ในรั้วมหาวิทยาลัยที่กว้างใหญ่ไพศาล นอกเหนือจากผู้คน ตึกเรียน และสภาพแวดล้อมแล้ว ยังมี ‘สัตว์’ ที่อยู่กับสถานที่แห่งนี้มานาน และครองตำแหน่ง ‘ขวัญใจ’ นิสิตนักศึกษา ไปจนถึงคณาจารย์และแม่บ้านทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหมาแมว เต่า นกยูง หมู หรือแม้กระทั่ง ‘ตัวเงินตัวทอง’ ที่ใครๆ ต่างบอกว่านี่อาจเป็น ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ดึงดูดคนให้สนใจมหาวิทยาลัยได้
ปกติแล้วเจ้าตัวเงินตัวทองมักจะอยู่ในแหล่งน้ำ ป่ารกร้าง หรือหากเป็นไปได้ในสังคมเมืองก็คงเป็นสวนสาธารณะ (ซึ่งมีมากจริงๆ ถึงขั้นมีกิจกรรมดูตัวเงินตัวทองในสวนกันเลยทีเดียว) แต่ในเมื่อตัวเงินตัวทองเข้ามาอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยแล้ว น้องจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่สัตว์ธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อและตำนานที่ตามมาด้วย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเหล่านี้อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยมานาน เพราะสถานศึกษามาคู่กับความเป็น ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่อการดำเนินชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไปด้วย
ก่อนจะไปถึงตำนานเหล่านั้น เราขอออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยจะมีตัวเงินตัวทองอาศัยอยู่ ถ้าอิงจากข้อมูลที่เราบอกไปเบื้องต้น มหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเจ้าสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้จะต้องมีแหล่งน้ำ มีพื้นที่สำหรับหากินกว้างขวางเพียงพอ ซึ่งมักพบในมหาวิทยาลัยในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่ามหาวิทยาลัยภาคอื่นๆ จะไม่มีตัวเงินตัวทองเสียทีเดียว ถ้ามีแหล่งน้ำและความร่มรื่นน้องก็อาศัยอยู่ได้
เมื่อมีที่อยู่อาศัยแล้ว น้องย่อมต้องมี ‘ชื่อเรียก’ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะครั้นจะเรียก ‘ตัวเงินตัวทอง’ ก็อาจจะธรรมดาไป หรือเรียกน้องตามชื่อดั้งเดิมอย่าง ‘ตัวเหี้ย’ ก็อาจจะดูหยาบคายเกินไปหน่อย ส่วนนิสัยของน้องก็หลากหลายไม่ต่างจากผู้คนเลยทีเดียว เพราะมีทั้งสุภาพเรียบร้อย เข้ากับคนง่าย หงิมๆ ขี้อาย ไปจนถึงดุดัน ล่าเหยื่อแบบไม่เกรงใจใคร
The MATTER ขอชวนทุกคนไปดูเรื่องเล่าจากความเชื่อ (ที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น) ของตัวเงินตัวทองในแต่ละมหาวิทยาลัยเท่าที่รวบรวมได้ ว่ามันผูกโยงกับชีวิตนิสิตนักศึกษาแค่ไหนกัน!
เริ่มต้นจาก ‘ตุ๊ดตู่’ เหล่าตัวเงินตัวทองแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ น้องๆ จะอาศัยอยู่บริเวณ ‘สระแก้ว’ สระน้ำใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของมหาวิทยาลัย โดยชื่อนี้มาจากพันธุ์ของน้องที่นี่ ซึ่งจะต่างจากตัวเงินตัวทองตรงลวดลายและขนาดลำตัว และมีความเชื่อกันว่า ถ้าใครเห็นตุ๊ดตู่กำลังลงน้ำ คนคนนั้นจะติดเอฟ แต่ถ้าเห็นตุ๊ดตู่ขึ้นจากน้ำ คนคนนั้นจะได้เกรดเอ ขณะเดียวกันถ้าเราเห็นตุ๊ดตู่เดินผ่านหน้าให้ตบกระเป๋า เพราะน้องจะนำพาโชคดีมาให้ แต่ก็มีเสียงอีกส่วนเล่าถึงวีรกรรมของเจ้าตุ๊ดตู่ตัวใหญ่เพราะความอุดมสมบูรณ์ในสระแก้วว่า ถ้ามีเสียงสุนัขร้องโอดโอยในตอนกลางคืน ให้คิดได้เลยว่าสุนัขตัวนั้นอาจกลายเป็นอาหารของตุ๊ดตู่ไปแล้ว
ความเชื่อเรื่องตัวเงินตัวทองคลานลงน้ำจะติดเอฟ แต่ถ้าขึ้นจากน้ำจะได้เกรดเอ แพร่กระจายในมหาวิทยาลัยมหิดลเช่นกัน โดยที่วิทยาเขตศาลายา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบน้องได้มากที่สุดจะเรียกน้องว่า ‘บุ๋ย’ ว่ากันว่าเจ้าบุ๋ยที่นี่มีจำนวนมาก จนเรียกคลองที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ซึ่งมีตัวเงินตัวทองมากว่า ‘คลองบุ๋ย’ เลยทีเดียว และชื่อ ‘บุ๋ย’ นี้ก็มีที่มาจากพฤติกรรมของตัวเงินตัวทองที่หายใจอยู่ในคลองดังกล่าว ประกอบกับสภาพคลองที่เน่าเสียจนมีฟองอากาศขึ้นมา แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอแถมความเชื่อจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่อยู่ติดกับแหล่งน้ำใหญ่ 2 แหล่งอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางกอกน้อย ว่าพวกเขามีความเชื่อว่าถ้ามีใครเรียกตัวเงินตัวทอง น้องจะปรากฏตัวให้เห็นอย่างสมพรปากทีเดียว
ข้ามฝั่งไปที่ทุ่งรังสิตกันบ้าง แม้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะเรียกน้องกันว่า ‘เหี้ย’ อย่างตรงไปตรงมา หรือ ‘น้องไนซ์’ ของชาวสินสาด (ศิลปศาสตร์) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่นี่มีตัวเงินตัวทองจำนวนมากจนถึงขั้นมีป้ายระวังเลยทีเดียว โดยนักศึกษาที่นี่เชื่อกันว่า ถ้าเห็นน้องให้ตะโกนคำว่า ‘Get A’ จะทำให้ได้เกรดเอจริงๆ นอกจากนี้หากนักเรียนคนใดมาสอบเข้าแล้วเจอตัวเงินตัวทองบนบกก็เชื่อกันว่าจะสอบติดที่นี่ แต่ถ้าเจอตัวเงินตัวทองในน้ำจะทำให้สอบไม่ติด ทั้งนี้ว่ากันว่าตัวเงินตัวทองที่นี่ยังชอบอาหารแบบเดียวกับที่คนเรากิน และไวต่ออาหารมากๆ ด้วยล่ะ
ส่วนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่มีความเชื่อเกี่ยวกับตัวเงินตัวทองคือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเรียกตัวเงินตัวทองตามภาษามลายูว่า ‘แยเวาะ’ โดยเชื่อกันว่าถ้าเห็นแยเวาะว่ายน้ำข้ามคลอง 200 ปี ซึ่งเป็นคลองบริเวณหอพักนักศึกษา จะได้เกรดเฉลี่ย 4.00 ในเทอมนั้น บ้างก็ว่าจะได้จบการศึกษาที่นี่
นอกเหนือจากนี้ ยังมี ‘คิตตี้’ ตัวเงินตัวทองในมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งค่อนข้างอยู่อย่างสงบในพื้นที่ของตัวเอง เป็นมิตรกับผู้คน และแม้จะไม่รู้ว่าชื่อคิตตี้มีที่มาจากอะไร แต่เชื่อกันว่า ถ้าเจอคิตตี้ในช่วงสอบจะได้เกรดเอตามจำนวนคิตตี้ที่เห็น
หากวิเคราะห์ความเชื่อเกี่ยวกับตัวเงินตัวทองในมหาวิทยาลัยเหล่านี้แล้ว พบว่ามีความสอดคล้องกับความเชื่อว่าตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ที่นำพาโชคลาภมาให้ผู้พบเห็น ซึ่งสวนทางกับชื่อของน้องที่ถูกนำไปใช้เป็นคำด่า การที่เราเห็นตัวเงินตัวทองขึ้นจากน้ำ จึงเปรียบเสมือนโชคลาภที่กำลังเข้ามาหาเรา กลับกันถ้าน้องกำลังจะกลับลงไปในน้ำ ก็เปรียบเสมือนโชคลาภที่กำลังไปจากเรา
ทั้งนี้ทั้งนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็น ‘ความเชื่อ’ ในรั้วสถานศึกษา ซึ่งเป็นมิติหนึ่งที่เราอาจมองได้จากการมีตัวเงินตัวทองในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากลองมองลึกลงไปมากกว่าความเชื่อ การมีตัวเงินตัวทองมาอาศัยในบริเวณที่มีผู้คนพลุกพล่าน อาจไม่ได้บ่งบอกถึงสภาวะที่คนรุกรานที่อยู่อาศัยของตัวเงินตัวทองเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เราเห็นว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องมีวิธีการรับมือ และปรับตัวเมื่อน้องเข้ามาอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนอาศัยด้วย และความเชื่อเหล่านี้จึงอาจกลายเป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่ทำให้คนกับสัตว์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติไปด้วย
ตัวเงินตัวทองมหัศจรรย์กับถิ่นที่อยู่ในมหาวิทยาลัย จึงอาจทำให้เราตั้งคำถามต่อไปได้ว่า ปรากฏการณ์นี้ที่ต่อเนื่องมาจากการแนะนำมหาวิทยาลัย ในวันที่เด็กมัธยมฯ กำลังลังเลใจกับการยื่นคะแนนเพื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา จะสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเลือกมหาวิทยาลัยในอนาคตหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก