เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ไทยเกิดการระบาด COVID-19 กว่า 1 ปีที่ภาครัฐมีเวลาเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงจัดทำระบบประสานงาน จัดหาเตียง จุดฉีดวัคซีน จุดตรวจ COVID-19 แต่จนถึงตอนนี้ ตอนที่เกิดการระบาดใหญ่อีกครั้ง ประชาชนเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรง ประเทศเรากลับยังไม่มีศูนย์ให้ข้อมูลที่ชัดเจน ครอบคลุม และทั่วถึงที่สามารถตอบทุกคำถามและความต้องการที่เกี่ยวกับ COVID-19
เมื่อรัฐไม่พร้อม (เหมือนชื่อแอพพลิเคชั่น) ประชาชนจึงต้องงัดเอาสกิลประจำตัวออกมาเพื่อสร้างเครือข่าย และแพลตฟอร์มสำหรับช่วยเหลือประชาชนด้วยกันเอง อย่างเช่นที่เราได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการทยอยเปิดตัวแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อช่วยหาเตียง หาจุดตรวจ COVID-19 จุดฉีดวัคซีน ไปจนถึงวัดสำหรับฌาปนกิจผู้เสียชีวิต
เหล่าแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์จากภาคประชาชนที่ยังคงแอคทีฟ และพร้อมให้ใช้งานมีอะไรบ้าง The MATTER ได้รวบรวมมาไว้ในที่เดียวกันเรียบร้อยแล้ว
1. Jitasa.care (เว็บไซต์ : https://www.jitasa.care/)
ฟีเจอร์ : แจ้งพิกัดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังไม่ได้เตียง พิกัดจุดพักคอย โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลทั่วไป จุดตรวจ COVID-19 จุดฉีดวัคซีน วัดฌาปนกิจผู้เสียชีวิต
เว็บไซต์ Jitasa.care พัฒนาโดยกลุ่ม ThaiFightCOVID วิศวกรอาสาสมัคร และทีม SOAR เว็บไซต์นี้จะมีลักษณะเป็นแผนที่แจ้งความช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างครอบคลุมทุกความต้องการ จุดเด่นของ Jitasa.care คือเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมเป็นจิตอาสา ผ่านการอัพเดตข้อมูลความช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้แผนที่ขอความช่วยเหลือในเว็บไซต์อยู่ในลักษณะกึ่งเรียลไทม์ ตามข้อมูลที่ได้รับการป้อนขึ้นในแต่ละวัน
ในส่วนของผู้ป่วย COVID-19 ที่อยากใช้บริการเว็บไซต์นี้ก็สามารถเข้าไปกรอกข้อมูล ชื่อ สถานะการรับความช่วยเหลือ ความต้องการด้านต่างๆ เช่น ต้องการรถรับส่งผู้ป่วย สิ่งของที่ต้องการ ไปจนถึงรถรับส่งผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีให้บันทึกข้อความเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ต้องการแจ้งความประสงค์ หรือข้อมูลติดต่ออื่นๆ ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อ ก็สามารถตรวจสอบจุดที่มีผู้ป่วย COVID-19 อาศัยอยู่ เพื่อให้ระมัดระวังตัวได้ง่ายขึ้น เรียกได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ค่อนข้างครบครัน และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย COVID-19 ได้ดีเลยทีเดียว
2. NOSTRA Map (เว็บไซต์ : https://map.nostramap.com/NostraMap/?layer/crematoriumcovid19,feed/th)
ฟีเจอร์ : ค้นหาจุดตรวจ COVID-19 พิกัดสถานที่กักตัวทางเลือก จุดฉีดวัคซีน และวัดฌาปนกิจผู้เสียชีวิต (กรุงเทพฯ และปริมณฑล)
NOSTRA Map พัฒนาโดยบริษัท โกลบเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลแผนที่ดิจิทัลผ่านแอพพลิเคชัน NOSTRA อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่หลังจากเกิดการระบาด ได้มีการเพิ่มข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เข้าไปเพิ่มเติม
แผนที่ของ NOSTRA แสดงข้อมูลได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นที่ฉีดวัคซีน ที่กักตัว จุดตรวจ COVID-19 พร้อมบอกรายละเอียดแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่อีกหนึ่งจุดเด่นของเว็บนี้คือการบอกพิกัดวัดฌาปนกิจผู้เสียชีวิต ที่ค่อนข้างมีความแม่นยำสูง เนื่องจากร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในการรวบรวมรายชื่อวัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่พร้อมฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 มาไว้ในแผนที่ของ NOSTRA เพื่อช่วยให้ญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตสามารถทำพิธีศพได้ในเวลาที่จำกัด
3. covid-test-th.firebaseapp.com (เว็บไซต์ : https://covid-test-th.firebaseapp.com/covid-test)
ฟีเจอร์ : ค้นหาจุดตรวจ COVID-19 และค้นหาศูนย์แยกกักกันในชุมชน
covid-test-th.firebaseapp.com พัฒนาโดยกลุ่ม Tech for Thailand ภายในเว็บไซต์จะมีฟีเจอร์ย่อย 2 ฟีเจอร์ คือ แสดงจุดตรวจ COVID-19 และค้นหาศูนย์แยกกักกันในชุมชน
สำหรับฟีเจอร์แรก ค้นหาจุดตรวจ COVID-19 ผู้ใช้ค้นหาได้ทั้งดูจากจุดตรวจที่แสดงในแผนที่ และค้นหาผ่านทางรหัสไปรษณีย์ โดยแผนที่จะเลือกรายละเอียดได้ว่าผู้ใช้ต้องการหาที่ตรวจ Antigen Test, RT-PCR หรือ Fly To Fly นอกจากนี้ยังแสดงรายละเอียดประเภทสถานที่ตรวจ ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานรัฐ เอกชน คลินิก แล็บ มหาวิทยาลัย รวมถึงอัพเดตจุดที่ปิดรับการตรวจแล้ว
ส่วนฟีเจอร์ที่ 2 ค้นหาศูนย์แยกกักกันในชุมชน ก็จะใช้งานเหมือนค้นหาที่ตรวจ COVID-19 คือทำได้ทั้งการตรวจสอบศูนย์แยกกักกันในแผนที่ และกรอกหมายเลขไปรษณีย์เข้าไป
อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ซ่อนอยู่ในเว็บไซต์นี้คือการอัพเดตสถานการณ์ COVID-19 แบบรายวันทุก 8.00 น. ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต อัตราการฉีดวัคซีนที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เรียบร้อยแล้ว โดยจะอ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
4. wheretotestcovid19.com (เว็บไซต์ : https://wheretotestcovid19.com/)
ฟีเจอร์ : ค้นหาจุดตรวจ COVID-19
wheretotestcovid19.com พัฒนาโดยกลุ่มอาสาสมัครในชื่อ “เราช่วยกัน” สร้างเว็บไซต์สำหรับค้นหาจุดตรวจ COVID-19 โดยเฉพาะ ผู้ใช้สามารถเลือกจุดตรวจตามพื้นที่ที่ต้องการ พร้อมทั้งสามารถเลือกรายละเอียดเพิ่มเติมได้ว่าต้องการจุดตรวจประเภทใด เช่น ตรวจฟรี, Rapid Test, RT-PCR, Drive-Thru, Walk-In หรือลงทะเบียนออนไลน์
จากนั้นเว็บไซต์จะแสดงศูนย์ตรวจที่อยู่ในบริเวณนั้น และตรงกับความต้องการของผู้ใช้ขึ้นมา ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งข้อมูลติดต่อ เวลาเปิดทำการ ค่าตรวจ แผนที่จุดตรวจ ไปจนถึงรีวิวหรือคำแนะนำจากผู้ที่ใช้บริการก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ช่วยให้ผู้ที่ต้องการตรวจ COVID-19 วางแผนการตรวจได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องเสี่ยงไปต่อคิวหน้างาน
wheretotestcovid19.com เป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ที่ต้องการการอัพเดตข้อมูลจากเหล่าจิตอาสาออนไลน์ จิตอาสามารถเข้าไปอัพเดตจุดตรวจใหม่ๆ รวมถึงอัพเดตจุดตรวจที่มีในระบบแล้วว่ายังเปิดรับคิวอยู่ไหม พร้อมให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการหลังจากนั้นได้ข้อมูลที่สดใหม่ที่สุด และเป็นประโยชน์มากที่สุด
5. Covid-Lab (เว็บไซต์ : https://covid-lab.co/)
ฟีเจอร์ : ค้นหาจุดตรวจ COVID-19
Covid-Lab สร้างขึ้นโดยทีมนักพัฒนาระบบอาสา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจ COVID-19 ได้ง่ายขึ้น โดยภายในเว็บไซต์จะให้กรอกชื่อแล็บ หรือรหัสไปรษณีย์ หรืออำเภอ หรือจังหวัด จากนั้นให้เลือกว่าต้องการสถานที่ตรวจประเภทไหน
เมื่อกรอกข้อมูลครบแล้ว กดค้นหา ระบบจะเลือกจุดตรวจ COVID-19 ที่ตรงกับความต้องการของเรา ซึ่งจะมีรายละเอียดชื่อสถานที่ตรวจ เบอร์ติดต่อ ราคาตรวจ และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น และเช่นเดียวกับหลายๆ เว็บไซต์ Covid-Lab ก็ทำงานโดยอาศัยพลังจากอาสาสมัครออนไลน์เช่นกัน ผู้ที่มีข้อมูลสามารถเข้าไปอัพเดต หรือเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ๆ ได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับคนที่ใช้ต่อจากเรา
6. BED MAP (เว็บไซต์ : https://bedmap-th.web.app/?fbclid=IwAR1qUfISouBAESXHB_FY1Mr6CnnbgCcXZBxgdbmF5IslyH9uUDRYgA2Ra0s)
ฟีเจอร์ : หาเตียงสำหรับผู้ป่วย COVID-19
เว็บไซต์ BED MAP พัฒนาขึ้นโดยเอกโยธิน พิลา นักพัฒนาซอฟต์แวร์คนไทย และได้ร่วมมือกับอาสาสมัครนักเรียนนักศึกษา รวมถึงเว็บไซต์ Jitasa.care ในการบันทึก ติดต่อและแชร์ข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
BED MAP เป็นเว็บไซต์สื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลสำหรับหาเตียงให้ผู้ป่วย COVID-19 โดยตรง ภายในเว็บไซต์จะแสดงโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลทหาร จุดพักคอย รวมถึงสถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจ ที่เปิดรับผู้ป่วย COVID-19 พร้อมทั้งบอกความปริมาณผู้ป่วยที่ทางโรงพยาบาลยังเปิดรับ เช่น ไม่มีเตียงว่างแล้ว มีเตียงไม่เกิน 5 เตียง เพื่อให้การประสานหาเตียงไม่ทับซ้อน และทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
7. กลุ่มคนดูแลกันเอง (เว็บไซต์ : https://noonecaresbangkok.web.app/?fbclid=IwAR1XQCvLvUeJ2vnj-LG83610O84Etndp9CDogbEzx1mE2ghmfBNKdziOKJo#/ )
ฟีเจอร์ : ให้ความช่วยเหลือคนงานในแคมป์คนงานก่อสร้าง
กลุ่มคนดูแลกันเอง พัฒนาโดยอาสาสมัครกลุ่มคนดูแลกันเอง ซึ่งจะเป็นเว็บไซต์ที่เข้าไปดูแลช่วยเหลือคนงานที่อยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้างโดยเฉพาะ หลังก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ครอบคลุมกับแคมป์คนงานทั้งหมด และมีคนงานหลายคนต้องอยู่อย่างยากลำบาก
กลุ่มคนดูแลกันเอง ได้สร้างเว็บไซต์นี้เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างอาสาสมัคร และคนที่ต้องการร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรค หรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ อาสาสมัครที่สนใจช่วยเหลือสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลตามความต้องการของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบริจาคสิ่งของ หรือแจ้งข้อมูลแคมป์คนงานที่ยังตกค้าง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึงมากขึ้น
จุดประสงค์ที่ภาคเอกชนหลายคนออกมาลงแรง ยอมควักเงินทุนด้วยตัวเองเพื่อสร้างเว็บไซต์เหล่านี้มา เพราะไม่สามารถนิ่งเฉยกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะวิกฤตลงเรื่อยๆ ไม่สามารถนิ่งเฉยกับภาพคนรอเตียงจนเสียชีวิต คนตายข้างถนน คนรอตรวจ COVID-19 จนอาการหนักได้อีกต่อไป
ประโยคที่ว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน” คงจะเป็นจริงไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะสถานการณ์ตอนนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนไทยช่วยกันมาตลอด และช่วยกันเองมากแค่ไหน แต่ต่อให้ประชาชนจะพึ่งพากันมากเท่าไหร่ ก็ยังไม่สามารถหยุดวิกฤตนี้ได้ หากขาดกำลังสำคัญอย่างรัฐบาลผู้ซึ่งมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเต็มรูปแบบ
หากโลกภายนอกคือชีวิตอันปกติสุขที่ปราศจากโรคระบาด COVID-19 ประตูที่จะพาประเทศไทยไปสู่จุดนั้นได้คือนโยบายจัดการที่มีประสิทธิภาพ และรัฐบาลผู้ทรงอำนาจคือกุญแจสำคัญที่จะปลดเปลื้องให้ประเทศหลุดพ้นจากวิกฤต COVID-19
อ้างอิงจาก
https://www.jitasa.care/
https://map.nostramap.com/NostraMap/?layer/crematoriumcovid19,feed/th
https://covid-test-th.firebaseapp.com/covid-test
https://wheretotestcovid19.com/
https://covid-lab.co/
https://bedmap-th.web.app/?fbclid=IwAR1qUfISouBAESXHB_FY1Mr6CnnbgCcXZBxgdbmF5IslyH9uUDRYgA2Ra0s
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C/153081
https://www.prachachat.net/ict/news-726812?fbclid=IwAR27K4g5odqNain54Y0uWHPiGyrL6eaAf_kSUoh1X3StXQlyaDKDznR6eGs
https://techsauce.co/news/bedmap-th-finding-a-hospital-bed-during-covid