ถ้าคุณไปลองถามสัตว์อื่นๆที่ไม่ใช่มนุษย์ (สมมติว่าคุณถามได้แล้วกันนะ) เหล่าสรรพสัตว์ต่างๆ จะทึ่งในความสามารถของคุณจนเดินมาจับไหล่ แล้วบอกว่า “มนุษย์นี่ดีจริงๆ ที่มีเหงื่อ” ซึ่งคุณก็อาจจะมองกลับไปด้วยสายตาแปลกๆ
ถึงพวกเราจะมองเป็นเรื่องปกติและออกจะน่ารำคาญทุกครั้งเวลาที่ทำให้รักแร้เปียก แต่การเหงื่อออก (sweating) ถือเป็นของขวัญจากวิวัฒนาการ วิธีนี้ช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย (thermoregulatory) อันเป็นกลยุทธ์ที่แยบคาย และมีประสิทธิภาพสูงอย่างน่าอัศจรรย์ เนื่องจากบรรพบุรุษมนุษย์ในอดีตเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชีพจรลงเท้า จำเป็นต้องเดินทางไกลเป็นพันๆ กิโลเมตร เปลี่ยนจากการหากินในป่าเป็นพื้นที่อบอุ่นเขตร้อนและแห้งแล้ง จนส่งต่อวิวัฒนาการของต่อมเหงื่อทั่วร่างกายคุณ
ต่อมเหงื่อของคุณมี 2 ชนิด คือ Eccrine Glands พบได้ในผิวหนัง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซึ่งจะผลิตเหงื่อที่มีลักษณะใสเหมือนน้ำ ไม่มีกลิ่น ร่างกายจะขับเหงื่อชนิดนี้ออกมาเมื่อทำกิจกรรมหนักๆ หรืออยู่ในสภาวะอากาศร้อนต่อเนื่อง และอีกชนิดคือ ต่อมเหงื่อ Apocrine Glands พบตามรักแร้ แผ่นหลัง ขาหนีบ เหงื่อที่ออกมาจะมีกลิ่นหน่อยๆ เพราะมีส่วนผสมของไขมันอยู่มาก ต่อมเหงื่อทั้งสองนี้เกิดจากการผลักดันของวิวัฒนาการที่บรรพบุรุษอาศัยในพื้นที่ร้อน แล้ง และมีฝนน้อย ช่วยให้ร่างกายจัดการกับอุณหภูมิที่ร้อนจัด เหงื่อจึงช่วยระบายอากาศให้กลไกทำงานของอวัยวะไม่ล้มเหลว อย่างน้อยก็สักระยะเวลาหนึ่ง
แต่สัตว์ที่ติดสอยห้อยตามมนุษย์ในอดีตราว 20,000 ปีก่อนอย่าง ‘สุนัข’ ถึงแม้มันจะพยายามปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตมนุษย์ แต่กลับปรับตัวได้ไม่ดีนักกับสภาพแวดล้อมที่พวกเราอยู่อาศัย แม้จะติดสอยห้อยตามเราแบบไปไหนไปกัน ยิ่งในปัจจุบันสายพันธุ์ของสุนัขไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแถบที่อยู่ดั้งเดิมแล้ว พวกเราต่างเลี้ยงพวกมันให้เชื่อง (Domestication) โดยปราศจากข้อจำกัดจากสภาพล้อมในอดีต มีการนำสายพันธุ์เมืองหนาวมาอยู่เขตร้อนชื้น กลายเป็นว่า สุนัขที่เคยอาศัยในแถบขั้วโลกจึงต้องจำใจอาศัยในพื้นที่เขตร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียสแบบประเทศไทย แม้ขนของพวกมันจะถูกออกแบบมาตามธรรมชาติให้อาศัยในหิมะก็ตาม
เหตุนี้เองทำให้สุนัขเกือบทุกสายพันธุ์เสี่ยงตายจากอากาศร้อนจัดของเมืองไทยในทุกๆ ซัมเมอร์
ถ้าคุณเป็นเจ้าของสุนัข คงเคยสังเกตพวกมันลิ้นห้อยในช่วงหน้าร้อน และคงสงสัยว่า สุนัขไม่มีเหงื่อเหมือนคนบ้างหรือ?
หลายคนคงเชื่อว่าสุนัขไม่มีเหงื่อ แต่ในความเป็นจริงสุนัขนั้น ‘มีเหงื่อ’ แต่มีกลไกลการทำงานแตกต่างจากมนุษย์บางประเด็น และมีต่อมเหงื่อไม่มากพอที่จะระบายความร้อน เพราะมีเพียงบางส่วนของร่างกายสุนัขเท่านั้นที่มีต่อมเหงื่อ
เหงื่อที่หายากของสุนัข
จริงๆ สุนัขเองก็มีเหงื่อ โดยมีต่อมเหงื่อสำคัญ 2 ชนิด คือ Merocrine glands ที่คล้ายต่อมเหงื่อของมนุษย์ แต่อยู่บริเวณอุ้งเท้าเท่านั้นที่ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่คุณมักจะเห็นรอยเท้าสุนัขในบ้านค่อนข้างชัดเจน) เนื่องจากอุ้งเท้าเป็นบริเวณที่มีขนน้อยที่สุด ท่ามกลางตัวที่ปุกลุกเต็มไปด้วยขนหนาๆ
ต่อมเหงื่อชนิดที่ 2 คือ Apocrine glands ต่อมนี้แม้จะสร้างเหงื่อได้ แต่กลับไม่ได้มีเพื่อจุดประสงค์ระบายความร้อน แต่เป็นการปล่อยกลิ่นอัตลักษณ์ที่มีฟีโรโมน (pheromones) คล้ายกลิ่นกายของมนุษย์ สุนัขเองก็มีกลิ่นประจำตัว คุณก็อาจจำกลิ่นของเจ้าตัวแสบในบ้านได้ และสุนัขเองก็ใช้กลิ่นนี้ในการสื่อสารบอกตัวตนกับสุนัขตัวอื่นๆ
พอต่อมเหงื่อของสุนัขมีน้อยกว่ามนุษย์ พวกมันจึงแลบลิ้นหอบแฮกๆ เพื่อระบายความร้อน ระเหยเอาความชื้นที่อยู่ในลิ้น ทางเดินหายใจ ลึกไปถึงปอด หลอดเลือดจะขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้เลือดไหลเวียนใกล้เคียงกับผิวหนังมากที่สุด ก่อนที่เลือดจะไหลเวียนกลับไปที่หัวใจ
ขนทำให้สุนัขร้อนขึ้นอย่างไร
ขนสุนัขที่เรียกว่า coat เป็นเหมือนชุดกันหนาวที่คุณเช่าไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่กลับมาเมืองไทยก็ไปคืนเขาแล้วใส่กางเกงขาสั้นปกติเดินในบ้าน แต่สุนัขกลับไม่ได้มีทางเลือกเช่นนั้น ขนของสุนัขเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมของธรรมชาติช่วยให้มันทนต่อความหนาว (ตามสภาพถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกมัน) แต่เมื่ออยู่เมืองร้อน ขนหนาๆ จึงกลายเป็นอุปสรรคในการลดความร้อนจากร่างกาย เช่นเดียวกับเวลาที่คุณเอาน้ำร้อนๆไปแช่ในตู้เย็น น้ำก็ยังคงร้อนอยู่อีกหลายนาทีกว่าจะอุณหภูมิลดลง ถ้าสุนัขร้อนมากๆ มันจึงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งกว่าจะค่อยๆ ลดอุณหภูมิร่างกายลงได้ สุนัขสายพันธุ์ที่มีขนน้อยย่อมลดอุณหภูมิร่างกายได้ดีกว่าสุนัขขนยาว
อุปสรรคนี้เองที่ทำให้สุนัขเสี่ยง heatstroke ภาวะฉุกเฉินจากความร้อน
จะแล่บลิ้นแฮ่กๆ ก็แล้ว จะระบายเหงื่อจากอุ้งเท้าก็แล้ว แต่ความพยายามเหล่านี้กลับไม่เพียงพอที่จะลดความร้อนจากร่างกายสุนัขได้ ไม่ว่ายังไงก็ไม่เทียบเท่าการระบายเหงื่อของมนุษย์ (สำหรับคนที่ไม่ชอบเหงื่อ คุณลองจินตนาการว่า เมื่อคุณไม่มีเหงื่อจะใช้ชีวิตอย่างไรในประเทศไทยร้อนๆแบบนี้ เนี่ยแหละสิ่งที่สุนัขเผชิญ) ความร้อนที่สะสมจะทำให้อวัยวะภายในทำงานไม่สมบูรณ์ จนอาจถึงขั้นล้มเหลว
สุนัขหลายสายพันธุ์เสี่ยงต่ออากาศร้อนจัดเป็นอย่างมาก เช่น จำพวกสายพันธุ์หัวแบน (brachycephalic breeds) อย่าง ปั๊ก บ็อกเซอร์ บูลด็อก บอสตันเทอเรีย รวมไปถึงสุนัขที่อ้วนมาก เคยหัวใจวายฉับพลันมาก่อน มีขนหนาสีดำ
สัญญาณที่ช่วยให้คุณสังเกตได้เมื่อสุนัขเข้าภาวะเสี่ยง Heatstroke
- หายใจถี่เร็ว
- มีอาการขาดน้ำ น้ำลายหยด หนืด
- อุณหภูมิกายสูงมากถึง 41 องศา รู้สึกอุ่นเวลาสัมผัสตัว
- เหงือกมีสีแดงเข้ม
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- กล้ามเนื้อกระตุก หรือชัก
ถ้าสุนัขเริ่มมีพฤติกรรมผิดปกติจากอาการเหล่านี้ ก็เรียกได้ว่าบรรดาสุนัขกำลังส่งสัญญาณแสดงถึงความเสี่ยงต่อการเป็น Heatstroke ดังนั้น ควรนำสุนัขเข้าในที่ร่ม และหากอาการไม่ดีขึ้นต้องนำส่งสัตวแพทย์อย่างเร่งด่วน
แม้เราจะไม่สามารถทำให้สุนัขเหงื่ออกแบบเราได้ แต่เราช่วยรักษาอุณหภูมิคงที่ต่อสุนัขได้ เลี้ยงสุนัขในพื้นที่เหมาะสม เช่น ห้องปรับอากาศ เลี่ยงสภาวะร้อนจัด คุณอาจจะต้องศึกษาสายพันธุ์ของสุนัขก่อนเลี้ยงว่า แต่ละสายพันธุ์มีธรรมชาติแบบไหน หากเลี้ยงสุนัขจากพื้นที่หนาวเย็น ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะต้องลงทุนสูงขึ้นมากเพื่อให้พวกมันอยู่ในห้องปรับอากาศ หลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขเดินบนพื้นคอนกรีตร้อนๆ ตอนเที่ยงๆ ถึงบ่าย
รวมถึงต้องมีน้ำสะอาดที่เพียงพอเสมอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกับสุนัขในวันที่ร้อนจัด ลดกิจกรรมใช้แรงเยอะๆ ไปเล่นหนักช่วงตอนเช้าหรือเย็นๆ เมื่อแดดร่มลมตก หลายคนที่เป็นสาย Gadget อาจชอบชุดลดความร้อนแบบ cooling vest ก็ลงทุนให้สุนัขดูโฉบเฉี่ยวก็ได้หากไม่สะเทือนกระเป๋าตังค์
ทุกครั้งถ้าคุณรู้สึกร้อน สุนัขจะร้อนกว่าคุณอีก 30 เท่า ถ้าเราเอาเขามาผจญกับโลกมา 20,000 กว่าปี เราก็ต้องรับผิดชอบเพื่อนสนิทตัวนี้ให้ดีที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
The evolution of eccrine sweat glands in human and nonhuman primates
wtamu.edu