กทม. มีโครงการย้าย ‘เหี้ย’ 400 ชีวิตในสวนลุมพินี จากนโยบายลดประชากรเหี้ยที่มากเกินไป
หากยังโอดครวญเสียดายเพื่อนเหี้ยที่เห็นกันอยู่ทุกวันเวลาไปวิ่งหรือถีบเรือเป็ด The MATTER จะพาคุณไปสำรวจธรรมชาติของเหี้ยเอง รู้ไหมว่าการควบคุมประชากรเหี้ยก็อยู่ในความรับผิดชอบของพวกเรา พวกเราเองก็มีส่วนทำให้เหี้ยมีเยอะเกินกว่าปกติ ถ้ายังงง ว่า เอ๊ะ เกี่ยวอะไร? งั้นไปดู
Who is เหี้ย
‘เหี้ย’ ก็คือเหี้ย ไม่ต้องอ้อมค้อม และคงไม่มีใครเรียก ‘วรนุช’ ตาม ผอ.สำนักอนุรักษ์ ฝรั่งสวนลุมฯเรียกมันว่า Water Monitor นักวิทยาศาสตร์ เรียกมันว่า Varanus salvator แล้วยังมี ‘ตัวเงินตัวทอง’ อะไรนั้นอีก ชื่อเยอะจริงๆ ให้ตายเถอะ
เหี้ยเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่คุณไม่ต้องเสียเงินสักบาทเข้าไปดูมัน แต่มันจะมาหาคุณเอง!
พวกมันอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ปรับตัวได้ยอดเยี่ยม และเป็นผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร
ในอดีตสมุทรปราการเป็นจังหวัดปากแม่น้ำมีเหี้ยชุกชุม ผลุบๆ โผล่ๆ จนคนในละแวกนั้นเรียกกันว่า ‘ตำบลบางเหี้ย’ และ ‘วัดบางเหี้ย’ แต่ปี 2493 จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ยินแล้วคงทะแม่งรูหู ฟังดูไม่เป็นอารยะ จึงขอให้เปลี่ยนเป็น ‘ตำบลบางบ่อ’ และ ‘วัดมงคลโคธาวาส’ แทน
น่าเสียดายว่าครั้งหนึ่งเรามี คำว่า ‘วัด’ อยู่ร่วมกับคำว่า ‘เหี้ย’ ได้ และมีตำบลเป็นของตัวเอง Township of Hear เจ๋งจะตาย
เย็นนี้ ‘เหี้ย’ ทานอะไรจ๊ะ!?
เหี้ยไม่เรื่องมาก พวกมันเอ็นจอยกับการรับประทานอาหารที่หลากหลายราวนักชิมมิชลินสตาร์ เป็นทั้งนักล่าและสัตว์กินซากในเวลาเดียวกัน เหี้ยกินปลา กบ นก หนู งู ปู เต่า จระเข้ตัวเล็กๆ และไข่จระเข้ ที่สำคัญพวกมันกิน ‘ขยะ’ เกือบทุกประเภทที่คุณทิ้งลงในแม่น้ำ (ยกเว้นพลาสติก) ต้องให้เครดิตกับระบบย่อยอาหารของมันที่มีโปรตัวซัวเข้มแข็ง และมีกระบวนการเผาผลาญพลังงานสูง (High metabolism rate) จึงบังคับให้มันต้องกินบ่อยๆ และออกล่าอยู่เนืองๆ
ด้วยความที่กินดะ ทำให้เหี้ยกลายเป็นข้อพิพาทในหลายสังคม พวกมันเข้าไปในพื้นที่กสิกรรมชาวบ้าน พังทลายเล้าไก่ คืบคลานไปในบ่อกุ้งบ่อปลา ทำร้ายสัตว์เลี้ยง ขุดทำลายแปลงเกษตร ทำให้พี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ค่อยนับญาติกับมันเท่าไหร่นัก
ปัญหาคนกับเหี้ยปรากฏในหลายสังคม เช่นใน Florida ที่ประชากรเหี้ยเยอะเกินไปจนเบียดเบียนสัตว์น้ำอื่นๆ หรือในอินโดนีเซียที่เหี้ยขยายเผ่าพันธุ์ตามจำนวนประชากรมนุษย์อย่างมีนัยยะ
พลังแพร่พันธุ์ของเหี้ย
แทบไม่มีสัตว์ใดล้มเหี้ยได้ พวกมันแข็งแกร่งจากรูปแบบวิวัฒนาการอันซับซ้อน เหี้ยเพศเมีย 1 ตัว ออกไข่ได้ 30 – 50 ฟอง และมีอัตราการตายต่ำมาก หมายความว่าในสภาพแวดล้อมที่ไร้คู่แข็งและเอื้อประโยชน์อย่างสวนลุมฯ ทำให้ไข่เกือบทุกใบมีโอกาสรอดและเติบโตมาเป็นเหี้ยรุ่นๆ หมด แถมพวกมันวางไข่ได้ 2 ครั้งต่อปี (แต่ปัจจุบันคาดว่าน่าจะถึง 3 ครั้งต่อปี) เหี้ยในกรุงเทพฯจึงอยู่ดีกินดี เหมือนทุกๆ วันของมันคือวันเงินเดือนออก บางครั้งอาจอิจฉาเหี้ยที่กินบุฟเฟ่ต์บ่อยกว่าคุณ
อากาศเปลี่ยน คนเปลี่ยน เหี้ยเปลี่ยน
มีงานวิจัยพบว่า เหี้ยมักผสมพันธุ์ในช่วงหน้าฝน จากปกติช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน แต่ปัจจุบันสภาพอากาศเมืองไทยเปลี่ยนไปมาก ฤดูกาลผันแปรและคาดเดายาก ฝนตกหนักในตัวเมือง เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ล้วนเป็นปัจจัยทำให้เหี้ยผสมพันธุ์ถี่ขึ้น
‘ขยะ’ ที่คุณทิ้งไม่เลือกที่ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้พวกมันขยายพันธุ์มากเกินไป (Over population) มีงานวิจัยของ Linda Uyeda จากมหาวิทยาลัย Washington ในปี 2009 พบความเชื่อมโยงว่า ประชากรเหี้ยมีอัตราเพิ่มจำนวนสอดคล้องกับขยะที่ชุมชนทิ้ง
ยิ่งทิ้งมาก และไม่มีการจัดเก็บที่ดี เหี้ยจะบุกรุกที่พักอาศัยของมนุษย์ กลายเป็นปัญหาความสมดุลเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นใน เกาะ Tinji ของประเทศอินโดนีเซีย ที่พฤติกรรมเหี้ยคุกคามนักท่องเที่ยว และเริ่มไล่กินสัตว์ท้องถิ่นอย่างผิดวิสัย
คุณก็รู้ว่า กทม.จัดการปัญหาขยะล้มเหลวแค่ไหน และพวกเราทิ้งขยะวันละ 1.53 กิโลกรัมต่อวัน ที่เหี้ยมาชุกชุมตรงบ้านคุณก็ไม่แปลกหรอก
เหี้ยดุในช่วงจู๋จี๋
เหี้ยไม่ใช่สัตว์สังคม แต่เป็น Introvert ที่ชอบอยู่อย่างสันโดษ และมักไม่ทะเลาะกัน ยกเว้นช่วงผสมพันธุ์
ในช่วงก่อนเกี้ยวพาราสี (Pre-courtship) พวกมันค่อนข้างดุ และหวงอาณาเขต บ่อยครั้งที่เหี้ยวิ่งไล่คน หรือกัดคนจนได้รับบาดเจ็บ (ผู้เขียนเคยโดนเหี้ยวิ่งไล่กวดในธรรมศาสตร์รังสิต เพียงแค่ไปเดินเฉียดบ้านมันนิดเดียว) บาดแผลจากเหี้ยมักติดเชื้อ นอกจากนั้นซากอาหารที่เหี้ยกินไม่หมดเป็นแหล่งเพาะโรค แถมไม่น่าดูอีกต่างหาก
ความปลอดภัยของผู้ใช้สวนและสุขอนามัยของชุมชุน เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ กทม. ต้องเชิญเหี้ยไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเป็นภัยต่อมนุษย์น้อยกว่า
ส่งเหี้ยไปอยู่ที่ที่เหมาะกว่า
ปัญหา Over population ของเหี้ยทำให้สมดุลของชีวิตเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งมีมนุษย์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และธรรมชาติที่รู้หน้าไม่รู้ใจในช่วง 10 ปีมานี้ การแก้ปัญหาขั้นต้นคือการลดจำนวนประชากรโดยการนำมันไปไว้ในสถานที่ควบคุมได้
‘สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน’ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เป็นสถานที่รองรับและดูแลเหี้ย 400 ชีวิตเป็นล็อตที่ 3 สถานที่ทางธรรมชาติที่มีระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ สามารถรองรับสัตว์ต่างๆ และอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่
เหี้ยไปอยู่รีสอร์ทที่เก๋กว่าคุณอีก
หากเหี้ยเยอะไป อาจถึงเวลาต้องทำเงินจากมัน
จริงๆ การควบคุมเหี้ยที่มากเกินไปอาจพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งในเชิงอนุรักษ์และสินค้าแปรรูป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ การศึกษาวิจัยเลี้ยงและใช้ประโยชน์ตัวเหี้ยเพื่อผลเชิงเศรษฐกิจ
หนังเหี้ยทำอุตสาหกรรมเครื่องหนังได้ครบวงจร ทั้งกระเป๋า เข็มขัด รองเท้าทำได้หมด ลายเหี้ยคือ Art Work จากธรรมชาติที่ละเอียดสูง มีความนุ่มและเหนียว ทนทาน ราคาของหนังเหี้ยแพงกว่าหนังจระเข้พอสมควร ตลาดยุโรปอย่าง อิตาลี ฝรั่งเศส หรือจีน ต่างต้องการหนังเหี้ย เพราะบ้านไอไม่มีของคูลๆ แบบนี้
อุตสาหกรรมเครื่องหนังเหี้ยภายใต้การควบคุมผ่านงานวิจัยเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรและธุรกิจท้องถิ่น เป็นทิศทางวิจัยที่มุ่งไปสู่การเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด
เหี้ยนั้นเริ่ด!
เหี้ยน่ารัก นักสู้ มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศธรรมชาติ (พวกมันทำเงินได้ด้วย) ดังนั้นการที่พวกมันมีจำนวนมากเกินไป หรืออยู่ผิดที่ผิดทาง กลายเป็นว่าเราเสียประโยชน์จากการเข้าใจธรรมชาติมันโดยสิ้นเชิง หากคุณจะเอาจริงกับเศรษฐกิจชีวภาพหรือ Bioeconomy หนึ่งในยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 อาจถึงเวลาที่จะเลิกเกลียด ‘เหี้ย’ และมองมันเป็นโอกาส
เพราะ เหี้ย ไม่เหี้ยหรอก