mbps) ทีนี้เราก็จะดูหนังความชัดระดับ4K-8K ได้สบายๆ แถมยังไม่ต้องรอวงล้อโหลดมุนติ้วๆ และด้วยความเร็วขนาดนี้ 5G และ 6G (เร็วกว่า5G ไปอีก 100เท่า) จึงสามารถรองรับเทคโนโลยีที่ต้องพึ่งการประมวลผลหนักๆ ได้ เช่น AI, big data และ internet of things
2.การคำนวณและวิศวกรรมควอนตัม (Quantum Computing & Engineering)
อีกหน่อยโลกจะเป็นสนามแห่งข้อมูล เทคโนโลยีควอนตัมเป็นสิ่งที่จะมาช่วยประมวลผลข้อมูลอย่างแม่นยำและรวดเร็ว เพื่อแก้โจทย์ปัญหาต่างๆ ของสังคมมนุษย์ คอมพิวเตอร์จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหลายพันเท่าจนถอดรหัสดีเอ็นเออันละเอียดอ่อนได้ หรือนำไปสร้างเป็นชิปนาฬิกาอะตอม (atomic clock) ตัววัดเวลาที่แม่นยำระดับนาโนวินาที ขนาดที่รับคำสั่งการทำธุรกรรมออนไลน์ได้ 100 ล้านคำสั่งต่อวินาที
3.ปัญญาประดิษฐ์แห่งอนาคต (Future AI)
ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence : AI) ระบบที่สร้างโดยเลียนแบบเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ และมีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (machine learning) ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโลกอินเทอร์เน็ตและโลกจริงได้เร็วและสมูทกว่าเดิม ที่เห็นได้ชัดก็จะเป็น AI ในรถยนต์ไร้คนขับที่ปลอดภัยและแม่นยำ แต่ความน่ากังวลคือ บริษัท McKinsey ประเมินว่าในปี ค.ศ. 2030 ระบบนี้จะทำให้คนตกงานถึง 400-800 ล้านตำแหน่ง
4.การเดินทางแบบไร้รอยต่อ (Mobility–as–a–Service : MaaS)
Mobility–as–a–Serviceหรือ MaaS คือระบบให้บริการการขนส่งหรือการเดินทางที่มองผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง MaaS อาจจะไม่ใช่อะไรที่ใหม่มากนัก เพราะมันก็คือ GrabFood หรือ Line Man ที่คนไทยนิยมใช้กันอยู่ตอนนี้ แต่ธุรกิจ MaaS เติบโตขึ้นอย่างมาก ในปี พ.ศ.2560 บริษัท Uber ของสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วน DiDi ของจีนที่รูปแบบธุรกิจคล้ายกัน ก็มีมูลค่าราว 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5.เพอรอฟสไกต์ โซลาร์เซลล์ (Perovskite Solar Cell)
เรารู้จักโซลาร์เซลล์กันมานาน แต่ปัญหาคือราคาแพง แถมยังติดตั้งลำบาก การมาถึงของเพอรอฟสไกต์โซลาร์เซลล์จึงเป็นเรื่องใหม่ ด้วยโครงสร้างผลึกคล้ายแร่แคลเซียมไทเทเนียมออกไซด์ (CaTiO3) โซลาร์เซลล์ชนิดนี้เลยขึ้นรูปง่าย โค้งงอได้ และมีน้ำหนักเบา ต้นทุนก็ต่ำกว่าโซลาร์เซลล์แบบซิลิคอนถึง 30-50% ซึ่งน่าจะทำให้คนเข้าถึงโซลาร์เซลล์ได้มากขึ้น
6.แบตเตอรี่ลิเทียมเจนใหม่ (Next Generation Lithium Ion Batteries)
ไม่ต้องกลัวว่าแบตฯ มือถือจะหมดไว หรือต้องพกพาวเวอร์แบงก์หนักๆ ติดตัวตลอดเวลา เพราะในอนาคตแบตเตอรี่จะพัฒนาขึ้นไปอีก อันนี้รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ด้วยนะ แบตเตอรี่เจนใหม่ที่ว่าจะมีทั้ง Solid–state Lithium Ion ที่จุพลังงานได้มากกว่าเดิม 2 เท่า ไปจนถึงแบบ Lithium-air ที่จุพลังงานได้เพิ่มขึ้น 10-100 เท่า!
7.โครงเสริมภายนอกกาย (Exoskeleton)
แม้จะไม่ดูเท่เหมือน Iron Man แต่เราก็สามารถนำเครื่องยนต์กลไกมาติดตั้งตามตัวได้แล้ว Exoskeleton คือโครงเสริมภายนอกกาย มีเป้าหมายหลักคือเพิ่มสมรรถภาพให้มนุษย์มีพละกำลังเสริม และอำนวยความสะดวกกับการทำงานในพื้นที่อันตราย เทคโนโลยีนี้ยังช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยหรือผู้พิการให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกด้วย
8.ไฟเบอร์สารพัดประโยชน์จากจุลินทรีย์ (Microbial Multifunctional Fiber)
เซลลูโลสในจุลินทรีย์นับว่าเอนกประสงค์เอามากๆ ด้วยคุณสมบัติที่ให้บริสุทธิ์ได้ง่ายและแข็งแรงกว่าเซลลูโลสในพืช แถมยังขึ้นรูปง่ายและอุ้มน้ำได้ดี ทำให้เทคโนโลยีนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรม เช่น เป็นสารตั้งต้นทำอาหาร (วุ้นมะพร้าว เต้าหู ไอศกรีม) ผลิตภัณฑ์ปิดแผลหรือผิวหนังเทียม (artificial skin) รวมถึงเสื้อผ้าที่เราใส่
9.ร่างกายจำลองสำหรับทดสอบยา (Companion Diagnostics)
วิทยาศาสตร์สร้างอวัยวพจำลองชิ้นเล็กๆ หรือ organoidมาได้สักพักแล้ว แต่ที่แปลกใหม่คือ ตอนนี้เราสามารถสร้างระบบที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อออแกนอยด์ของอวัยวะต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านของเหลว ผลลัพท์ที่ได้คือ ‘ร่างกายจำลอง’ ซึ่งจะมาช่วยแก้ปัญหาด้านจริยธรรมที่มักเป็นข้อถกเถียงเสมออย่าง การใช้คนจริงๆ ทดสอบยา
10.วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล (Personalized Cancer Vaccine)
ปัญหาอย่างหนึ่งของการรักษามะเร็งคือ ผู้เข้ารับการรักษาแต่ละคนมีภาวะไม่เหมือนกัน การรักษาด้วยการฉายรังสีหรือใช้ยาเคมีบำบัดแบบเหมารวมจึงอาจจะไม่ได้ผล เพราะทุกคนตอบสนองแตกต่างกันไป เทคโนโลยีใหม่ที่นำเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยออกมา ‘อ่านรหัสดีเอ็นเอ’ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาสร้างวัคซีนเฉพาะบุคคล ซึ่งจะทำให้การรักษามะเร็งตรงจุดมากยิ่งขึ้น