นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องแข่งกับเวลาที่กระชั้นชิดยิ่งนักเพื่อหยุดยั้งไวรัสโรโคนา ‘COVID-19’ (โควิด ไนน์ทีน) ที่แม้ผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่เชื้อไวรัสกลับยังไม่มีทีท่าอ่อนแรงลง แถมยังคงสร้างความหวาดกลัวแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องไปยังทวีปต่างๆ
ในทุกวันมีอัตราผู้เสียชีวิตระดับหลายร้อยราย ทำให้ภารกิจพัฒนาวัคซีนพิชิต COVID-19 เป็นแผนวิจัยเร่งด่วนระดับ A must ของหลายๆ สถาบัน โดยเฉพาะสถาบันวิทยาศาสตร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด นี่จึงเป็นการบังคับโดยกลายๆ ว่าต้องผลักดันงบวิจัยพัฒนาวัคซีน เป็นการจัดระดมทุนอย่างเร่งด่วนในระดับนานาชาติ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณทุนวิจัยก็ยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนองคาพยพ
มหาเศรษฐีชาวจีน แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group ตั้งงบประมาณเพื่อการวิจัยวัคซีนด้วยจำนวนเงินมากถึง 14 ล้านเหรียญสหรัฐ สนับสนุนสถาบันวิจัยในจีนเพื่อพัฒนาวัคซีนรักษา COVID-19 แบบเร่งด่วน ในขณะเครือสหภาพยุโรปบริจาคเงินจำนวน 20 ล้านยูโรให้กับหน่วยงานใดก็ตามที่มีส่วนร่วมพัฒนาวัคซีนจนกระทั่งใช้จริงได้
ยิ่งในสถานการณ์เร่งด่วนเช่นนี้ หากใครพัฒนาวัคซีนสำเร็จก็นับเป็นการฉายแสงแห่งความหวังให้กับมวลมนุษย์ และบ่งบอกถึงศักยภาพในการทำลายขีดจำกัดวิทยาการภูมิคุ้มกันของสถาบันวิจัยนั้นๆ ว่ารุดหน้ากว่าที่อื่นๆ เพราะยิ่งโจทย์ยากเท่าไหร่ งานวิจัยยิ่งสร้าง impact factor ได้มากเท่านั้น
ก้าวต่อไปของวัคซีน
เมื่อเกิดการระบาดของโรค สิ่งที่ต้องตั้งคำถามเป็นระดับต้นๆ คือ เรามีวัคซีนเพื่อกำจัดเชื้อดังกล่าวหรือไม่? ในกรณี COVID-19 นั้นมีการนำวัคซีนที่ใช้รักษาโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือ SARS มาปรับใช้รักษาผู้ป่วย ดังนั้นการใช้วัคซีนเทียบเคียงจากสิ่งที่มีอยู่จึงต้องทำพร้อมๆ กับพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ หลายสถาบันคาดว่าอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะได้วัคซีนที่พร้อมใช้ทดลองในมนุษย์เพื่อรักษาไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะ
ในระหว่างนี้ยังมีข่าวดีมาเป็นระยะว่า ยารักษาโรคบางประเภทที่แพทย์มีอยู่ในมือนั้นสามารถปรับใช้เพื่อรักษาโรคไวรัส COVID-19 ได้ผลระดับหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือการใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน (antibodies) โดยทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันจะไปจับกับไวรัสและทำลายกลไกที่คุกคามร่างกาย ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของคุณจะต้องได้รับยากระตุ้นนี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนที่จะไปมีปฏิสัมพันธ์กับเชื้อ COVID-19 กระบวนการนี้เร่งให้เร็วขึ้นได้โดยการฉีดสารภูมิต้านทานที่เลี้ยงและพัฒนาขึ้นในห้องทดลอง และต้องมีการตรวจระดับภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งร่างกายมีความพร้อมจะรับมือกับไวรัสได้
การใช้ศาสตร์ด้านภูมิคุ้มกันมีแนวโน้มในเชิงบวกมากกว่าวิธีการอื่นๆ เพราะไม่ส่งผลข้างเคียงให้กับผู้ป่วย เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะเข้าไปจับกับไวรัสโดยตรงเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าสนใจอันดับต้นๆ แต่ในโอกาสก็มาพร้อมด้วยปัญหา แม้ว่าเราจะสามารถทำได้ในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) แต่เมื่อต้องทำในปริมาณเยอะๆ สำหรับใช้กับประชาชนคราวละมากๆ (mass-producing) สิ่งนี้ยังคงเป็นอุปสรรค เพราะกระบวนพัฒนาภูมิคุ้มกันนั้นใช้เวลาพอสมควร ต้องมีเครื่องมือเครื่องไม้ที่ดี และต้องการทรัพยากรค่อนข้างสูง
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Fudan University ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน คาดการณ์ว่าการเตรียม antibodies นั้นมีความละเอียดอ่อนซับซ้อน อาจจะต้องใช้เวลานานเพื่อการวิจัยแต่ละครั้งนานถึง 2 เดือนเพื่อที่จะมีปริมาณเพียงพอสำหรับทดสอบในสัตว์และมนุษย์ ระหว่างนี้บริษัทยายักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา Regeneron ได้ทดสอบ antibodies อีก 2 ชนิดที่เคยรักษาโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง MERS-CoV (เมอร์ส-คอฟ) ได้ผลดี และนำมาปรับใช้กับ COVID-19 โดยบริษัทนี้เคยมีผลงานเด่นๆ คือการพัฒนา antibodies สำหรับโรค Ebola จนสามารถทดสอบในมนุษย์ได้โดยใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น
ส่วนบริษัทยาในจีน WuXi Biologics ก็มีความพร้อมที่จะทุ่มเททรัพยากรไปยังการพัฒนา antibodies แบบขนานใหญ่ที่ได้ขนทีมวิจัยกว่า 100 ชีวิตมุ่งเป้าไปที่ภารกิจเดียว ซึ่งคาดว่าภายในเวลา 5 เดือนน่าจะได้ผลการทดลองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการผลิต antibodies จำนวนมากๆให้กับผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยที่เฝ้าระวังจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือของโรงงานยาเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างน้อย หลายบริษัทก็ยุ่งอยู่กับการผลิต antibodies สำหรับโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ
เราทำให้เร็วได้กว่านี้ไหม?
บริษัทยาอีกแห่งในสหรัฐอเมริกา RenBio มีอีกวิธีการที่ค่อนข้างล้ำหน้าโดยใช้เทคนิค gene editing ที่สามารถฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันไปยังกล้ามเนื้อขา รอเวลา 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อ COVID-19 ซึ่งสามารถฉีดให้กับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อให้มีภูมิคุ้มกันก่อนเนิ่นๆ หรือจะใช้รักษาผู้ที่ป่วยอยู่แล้ว แต่วิธีการนี้อยู่ในขั้นทดลองในสัตว์เท่านั้น ยังไม่มีการทดลองจริงในมนุษย์
อีกวิธีการคือ ใช้ศาสตร์ด้านชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลเพื่อพัฒนาอนุพันธ์ที่มีประสิทธิภาพในการก่อกวนโปรตีนของไวรัส COVID-19 ทำให้หมดพิษสง วิธีการนี้มีข้อดีที่ หากค้นพบอนุพันธ์สำคัญได้จะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตได้รวดเร็ว อัดเป็นเม็ด เก็บรักษาง่าย ใช้สะดวกเหมือนยาเม็ดทั่วไป แต่อุปสรรคใหญ่คือ โมเลกุลเหล่านี้พอเข้าสู่ร่างกายแล้วประสิทธิภาพมักลดลง ทีมวิจัยของจีนได้คัดสรรยาที่จัดเป็น ‘แคนดิเดด’ น่าสนใจ 4 ตัว คือ prulifloxacin, bictegravir, nelfinavir และ tegobuvir นอกจากนี้ยังมี lopinavir และ ritonavir ที่ใช้รักษาโรค HIV ก็มีแนวโน้มจะรักษาผู้ป่วยจาก COVID-19 ได้
โดยยาทั้งหมดเริ่มมีการทดลองแล้วในการรักษาผู้ป่วยชาวจีน รายงานล่าสุดยาต้านไวรัส Favilavir ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งชาติของจีน ให้ใช้ทดลองรักษาผู้ป่วย 70 รายในเมืองเสิ่นเจิ้นและเมืองใกล้เคียง คาดว่าภายใน 2 เดือนน่าจะได้ผลเชิงบวกที่น่าสนใจต่อประชาคมโลกต่อไป
COVID-19 เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ทุกคนเฝ้าติดตาม การแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสัญญานว่าเราจะพบจุดสมดุล ณ จุดใด COVID-19 เป็นเพียงอุปสรรคที่ท้าทายจุดหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น ยังมีโรคที่เราไม่รู้จักอีกมาก ที่จะเปลี่ยนการแข่งขันนี้ดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ
อ้างอิงข้อมูลจาก
In The Fight Against COVID-19, Labs Look To Create Coronavirus Antibodies
China approves first anti-viral drug against coronavirus Covid-19
The genetic shortcut to antibody drugs