ใครมีพี่มีน้องก็ต้องได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านพร่ำสอนจนหูชา “เกิดเป็นพี่ต้องเสียสละ” ว่าแล้วเขาก็บังคับให้คุณต้องแบ่งลูกชิ้นปิ้งอีกไม้ไปให้น้องตัวแสบ หรือถ้าคุณเกิดเป็นน้องเล็กสุด บรรดาท่านๆ ก็อาจพร่ำข้างหูคุณอีกทำนองว่า “เกิดเป็นน้องต้องรู้จักเชื่อฟังพี่” ทั้งๆ ที่พี่คุณก็ดูไม่ค่อยฉลาดเฉลียวเสียเลย เอาจริงๆ แล้วเราเป็นคนมีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือเป็นคนว่านอนสอนง่ายอย่างผู้ใหญ่เขาหมายมั่นหรือเปล่า?
ลำดับการเกิดก่อนหลังมีผลต่ออุปนิสัยพวกเราหรือไม่ หากคุณมีศักดิ์เป็นพี่คนโตหรือเป็นน้องคนเล็ก บุคลิกภาพจะต้องถูกควบคุมโดยลำดับการเกิดที่พ่อแม่มอบให้อย่างไร
เกิดก่อน เกิดหลัง
นอกเหนือจากที่พี่น้องได้แชร์ยีนและสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกันจากการที่พ่อแม่มอบให้ ความเป็นพี่น้องก็ไม่ค่อยจะมีอุปนิสัยที่ใกล้เคียงกันสักเท่าไหร่ ลำดับการเกิด ถือเป็นเงื่อนไขคลาสสิคที่นักจิตวิทยาสนใจอย่างเนิ่นนานตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะนักจิตวิทยาคนสำคัญ อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfed Adler) ผู้บุกเบิกจิตวิทยาปัจเจกชน (Individual Psychology) เขาเชื่อว่า ลำดับการเกิดก่อนหลังมีผลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของสมาชิกในครอบครัว
อัลเฟรดนิยามลูกคนแรกว่า มีบุคลิกภาพแบบ Neurotic คือ วิตกจริตหน่อยๆ อารมณ์ไม่เสถียร เอาแต่ใจ เพราะในช่วงแรกที่เกิดมา เด็กคนนี้ไม่ต้องแชร์ทรัพยากรและความใกล้ชิดจากพ่อแม่ให้คนอื่นๆ แต่เมื่อมีสมาชิกพี่น้องเพิ่มขึ้นก็มีแนวโน้มว่าตัวเองจะสูญเสียจุดศูนย์กลางไปจากครอบครัว ลูกคนโตสุดมักมีบุคลิกภาพที่มีความรับผิดชอบสูง แต่ก็เป็นพวกอนุรักษ์นิยมเพราะได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่โดยตรง ส่วนลูกคนกลาง แอดเลอร์มองว่ามีลักษณะสมดุล (optimal) อารมณ์ค่อนข้างเสถียร อยู่สายกลาง ส่วนน้องคนเล็กที่สุดจะทะเยอทะยาน ท้าทาย ชอบแหกกรอบ เพื่อดึงความสนใจของพ่อแม่มาอยู่ที่ตัวเอง
อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยารุ่นใหม่ๆ มีความเห็นว่า มุมมองของอัลเฟรดอาจจะมีความส่วนตัวและใช้ประสบการณ์ตัวเองตีความไปหน่อย เพราะแอดเลอร์เองก็มาจากครอบครัวที่มีลูกมากถึง 7 คน (เขาเป็นคนที่ 2 ) ซึ่งก็น่าจะมาจากการตีความตำแหน่งในครอบครัวของพี่น้องแอดเลอร์เองส่วนหนึ่ง
พอมาช่วงปลาย ค.ศ. 1990 นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน แฟรงก์ ซอลโลเวย์ (Frank J. Sulloway) ลองจับคู่บุคลิกภาพคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้ากับลำดับการเกิดก่อนเกิดหลังในครอบครัว เพื่อเขียนหนังสือจิตวิทยาที่ป๊อบสำหรับคนทั่วไปหน่อยชื่อ Born to Rebel เขานำเสนอว่า คนที่มีบุคลิกภาพเป็นผู้นำ เป็นนักบุกเบิก คนที่ตัดสินใจเฉียบขาด บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นลูกคนแรกของครอบครัว อาทิ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) อดีตผู้นำของสหภาพโซเวียต และ เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) อดีตผู้นำฟาสซิสต์อิตาลี ส่วนคนที่มีบุคลิกภาพเป็นนักคิด นักจินตนาการ ชอบท้าทายกรอบ ก็มักเป็นลูกคนเล็ก อย่าง ชาลส์ โรเบิร์ต ดาวินส์ (Charles Robert Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักสังคมนิยมปฏิวัติชาวเยอรมัน และ มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ผู้นำสันติวิธี โดยในหนังสือกล่าวว่า เด็กทุกคนที่กำลังจะเติบโตมักยึดโยงลำดับชั้นของโครงสร้างที่ครอบครัววางไว้ให้ แล้วหยิบมาปรับใช้กับชีวิตตนเองเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ โดยร่องรอยของบุคลิกนั้นแฝงฝังครอบครัวในวัยเด็กเสมอ
เป็นไปตามคาดการณ์ของหนังสือขายดิบขายดี การจำแนกบุคลิกภาพพี่น้องโดยลำดับการเกิดแบบแฟรงก์ได้รับความนิยมมากทีเดียว เพราะคนทั่วไปทำความเข้าใจง่าย แล้วก็มักรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองว่า “ช่าย ฉันก็รู้สึกแบบนี้” ความเป็นพี่จะต้องรับผิดชอบสูง เป็นเสาหลักครอบครัว ส่วนความเป็นน้องจะต้องแหกกรอบ เป็นขบถ ถึงขนาดที่ว่าในหนังสือเรียนจิตวิทยาเด็กก็ยังใช้การจำแนกของแฟรงก์แยกประเภทเด็กๆ ออกเป็นกลุ่ม ความคิดนี้จึงถูกบอกเล่า ทำซ้ำเรื่อยๆ จนฝังหัวพ่อแม่รุ่นแล้วรุ่นเล่ามาอย่างยาวนาน และกลายเป็นโมเดลที่พ่อแม่ใช้เลี้ยงดูลูกๆ
มีงานวิจัยอีกชิ้นที่อ้างว่า ลำดับการเกิดมีผลต่อบุคลิกภาพ คือในช่วงปี ค.ศ. 1980 งานวิจัยพยายามศึกษาอาสาสมัครที่มีคุณสมบัติ ต้องเกิดเป็นคนแรกของครอบครัว (first borns) เพื่อศึกษาบุคลิกภาพวิตกกังวล โดยใช้แบบสอบถามชื่อ Howarth Personality Questionnaire โดยให้สมาชิกในครอบครัวตอบว่า ลูกคนแรกของครอบครัวจัดอยู่ในบุคลิกภาพประเภทใดใน ‘ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง’ หรือที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อ ‘Big Five Personality Traits’ คือบุคคลผู้นี้มีการเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) ความพิถีพิถัน (conscientiousness) ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion) ความยินยอมเห็นใจ (agreeableness) และความไม่เสถียรทางอารมณ์ (neuroticism) รวมเป็นปัจจัย 5 ประการอย่างไร ซึ่งผลออกมาว่า สมาชิกคนโตสุดในครอบครัว มีลักษณะวิตกจริต ขี้กังวล มีความรับผิดชอบสูง ซึ่งใกล้เคียงกับที่ อัลเฟรด แอดเลอร์ เคยให้คำนิยามลูกคนแรกไว้
แต่กระบวนการวิจัยดังกล่าวก็ยังถูกตั้งคำถามถึงการได้มาซึ่งข้อมูล เพราะมีการสอบถามเพียงบุคคลเดียวในครอบครัว และเก็บข้อมูลเพียง ณ ช่วงเวลาหนึ่งของคนนั้นๆ ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่า มนุษย์มีการรับรู้ตัวตน (Self-Perception) เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เวลานี้อาจรู้สึกกับตัวเองอีกอย่าง แต่เวลาเปลี่ยนไปความรู้สึกต่อตัวเองก็เปลี่ยน และแน่นอนว่า มุมมองที่ตัวเองมีกับมุมมองที่คนอื่นมองก็มักไม่เหมือนกัน ดังนั้น คุณอาจจะรู้สึกว่าเป็นพี่ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะคุณถูกทำให้เชื่อแบบนั้นมาก่อนแล้วจากการปลูกฝังของครอบครัว
บุคลิกภาพถูกควบคุมโดยลำดับการเกิดหรือไม่?
อาจมีเพียงบางส่วนที่ส่งอิทธิพล แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นระบบขนาดที่คุณเกิดมาแล้วจะต้องมีบุคลิกภาพแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวจะปลูกฝังเรื่องลำดับขั้นเข้าไปในการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่พ่อแม่สร้างขึ้นกลับมีส่วนสำคัญมาก ลำดับการเกิดไม่ส่งอิทธิพลเมื่อบุคคลนั้นเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเราต้องเข้าไปอยู่ในสังคมที่กว้างขึ้น เมื่อไม่ได้มีแค่หน่วยครอบครัวเท่านั้น เราต่างต้องปรับตัวเพื่อเข้ากับโครงสร้างทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ ถึงคุณจะเป็นพี่ในครอบครัว แต่ก็ยังเป็นรุ่นน้องในสำนักงาน พวกเราจึงมีหลายสถานะที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนความรู้สึกในลำดับชั้นของครอบครัวเปลี่ยนไป
สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมยังมีผลต่อบุคลิกภาพมากกว่าลำดับการเกิดเสียอีก เป็นไปได้ที่หากคุณเป็นลูกคนโต เกิดมาในช่วงที่ครอบครัวมีรายได้ดี เข้าถึงทรัพยากรมาก จึงได้รับอาหารที่ดีและเข้าถึงการศึกษาในระดับสูง ได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย ต่างจากน้องของคุณที่เกิดมาในช่วงที่ครอบครัวเผชิญพิษเศรษฐกิจตกต่ำ อาจจะเข้าเรียนใกล้บ้านแทน ต้องออกจากการเรียนเพื่อมาช่วยงานบ้าน ต้องแชร์ปัจจัยดำรงชีวิตมากกว่าเกิดเป็นลูกคนเดียว สิ่งเหล่านี้ส่งอิทธิพลค่อนข้างมากต่ออุปนิสัยและบุคลิกภาพเวลาเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่
แต่อย่างไรก็ตาม ลำดับการเกิดอาจมีผลต่อบุคลิกภาพในมิติด้านวัฒนธรรม เมื่อบางสังคมมักให้พี่คนโตเป็นผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว เช่น วัฒนธรรมของคนจีนที่วางตัวให้ ‘พี่ใหญ่’ เป็นผู้นำครอบครัวแต่เนิ่นๆ หรือได้รับมรดกก้อนโตที่สุด หรือ ‘พี่สาว’ ที่ถูกตีกรอบว่าต้องดูแลพ่อแม่ต่อเนื่องจนแก่เฒ่า ไม่ได้ถูกคาดหวังให้แต่งงาน เป็นต้น
ดังนั้นลำดับการเกิดจากปัจจัยชีวภาพไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ ต่อบุคลิกภาพคุณในระยะยาวตามที่พ่อแม่หลายครอบครัวฝังใจเชื่อ แต่ชุดความเชื่อที่ฝังรากลึกเหล่านี้ต่างหากที่กลายเป็นกรอบควบคุมลูกๆ ให้เป็นในแบบที่พ่อแม่อยากเห็น เมื่อกรอบนั้นบีบรัดมากเข้า เด็กๆ จึงกลายเป็นคนที่ล้มเหลวในสายตาพ่อแม่ไปโดยปริยาย เพราะคุณรับผิดชอบได้ไม่ดีทั้งที่เป็นพี่ หรือคุณนั้นดื้อรั้นเกินไปทั้งที่เป็นน้อง
ในโลกกว้าง มนุษย์ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงหน่วยสังคมเดียว แต่เราค่อยๆ เติบโตจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมที่ใหญ่ขึ้น เราปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายมากขึ้น เห็นพลวัตทางสังคมที่ซับซ้อน สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพพวกเราเพื่อให้อยู่ร่วมในแต่ละสังคม สังคมเติบโตขึ้น บุคลิกภาพของคุณจึงต้องเติบโตตาม
คุณอาจจะไม่ใช่คนเดียวกับเด็กน้อยที่พ่อแม่เคยคาดหวังไว้ก็ได้ การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องน่าจะทำให้เขาปรับตัวเพื่ออยู่รอดได้ดีกว่าตีกรอบให้คับแคบลงเรื่อย
เพราะเขาคือคนที่ต้องเผชิญหน้ากับสังคม โดยที่คุณเป็นผู้สังเกตการณ์เท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก