‘นักการเมือง’ ยี้ความจริง ปะทะ ‘นักวิทย์’ เดินประท้วง
บางทีรัฐเองก็มองวิทยาศาสตร์ราวของขมปี๋ที่กลืนไม่คล่องคอ พวกคนในชุดสูทไม่เข้าใจคนในชุดกาวน์ว่ากำลังง่วนอะไรในห้องทดลองอับๆ เพราะย้อนไปตั้งแต่ในปี 1969 สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา เคยถามนักฟิสิกส์ Robert Wilson ด้วยน้ำเสียงที่ไม่เป็นมิตรเอาเสียเลยว่า
“ขอเหตุผลดีๆหน่อยว่า เครื่องเร่งอนุภาค (Particle Accelerator) ของคุณ จะช่วยป้องกันชาติของเราอย่างไร”
“ไม่เลยครับ มันจะไม่ช่วยอะไรท่านเลย” Robert Wilson กล่าวต่อสภาคองเกรซที่หน้าหงิกหน้างอ
“แต่คนในอาชีพเราต้องทำ คือการค้นหาความจริง และนำความจริงเผยแพร่ต่อสาธารณชน มันอาจไม่ก่อประโยชน์กับพวกท่านเลยก็ได้ แต่สังคมต้องการความจริงที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์”
แม้ต้องเผชิญกับข้อกังขา แต่ฟิสิกส์มิติใหม่ของ Robert Wilson ก็ได้เปิดประตูความรู้ใหม่ๆ ด้านสสารและพลังงานปรมาณูจนทำให้เราค้นพบพลังงานที่ซุกซ่อนภายใต้ความลับของจักรวาล และทำให้ความก้าวหน้าทางวิทยาการโลกได้ไปต่อ
หมุนนาฬิกาเร็วๆ มาสู่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วอเมริกา (และเหมือนจะทั่วโลก) กำลังหัวร้อนซ้ำๆ เมื่อห้องแลปของพวกเขาเผชิญแรงสั่นสะเทือนครั้งสำคัญ เพราะดูเหมือนนักการเมืองจะไม่ใคร่สนใจใยดีกระบวนการหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘วิทยาศาสตร์และการเมือง’ ในศตวรรษนี้ดูหรี่แสงเหมือนดาวฤกษ์ที่กำลังจะตาย มันขัดแย้งต่อกัน ยิ่งยุค Post Truth ที่ ‘ความจริงมาทีหลัง’ ผู้คนก็ดูเหมือนจะห่างเหินจากความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ
ในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งตรงกับวัน ‘Earth Day’ หรือ ‘วันคุ้มครองโลก’ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เองถือว่างานของพวกเขาเป็นแนวหน้าที่ต้องนำเสนอความจริงของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วให้ผู้คนรับรู้ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชั้นนำเกือบทั่วโลกร่วมเดินขบวนแสดงพลังต่อต้านนโยบายรัฐที่เมินเฉยต่อ ‘ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ (Antiscience policies)’ โดยการเดินขบวนกินเวลาราวสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 22 ถึงวันที่ 28 เมษายน และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อ
จุดหมายใหญ่คือการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต และผลักดันให้มันเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดในการร่างนโยบายของรัฐ ซึ่งประชาชนต้องมีสิทธิเรียกร้องและตรวจสอบได้ด้วยความโปร่งใส
นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลอย่างชัดเจนถึงอิทธิพลของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ป่ากำลังจะตาย ทะเลกำลังจะเดือด ทุกๆ 1 วันกำลังมีสัตว์สายพันธุ์ต่างๆสูญพันธุ์อย่างน้อย 100 ถึง 150 สายพันธุ์ โดยเรามีหน้าที่แค่มองตาปริบๆ
แต่รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ดูจะเป็นปฏิปักษ์กับข้อเท็จจริงดังกล่าว มีอำนาจปกปิดข้อมูลในเว็บไซต์ ละเลยเสียงเตือนจากสถาบันต่างๆ แม้แต่กระทรวงพลังงาน Department of Energy (DOE) ของอเมริกาภายใต้ธงนายทรัมป์ ก็ยังหันปลายดาบมาจ่อนักวิจัยของรัฐเอง โดยออกไกด์ไลน์เพื่อรับมือกับเหล่านักวิทยาศาสตร์หัวขบถที่ขัดขวางการทำงานตามนโยบายในระดับหมายหัว และหลายครั้งที่ขู่ตัดงบสนับสนุนสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม
ละมือจากกล้องจุลทรรศน์ หันมาจับป้ายประท้วง
เอาจริงๆ นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่ใครจะมาแงะออกจากห้องแลปให้ออกมาเดินประท้วงบนท้องถนนเหมือนนักกิจกรรมทางการเมืองได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่พวกเขามักน้อมรับการกดขี่ของนโยบายรัฐ ก้มหน้าก้มตาทำงานในแวดวงวิชาการของตัวเอง หรือไม่ก็ปั่นวิจัยให้ทันส่งโครงการขอทุนที่มีอยู่น้อยนิด Pitching แข่งกับเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยกันเอง
จะให้ออกไปทำอะไรนอกเหนือจากนั้นเหรอ ยาก! เพียงเวลากลับไปนอนบ้านก็ยังจะไม่ค่อยมี
ปรากฏการณ์ March for Science จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองของคนในฝั่งวิทยาศาสตร์ ที่เริ่มขอมีปากมีเสียงบ้าง ยุคของรัฐบาลทรัมป์ยิ่งเป็นตัวจุดประกายสำคัญที่เหล่าแวดวงวิทยาศาสตร์จะไม่ทนเงียบเสียงตัวเองอีกต่อไป นักวิจัยเบื่อหน่ายกับนโยบายสิ่งแวดล้อมของทรัมป์ที่เหมือนถอยหลังลงคลอง สวัสดิการสุขภาพที่มีทัศนคติเชิงลบ ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการผลิตวัคซีน และการดูถูกเหยียดหยามทางเชื้อชาติที่เหมือนทรัมป์จะไม่เข้าใจความหลากหลายทางพันธุกรรมของมนุษย์เสียเลย
นักวิจัยหลายสถาบันถึงกับกล่าวว่า ชั่วโมงนี้คือ ‘Lost Generation’ หรือยุคสมัยที่หายสาบสูญไปของวิทยาศาสตร์อเมริกัน มันส่งผลกระทบต่อวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์โดยตรง ทั้งการสนับสนุนทุนและวิทยาศาสตร์เองที่สูญเสียจุดยืนในสังคม
“เมื่อผู้คนไม่พึ่งวิทยาศาสตร์แล้ว เขาจะไปพึ่งอะไรล่ะ? แม้แต่วิทยาศาสตร์เองยังต้องออกมาประท้วงเพื่อตัวเอง ผมว่ามันเกิดความพิกลในสิ่งที่พวกเราเชื่อแล้ว”
นักประสาทวิทยา Erich Jarvis จากมหาวิทยาลัย Rockefeller หนึ่งในผู้ร่วมประท้วงที่ไม่คุ้นเคยนักกับบรรยากาศริมถนนคนเยอะๆ กล่าว
การรวมตัวของเหล่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ถูกจับตาด้วยดาวเทียมราว 610 ดวงที่โคจรอยู่รอบโลก (สมแล้วที่เป็นการเดินขบวนของวิทยาศาสตร์) ผู้คนราวๆ 10,000 ชีวิตจากสถาบันวิจัยชั้นนำแสดงออกถึงจุดยืนทางวิทยาศาสตร์ โดยอิงกับความเชี่ยวชาญของตัวเอง ‘นักชีววิทยาสายทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Darwinism)’ ประท้วงโดยใช้ป้ายที่อิงกับการจัดสาแหรกแบบภูมิต้นไม้ (phylogenetic tree) ซึ่งคนที่ไม่ใช่แวดวงนักวิทยาศาสตร์ (Nonsciences) อาจจะต้องปีนกระไดเพื่อตีความมากหน่อย หรือ ‘นักฟิสิกส์ทฤษฎี (Theoretical Physicist)’ ก็นึกสนุกเอาสมการคณิตศาสตร์มาเล่นล้อเลียนวิสัยทัศน์สุดทึ่มของทรัมป์ นักเคมีสายเอาฮานำเสนอตารางธาตุ (Periodic Table) ที่เต็มไปด้วยคำพ้องเสียง
การเดินขบวนของ March for Science จึงมีสีสันและบันเทิงสมองในเวลาเดียวกัน
“เราต้องการให้ข้อมูลและหลักฐานของพวกเราถูกใช้ในการกำหนดนโยบายของรัฐ มิใช่จากอุดมการณ์ทางการเมืองที่ล้าสมัย” Georges Benjamin ผู้บริหารอาวุโสของ American Public Health Association ก็มาร่วมเดินขบวนครั้งนี้ด้วย
รัฐต้องสนับสนุนงานวิจัยที่หลากหลายและเปิดกว้างให้นักวิทยาศาสตร์ค้นหาความจริงในมิติที่พวกเขาเชี่ยวชาญมากกว่านี้ แม้มันจะยังไม่เห็นผลอย่างเชิงประจักษ์ในเสี้ยววินาทีแรกที่คุณอ่านเอกสาร เพราะ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เหมือนตัวต่อที่ค่อยๆ นำไปสู่องค์ความรู้ที่ใหญ่กว่า เช่นตัวอย่างในปี 1970 เรามีองค์ความรู้ว่าแบคทีเรียสามารถนำไปทำอินซูลินได้ มันกรุยทางไปสู่ความรู้ที่เราสามารถพัฒนายาเพื่อฉีดรักษาอาการผู้ป่วยเบาหวานให้ทุเลาลง
แต่ระยะหลังๆ ทุนวิจัยส่วนใหญ่เมินเฉยต่อ ‘งานวิจัยที่พยายามหาคำตอบทางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (Ethnic diversity research)’ ซ้ำร้ายยังจำกัดเชื้อชาติของผู้รับทุนวิจัยชัดเจน ทำให้นักวิจัยที่มาจากประเทศอื่นๆ ที่ทำงานในอเมริกาโดนมองว่าเป็นประชาชนชั้น 2 ที่รายชื่อพวกเขามักไปอยู่ท้ายๆในลิสต์ผู้รับทุนโดยการสนับสนุนของรัฐบาล
เห็นได้ชัดว่าความต่างไม่ใช่ของโปรดของรัฐบาล
วิทยาศาสตร์จะไม่เงียบ
วิทยาศาสตร์เคยทำให้อเมริกายิ่งใหญ่ Made American Great แต่การปฏิเสธและอำพรางความจริง ทำให้ชาติมหาอำนาจกำลังเดินถอยหลังในความคิดของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย พวกเขาเคยอยู่ในยุคทองที่วิทยาศาสตร์เฟื่องฟูในสมัยประธานาธิบดี อย่าง Teddy Roosevelt, Truman, Nixon หรือ Jimmy Carter ที่ให้อิสรภาพให้การทำงานวิทยาศาสตร์โดยไม่ล่วงล้ำอธิปไตย
เราปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่านักวิจัยในศตวรรษใหม่อาจจะทำงานอย่างจำกัดจำเขี่ยด้วยทรัพยาการที่น้อยลง แต่การแข่งขันสูงขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนกลับมาที่ไทย ซึ่งระยะหลังงานวิจัยถูก ‘ใบสั่ง’ มาจากรัฐบาลโดยตรง และงานวิจัยทางสังคมศาสตร์โดนยกไปอยู่การพิจารณาท้ายๆ ยิ่งเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในสังคมแล้ว ดันถูกมองว่าสร้างความร้าวฉานให้กับประเทศเสียอีก การให้ความรู้ทางวิชาการต่อสาธารณชนจึงไม่สนุก ถูกตรวจสอบ และอะไรต่อมิอะไรที่ทำให้คนทำงานไม่มีความสุขที่จะทำงานต่อ
March for Science แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดไม่บ่อย มีวาระชัดเจนท่ามกลางสังคมที่คนไม่เอาความจริง แต่มันอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้เลย โดยเฉพาะการเปลี่ยนใจนักการเมือง พวกเขาอาจจะไม่แยแสด้วยซ้ำ แต่ในฐานะพลเมืองโลกที่เห็นพลวัตรของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป มันแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าเราควรทำอะไรบางอย่างกับความจริง หายนะทางสิ่งแวดล้อมเป็นของจริง โรคที่กำลังอุบัติใหม่เป็นของจริง มนุษย์ สัตว์ พืชพรรณกำลังล้มตายเป็นความจริง และชีวิตของพวกเราอยู่ในรอยแยกอันมืดหม่นที่วิทยาศาสตร์เท่านั้นจะจุดเทียนแสงสว่างเล็กๆขึ้นมาได้
การประท้วงทั่วไป เมื่อเลิกรา ผู้คนมักเดินทางกลับบ้าน
แต่การประท้วงเพื่อวิทยาศาสตร์ ผู้คนมักต้องกลับไปห้องแลปเพื่อไปเคลียร์งานที่ค้างอยู่ในเสร็จ
การเรียกร้องต้องเดินหน้า พอๆ กับแบคทีเรียที่กำลังโตในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ
อ้างอิงข้อมูลจาก
March For Science
https://satellites.marchforscience.com/