ความท้าทายด้านวิศวกรรมที่ถูกถาโถมอย่างหนักจากภัยธรรมชาติ ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีอุดมคติด้านวิศวกรรมที่ไม่ใช่แค่เพียงสร้างให้เร็ว สร้างให้เสร็จ แต่ต้องปลอดภัยต่อชีวิตผู้คนที่อยู่รอบๆ มันด้วย
ไม่นานมานี้ทั่วโลกต้องตื่นตะลึง เมื่อเกิดหลุมยุบเสมือนบาดแผลต้องกระสุนขนาด 30 เมตรกลางถนนที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่นของ เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น หากว่าเป็นเมืองไทยใครเห็นคงส่ายหน้า เพราะคงต้องอดรนทนซ่อมไม่น้อยกว่า 1 ปีเป็นอย่างต่ำเป็นแน่แท้
แต่วิศวกรของญี่ปุ่นกลับทำเรื่องน่าตื่นตะลึงกว่า พวกเขาใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมง เพื่อปรับปรุงถนนและโครงสร้างจากเหตุภัยพิบัติ คนงานก่อสร้างทำงานแข่งกับเวลา และต้องตรวจสอบความแข็งแรงของถนน เชื่อมต่อท่อระบายน้ำ และติดตั้งเสาไฟชุดใหม่ที่ถูกธรณีสูบ พวกเขายืนยันว่า พื้นถนนโฉมใหม่ต้องแข็งแกร่งกว่าเดิม 30 เท่า โดยเสริมซีเมนต์กว่า 6,200 ลูกบาศก์เมตร
แค่ใหญ่ไม่พอ ต้องแข็งแรงด้วย
หากคุณมีโอกาสเที่ยวชมเมืองเศรษฐกิจหลายๆ แห่งของญี่ปุ่น หรือสนใจด้านวิศวกรรมเชิงโครงสร้างเสียหน่อย คุณจะพบว่าญี่ปุ่นเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง หรือหอคอยเหล็กสูงลิบยืนหยัดอยู่กลางเมือง โครงสร้างเหล่านี้เสริมด้วยเหล็กกล้า ฐานยางขนาดมหึมา และระบบไฮโดรลิครองรับแรงสั่นไหว ซึ่งล้วนทำให้ตึกอาคารของญี่ปุ่นมั่นคงและแข็งแรงที่สุดติดอันดับโลก มันสามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเหมือนการล้างหน้าแปรงฟัน
แวะไปดูบริเวณริมชายฝั่งของเมือง มันเต็มไปด้วยป้ายเตือนภัยสึนามิที่เห็นเด่นชัด กำแพงทะเล และเส้นทางหนีฉุกเฉินที่สามารถป้องกันชาวเมืองจากความรุนแรงของคลื่นได้ การซ้อมรับมือวิกฤตภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิ ไม่ใช่การซ้อมแค่เรียกเหงื่อหรือเสียงหัวเราะ (เหมือนการซ้อมหนีไฟตึกแถวสีลม) ชาวเมืองญี่ปุ่นทุกคนต้องมีส่วนร่วมและต้องเข้ารับการอบรมอย่างจริงจัง หากเกิดเหตุแผ่นดินไหว มักจะมีปรากฏการณ์สึนามิตามมาด้วยเสมอๆ การที่คนในประเทศเตรียมพร้อมและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ช่วยชีวิตพวกเขามานับครั้งไม่ถ้วนจากอดีตจวบจนปัจจุบัน
ประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง วิศวกรรมเชิงโครงสร้างของญี่ปุ่นไม่เพียงแต่จะต้องแข็งแกร่งในเชิงวัสดุศาสตร์ แต่ต้องมีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด ทุกพิมพ์เขียวจะถูกส่งให้ทางการพิจารณา สเป็คของตัวอาคารต้องถูกต้องตามที่สำแดงไว้ และละเอียดไปถึงขั้นว่าตัวอาคารจะมีองศาการโยกเอียงมากเพียงใด หากเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละระดับความรุนแรง
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ปี 1995 คร่าชีวิตลูกหลานชาวอาทิตย์อุทัยไปกว่า 6,000 รายและบาดเจ็บกว่า 26,000 รายภายในคืนเดียว มันเป็นโศกนาฏกรรมที่รุนแรงจนกลายเป็นความหวาดกลัวของสังคม “แผ่นดินไหว ไม่เคยฆ่าคน แต่โครงสร้างหนักนับพันตันต่างหากที่ฆ่าคน และมันสามารถเปลี่ยนเมืองเป็นหลุมศพขนาดมหึมา”
“แผ่นดินไหว ไม่เคยฆ่าคน แต่โครงสร้างหนักนับพันตันต่างหากที่ฆ่าคน และมันสามารถเปลี่ยนเมืองเป็นหลุมศพขนาดมหึมา”
ทางการญี่ปุ่นทุ่มงบประมาณทุนวิจัยไปยังชุดความรู้เพื่อป้องกันโครงสร้างจากแผ่นดินไหว และมานั่งทบทวนกับอาคารที่มีอยู่เดิมและสถาปัตยกรรมทางวัฒนธรรมที่มีอายุร่วม 300 ปีซึ่งกระจัดกระจายอยู่เต็มเมือง รัฐบาลญี่ปุ่นใช้เงินพันล้านเหรียญสหรัฐไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมต่อสู้กับภัยพิบัติ และออกสำรวจอาคารทุกรูปแบบที่มีอยู่ในเมือง กระบวนการนี้ใช้เวลากว่า 20 ปี แต่ก็ทำให้พวกเขาเห็นจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ
ถ้าวัดกันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวิศวกรรม ญี่ปุ่นอาจเป็นรองชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา แต่หากให้วัดเรื่องความแข็งแรงทางโครงสร้างและเทคนิคเสริมความมั่นคงตัวอาคารที่มีอยู่เดิม วิศวกรชาวญี่ปุ่นจะได้รับการกล่าวขานเป็นอันดับแรกของโลก พวกเขาอัพเกรดอาคารสมัยใหม่โดยให้ตัวอาคารแยกออกจากฐาน และติดตั้งอุปกรณ์ที่คอยดูดซับแรงจากพื้นพิภพให้ทำปฏิกิริยากับตัวอาคารให้น้อยที่สุด ซึ่งเรียกว่า Isolation เป็นฐานยางผสมเหล็กกล้า ติดตั้งในโครงสร้างชั้นล่างสุดที่สัมผัสกับพื้นดิน ระบบไฮโดรลิคจะทำการควบคุมสมดุลอาคาร ให้รับอิทธิพลของแรงแผ่นดินไหวให้น้อยที่สุด
ของแบบนี้ หากไม่เคยเจ็บกันมาก่อน คงไม่จำ
และนวัตกรรมเหล่านี้ก็ถูกออกแบบมาเพื่อลดประสบการณ์อันเจ็บปวดของผู้คน
วิศวกรโครงสร้างญี่ปุ่นต้องจับตาเหตุการณ์ภัยพิบัติทุกครั้ง ยิ่งมีอัตราเสียชีวิตมากเท่าไหร่ นั้นหมายความว่าพวกเขาจะได้ข้อมูลที่มีคุณค่าและเชิงประจักษ์ยิ่งขึ้น อย่างในช่วงปี 1980 ถึง 1990 ญี่ปุ่นสร้างกำแพงคอนกรีตขึ้นในหลายชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อสึนามิ บางที่กำแพงมีขนาดสูงถึง 40 ฟุตเพื่อเป็นปราการด่านแรกระหว่างชุมชนและท้องทะเล ในบางเมืองสำคัญมีเครือข่ายเซ็นเซอร์ที่สามารถควบคุมประตูน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
การศึกษาและเครือข่ายสำคัญ
ญี่ปุ่นวางรากฐานการศึกษาไว้ดีมาก และเป็นจุดหมายที่ดีในการศึกษาต่อด้านวิศวกรรม จากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมโครงสร้าง ในอดีตหลายๆมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องใช้ทักษะภาษาญี่ปุ่นในการศึกษาต่อ แต่ปัจจุบันหลายๆ แผนเปิดภาคภาษาอังกฤษไว้รองรับแล้วอย่าง
- วิศวกรรมโยธาและการศึกษาสาธารณูปโภค มหาวิทยาลัยโตเกียว
- วิศวกรรมโยธาและโครงสร้าง มหาวิทยาลัยคิวชู เมืองฟุกุโอะกะ
โดยเฉพาะสาขาวิศวกรรมแผ่นดินไหวที่ดีที่สุดในโลก ที่คุณสามารถหาเรียนได้ในญี่ปุ่นเท่านั้น
เครือข่ายศิษย์เก่าของแต่ละมหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น และพร้อมกลับมาช่วยเหลือเมื่อญี่ปุ่นต้องการวิศวกรฝีมือดี เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ ปี พ.ศ. 2554 เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในห้าแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโลกเท่าที่มีการบันทึกในสมัยใหม่ รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่ามูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิอาจมีมูลค่าสูงถึง 309,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้มันเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา
รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายศิษย์เก่าด้านวิศวกรรมศาสตร์ในทุกสาขาได้มากที่สุด พวกเขารวมตัวกันเพื่อศึกษาผลกระทบ ออกแบบเมืองจากกองเศษซากปรักหักพัง เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด ถ้ามันต้องทำใหม่ก็ต้องมาจากไอเดียที่ใหม่หมดเช่นกัน
ความล้มเหลวและชีวิตผู้คนที่เคยสูญเสียไป ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ชาวญี่ปุ่นใส่ใจงานด้านวิศวกรรม
เพราะพวกเขารู้ดีว่าเมื่อถึงเวลาที่มีความเป็นความตายเป็นเดิมพัน สังคมที่มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรบุคคล จะทำให้พวกเขาเยียวยาตัวเองได้เร็วกว่า และมีอนาคตที่สดใสกว่าที่เคย