คราบน้ำตา ความเจ็บแค้น ความสูญเสีย และการพลัดพราก … สิ่งที่มาพร้อมกับ ‘โศกนาฏกรรม’
ทุกปีที่เลยผ่านไป มักมีการแยกจากเสมอ ทั้งรวดเร็ว ไม่มีเวลาให้เตรียมใจ อาจต่างกันที่บางเหตุการณ์ไร้สัญญาณบ่งชี้ แต่บางเหตุการณ์กลับมีลางบอกเหตุจางๆ ฝังอยู่ในสังคมเรามานานแล้ว
ก่อนจะไปขึ้นปีใหม่ The MATTER ขอชวนผู้อ่านไปหวนย้อนดูหลากหลายโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2022 ซึ่งแม้ข่าวที่เราหยิบยกมานี้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องสลดทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดปี แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ย้ำเตือนว่า แม้ผู้คนที่เป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรมจะจากลาไปแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะไม่มีวันถูกลืม
18 มกราคม
ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด กำเนิดคลื่นสึนามิ ทำให้ตองกาเผชิญหายนะครั้งใหญ่ กาชาดสากลชี้เหตุการณ์นี้กระทบ 80,000 คน
“หายนะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” คือคำกล่าวในแถลงการณ์ของรัฐบาลตองกา เมื่อภูเขาไฟฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮาอาปาย ภูเขาไฟใต้น้ำขนาดใหญ่ปะทุ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในวันที่ 18 มกราคม
รัฐบาลแถลงการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิต 3 รายจากเหตุการณ์นี้ ขณะที่มีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบคน และความรุนแรงของภูเขาไฟนี้ทำให้บรรดาเกาะเล็กเกาะน้อยของประเทศได้รับความเสียหายรุนแรง บ้านเรือนถูกทำลายทั้งหมด
ยิ่งกว่านั้น ความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเถ้าจากภูเขาไฟที่ปกคลุมพื้นที่ แถมการสื่อสารระหว่างตองกากับโลกภายนอกได้รับผลกระทบเนื่องจากเคเบิลใต้น้ำเพียงเส้นเดียวที่เป็นสื่อถูกตัดขาดเนื่องจากการะปะทุของภูเขาไฟ ทำให้ผู้อยู่อาศัยบนเกาะตองกา 105,000 คน ขาดการติดต่อ
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ กาชาดสากลระบุว่า อาจมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้สูงถึง 80,000 คน
24 กุมภาพันธ์
รัสเซียบุกยูเครน เริ่มต้นสงคราม คาดมีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 6,700 ราย
นับตั้งแต่วันที่ วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ออกคำสั่งให้ ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ ในพื้นที่ยูเครน เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ยังคงไม่คลี่คลาย
เมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ก็เรียกระดมกำลังพลเมืองให้ร่วมกันตอบโต้รัสเซีย กลายเป็นว่าสงครามที่หลายคนเคยประเมินว่าจะจบในเร็ววัน กลับยืดเยื้อมานานเกือบครบปีแล้ว
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ยูเครนคาดการณ์ว่า มีพลเรือนยูเครนอย่างน้อย 40,000 คน เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติประมาณการณ์ว่า มีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตอย่างต่ำ 6,700 ซึ่งเป็นการประเมินขั้นต่ำเท่านั้น แต่หากนับรวมพลเรือนทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ (ซึ่งอาจเสียชีวิตในภายหลัง) ด้วยแล้ว ก็จะอยู่ที่ 17,000 คน
ขณะเดียวกัน ทางการยูเครนก็ประเมินจำนวนกำลังพลที่เสียชีวิตไปในสงครามนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า มีทหารยูเครนที่เสียชีวิตจากสงครามนี้อย่างน้อย 13,000 คน ส่วนตัวเลขทหารรัสเซียที่สูญเสียไปในสงครามนี้ ยังคงคลุมเครือระหว่าง 5,937 (ตัวเลขจากรัสเซีย) ถึง 92,000 (ตัวเลขจากยูเครน) คน
นอกจากนี้ ยังมีผู้อพยพลี้ภัยสงครามอีกจำนวนมาก โดยองค์การสหประชาชาติระบุว่า มีชาวยูเครนพลัดถิ่นมากกว่า 14 ล้านคน ไม่เพียงแค่อพยพไปต่างประเทศเท่านั้น แต่หลายคนยังอพยพพลัดถิ่นภายในประเทศยูเครนเอง เนื่องจากบ้านของพวกเขาอยู่ในเขตพื้นที่ที่ถูกโจมตีด้วย
24 พฤษภาคม
กราดยิงโรงเรียนประถมเท็กซัส เสียชีวิต 21 ราย เป็นเด็ก 19 ราย และครูอีก 2 ราย
‘กราดยิงในโรงเรียน’ เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งในสหรัฐอเมริกา และปีนี้ก็เป็นอีกครั้งที่มีเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนของสหรัฐฯ ซึ่งหากเทียบความร้ายแรงที่นับจากจำนวนผู้เสียชีวิตแล้ว เหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนประถมศึกษาร็อบบ์ ก็ถือว่ามีความร้ายแรงเป็นรองแค่การกราดยิงโรงเรียนประถมศึกษาแซนดี ฮุก ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน
ในวันที่เกิดเหตุนี้ เด็กๆ กำลังนัดกันแต่งตัวในธีมแฟนซีเพื่อต้อนรับวันเปิดเทอม แต่แล้วก็มีการแจ้งเตือนผ่านทางเฟซบุ๊กว่า มีมือปืนที่กำลังก่อเหตุกราดยิงอยู่ที่โรงเรียนประถมฯ ร็อบบ์
การกราดยิงครั้งนี้ พรากชีวิตผู้คนไป 21 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเด็กนักเรียนวัย 7-10 ปี 19 ราย และมีครูในโรงเรียนอีก 2 รายที่เสียชีวิตด้วย
ส่วนผู้ก่อเหตุนั้น เป็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมยูวัลดีวัย 18 ปี ก่อนเริ่มการกราดยิงในโรงเรียน เขายิงคุณยายวัย 66 ปีของตัวเองเสียชีวิตคาที่พัก ขณะที่ตัวเขาเองก็เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
ไม่ใช่แค่โรงเรียนเท่านั้น แต่การกราดยิงเป็นสิ่งที่พบเจอได้ตลอดในสหรัฐฯ และแทบทุกพื้นที่ของประเทศ อย่างในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สถานีรถไฟฟ้า โดยตลอดปี 2022 มีเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ อย่างต่ำ 638 ครั้ง มีคนถูกยิง 3,179 ราย เสียชีวิตอย่างน้อย 637 และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 2,500 ราย
22 มิถุนายน
แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีของอัฟกานิสถาน เสียชีวิตอย่างน้อย 1,000 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 1,500 ราย
นับเป็นภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีของอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 5.9 มีจุดศูนย์กลางอยู่ลึกจากพื้นดิน 10 กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,000 ราย และบาดเจ็บอีกมากกว่า 1,500 ราย
แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนี้ ยังแรงจนสามารถรู้สึกได้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานและอิหร่าน ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือความเสียหายในประเทศเหล่านี้ แต่ก็สะท้อนถึงความรุนแรงของภัยพิบัติครั้งนี้ ซึ่งรายงานระบุว่า แผ่นดินไหวขนาด 5.9 แมกนิจูดนั้น สามารถทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ห่างไกล และทำให้บ้านเรือนที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างนี้พังทลายลงได้เช่นกัน
ก่อนหน้านี้ เคยมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอัฟกานิสถานมาแล้ว เมื่อปี 2015 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คนทั้งในอัฟกานิสถานและตอนบนของปากีสถาน และเมื่อปี 1998 ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.1 ทำให้ผู้คนในอัฟกานิสถานเสียชีวิตไปอย่างน้อย 4,500 ราย
เหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้ เกิดขึ้นขณะที่อัฟกานิสถานกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมอันเลวร้าย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2021
4 กันยายน
เหตุแทงหมู่ในรัฐซัสแคตเชวัน แคนาดา เสียชีวิต 11 ราย
แคนาดาถือเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีเหตุสังหารหมู่ให้เราได้ยินกันเท่าไหร่นัก แต่ในปีนี้ ก็มีข่าวที่ทำให้ทั่วโลกตกตะลึง เมื่อเกิดเหตุชาย 2 ราย ไล่แทงคนในพื้นที่เมืองเรจีนา รัฐสแคตเชวัน ทางภาคกลางของประเทศ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 10 ราย (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ)
ชายสองคนนี้เป็นพี่น้องกัน ซึ่งในวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบศพหนึ่งในผู้ก่อเหตุในสนามหญ้ารกร้างใกล้กับบ้านหลังหนึ่ง กลายเป็นศพที่ 11 ของเหตุการณ์นี้ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า น้องชายหรือผู้ก่อเหตุอีกรายเป็นผู้สังหารเขา
เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องระดมกำลังตามหาคนร้ายกันยกใหญ่ ยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ทันที ทำให้ชาวเมืองหวาดระแวง โรงเรียนในจังหวัดซัสแคตเชวันและมหาวิทยาลัยซัสแคตเชวันต้องประกาศงดกิจกรรมต่างๆ
ในที่สุด อีก 4 วันต่อมา ตำรวจก็สามารถตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นน้องชายได้สำเร็จ ถึงอย่างนั้น ชาวแคนาดาก็ยังคงเศร้าโศก
จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีของแคนาดา ออกมาพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่น่าตกใจ ขณะที่เจ้าชายวิลเลียมและเคท เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ กล่าวว่า “คำอธิษฐานของเราจะสถิตกับผู้ที่เป็นเหยื่อของการกระทำที่น่าสยดสยองเหล่านี้และทุกคนที่สูญเสียคนที่รัก ข้าพเจ้ากับแคทเธอรีนขอส่งความปรารถนาดีไปยังผู้คนในแคนาดา”
1 ตุลาคม
แฟนบอลอินโดนีเซียโดนแก๊สน้ำตาและเหยียบกันตาย เสียชีวิต 174 ราย
จากการชมเกมกีฬา กลายเป็นเหตุโศกนาฏกรรม ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 174 ราย โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่การแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสรฟุตบอลอาเรมา เอฟซี (Arema FC) ซึ่งเป็นเจ้าบ้าน และสโมสรฟุตบอลเปอร์เซบายา สุราบายา (Persebaya Surabaya) ที่เป็นทีมเยือน ในสนามฟุตบอลกันจูรูฮันในเมืองมาลังจบลง
ผลการแข่งขันคือ ทีมเจ้าบ้านพ่ายแพ้ให้กับทีมเยือนไป 2-3 ทำให้แฟนบอลฝั่งเจ้าบ้านไม่พอใจและยกพวกบุกกรูลงไปในสนาม
เหตุการณ์กลายเป็นเรื่องรุนแรงขึ้นทันที เมื่อตำรวจปราบจลาจลตัดสินใจยุติเหตุการณ์นั้นด้วยการใช้ ‘แก๊สน้ำตา’ ทำให้ฝูงชนแตกตื่น วิ่งหนีไปที่ทางออก แต่ด้วยจำนวนคนที่เยอะมาก ทำให้หลายคนเหยียบและเบียดเสียดกันจนขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิต
FIFA ออกมากล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า ไม่ควรใช้อาวุธปืนหรือแก๊ส ในการควบคุมฝูงชน อีกทั้งยังได้ร้องขอรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว จากสมาคมฟุตบอล PSSI ของอินโดนีเซียด้วย ขณะที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ก็สั่งให้ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
6 ตุลาคม
กราดยิงศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู เสียชีวิต 36 ราย เป็นเด็กเล็ก 24 ราย ผู้เสียชีวิตที่อายุต่ำสุดคือ 3 ปี
แทบไม่มีใครเชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ แต่ถึงอย่างนั้น เหตุน่าสลดและสะเทือนใจนี้ก็เกิดขึ้นจริง เมื่ออดีตตำรวจนายหนึ่งใช้อาวุธปืนและมีดเข้าไปสังหารครูและเด็กเล็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู
หลังจากก่อเหตุในศูนย์เด็กเล็กเสร็จ ผู้ก่อเหตุก็ไล่ยิงและขับรถชนคนตามเส้นทาง กลับไปที่บ้านเพื่อสังหารลูกและภรรยาตัวเอง แล้วจึงยิงตัวเองเสียชีวิต
โศกนาฏกรรมนี้ มีผู้เสียชีวิต 36 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็ก 24 ราย โดยเด็กที่อายุน้อยที่สุดคือ 3 ปีเท่านั้น
ความสะเทือนขวัญนี้แพร่ไปทุกพื้นที่บนโลก ผู้นำนานาชาติต่างออกมาแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สื่อต่างประเทศก็ร่วมกันลงข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ความน่าสลดไม่ได้จบลงแค่นี้ ภายหลังเหตุสังหารหมู่ การจัดการของภาครัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง ตั้งแต่เรื่องที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องนั่งรอพิธีการ กว่าจะเข้าไปทำงานในพื้นที่ได้ การปูพรมแดงในพื้นที่เกิดเหตุ การให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตต้องยืนรอต้อนรับคนใหญ่คนโต จะรับศพผู้เสียชีวิตก็ยังต้องรอพิธีการมอบเงินจากสำนักนายกฯ
ยิ่งกว่านั้น เวลาผ่านมา 2 เดือนกว่าแล้ว แต่แนวทางการป้องกันเหตุและการสืบหาต้นตอของโศกนาฏกรรมนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน คำถามที่หลายคนสงสัยทั้งเรื่องการดูแลสภาพจิตใจข้าราชการตำรวจ การจัดการเรื่องปืน รวมไปถึงคำถามเรื่องยาเสพติดว่าสรุปแล้วเป็นปัจจัยในการก่อเหตุหรือไม่ ก็ยังค้างคาอยู่กลางอากาศ ซ้ำรอยเหตุกราดยิงโคราชที่อดีตผู้บัญชากองทัพบกเคยให้คำสัญญาว่าจะปฏิรูปกองทัพ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรคืบหน้า
จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะมองว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ช่างสะท้อนความบิดเบี้ยวของประเทศไทยได้อย่างน่าสลดเหลือเกิน
23 ตุลาคม
กองทัพเมียนมาทิ้งระเบิดกลางคอนเสิร์ตรัฐคะฉิ่น เสียชีวิตอย่างน้อย 60 ราย
นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ผู้เสียชีวิตที่จากการลุกขึ้นสู้กับรัฐเผด็จการก็มีมากขึ้นจนเกินจะนับไหว อย่างในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา เครื่องบินของกองทัพเมียนมาก็ทิ้งระเบิดใส่กลางงานคอนเสิร์ตของกองกำลังเอกราชคะฉิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 60 ราย
ต้องบอกก่อนว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตนี้ค่อนข้างไม่แน่นอน บางรายงานก็ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 70 ราย บ้างก็ว่า 80 ราย แต่ไม่ว่าจะกี่ชีวิต จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดสำหรับการโจมตีทางอากาศในครั้งเดียวของกองทัพเมียนมา
งานคอนเสิร์ตดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองครบรอบ 62 ปี การก่อตั้งองค์การเอกราชคะฉิ่น โดยในคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ทางโซเชียลมีเดีย เผยให้เห็นสภาพของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดอย่างรุนแรง เศษซากจากอาคารไม้ถูกระเบิดกระจายเต็มพื้นดิน รถจักรยานยนต์และสิ่งของต่างๆ ได้รับความเสียหาย ขณะที่วิดีโอและภาพอีกส่วนหนึ่งเผยให้เห็นศพผู้เสียชีวิตนอนเรียงรายอยู่บนพื้น
สหรัฐฯ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (EU) ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ประณามการโจมตีพลเรือนในรัฐคะฉิ่นครั้งนี้ โดยระบุว่า การโจมตีครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤตและความไร้เสถียรภาพในเมียนมาและทั้งภูมิภาค
29 ตุลาคม
โศกนาฏกรรมอิแทวอน เกาหลีใต้ ผู้คนเบียดกันจนขาดอากาศหายใจ เสียชีวิต 156 ราย
จากงานฉลองช่วงเทศกาลฮาโลวีน กลายเป็นเหตุสยองขวัญกลางกรุงโซล เมื่อมีเหตุผู้คนเบียดเสียดและเหยียบกันจนเสียชีวิต ที่ย่านอิแทวอนของประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา
มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ถึง 156 คนเป็นอย่างต่ำ ในจำนวนผู้เสียชีวิต มีคนไทยรวมอยู่ด้วย 1 ราย และยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลาย 80 กว่าราย
จากคลิปที่แชร์กันในโลกออนไลน์ เผยให้เห็นถึงภาพของฝูงชนมหาศาลที่แออัดกันอยู่ในตรอกดังกล่าว คนจำนวนมากกรีดร้องขอความช่วยเหลือ บางคนก็ปีนกำแพงเพื่อหลีกหนีความแออัด อีกทั้งยังมีคนหมดสตินอนเรียงรายอยู่ตามถนนจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่พยายามช่วยเหลือด้วยการทำ CPR อยู่โดยรอบ
เจสซี่ เจ้าของบัญชี TikTok ที่ชื่อ Jessiinkorea หญิงไทยที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เล่าว่า เธอเห็นคนล้มติดกันเป็นโดมิโน่ พร้อมกับที่เห็นผู้คนจำนวนมากพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอด รวมถึง ได้เห็นคนกระอักเลือดต่อหน้า
ความสูญเสียไม่ได้หยุดอยู่แค่วันที่เกิดเหตุ เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ก็มีผู้พบศพของวัยรุ่นที่รอดชีวิตมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในบ้านพักของเขา ซึ่งภายหลังการสอบสวนเจ้าหน้าที่ระบุว่า เขาฆ่าตัวตาย นั่นทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า สภาพจิตใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นเรื่องที่น่ากังวลและต้องเร่งเยียวยาด้วย
อย่างไรก็ดี มีการรายงานจากสื่อท้องถิ่นว่า ฮัน ดัก-ซู (Han Duck-soo) นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าอาจมีการดำเนินการมากกว่านี้ หากนักเรียนพูดถึงปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญ แล้วคำกล่าวของเขาก็ถูกวิจารณ์อย่างหนัก นักกฎหมายต่างมองว่า รัฐบาลมักจะปัดความรับผิดชอบ ขณะที่ประชาชนระบุว่า เขาควรลาออกจากตำแหน่ง เพราะความคิดเห็นดังกล่าวสร้างความเจ็บปวดให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต
30 ตุลาคม
โศกนาฏกรรมสะพานถล่มในอินเดีย เสียชีวิตอย่างน้อย 141 ราย
กลางดึกก่อนวันฮาโลวีน (30 ตุลาคม) เกิดเหตุสะพานแขวนถล่มในรัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 141 ราย โดยส่วนมากเป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ
ผู้คนจำนวนมาก มารวมตัวกันอยู่บนสะพานนี้ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลี ซึ่งคาดว่า ในช่วงเกิดเหตุมีคนอยู่บริเวณสะพานนี้ประมาณ 500 คน และเมื่อสะพานรองรับน้ำหนักของผู้คนจำนวนมากไม่ไหว สะพานก็พังลง ทำให้ผู้คนตกลงสู่แม่น้ำมักชูที่อยู่เบื้องล่าง
เจ้าหน้าที่ต้องตามหาผู้สูญหาย เก็บกู้ผู้เสียชีวิต และคอยช่วยเหลือผู้รอดชีวิตอยู่หลายชั่วโมง โดยหนึ่งในผู้ที่รอดมาจากเหตุการณ์นี้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า เขาต้องว่ายน้ำเข้าฝั่ง ขณะที่เห็นเด็กๆ ตกลงมาในแม่น้ำ แม้จะอยากช่วยดึงพวกเขาขึ้นมา แต่เด็กหลายคนก็จมน้ำ หรือไม่ก็ถูกกระแสน้ำพัดไปก่อนแล้ว
โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากสะพานคนเดินแห่งนี้กลับมาเปิดให้ใช้งานจากการซ่อมแซม ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดสะพานดังกล่าวจึงถล่มลงมาได้ ซึ่งจนถึงตอนนี้ ทางการก็ยังไม่มีคำตอบให้กับประชาชน
18 ธันวาคม
เรือหลวงสุโขทัยล่ม มีผู้เสียชีวิต 24 ราย สูญหาย 5 ราย ผู้บัญชาการทหารเรือระบุ กำลังพล 30 นายไม่มีเสื้อชูชีพ
“คนบนเรือคือผู้บริสุทธิ์ ฆาตกรตัวจริงคือคนตัดสินใจ!” เสียงตะโกนอันอัดอั้นของชายคนหนึ่งในงานศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรืองหลวงสุโขทัยล่ม
อีกหนึ่งโศกนาฏกรรมช่วงปลายปี ที่มีคำถามค้างคากันมากมาย เมื่อเรือหลวงสุโขทัยที่มีทหารเรือ 105 นาย เดินทางบนเรือด้วยภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ไปร่วมกิจกรรมครบรอบ 100 ปี การสิ้นพระชนม์ของ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่บริเวณหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ส่วนอีกภารกิจคือ ได้รับมอบหมายให้ออกลาดตระเวนช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล
แต่ด้วยสภาพอากาศในวันนั้นที่คลื่นลมรุนแรง จนเกิดเหตุน้ำเข้าเรือในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับระบบเครื่องไฟฟ้า เครื่องจักร และเครื่องจักรช่วย เรือพยายามสูบน้ำออกตามขั้นตอน แต่ไม่สามารถทำได้ทัน สุดท้ายเรือหลวงสุโขทัยจึงอับปาง และมีผู้สูญหาย 31 ราย (ในตอนแรก)
ประเด็นที่หลายคนจับตามองก็คือ ทำไมถึงมีเสื้อชูชีพไม่พอดีกับจำนวนคนบนเรือ ทั้งที่การสวมเสื้อชูชีพเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ผู้บัญชาการทหารออกมายอมรับด้วยตัวเองว่า กำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัย 30 นาย ไม่มีเสื้อชูชีพจริง ยิ่งไปกว่านั้น เรือหลวงสุโขทัยเป็นถึงเรือรบ คลื่นลมที่รุนแรงนี้ถึงขั้นเอาชนะเรือรบได้จริงเหรอ หรือเป็นปัญหาจากการซ่อมบำรุงที่ไม่สม่ำเสมอและไม่มีประสิทธิภาพกันแน่ และข้อมูลเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม (เวลา 17.00 น.) มีผู้เสียชีวิตแล้ว 24 นาย อยู่ในกระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์ 4 นาย ขณะที่ยังมีกำลังพลสูญหายที่รอคอยการค้นพบอีก 5 ราย
นอกเหนือจากเรื่องราวที่เราหยิบยกมานี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่มีความสูญเสียและถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่ควรเกิดขึ้น เรื่องราวเหล่านั้นมีอยู่มากมายทั่วทุกมุมโลก และมากเกินกว่าจะนับกันไหว ขณะเดียวกันโศกนาฏกรรมบางเรื่องที่ถูกรวบรวมมานี้ก็ยังคงไม่มี ‘ฉากจบ’ อันหมายถึง ทางแก้ไขระยะยาวที่ยับยั้งการซ้ำรอยของเหตุสลดเหล่านี้ และการไร้ฉากจบนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง ‘โศกนาฏกรรม’ เช่นกัน
อ้างอิงจาก