“เขาว่ากันว่าผมมีฐานเสียงที่ภักดีที่สุด เคยเห็นอะไรแบบนี้มั้ย? แบบที่ถ้าผมไปยืนอยู่กลางฟิฟต์อเวนิวแล้วยิงใครตาย ผมก็คงไม่เสียคะแนนเสียงสักเสียงเดียว?”
คำพูดของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เมื่อเดือนมกราคม ปี 2016 ที่แคมเปญปราศรัย ณ ไอโอวา คำพูดดังกล่าวตามมาด้วยเสียงเชียร์และเสียงหัวเราะกึกก้องจากผู้ฟัง และไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาหนึ่งสมัย ตัดภาพมาในปัจจุบัน หลังจากการจุดกระแสทฤษฎีสมคบคิดนับไม่ถ้วน หลังข่าวคราวการล่วงละเมิดทางเพศมากมาย บางกรณีเจ้าตัวยืนยันเอง หรือถ้อยคำและนโยบายที่เหยียดผิวและเพศอย่างเปิดเผย ความนิยมของทรัมป์ลดน้อยลงขนาดไหน? ไม่เลยแม้แต่น้อย ออกจะมาแรงขึ้นด้วยซ้ำในการเลือกตั้งปี 2024
ดูเหมือนว่าแม้จะฟังดูขำขื่นขนาดไหน โควตนั้นๆ ของทรัมป์กลับเป็นจริงเสียยิ่งกว่าจริง ปัญหามากมายที่เขาโดนมาตลอดนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบอะไีรต่อความนิยมของเขาเลย ในขณะที่แคนดิเดตฝั่งตรงข้ามที่มีเรื่องให้กังขาน้อยกว่าอย่างมากในเรื่องระดับบุคคลอย่าง โจ ไบเดน (Joe Biden) กลับสูญเสียกำลังลงไปทุกวัน ปรากฏการณ์นี้ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่ลามออกไปทั่วโลก ไม่ว่าจะในอังกฤษ อาร์เจนตินา หรือในระดับหนึ่ง ประเทศไทยเองก็เช่นกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าอะไรกันคือเหตุให้เหล่านักการเมืองสามารถทำอะไรก็รอดไปเสียหมด?
“ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เสียงของเรามีค่า” เราอาจจะถูกสอนมาแบบนั้น เราในฐานะประชาชนแสดงเจตจำนงผ่านการเลือกตั้ง หากผู้คนในสังคมมองว่าการกระทำของพรรคการเมืองใดเป็นบวกและตรงกับมุมมองของพวกเขามากที่สุด คนคนนั้นหรือกลุ่มการเมืองกลุ่มนั้นจะถูกเลือก นั่นคือไอเดีย และการมาถึงของโซเชียลมีเดียนั้นก็ควรที่จะพาให้เราสามารถมีเสียงที่ดังขึ้น ทันด่วนขึ้น และมีการพูดคุยกันกับผู้คนหลากหลายขึ้นเพื่อขยายขอบฟ้าความคิดของพวกเรา ก่อร่างประชาธิปไตยที่งอกงามงอกเงยขึ้นกว่าที่เคย
แน่นอนว่าแค่มองไปรอบๆ เราจะเห็นได้แล้วว่าภาพฝันของเหล่ามนุษย์ผู้ถกปัญหาการเมืองและสังคมกันด้วยเหตุและผล เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศก็คงพังลงต่อหน้าต่อตา เมื่อหากเป็นคนที่เราเชียร์ คำโกหกของนักการเมืองคนนั้นก็ไม่สำคัญ เขาอาจจะพูดสิ่งที่เป็นพิษภัยสุดๆ ก็ยังไม่จำเป็นต้องสะทกสะท้าน เพราะเราเป็นทีมเดียวกัน หรือข่าวความรุนแรงทางเพศโผล่ขึ้นมา เราบางคนอาจจะโยนความเชื่อ Believe Victims ของตัวเองออกนอกหน้าต่าง แล้วพูดอะไรทำนองว่ารอให้หลักฐานออกมาก่อนแล้วค่อยว่ากัน บริหารผิดพลาดแล้วนำไปสู่ความตายของคนนับล้านเหรอ? สื่อมันก็รายงานแต่เฉพาะเรื่องลบๆ นั่นแหละ หันไปดูเรื่องดีๆ ที่เขาทำบ้างสิ
การจะไปสำรวจว่าทำไมเหล่านักการเมืองถึงสามารถทำหรือพูดอะไรแย่ๆ แล้วถูกปล่อยเลยตามเลยได้ เราคงต้องมองไปยังโดนัลด์ ทรัมป์อีกครั้ง ในบทความความคิดเห็นที่ถูกโพสต์ลงบน The Washington Post ชื่อว่า Why does Trump get away with everything? โดยไบรอัน คลาส (Brian Klaas) เขาให้ความเห็นว่ามี 3 สาเหตุที่นำไปสู่ความกันกระสุนของทรัมป์ นั่นคือ
- Novelty Bias – ทรัมป์ทำให้สิ่งที่ไม่ควรเป็นปกติกลับกลายเป็นปกติขึ้นมา ความหยาบโลนของเขาจากที่น่าตกใจกลับกลายเป็นสิ่งที่ธรรมดาเพราะทุกคนเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่เขาจะต้องทำเป็นปกติอย่างแน่นอน
- การอายที่จะยอมรับผิด – ในหัวข้อนี้ คลาสหมายถึงว่าการจะวิพากษ์ใครสักคนที่เราสนับสนุนอยู่ อาศัยการต้องคิดว่าสิ่งที่เราสนับสนุนนั้นผิด นั่นหมายความว่าเราผิด และนั่นคือสิ่งที่ยกาจะยอมรับ มนุษย์จะพยายามแก้ไข้ Cognitive Dissonance ในตัวผ่านการหาใครบางคนที่มาบอกว่าจริงๆ เราไม่ผิดเสียมากวว่า
- Motivated Reasoning – หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า Confirmation Bias ในมุมมองโลก ผู้สนับสนุนไม่ได้มองว่าเหตุผลจะนำไปสู่ปลายทางความเชื่อ แต่กลับกันว่าเรามีปลายทางความเชื่อแบบนี้ และความเป็นจริงจะต้องตอบโจทย์กับความเชื่อนั้นๆ ซึ่งมักเป็นวิธีคิดที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด
ยิ่งฟังยิ่งดูเหมือนว่ามนุษย์เราอาจไม่ได้สนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองจากหลักการ เหตุผล หรือข้อเท็จจริงเป็นหลักอีกต่อไป แต่สนับสนุนจากการคนที่ทำให้เรา ‘รู้สึก’ มากที่สุด และเมื่อมองภูมิทัศน์การต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันของเราเอง คงปฏิเสธสมมติฐานดังกล่าว ว่านอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว เราเองก็กำลังตกอยู่ในยุคการเมืองแบบ Post-truth ที่ที่ความเป็นจริงไม่ได้มีค่ามากขนาดนั้นหากเทียบกับความรู้สึกที่พวกเขาให้เรา
Post-truth – เมื่อผู้คนตอบสนองกับความรู้สึกและความเชื่อ มากกว่ากับข้อเท็จจริง
นั่นคือความหมายของคำว่า Post-truth โดยพจนานุกรม Oxford โดยในปี 2016 พวกเขายกให้มันกลายเป็นคำประจำปีของปีนั้นๆ และแม้ว่าจะมีคำใหม่ๆ มาแทนที่ตำแหน่งดังกล่าวไปแล้วมากมาย คำคำนี้ยังเป็นคำที่ไม่เคยหลุดออกไปจากการเป็นธีมให้แก่สังคมโดยรอบของเรา โดยเฉพาะในแง่มุมการเมือง
“ในที่นี้คำว่า Post ไม่ได้หมายความว่าเรา ‘ก้าวข้าม’ ความเป็นจริงไปแล้ว แต่หมายความว่าความเป็นจริงถูกบดบังด้วยสิ่งที่สำคัญน้อยกว่า เช่น อุดมการ” ลี แมคอินไทร์ (Lee McIntyre) นักปรัชญา นักวิจัย และนักเขียนประเด็นวิทยาศาสตร์และผู้ที่ต่อต้านมัน เขียนในหนังสือของเขาชื่อ Post-truth หนังสือที่พาเราไปนิยามและสำรวจคำดังกล่าวผ่านการมองไปตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และที่ว่าคำคำนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากอากาศ หากแต่คือผลพวงของวิธีคิดรูปแบบเดียวๆ กันที่สั่งสมมาจนมันปะทุออก
ในหนึ่งบท ลี แมคอินไทร์เล่าว่าเหตุที่เรามองโลกเช่นนั้นมาจากการทำงานของสมองเรา เขาเชื่อว่าไม่มากก็น้อย มนุษย์มีอคติทางความคิด “มันง่ายในการใช้ชีวิตกว่า หากเราเชื่อว่าตัวเองฉลาด ทันข่าวสาร และมีความสามารถ แทนที่จะคิดว่าเราไม่ใช่คนแบบนั้น” เขาเขียน แล้วตั้งคำถามว่าเช่นนั้นจะเกิดอะไรหากเราต้องมาเจอกับข้อมูลที่บอกว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นมันผิด?
ลี แมคอินไทร์อธิบายว่าคำถามเหล่านั้นสร้างความไม่ไม่ลงรอย ความขัดแย้งในระดับจิตวิทยา และบ่อยครั้งการแก้ไขคือการเปลี่ยนความเชื่อ แต่ว่าอย่างที่เรารู้กัน หลายๆ ครั้งเราเลือกเปลี่ยนอย่างอื่น เราเลือกเปลี่ยนความเป็นจริง สมมติว่ามีพรรคการเมืองหนึ่งบอกว่าจะแก้ปัญหาฝุ่นควันโดยเร็วที่สุด แต่เมื่อถึงเวลาจริงเขาบอกว่ามันไม่แย่เท่าที่คิด เราจะหยุดคิดว่าเราเลือกผิดหรือเปล่า?
คำตอบคือ ‘ไม่มีทาง’
เมื่ออ่านถึงตรงนั้น เราต่างคงตั้งคำถามกับตัวเองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลจริงๆ แค่ไหนกัน? นักปรัชญาเช่นจัสติน อี.เอช. สมิธ (Justin E.H. Smith) เรียกว่ามนุษย์นั้นไม่ได้มีเหตุผล แต่ “เป็นสัตว์ที่ไร้เหตุผลอย่างอย่างมีเอกลักษณ์” นั่นคือเมื่อสัตว์อื่นไม่ได้ครุ่นคิดถึงความไร้เหตุผลของมัน มนุษย์ยืนแน่นิ่งและนึกถึงมันด้วยความกังวล ก่อนจะเริ่มพยายามหาสิ่งที่เรียกว่าเหตุผลมาครอบงำทุกสิ่ง และพยายามฝืนธรรมชาติในสิ่งที่เราเป็นผ่านมัน
มุมมองนั้นๆ แปลว่าเราควรจะจับมือกันแล้วเดินลงหลุมแห่งความไร้เหตุผลกันทั้งสายพันธุ์เลยหรือไม่? ก็คงแล้วแต่คนจะตอบ อย่างไรก็ดี ความน่าเป็นห่วงของการอยู่อาศัยในการเมืองแบบ Post-truth นั้นบางครั้งก็มากกว่าความสิ้นหวังส่วนตัว แต่คือผลกระทบแง่ลบของมันต่อทิศทางประชาธิปไตยโดยรวมอีกด้วย
เราเป็นใครในระบอบประชาธิปไตย เราในที่นี้หมายถึงประชาชน คำตอบคือเราคือผู้ที่ถืออำนาจในการเลือกผู้แทนของเราเข้าสู่ระบบการเมือง เราคือคนที่ส่งเสียงไม่พอใจในการกระทำที่ขัดต่อความต้องการของชาติ ประชาชนคือผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม เราจะเป็นใครในโลกที่นักการเมืองของเราทำอะไรก็ไม่ผิด? เมื่อพวกเขาสามารถพูดอะไรก็ได้แล้วได้รับการันตีว่าจะมีใครสักคนมาถือหางของพวกเขาเพื่อเดินไปข้างหน้า? เมื่อเราสามารถเชื่อในข้อมูลที่เป็นข่าวเท็จและโยนข่าวจริงๆ ทิ้งได้ เพราะมันจะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ทำให้ ‘ทีม’ ของเราสามารถชนะในการแข่งขันรอบหน้า เรายังเป็นผู้ถืออำนาจอยู่หรือเปล่า? เรายังทำหน้าที่ตรวจสอบหรือไม่? หรือเป็นเพียงฐานที่ทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าถึงอำนาจได้กันแน่?
มากไปกว่านั้น ปัญหานี้อาจจะยังไม่ชัดนัก แต่การเมืองแบบ Post-truth นั้นมักเชื่อมโยงโดยตรงกับแนวคิดประชานิยมฝ่ายขวา บทความวิชาการชื่อ Post-truth Populism: a New Political Paradigm? โดยซอล นิวแมน (Saul Newman) วิเคราะห์ว่าแก่นของความคิด Post-truth ที่ผู้คนเชื่อในความเชื่อและความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง นั้นอยู่ใจกลางแนวคิดประชานิยมฝ่ายขวาที่เชื่อว่าภูมิปัญญาของคนทั่วไปอยู่เหนือกว่าของผู้เชี่ยวชาญเสมอ
อาจจะฟังดูไม่เลวร้ายนัก แต่เมื่อลองคิดว่า ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ที่รัฐบาลประชานิยมว่านั้นมักหมายถึงนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แพทย์ ฯลฯ เราอาจเริ่มเห็นปัญหา “ความเชื่อนี้จะต่อต้านผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ภาวะโลกร้อน โควิด วัคซีน และนโยบายทางการแพทย์หลายๆ อย่าง” ซอล นิวแมนเขียน แล้วโยกมุมมองออกไปในแง่มุมสังคมว่า “ประชานิยมรูปแบบนี้มักมีความตั้งใจในการก่อร่างสังคมอนุรักษนิยมและอำนาจนิยม” เขายกตัวอย่างประเด็นเพศ คนต่างด้าว คนชายขอบ บ่อยครั้งเหลือเกินที่มีการไม่เลือกจับรวมผู้คนเป็นประชาชนในแนวคิดนี้
ความเป็นจริงมีค่ามากขนาดไหน? เราพร้อมโยนมันทิ้งไปพร้อมกับทุกสิ่งที่เราต่อสู้มาหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก