แทบไม่ต้องหาเหตุผลใดๆ มาหว่านล้อมผู้อ่าน The MATTER แล้วว่า กระแสสังคมโลกเข้าสู่ยุค Post-Truth อย่างสมบูรณ์แบบ ผู้คนก้าวข้ามผ่านความจริง แต่กลับยึดถือเอาความรู้สึกและความเชื่อส่วนบุคคลเป็นสรณะในการดำเนินชีวิต
วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) โน้มน้าวว่าโลกนี้แบนเป็นแผ่นกล้วยตาก บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ประหลาดรักษาไข้แต่ตักมาดูเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ก่อโรคอื้อซ่า อคติต่อเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่ทำให้เรากีดกันคนอื่นออกจากสังคม ข่าวกุข่าวเก่าที่ล้วนพยายามสั่นคลอนความมั่นใจในการใช้ชีวิต หลอกล่อดึงดูดให้ผู้คนเมินเฉยต่อข้อเท็จจริง และละทิ้งความกระหายที่จะหาชุดความรู้ใหม่ๆ เพราะฝังใจไปเสียแล้วว่า “ความเชื่อของฉัน เป็นอันถูกต้องที่สุด”
ภายใต้สังคมอุดมความเชื่อนี้ เรายิ่งต้องการ ‘การคิดเชิงวิพากษ์’ (Critical Thinking) เป็นภูมิต้านทานมากกว่าแต่ก่อน
หากมองอย่างอุดมคติแล้ว ก็ควรเริ่มสอนตั้งแต่เราเป็นเด็กๆ เพื่อกระตุ้นให้เรามองต่างบ้างและกล้าวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เราเผชิญ แต่น่าเสียดายที่ในความเป็นจริงกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์กลับมาเริ่มเอาตอนที่เราเรียนระดับมหาวิทยาลัย (หรือไม่ได้เริ่มเลยด้วยซ้ำ) ซึ่งหลายคนกล่าวว่า มันช่างสายเกินไปเสียแล้ว
นักศึกษาไทยหลายคนที่เติบโตในระบบการศึกษาภาคบังคับ เมื่อมีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศมักเจอเหตุ Culture Shock ในห้องเรียน เพราะไม่รู้จะเอาอะไรไปวิพากษ์ร่วมกับคนอื่นในประเด็นที่หยิบยกขึ้นมา ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นย้อนแย้ง กลัวผิด ใครคิดว่าดีก็ตามกระแสนั้นไป หรือตัดสินใจนั่งเงียบไปเลยอยู่ในมุมเล็กๆ ของห้อง กว่าจะปรับตัวได้ก็เสียโอกาสแสดงจุดยืนของตัวเองไปไม่น้อย หากขาด Critical Thinking ติดตัวไปด้วย บรรยากาศการเรียนคงจืดชืดไม่น้อย
การคิดเชิงวิพากษ์ คือญาติใกล้เคียงของวิทยาศาสตร์
การคิดเชิงวิพากษ์ เป็นญาติที่ใกล้เคียงกับการคิดแบบวิทยาศาสตร์ (scientific thinking) ซึ่งมันไม่ได้จู่ๆ บังเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติในมนุษย์ ก็ไม่น่าแปลกใจนักหรอกที่คนมีการศึกษาสูงๆ เอง หรือได้ชื่อว่าเป็นยอดฉลาด กลับไม่ได้มี mindset ปรับตัวเข้ากับการคิดเชิงวิพากษ์เลย แต่กลับน้อมรับความเชื่อโดยปราศจากหลักฐาน หรือพยายามหามูลเหตุมาสนับสนุนสมมติฐานของตัวเองโดยอ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ทั้งที่วิทยาศาสตร์แท้มีจุดยืนที่ต้องสามารถพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ (Falsification)
วัยเด็ก จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำความเข้าใจกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเนิ่นๆ เพราะหากโอกาสปิดไปแล้ว การจะมาดึงดูดให้พวกเขากลับมาใช้หลักเหตุผลอีกมักเป็นเรื่องยาก
กระนั้นเองนักจิตวิทยาด้านการศึกษาหลายคนยังตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด หรืออาจจะรอให้สมองของเด็กมีพัฒนาการตระหนักรู้ (cognitive) ที่มากขึ้นกว่านี้หรือไม่ อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาชาวสวิส Jean Piaget ให้แง่คิดเอาไว้ว่า
“เด็กมิใช่ผู้ใหญ่จิ๋ว (tiny adults) พวกเขายังไม่สามารถมองโลกในความต่างเชิงคุณภาพได้ในระดับเดียวกับผู้ใหญ่”
แต่อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เด็กเล็กและเด็กโตยังมีศักยภาพมองหาหลักฐานต่างๆ ที่แวดล้อมพวกเขาได้โดยคิดอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์กลายๆ (Gopnik et al. 2000) เด็กสามารถสร้างสมมติฐานขึ้นมาเพื่อเรียนรู้ความเป็นไปของโลกผ่านการทดลอง (experiments)
สอนอย่างไรให้คิดต่าง
แม้การคิดเชิงวิพากษ์จะมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนให้เด็กมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณ แต่มันก็เหมือนการมองแก้วน้ำ “เต็มครึ่งแก้วหรือน้ำเหลืออยู่ครึ่งแก้ว” ซึ่งจุดยืนของผู้มองมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ เพราะเด็กๆ เองสามารถแสดงออกอย่างอคติ (bias) โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวได้เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคบ้างในการกรุยทางพวกเขาไปสู่วิทยาศาสตร์
ยกตัวอย่างเช่น ในงานศึกษา (Michael Shermer , et al. 2014) เมื่อถามเด็กๆ ว่า “ทำไมถึงมีเมฆ?”
เด็ก 4 ขวบส่วนใหญ่ตอบว่า “เพราะเมฆต้องให้น้ำฝนแก่เรา” ซึ่งความเอนเอียงนี้เอง ดูเหมือนมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่หยิ่งทะนงโดยเชื่อว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติล้วนเกิดขึ้นโดยเจตนา มีตัวแทนควบคุมอยู่ (แม้แต่คนที่โตแล้วก็มักคิดเช่นนี้ด้วย) ซึ่งเหตุหนึ่งมาจากเด็กๆ มักโตมาพร้อมความเชื่อว่า ต้องมีคำอธิบายที่แน่นอนตายตัวให้กับปรากฏการณ์ต่างๆ (essentialist) เช่น เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงทางกายภาพได้อีกแล้ว เช่น ลิงจะต้องเป็นลิง ช้างจะต้องเป็นช้างอยู่อย่างนั้นตลอดไป อาจเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้เรื่องวิวัฒนาการชีวิตเมื่อโตขึ้น
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องถอดใจกับเด็กไปซะเลย (เหมือนอย่างล่าสุด กรณีประเทศตุรกีมีมติถอดบทเรียนเรื่อง จุดเริ่มต้นของชีวิตและวิวัฒนาการ : The Beginning of Life and Evolution ออกจากหนังสือเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 โดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาให้เหตุผลว่า “วิวัฒนาการมันซับซ้อนเกินไป” (Evolution is too complicated) ซึ่งค่อนข้างงี่เง่าสิ้นดี
เด็กยังมีศักยภาพเรียนรู้และขวนขวายที่จะคิดอย่างวิพากษ์โดยมีหลักฐานชัดเจน เมื่อผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือเด็กในการทำความเข้าใจทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ในระดับเบื้องต้นผ่านหนังสือภาพที่มีรูปจูงใจและมีลักษณะแบบ narrative เด็กในวัย 5 ถึง 8 ขวบ สามารถจับใจความเนื้อหาขั้นพื้นฐานในกรอบวิวัฒนาการดาร์วินได้ เช่น การเพิ่มจำนวนของประชากรสิ่งมีชีวิต ปัจจัยการอยู่รอด และการขยายพันธุ์ ซึ่งเด็กๆใช้เวลาเรียนรู้เหล่านี้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น งานวิจัย (Nsangi et al. 2017) ศึกษาเด็กประเทศยูกันดาถึง 10,000 ราย ที่มีอายุระหว่าง 10 ถึง 12 ปี เข้าโครงการสอนเกี่ยวกับสุขภาวะเบื้องต้น (ประเทศยูกันดาขึ้นชื่อในเรื่องการดูแลสุขภาพอยู่ในระดับต่ำ) โดยใช้สื่อเรียนรู้อย่าง หนังสือภาพ การ์ตูน ร้องเพลง และอุปกรณ์การสอนอื่นๆ มี 12 หัวข้อสุขภาวะที่เด็กๆ ควรปฏิบัติและประเมินสุขภาพของตัวเอง
ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่การสอนโดยโต้งๆ แต่เป็นการทิ้งหลักฐานต่างๆ ให้เด็กเป็นผู้เลือกด้วยตัวเองว่า วิธีไหนสามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งผลปรากฏว่า เด็กๆ ที่แม้จะมาจากครอบครัวที่ยากจนก็ยังสามารถจับใจความสำคัญได้จากเรื่องที่พวกเขาเรียนรู้ไป
ปัญหาการศึกษาของเราติดชนักกับการท่องจำเป็นบ้าเป็นหลัง และทดสอบความรู้ด้วยการทาบกากบาทลงบนช้อยส์ ยังไม่รวมถึงการคิดต่างกับครูผู้สอนจนถูกเหยียดว่า ‘วัดรอยเท้า’ กลายเป็นการประหัตประหารน้ำใจของผู้เรียนไปทีละน้อยในช่วงวัยเด็กจวบจนโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่ “ขอเชื่อไว้ก่อนนะครับ”
แม้พัฒนาการด้านเหตุผลของพวกเราอาจจะไม่ได้คมกริบทุกครั้งไป แต่ส่วนใหญ่เราเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก และเปิดรับทฤษฎีใหม่ๆ “โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม” คงไม่พอเสียแล้ว หากวิจารณญาณที่เราใช้ไม่ได้อยู่บนฐานของการคิดวิพากษ์เลยแม้สักคืบเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Gopnik, Alison, Andrew N. Meltzoff, and Patricia K. Kuhl. 2000. The Scientist in the Crib: What Early Learning Tells Us About the Mind.
Kelemen, Deborah, Natalie A. Emmons, Rebecca Seston Schillaci, et al. 2014. Young children
can be taught basic natural selection using a picture-storybook intervention. Psychological Science 25: 893–902.
Nsangi, Allen, et al. 2017. Effects of the Informed Health Choices primary school intervention on the ability of children in Uganda to assess the reliability of claims about treatment effects: A cluster-randomised controlled trial.www.sciencedirect.com/science/article/pii/