วันที่ 11 มีนาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ อาคารกว่า 120,000 หลังถูกทำลาย รวมถึงผู้คนกว่า 18,500 คน สูญสิ้นชีวิตไป และแม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่าเจ็ดปี แต่ญี่ปุ่นยังคงเยียวยาความเสียหายในครั้งนั้น ทั้งทางกายภาพ และทางจิตใจ
แน่นอน ความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจและความสั่นคลอนทางความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและรายงานอยู่เสมอหลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไป แต่ท่ามกลางข่าวสารต่างๆ ที่แสดงให้เราเห็นถึงความเสียหายที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องแบกรับ เรามักรับรู้ถึงความโศกเศร้าของชาวญี่ปุ่นอยู่เสมอ ทั้งจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกลออกไปแต่ก็รับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดของเพื่อนร่วมชาติ ที่ต่างก็เจ็บปวดรวดร้าว และหัวใจสลาย
Ghost of the Tsunami: Death and Life in Japan’s Disaster Zone คือหนังสือที่พาเราไปสำรวจบาดแผลที่ยังคงฝังแน่นอยู่ในตัวผู้คน และชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสึนามิในปี 2011 โดย Richard Lloyd Parry นักข่าวชาวอังกฤษและผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเขาได้ทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่นในช่วงเดียวกับที่มีคลื่นยักษ์พอดี และได้ลงพื้นที่แถบโทโฮคุด้วยตัวเองเพื่อรับรู้ถึงความบอบช้ำของผู้คนในพื้นที่ เขาใช้เวลาหลายปีในการทำความเข้าใจกับสภาพจิตใจที่แตกสลายของผู้รอดชีวิต ว่าพวกเขารับมือกับความสูญเสียคนรักอย่างไร ต้องเผชิญกับความตึงเครียดเพียงไหนเมื่อพบว่าทรัพย์สินที่มีกลับสลายหายไปจนหมด
ภายในชุมชนต่างๆ ที่ Parry พาไปสำรวจ เราได้รับรู้ถึงความดิ้นรนของชุมชนต่างๆ ในการจัดระเบียบ ซ่อมแซม และประกอบสร้างตัวตนขึ้นใหม่ภายในโลกใบเดิม ที่สำหรับพวกเขา เคยได้แตกสลายไปแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะเมื่อต้องมองย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ในวันนั้น หรือนึกถึงใบหน้าของผู้คนที่รัก อย่างตระหนักอยู่เสมอว่า ผู้คนเหล่านั้นได้จากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
ผ่านวิธีการสัมภาษณ์นี้เอง ที่ Ghost of the Tsunami ได้พาเราดำดิ่งไปในจิตใจของผู้รอดชีวิต เมื่อพวกเขาย้อนความไปถึงช่วงเวลาก่อนเกิดสึนามิ บอกเล่าถึงชีวิตอันเรียบง่ายและปกติอย่างที่ยากจะเชื่อว่าในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดไป จะเกิดคลื่นใหญ่ที่พัดพาทุกสิ่งให้อันตรธานหายในพริบตา เรื่องราวของแม่ที่ขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน หรือคุณครูผู้กำลังสอนเด็กๆ อย่างตั้งใจถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีหัวจิตหัวใจ และรับรู้ได้ถึงหัวใจที่ล่มสลายเมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับความตายที่ไม่ได้ตระเตรียมใจล่วงหน้า
Parry เผยให้เห็นถึงระดับของความเจ็บปวดที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลด้วย บ้างอาจไม่ถึงกับสูญเสียคนที่รัก แต่เป็นเพียงคนรู้จักห่างๆ ที่การจากไปของเขาเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบคนละระดับกับเหล่าผู้ที่สูญเสียคนในครอบครัวไป ซึ่งผ่านการเผชิญหน้ากับการสูญเสียเช่นนี้เอง ที่ต่างคนต่างก็มีวิธีรับมือกับความโศกเศร้าที่ไม่เหมือนกัน
ในทางหนึ่ง Ghost of the Tsunami อาจฟังดูคล้ายกับบันทึกเรื่องราวของผู้คนที่สูญเสียในสิ่งที่รัก แต่พร้อมๆ กันนั้น ที่ Parry ได้เผยให้เราเห็นถึงความเชื่ออันลึกลับและชวนพิศวงที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ในแถบโทโฮคุ อย่างเช่น เรื่องราวของผีและวิญญาณที่เริ่มปรากฏให้เห็นบ่อยขึ้น มีพระที่ถูกจ้างวานให้มาขับไล่ผีร้ายที่เข้าสิงผู้คน รวมถึงเรื่องเล่าลี้ลับต่างๆ ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่ในพื้นที่แถบนั้น
ไม่คุณว่าจะเชื่อในเรื่องผีหรือไม่ การมองเห็นวิญญาณคนตายของผู้คนในแถบโทโฮคุหลังเกิดภัยพิบัติได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนเกินกว่าจะเรียกได้ว่า เป็นการกุเรื่องโกหกขึ้นมาเฉยๆ การขับไล่ผีร้ายกลายเป็นกิจกรรมที่เพิ่มความถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าสึนามิ
แต่หากมองในมุมกลับ เรื่องราวของวิญญาณก็อาจเป็นไปได้ว่าคือผลมาจากจิตใจที่ถูกกระทบอย่างรุนแรง และไม่พร้อมรับกับความตายที่เกิดขึ้นอย่างปุบปับทันด่วน อย่างที่ผู้หญิงคนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวไว้ว่า “หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ข้างในหัวของทุกคนที่นี่ดูจะผิดปกติไปหมด”
แน่นอนครับว่า Parry ไม่ได้ชี้ชัดฟันธงว่า ถึงที่สุดแล้ว เรื่องราวของผีและวิญญาณที่คละคลุ้งในสำนึกของผู้คนแถบนี้เป็นเรื่องจริง หรือสามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ เขาไม่ได้ใช้เรื่องเหนือธรรมชาติมาพยายามยืนยันถึงผลกระทบทางใจที่คนในพื้นที่ต่างแบกรับ หากเล่ามันในฐานะของผู้สังเกตการณ์และคนนอก ที่ถ่ายทอดชุดข้อมูลที่ได้รู้อย่างตรงไปตรงมา ปล่อยให้ผู้อ่านได้ไต่ตรองเสียเอง
แต่เช่นกัน โดยผ่านเรื่องราวของสิ่งเหนือธรรมชาตินี้เอง ที่เราได้รับรู้ถึงความเข้มแข็งของความเชื่อที่ยังคงฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีของชาวญี่ปุ่น แม้ว่าภายนอกของประเทศแห่งนี้จะดูล้ำหน้าไปไกลในเชิงของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แต่ในทางความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับแล้ว ก็ยังเห็นได้ว่าความเป็นสมัยใหม่ไม่ได้กลืนกินความเชื่อเหล่านี้ให้สูญหายไป แต่กลับแอบซ่อนอย่างซับซ้อนในมิติต่างๆ ของสังคม อย่างในแถบโทโฮคุเองก็จะเห็นได้ว่า ความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับเข้มข้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในชั่วขณะที่ผู้คนในพื้นที่ต้องรับมือกับความสูญสลายทางจิตใจ ในระดับที่ว่า ต่อให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของญี่ปุ่นจะพัฒนาไปแค่ไหน ก็ไม่อาจรองรับและเยียวยาหัวใจที่แตกสลายได้ทันท่วงที
The Ghost of Tsunami คือบทบันทึกต่อเสียงร่ำร้องอันเจ็บปวดของผู้รอดชีวิต ต่อความเป็นจริงอันปวดร้าวที่ไม่มีอะไรสามารถมาทดแทน หรือปัดเป่าความสูญเสียให้หายไปได้ สึนามิในครั้งนี้นำความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมาสู่ญี่ปุ่น จะเป็นรองก็แค่การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น ซึ่ง Parry เองก็ประสบความสำเร็จอย่างที่สุดในการถ่ายทอดให้คนนอกอย่างเราได้รับรู้ถึงความตื่นตระหนกและหวาดกลัวของชาวญี่ปุ่นต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะไม่อาจเข้าใจ (แม้กระทั่งเศษเสี้ยวหนึ่งของความเจ็บปวด) ในระดับเดียวกับเหล่าผู้ที่ได้รับผลกระทบเลยก็ตาม