ปีนี้ใครรู้สึกว่ามันร้อนกว่าปกติบ้าง ร้อนมาก ร้อนถึงขนาดที่แม้จะผ่านช่วงร้อนที่สุดไปแล้วแต่มันก็ยังร้อนอยู่ดี เดี๋ยวนี้จะออกจากตึกทีไรต้องคิดแล้วคิดอีก ยิ่งตอนแดดเปรี้ยงๆ นะ เรียกได้ว่าเหมือนซ้อมตกนรก ต้องวางแผนดี ๆ ว่าจะเดินจากตรงไหนไปตรงไหน แล้วต้องเดินให้เร็วที่สุด จะได้อยู่กลางแดดแค่แปปเดียว เร็วจนอดคิดไม่ได้ว่าถ้ามีใครสำรวจความเร็วการเดินของปีนี้น่าจะสูงกว่าปีก่อนๆ แน่นอน
ประเด็นการเดินเร็วของคนเมืองถูกพูดถึงและศึกษาวิจัยกันมาในหลายมิติ อย่างเช่นการศึกษาเมื่อปี 1976 ที่พบความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างความเร็วการเดินกับจำนวนประชากรในเมือง นั่นหมายความว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่เดินเร็วกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองขนาดเล็ก หรือการศึกษาเมื่อปี 2007 ที่ค้นพบว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ทั่วโลกนั้น เดินเร็วขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้า แล้วทำไมคนถึงเดินเร็วล่ะ? บางคนอาจจะบอกว่าเพราะโลกมันหมุนเร็วขึ้น ชีวิตเร่งรีบขึ้น นั่นก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ปัจจัยที่เป็นรูปธรรมก็อาจจะมีผล
มีสมมติฐานที่น่าสนใจหนึ่งบอกว่า เนื่องจากในเมืองใหญ่นั้นมีสิ่งรบกวนเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือมลพิษ การเดินเร็วจึงจะช่วยให้เวลาคนในเมืองต้องรับมลภาวะเหล่านั้นน้อยลง งานวิจัยเรื่อง Environmental Factors Influencing Pedestrian Walking Speed สนับสนุนสมมติฐานนี้ เมื่อผลการสำรวจพบว่า คนมีแนวโน้มจะเดินเร็วขึ้นในย่านที่ไม่มีต้นไม้หรือมีการจราจรที่ติดขัดและเสียงดัง ซึ่งก็ฟังดูสอดคล้องกับสามัญสำนึกของเรา เพราะถ้าย่านที่เดินมันร่มรื่นและเงียบสงบเราก็อาจจะค่อยๆ เดินเพื่อดื่มด่ำกับมันสักหน่อย และพยายามรีบเดินให้พ้นย่านที่เต็มไปด้วยเสียงรบกวน
คำถามคือ แนวคิดนี้ใช้กับความร้อนด้วยได้ไหม จินตนาการว่าเราต้องเดินจากตึกหนึ่งผ่านลานโล่งๆ ที่แดดจ้าเพื่อไปยังอีกตึกหนึ่ง ถ้าใช้หลักคิดเดียวกับเรื่องมลภาวะ ชัดเจนว่าเราเดินช้าๆ แปลว่าจะต้องใช้เวลาในลานนั้นนานขึ้น โดนแดดนานขึ้น และรับความร้อนมากขึ้น การเดินให้เร็วที่สุดหรือวิ่งได้ก็วิ่งเลยจึงน่าจะเป็นคำตอบ
แต่เรื่องมันจะง่ายแค่นี้เองหรอ? คำตอบคือไม่ เพราะสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถมองความร้อนเหมือนกับมลภาวะอื่นๆ ได้นั้นเพราะร่างกายเราไม่ได้ร้อนขึ้นแค่จากปัจจัยภายนอกอย่างอากาศและแดดเท่านั้น แต่เรายังสร้างความร้อนจากภายในได้ด้วย นึกถึงเวลาวิ่งก็ได้ เวลาเราวิ่งจนเหนื่อยจะพบว่าร่างกายเราร้อนขึ้น ดังนั้นกลายเป็นว่าแม้การเดินเร็วจะทำให้เราอยู่ในแดดน้อยลง แต่การเดินที่เร็วเกินไปทำให้อัตราการเผาผลาญเราสูงขึ้นจนร้อนจากข้างใน ที่เผลอๆ จะร้อนกว่าการเดินช้าด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าเดินช้าไปก็ไม่ดี เดินเร็วไปก็ไม่ได้ ทีนี้ต้องทำยังไงดีล่ะ?
เพื่อหาคำตอบนี้เราต้องเข้าใจกระบวนการปรับอุณหภูมิของร่างกายก่อน เรามีปริมาณอยู่สามค่าที่ต้องสนใจคือ M ซึ่งคือการเผาผลาญ W คือพลังงานกล และ H คือความร้อน โดยมีความสัมพันธ์คือ H = M – W นั่นคือ พลังงานที่เผาผลาญมาได้ส่วนที่ไม่ได้ใช้ก็จะกลายเป็นความร้อน แน่นอนว่าการเดินเร็วนั้นไปเพิ่มอัตราการเผาผลาญ แต่การเดินเร็วก็คือการใช้พลังงานด้วย ดังนั้นเมื่อเดินเร็วขึ้น ทั้ง M และ W ก็จะมีค่าสูงขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่มันไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากันนี่สิ จึงทำให้พลังงานส่วนที่เกินออกมาทำให้ร่างกายเราร้อนขึ้นนั่นเอง
สูตรสำหรับประมาณค่าของ M W และ H แสดงในกราฟที่เห็นข้างล่าง โดยให้แกนนอนคือความเร็วของการเดิน จากกราฟจะเห็นว่ายิ่งความเร็วเพิ่มขึ้น ร่างการจะเผาผลาญพลังงาน (เส้นสีฟ้า) มาใช้มากขึ้น แม้พลังงานกลที่ใช้เพื่อเดิน (เส้นสีแดง) จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่พลังงานกลนั้นเพิ่มตามการเผาผลาญไม่ทัน จึงทำให้ความร้อนที่เกิดขึ้นในร่างกาย (เส้นสีม่วง) นั้นเพิ่มตามความเร็วไปด้วย
งานวิจัยเรื่อง Energy-speed relation and optimal speed during level walking เมื่อปี 1958 เสนอว่าความเร็วที่ดีที่สุดในการเดินในความร้อนนั้นต้องทำให้อัตราการเผาผลาญในร่างกายต่อความเร็วมีค่าน้อยที่สุด และจากคำนวณพบว่าความเร็วที่ว่านั่นเท่ากับ 1.21 เมตรต่อวินาที ขณะที่งานวิจัยเรื่อง Mechanical work and efficiency in level walking and running เมื่อปี 1977 เสนอว่าความเร็วที่ดีที่สุดควรจะทำให้ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของร่างกายมีค่าสูงสุดซึ่งเท่ากับ 1.40 เมตรต่อวินาทีต่างหาก แม้จะสูงกว่ากันนิดหน่อย แต่ก็ถือว่าไม่ได้ต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้จะฟังดูมีหลักมีการดี แต่จะเห็นว่าค่าที่คำนวณได้จากสองแนวคิดนี้นั้นไม่ได้ขึ้นต่อสภาพกาศแม้แต่น้อย แปลว่าสภาพอากาศจะเป็นเท่าไรก็ควรเดินด้วยความเท่ากันเลยหรอ
ในปี 2020 งานวิจัยเรื่อง The impact of pace of life on pedestrian heat stress: A computational modelling approach โดย Future Cities Laboratory Singapore พาเราไปไกลกว่านั้น ทีมวิจัยพูดถึง “ความเครียดจากความร้อน” ซึ่งหมายถึงสภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อความร้อน ที่นอกจากจะประกอบขึ้นมาจากอัตราการเผาผลาญและพลังงานกลแล้ว ยังพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างพวกการสั่นเพราะความหนาว ความร้อนจากระบบหายใจ ความชื้นในอากาศ ความเร็วลม การระเหยของเหงื่อ การแผ่รังสี รวมไปถึงระยะทางที่ต้องเดินด้วย พูดง่ายๆ ก็คือเพิ่มตัวแปรเข้าไปอีกเพียบ แล้วจึงเสนอสูตรเพื่อคำนวณหาความเร็วที่ทำให้ร่างกายเราเกิดความเครียดจากความร้อนน้อยที่สุดในสภาวะต่างๆ ที่สามารถแทนตัวแปร ณ เวลานั้นๆ ลงไปเพื่อหาออกมาเป็นความเร็วที่ดีที่สุดที่ควรเดินในสถานการณ์นั้นๆ ขึ้นมา และนี่คือผลที่ได้
ใจเย็นก่อน เห็นกราฟแล้วอย่าเพิ่งตกใจ ไม่ต้องสนใจพวกเส้นประ มองแค่เส้นทึบสีฟ้าๆ ก็พอ เมื่อแกนนอนในกราฟนี้คืออุณหภูมิ ส่วนแกนตั้งคือความเร็วที่เดิน แม้ว่าในสมการของเขาจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาคำนวณ แต่เพื่อให้อ่านผลง่ายๆ กราฟนี้เขาลองกำหนดให้ทุกค่านั้นเท่ากันหมดยกเว้นอุณหภูมิ ก็คือเดินไกลเท่ากัน อากาศแห้งเท่ากัน ไม่มีลมเหมือนกัน จะทำให้เห็นว่าอุณหภูมิแถวๆ 20 องศาคืออุณหภูมิที่จัดว่าน่าเดินที่สุด เพราะผู้คนในเมืองเหล่านั้นสามารถเดินช้าๆ ได้อย่างไม่สูญเสียพลังงานเกินจำเป็น
ขณะที่ถ้าหนาวกว่านั้น ผู้คนควรจะเดินเร็วขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญ เมื่อร้อนกว่านั้นก็เช่นกัน จะเห็นว่าเส้นกราฟในส่วนที่เกิน 20 องศานั้นค่อยๆ พุ่งขึ้น แสดงให้เห็นว่าเมื่ออากาศร้อนขึ้น เราควรจะเดินให้เร็วขึ้น แม้จะทำให้ตัวร้อนขึ้นก็ตาม แต่ไปให้ถึงไวๆ ก่อนน่าจะดีกว่า โดยงานวิจัยนี้ยังได้ข้อมูลเชิงลึกของการเดินอย่างที่ควรจะเป็นกับอีกหลาย ๆ ปัจจัย อย่างอุณหภูมิจะเป็นเท่าไร ถ้ายิ่งเดินไกลเรายิ่งควรเดินให้ช้าลง เป็นต้น
แล้วความจริงเป็นยังไง? เมื่อเอาข้อมูลความเร็วเฉลี่ยของคนใน 31 เมืองทั่วโลก เอามาเทียบกับอุณหภูมิของเมืองนั้นๆ ในปีดังกล่าวจะเห็นว่า มีความสัมพันธ์เชิงลบแบบอ่อนๆ ระหว่างความเร็วของการเดินกับอุณหภูมิ แสดงว่าคนเมืองร้อนมีแนวโน้มที่จะเดินช้ากว่าคนเมืองหนาว สิ่งนี้ขัดกับความเร็วที่เหมาะสมเชิงพลังงานที่ได้สมการแนะนำโดยสิ้นเชิง เพราะจากสมการแนะนำว่าในเมืองที่อากาศร้อนกว่า 20 องศาคนควรจะเดินให้เร็วขึ้น ไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดความเครียดจากความร้อนในการเดินมากเกินไป
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าความเร็วการเดินของคนในสักเมืองหนึ่งนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ความร้อนเท่านั้น มันยังมีปัจจัยเรื่องเสียง มลภาวะ หรือแม้แต่สิ่งที่ดูเป็นนามธรรมอย่างเรื่องความเร่งรีบของเมือง มนุษย์ไม่ได้เดินเร็วหรือช้าแค่ด้วยเรื่องความเหมาะสมทางพลังงานเท่านั้น เพื่อดูว่าคนในเมืองไหนกำลังเดินเร็วหรือช้าเกินไปเชิงพลังงานผู้วิจัยยังได้ลองเอาความเร็วของคนในแต่ละเมืองมาเทียบกับความร้อนส่วนเกินที่สร้างจากการเดินเร็วเกินไปที่คำนวณมาจากสูตรที่สร้างขึ้น
ผลคือผู้คนในเมืองส่วนใหญ่นั้นเดินเร็วเกินกว่าความเร็วที่พวกเขาควรเดินเชิงพลังงานมาก อย่างบราซิลหรือออสเตรียนั้นเดินกำลังดี โรมาเนีย บัลแกเรีย และเช็คนั้นสโลไลฟ์ไปนิดหน่อย ส่วนประเทศอื่น ๆ นั้นทะลุไปหมดเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการเดินเร็วอยู่แล้ว ซึ่งถ้าย้อนไปดูกราฟที่แล้วก็ได้ว่าอุณหภูมิของญี่ปุ่นนั้นอยู่ใกล้ 20 องศาซึ่งควรจะเดินช้ามาก ๆ แต่ความเร็วการเดินถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง
น่าเสียดายนิดหน่อยที่งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้มาทำกับเมืองในประเทศไทยด้วย จึงทำให้ไม่รู้เลยว่าเราเดินเร็วหรือช้าไปกว่าที่ควรจะเป็นมากแค่ไหน แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังพอจะเข้าใจอะไรใหม่ๆ ได้จากงานวิจัยเหล่านี้
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจัยเรื่องความเร่งรีบของเมืองจะเป็นตัวการสำคัญที่เร่งความเร็วการเดินของคน แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะคิดถึงเรื่องความร้อนด้วย เพราะสุดท้ายความเร่งรีบของชีวิตก็ทำให้เราเครียดมากพออยู่แล้ว ถ้าเลือกได้ ก็อย่าให้ต้องเครียดเพราะความร้อนเพิ่มอีกอย่างด้วยเลย
อ้างอิงจาก
World’s cities step up pace of life in fast lane
Environmental Factors Influencing Pedestrian Walking Speed
Energy-speed relation and optimal speed during level walking
Mechanical work and efficiency in level walking and running
The impact of pace of life on pedestrian heat stress: A computational modelling approach