คุณได้ลิ้มลองความหอมหวนของชัยชนะครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ เขาว่าชัยชนะทำให้เราเสพติดก็ไม่ผิดนัก เพราะทุกครั้งที่เราได้รับชัยชนะครั้งใหม่ เราจะวางมาตรฐานเส้นต่อไปให้สูงเสมอ คุณอาจจะเป็นคนชอบเอาชนะตัวเอง หรือชอบที่จะเอาชนะคนอื่น
อย่างไรก็ตาม มนุษย์นั้นโหยหาที่จะสัมผัสประสบการณ์เอาชนะศักยภาพของเผ่าพันธุ์ ยิ่งได้ทำลายสถิติที่หินโหดเท่าไหร่ยิ่งดี เอลีอูด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) นักวิ่งมาราธอนจากเคนยาระเบิดฟอร์มตื่นตะลึงให้กับชาวโลก โดยวิ่งฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งน้อยที่สุดเพียง 1 ชั่วโมง 59 นาที 40.2 วินาที ชัยชนะครั้งนี้อาจจะไม่ใช่ของคิปโชเกคนเดียว แต่อาจจะเป็นชัยชนะของมนุษย์ที่เป็นสักขีพยานของการทำลายขีดจำกัดมนุษย์เช่นกัน
และชัยชนะนี้เองที่เป็นปรากฏการณ์ winner effect ที่มีอิทธิพลต่อร่างกายมนุษย์ เพราะชัยชนะหนึ่งครั้งอาจส่งต่อให้เกิดชัยชนะอีก 100 ครั้ง ชัยชนะนั้นระบาดได้หรือไม่? ส่งอิทธิพลต่อตนเองและคนอื่นๆ อย่างไร ความโหยหาชัยชนะมีด้านมืดที่ซุกซ่อนอยู่ด้วยหรือเปล่า?
มีงานวิจัยแปลกๆ ที่น่ากล่าวถึงเสียหน่อย ครั้งหนึ่งย้อนไปปี ค.ศ.1994 ระหว่างการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ FIFA World Cup ของคู่สุดดุเดือดในระดับหน้าประวัติศาสตร์ลูกหนัง ‘บราซิล ปะทะ อิตาลี’ เกมบรรยากาศระทึกตลอดเกม หมดเวลาเสมอกันที่ 0 – 0 จนต้องต่อเวลาพิเศษ และต้องใช้เตะลูกโทษตัดสิน ซึ่งทีมชาติบราซิลเอาชนะอิตาลีไปแบบฉิวเฉียด 3 – 2 และถือว่าเป็นแมตช์ที่ตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ World Cup
ณ เวลานั้นใครๆ ก็เชียร์บอลกันสุดฤทธิ์ แต่ข้างสนามยังมีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่ตะแบงทำวิจัยของพวกเขาอยู่ (ต้องให้เครดิตจริงๆ ที่พวกเขาไม่ไขว้เขว) ทีมนักวิจัยสงสัยว่า การแข่งขันกีฬาอันสุดดุเดือดนี้จะส่งผลต่อร่างกายของผู้ชมบนอัฒจันทร์ได้อย่างไร พวกเขาจึงกวาดกระพุ้งแก้มของแฟนบอลทั้งสองทีม เก็บตัวอย่างก่อนและหลังการแข่งขัน และพบว่าแฟนบอลทีมบราซิลมีระดับโดปามีน (dopamine) สูงขึ้น 50% และ เทสโทสเตอโรน (testosterone) สูงขึ้นกว่าปกติ 100% หลังจากทีมได้รับชัยชนะและคว้าแชมป์ไป ตรงกันข้ามกับทีมเชียร์ฝั่งอิตาลีที่ห่อเหี่ยว พวกเขามีระดับเทสโทสเตอโรนลดฮวบลงถึง 50% เมื่อพวกเขาตกเป็นผู้พ่ายแพ้
น่าสนใจตรงที่อาสาสมัครทั้งหมดเป็นเพียงแค่ ‘ผู้ชม’ เท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้เล่นในสนาม แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากชัยชนะและมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง คือแค่ได้ดูชัยชนะจากกลุ่มคนพวกเดียวกัน ก็สร้างปรากฏการณ์บางอย่างได้
การทดลองนั้นจึงเป็นครั้งแรกๆ ที่นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า winner effect เมื่อมนุษย์ได้รับรู้ถึงชัยชนะ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทั้งระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาท ที่กระตุ้นให้พวกเรา ‘กระหายชัยชนะ’ ครั้งต่อไป ส่วนการเปลี่ยนแปลงคู่ตรงข้ามถูกนิยามว่า loser effect
winner effect พลวัตของชัยชนะ
ทฤษฎี winner effect และคู่ตรงข้าม loser effect ถูกหยิบยกขึ้นในหนังสือ The Virility Paradox โดย ชาลส์ ไรอัน (Charles Ryan) ในหนังสือ เขาไปรวบรวมงานวิจัยทั้งหลายแหล่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอิทธิพลฮอร์โมนเทสโทสสเตอโรน อารมณ์ และพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งด้านสว่างที่ต่อยอดขับเคลื่อนคนไปสู่ความสำเร็จครั้งใหม่ และมีด้านมืดที่นำไปสู่ความเสพติด กระหายการแข่งขัน และชื่นชอบการเชือดเฉือน
พลัง winner effect นั้นดี และหากใช้มันเป็นแรงบันดาลใจ ฮอร์โมนเทสโทสสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้คุณรู้สึกมั่นใจและรู้สึกมีแรงกระตุ้นฮึกเหิมทั้งในหญิงและชาย ความรู้สึกถูกท้าทาย ทำให้คนตื่นตัวที่จะมีพฤติกรรมทำตาม ยกตัวอย่างเวลาเกิดกระแสกีฬาฟีเวอร์ที่มีคนในชาติได้แชมป์หรือทำลายสถิติใหม่ มักมีคนพร้อมใจกันแห่ไปเล่นกีฬานั้นๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ช่วงที่ น้องเมย์—รัชนก อินทนนท์ นักกีฬาแบดมินตันหญิงชาวไทย อดีตมือหนึ่งของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2559 วันต่อมาไม้แบดขายดิบขายดี สนามแบตจองเต็มอยู่นานหลายสัปดาห์ พฤติกรรมเลียนแบบอันเป็นส่วนหนึ่งจากแรงบันดาลใจ ทำให้พวกเราอยากรับรู้ประสบความสำเร็จบ้าง (แม้คุณจะเล่นห่วยมากๆ ก็ตาม) แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะรับรู้ถึงชัยชนะเสมือน และมีประสบการณ์ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
หากคุณเคยพบกับคนที่มีธรรมชาติชื่นชอบการแข่งขัน ซึ่งก็ไม่ได้สังเกตยากนัก เพราะความกระหายการแข่งขันนั้นใช้เวลาสร้าง ประกอบขึ้นทีละน้อยตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่ง winner effect อาจมีผลต่อพัฒนาการของสมอง เมื่ออยู่ภายใต้บรรยากาศแข่งขันที่เข้มข้นเรื่อยๆ มันก็เปลี่ยนโครงสร้างของสมองได้
ระดับเทสโทสสเตอโรนที่สูงจะกระตุ้นการออกฤทธิ์ต่อตัวรับแอนโดรเจน (androgen receptor) ในสมอง ยิ่งเมื่อตัวรับแอนโดรเจนอ่อนไหวต่อเทสโทสสเตอโรนมากเท่าไหร่ ก็จะเปิดโอกาสให้ร่างกายเราตอบสนองกับอิทธิพลของเทสโทสสเตอโรนมากขึ้นเท่านั้น คุณอาจรู้สึกพิเศษกับชัยชนะครั้งแรก มันทำให้รู้สึกดีมากๆ โลกทั้งใบอยู่ในมือ กระชุ่มกระช่วย ร่างกายมีชีวิตชีวา และร่างกายต้องการได้ความรู้สึกนี้ซ้ำอีก กระตุ้นให้อยากแข่งขันและได้รับชัยชนะ ก็เลยเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า เมื่อคุณชนะบ่อยๆ เข้า คุณก็จะโฟกัสกับการเอาชนะมากขึ้น
นักวิจัยชาวจีน Hailan Hu จากมหาวิทยาลัย Zhejiang University ในประเทศจีน ใช้ทฤษฎี winner effect ในการศึกษาพฤติกรรมของหนูว่า หนูที่มีชัยชนะเหนือกว่าหนูตัวอื่นๆ นั้นสามารถนำไปสู่การครอบงำทางสังคมได้ไหม (social dominance) รวมถึงศึกษาลึกลงไปถึงระบบโครงข่ายทางประสาทของหนู พวกเขาพบว่าหนูที่มีกลีบสมองส่วนหน้า (dorsomedial prefrontal cortex) ที่ active มากมีโอกาสที่จะเป็น ‘ผู้ชนะ’ เมื่อมันเผชิญกับคู่แข่งที่เกรี้ยวกราดตัวอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับขนาดตัวหนู ท้าทายความเชื่อเดิมๆว่า หนูตัวใหญ่เท่านั้นที่จะเป็นจ่าฝูง แต่หนูที่ตัวเล็กกว่าที่มีความวิริยะอุตสาหะ (ฝรั่งเรียก grit) มีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลทางสังคมผ่าน winner effect ด้วยเช่นกัน
งานวิจัยนำหนูเพศผู้ทีละสองตัวมาใส่ในหลอดแก้วแคบๆ บังคับให้หนูตัวหนึ่งต้องเดินไปข้างหน้า และอีกตัวต้องถอยไปข้างหลัง หนูจะแสดงพฤติกรรมหลากหลายทั้งมุ่งไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น ท้าทาย ถอยกรูดหนี หรือนิ่งเฉยไม่เคลื่อนที่ ระหว่างกิจกรรมนี้ทีมวิจัยก็ใช้กระบวนการจับสัญญาณกิจกรรมไฟฟ้าในสมองส่วน dorsomedial prefrontal cortex ไปพร้อมๆ กัน
เพื่อเพิ่มความท้าทายให้กับงานวิจัย พวกเขากระตุ้นกลีบสมองส่วนหน้าของหนูโดยใช้องค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์เชิงแสง (optogenetics) ใช้แสงเพื่อควบคุมเซลล์นิวตรอนเฉพาะบริเวณ เพื่อดูว่าหนูจะมีพฤติกรรมการเผชิญหน้าอย่างไร ผลปรากฏว่าหนูที่ถูกกระตุ้นมีพฤติกรรมไม่ถอยหนี ฮึดสู้ มุ่งไปข้างหน้ามากถึง 90% นี่แสดงให้เห็นว่า สมองของเรามีส่วนมากในการทำให้เราเป็นผู้ชนะ หรือผู้แพ้โดยที่ยังไม่ต้องลงสนาม ซึ่งความวิตกกังวล ความลังเล อาจทำให้โอกาสเป็นผู้ชนะอาจต่ำลง ตรงกับคำกล่าวที่ว่า “แพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม” ก็ไม่ผิดหนัก
อย่างนั้นก็ดีไม่ใช่เหรอ หากเราปลูกฝังให้ทุกคน ‘โหยหาชัยชนะ’ ตั้งแต่เด็กๆ ให้พวกเขาอยู่กับการแข่งขัน และพยายามป้ายสีความพ่ายแพ้ให้เป็นยาขม อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าโลกใบนี้ไม่ได้ห่อหุ้มไปโดยเทสโทสเตอโรน ความ ‘แมนๆ’ ที่ข้นคลั่ก หรือการแข่งขันที่ต้องช่วงชิงตลอดเวลาที่จะผลักดันพวกเราไปข้างหน้า ชัยชนะทำให้คุณรู้สึกดีก็จริง แต่การพ่ายแพ้ก็มีความหมาย การมองว่า loser effect เป็นคู่ตรงข้ามของ winner effect ในอีกทางนึงก็ไม่น่าจะถูกต้องเสียเท่าไหร่ เผลอๆ เราควรเรียนรู้จาก loser effect มากขึ้นด้วยซ้ำ
ซึ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ mindset ของชัยชนะ จาก outcome goals ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ของชัยชนะที่ทุกคนเห็นภายนอก เป็น process goal คือมุ่งเน้นที่กระบวนการสร้างความสำเร็จ เป็นความสำเร็จที่อาศัยระยะเวลา มีองค์ประกอบของความพ่ายแพ้ร่วมอยู่ในนั้น คือคุณต้องแพ้บ้างสลับกับการชนะ เหมือนการตั้งเป้าลดน้ำหนักเช่น หากคุณกล่าวกับตัวเองว่า จะลดน้ำหนักห้ากิโลกรัมก่อนปีใหม่ การตั้งเอา outcome goals เช่นนี้ยากที่จะทำสำเร็จ แต่หากคุณเริ่มปรับเปลี่ยนอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ภายในสัปดาห์มีกิจกรรมอะไรบ้าง และต้องมีวันให้ร่างกายได้รับการพักผ่อน คนส่วนใหญ่จะสามารถลดน้ำหนักห้ากิโลกรัมได้ก่อนปีใหม่ด้วยซ้ำ
process goals คือการลงมือทำอย่างยิ่งยวด และความคาดหวังชัยชนะที่ได้นั้นมาจากความคุ้มชินที่คุณทำสิ่งนั้นซ้ำๆ จนรู้สึกว่าทำได้ มีความมั่นใจสูง (เช่นเดียวกับทฤษฎีที่สมองส่วน dorsomedial prefrontal cortex ถูกกระตุ้น) ดังนั้นการชนะในสิ่งที่คุณคู่ควร และพ่ายแพ้บ้างในสิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้ จะเป็นการผสมผสานข้อดีของทั้ง winner effect และ loser effect ที่พวกเราจะค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Testosterone changes during vicarious experiences of winning and losing among fans at sporting events.
The winner and loser effect: integrating multiple experiences
Does the winner–loser effect determine male mating success?