หลายคนอาจเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นเด็กจบใหม่ไฟแรง มีความตั้งใจจริงในการทำงาน อยากจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ตัวเองเก่งขึ้น บางคนอาจเริ่มด้วยการเป็นคนทำงานมาแล้วโชกโชน ประสบการณ์สูง อยากจะเข้ามาใช้ความสามารถให้เต็มที่ นี่เป็นภาพที่เรามองตัวเองไว้ แต่พออยู่ไปนานๆ ได้ลงมือทำงานจริงๆ เรายังเป็นคนเดิมคนนั้นอยู่หรือเปล่า? หรือแม้แต่ตอนก้าวออกไปจากที่นี่ เรายังเหมือนกับคนแรกที่ก้าวเข้ามาหรือไม่?
เราอาจเคยเชื่อว่า นิสัย ไม่ใช่เรื่องที่เปลี่ยนกันได้ง่ายๆ หรือเปลี่ยนกันได้บ่อยๆ ยิ่งถ้าบอกว่าทำงานนี้เลยกลายเป็นคนนิสัยแบบนี้ ทำงานอีกอย่าง กลายเป็นคนอีกอย่าง อาจไม่เข้าใจว่าการทำงานมันเปลี่ยนนิสัยของเราไปได้ยังไงกัน อาจจะคิดว่าเรายังคงตั้งมั่นเป็นคนเดิมมาตลอด แต่พอได้ใคร่ครวญถึงตัวตนของเราในวันแรกที่ก้าวมาทำงาน กับเราในตอนนี้ เรากลับรู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ได้เป็นคนเดิมขนาดนั้น หรือในบางครั้ง เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราเปลี่ยนไปขนาดไหน
ทำไมคนเราจึงเปลี่ยนไปตามเวลา?
เพราะคนเราโตขึ้นไงล่ะ ถามว่าคำตอบนี้ใช่มั้ย มันก็ใช่ แต่เราอยากมาขยายความให้เห็นภาพกันมากขึ้นว่าวันเวลานั้น เปลี่ยนแปลงเราได้เพราะอะไร ด้วยงานวิจัยเรื่อง ‘Work and Personality Change: What We Do Makes Who We Are’ ที่ตีพิมพ์โดย Bristol University ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ข้อสันนิษฐานแรก คนเราเติบโตตามวุฒิภาวะและประสบการณ์ อย่างเวลาที่เราโตขึ้นตามวัย เรารู้จักควบคุมตัวเองมากขึ้น รู้จักความรับผิดชอบมากขึ้น ต่อมาคือ บทบาทหน้าที่ในสังคม เราอาจจะเติบโตมาเป็นพ่อแม่ของลูกๆ เป็นพนักงานดีเด่น เป็นบทบาทต่างๆ ในสังคม ที่หล่อหลอมให้เราต้องทำตามหน้าที่นั้นๆ ให้ดี
โดยรวมแล้ว อาจกล่าวได้ว่า สภาพแวดล้อมนี่แหละ ที่คอยปรับเปลี่ยนไปเสมอและเราเองก็ต้องคอยปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน แน่ล่ะ กว่ามนุษย์เราจะรอดมาได้จนทุกวันนี้ เครื่องมือที่ช่วยให้เรารอดมาได้หลายยุคที่ดีที่สุดคงจะเป็นการปรับตัวนี่แหละ ฉันใดก็ฉันนั้น พอเราเติบโตและต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป เราก็ต้องตอบสนองสภาพแวดล้อมนั้น ด้วยการปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน
แล้วงานเปลี่ยนนิสัยของเราได้ยังไง?
อย่างที่ยกตัวอย่างเรื่องบทบาทในสังคมไป ว่ามันทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้ทำหน้าที่ บทบาทนั้นให้ดี เราเลยอาจมีลักษณะนิสัยบางอย่างที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เข้ากับการปรับตัว ในการทำงานเองก็เช่นกัน ต่อให้เป็นในบริบทของการทำงาน เราก็ยังคงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเช่นกัน แม้เราจะเชื่อว่าเราทำงานด้วยความสามารถของเราเอง หรืองานบางอย่างเราเชื่อว่าเราได้ขายตัวตนของเรา ความเป็นตัวเรา แต่สุดท้ายแล้ว ลักษณะของงาน จะมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนนิสัยบางอย่างของเราไปได้เช่นกัน ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าไปในทางที่ดีหรือไม่ดี
แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัยของ เจียเหว่ย หวู่ (Chia-Huei Wu) จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอน ในหัวข้อ ‘Personality change via work: A job demand–control model of Big-five personality changes’ และ ‘Developing agency through good work: Longitudinal effects of job autonomy and skill utilization on locus of control’ บอกไว้ว่า งานที่มีลักษณะให้อิสระสูง (high levels of job autonomy) โดยเฉพาะในการตัดสินใจเกี่ยวกับตัวงานว่าจะผลิตงานออกมาแบบไหน อย่างไร จะส่งผลให้คนทำงานนั้นเนี่ยมีลักษณะนิสัยที่กล้าคิดกล้าตัดสินใจ เชื่อมั่นว่าจะควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ดี หรือมี Internal Locus of Control นั่นเอง โดยลักษณะที่ว่านั้น คือ การที่เราเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ในการควบคุมของเรา เราสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ รอบตัวเราได้ หรือหากมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา เชื่อว่าเราเองเป็นผู้ที่มีส่วนให้มันเกิดขึ้นด้วยตัวเอง งานลักษณะนี้ ที่มอบโอกาสให้คนทำงานได้คิด ตัดสินใจ แก้ปัญหา เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ทำให้คนทำงานนั้นมีประสบการณ์แบบนั้นและต้องปรับตัวให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่นี้ให้ได้ไปด้วย
ในทางกลับกัน งานที่มีลักษณะตรงข้ามกับงานที่อิสระ อย่างงานที่มีเวลาจำกัด (high time demands) และงานที่ไม่แน่นอน (high job insecurity) มีแนวโน้มที่จะทำให้คนทำงานนั้น กลายเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยไม่มั่นคงทางอารมณ์ (neuroticism) ควบคุมอารมณ์ได้ยาก จัดการและรับมือปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงมีผลต่อการตัดสินใจในงานนั้น เช่นเดียวกัน การทำงานที่อยู่บนความไม่แน่นอน ไม่สามารถคิด ตัดสินใจเองได้ หรือแม้แต่ตรวจสอบอะไรไม่ได้ ทำให้กลายเป็นคนที่จัดการปัญหาได้ไม่ดี ไม่มีความมั่นคงรวมทั้งไม่กล้าออกความคิดเห็นอีกด้วย
ลักษณะของงาน จึงส่งผลให้คนทำงานสามารถเปลี่ยนนิสัยของตัวเองไปด้วยได้เช่นกัน เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในชีวิต ที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนไป เช่น การเป็นผู้ปกครองของเด็กๆ ที่เราจะต้องอดทนมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น การเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่ทำให้เราต้องค้นหาสิ่งที่เราชอบให้เจอ วางแผนอนาคตให้กับตัวเอง เป็นต้น เราเองก็ต้องปรับตัวไปตามบทบาทหน้าที่ที่เราได้รับในตอนนั้น
แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไป แม้ลักษณะจะส่งผลกับนิสัยของเราอยู่บ้าง แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด มันไม่อาจเปลี่ยนทุกคนที่ก้าวเข้ามาในงานได้ 100% เหมือนสายพานผลิตสินค้าในโรงงาน มันอาจส่งผลบ้าง แต่ไม่อาจเปลี่ยนคนทุกคนได้ สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าลักษณะนิสัยที่เราได้มามันจะดีหรือไม่ดี มันอาจจะหล่นหายหรือติดตัวเราไปตลอดในวันข้างหน้า ก็อยู่ที่เราเช่นกัน ว่าเราจะเก็บสิ่งนี้ไว้กับตัวเราเองนานแค่ไหน จะให้มันเป็นนิสัยที่ติดตัวตลอดไป หรือกลายเป็นประสบการณ์หนึ่งที่เคยผ่านมาเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก