พวกเราอยู่ในยุคที่วิทยาศาสตร์งอกเงยอย่างขีดสุด อะไรที่เคยเป็นเพียงนิยายกลับกลายเป็นความจริงในปัจจุบัน คุณเห็นโลกใบกลมๆ นี้จนชินอยู่ทุกวี่วัน ก็แน่ล่ะ มันต้องกลมสิ แต่ทำไมยังมีคน (จำนวนมากเสียด้วย) เชื่อว่าโลกแบนอยู่ แม้เราจะพิสูจน์จนหมดข้อสงสัยได้เป็นเวลากว่าร้อยๆ ปี หรือในหลายๆ อารยธรรมเขาก็เก็ตไอเดียนี้มามากกว่าพันปีด้วยซ้ำ
จำเป็นหรือไม่ ที่พวกเราจะรังเกียจคนที่มีแนวคิดต่างเช่นนี้ พวกเขาเบาปัญญาหรือมีจุดยืนที่มั่นคง? การทำความข้าใจจุดยืนของชาวโลกแบน Flat Earther อาจเป็นกุญแจหนึ่งที่ทำให้เรายอมรับคนเห็นต่างโดยไม่บีบคอกันตายเสียก่อน ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะกลมหรือแบน ก็ไม่มีสาระสำคัญเท่า กระบวนความเชื่อของมนุษย์ในการรับข้อมูลใหม่ๆ อันย้อนแย้ง ไม่ได้ยอมรับข้อเท็จจริงง่ายๆ
จากคำบอกกล่าวของสมาชิก Flat Earther ในระดับเหนียวแน่นที่มีชื่อว่า Gary Heather ชาวอเมริกัน เขาเคยเป็นคนที่เชื่อว่าโลกกลมมานานกว่า 50 ปี แต่อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้บังเอิญไปดูคลิปยูทูปชื่อ ‘Flat Earth Clues’ เป็นสารคดีที่มีความยาว 2 ชั่วโมง 5 นาที แรกๆ เขาก็คิดว่าคลิปตลกพิลึกดี แต่ดูไปเรื่อยๆ กลับพบว่าเนื้อหามันดึงดูดและน่าสนใจมากๆ จนอยากให้วิดีโอยาวกว่านี้อีกสักหน่อย ระหว่างที่เขาชมนั้นเกิดภาวะ ‘ตื่นรู้’ จากความเชื่อใหม่ๆ ที่จับแพะชนแกะอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน Gary Heather บรรยายอย่างน่าสนใจว่า ความรู้สึกนั้นเหมือนกับการกินกาแฟรสชาติเดิมทุกๆ เช้า คุณรู้ว่าโลกใบนี้มีรูปทรงแบบไหน คล้ายกับกาแฟยี่ห้อที่ดื่มมีรสชาติแบบไหน ต่อมาจู่ๆ รสชาติของกาแฟกลับเปลี่ยนไป มันดันมีกาแฟยี่ห้ออื่นๆ แฝงเข้ามาปั่นป่วนความเคยชิน ท่ามกลางกาแฟรสชินปาก จึงยังมีอะไรพิสดารซ่อนอยู่อีก
ไปๆ มาๆ Gary Heather กลายเป็นหัวหอกของกลุ่ม Flat Earth ที่คอยหาข้อมูลใหม่ๆ มาอัพเดทกับสมาชิกในกลุ่ม เคยไปพูดที่ Hyde Park ในกรุงลอนดอน อันเป็นพื้นที่ที่คุณสามารถไปพูดอะไรก็ได้ ตอนแรกเขาก็คิดว่า คงไม่มีคนอังกฤษที่ไหนหรอกที่เชื่อว่าโลกแบน แต่ไปๆ มาๆ มีคนในลอนดอนกว่า 260 คน ทยอยมาฟังเขาเรื่อยๆ หลายคนรู้สึกสบายใจที่มีคนร่วมอุดมการณ์เฉกเช่นเดียวกับเขา
ทฤษฏีสมคบคิด (conspiracy theories) จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเด็นไม่ได้สร้างผลเชิงลบต่อสังคม เช่นเดียวกับกลุ่ม Flat Earth ที่ไม่ค่อยถูกโจมตีจากประชาสังคมมากนัก หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นความจริงทางเลือก (alternative fact) เสียมากกว่า
แต่ก็มีทฤษฎีสมคบคิดบางประเด็นที่มีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างกลุ่ม Anti Vaxxer ที่มีอคติต่อการใช้วัคซีนรักษาโรค ไม่ยินยอมให้ลูกหลานรับวัคซีน ที่อาจทำให้โรคที่สามารถรักษาได้กลับมาแพร่ระบาดในหมู่เด็ก เนื่องจากมีเด็กที่เป็นพาหะในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่ม Anti Vaxxer เชื่อว่า วัคซีนทำให้เกิดภาวะออทิสซึมในเด็ก เป็นแผนของบริษัทยาที่ร่วมมือกับรัฐเพื่อเบี่ยงเบนข้อมูล แต่อย่างไรก็ตามทั้งกลุ่ม Anti Vaxxer และ Flat Earther มีจุดร่วมกันที่คล้ายกันคือ ชุดความคิดที่ต่อต้านภาครัฐ มองว่าสิ่งที่รัฐสร้างนั้นเป็นแผนสกปรกที่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์พวกพ้อง การแบ่งเค้กของเหล่านักการเมือง ไม่เชื่อข้อมูลที่มาจากส่วนกลาง ความไม่เชื่อใจนี้เอง ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำจนเป็น alternative facts
ความไม่เชื่อใจในรัฐนี้สอดคล้องกับการสำรวจของนักจิตวิทยาและนักประวัติศาสตร์ Michael Wood จากมหาวิทยาลัย University of Winchester ทีมวิจัยสำรวจจดหมายที่ผู้อ่านทางบ้านเขียนถึงหนังสือพิมพ์ The New York Time และ Chicago Tribune โดยผู้อ่านเขียนร้องเรียนหรือแนะนำประเด็นข่าวต่างๆ ให้กับกองบรรณาธิการตั้งแต่ปีค.ศ. 1890 ถึงค.ศ. 2010 ทีมวิจัยพบว่า เนื้อหาใจความจดหมายที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสมคบคิดจะพีคมากๆ ช่วงปีค.ศ. 1950 หรือช่วงเวลาเดียวกันกับสถานการณ์สหรัฐอเมริกาและรัสเซียพยายามแย่งชิงการเป็นผู้นำโลก และมีการปลูกฝังอัตลักษณ์ความกลัวคอมมิวนิสต์ในใจประชาชนที่เรียกว่ากลยุทธ์ ‘Red Scare’ โหมกระพือภัยของคอมนิวนิสต์ที่ลุกคืบมาเข้ามาสั่นคลอนความมั่นคง ที่กระตุ้นให้คน “สงสัยไว้ก่อน” อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ แม้แต่เพื่อนบ้านใกล้ชิด ดังนั้นเทรนด์การเชื่อทฤษฎีสมคบคิดจึงเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยามาพร้อมกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่ดำเนินไปอย่างคู่ขนาน จะตัดปัจจัยใดออกไม่ได้
อาจกล่าวได้ว่า เราทุกคนล้วนมีทฤษฎีสมคบคิดอยู่ในใจอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่ควรให้มองเป็นเฉด มี spectrums ที่ความเข้มและหนาบางหลายระดับ บางความเชื่อสุดโต่งไปอาจอยู่ไม่ได้นานในสังคม แต่บางความเชื่อที่เชื่อมโยงได้บ้างจะอยู่นาน และหากมีองค์ประกอบที่ (ดูเหมือนข้อเท็จจริง) ความเชื่อนั้นก็อาจฝังรากลึกจนยากจะถอนออก
ทำไมคุณไม่มีทางเถียงชนะกับคนที่เชื่อทฤษฏีสมคบคิด
ไม่ว่าพ่อแม่หรือเพื่อนๆ จะเชื่อทฤษฏีสมคบคิดที่เพี้ยนสุดๆ จนแทบไม่มีเค้าความจริงเลยก็ตาม แล้วคุณรู้สึกรำคาญกับพวกเขาเต็มที่ แต่การเอาข้อเท็จจริงไปปะทะซึ่งๆ หน้าก็จะไม่มีวันชนะ หรือทำให้พวกเขายอมรับเห็นด้วยกับคุณ การพยายามตีโต้ด้วยข้อมูลตรงๆ ส่วนใหญ่มักล้มเหลว เพราะการพยายามทำลายความเชื่อของคนอื่นนั้น มักทำให้เขาพวกรู้สึกผิด ไม่ได้เป็นการให้ความรู้ เมื่อพวกเขารู้สึกผิดต่อตนเองจะมีแนวโน้มเบี่ยงเบนไปสู่สิ่งอื่น
ยิ่งเมื่อความเป็นสถาบันหรือองค์กรพยายามไปพิสูจน์ว่าสิ่งที่เชื่อนั้นมันผิด เช่น ในกรณีชาวบ้านศรัทธากับน้ำผุดศักด์สิทธิ (ที่เห็นแน่ๆ ว่าเป็นน้ำส้วม) โดยภาคส่วนกลางมีท่าทีมองชาวบ้านว่า ไร้การศึกษา งมงาย โง่ โดยไม่ดูบริบทที่ผลักดันให้พวกเขาเชื่อ ชาวบ้านก็มีแนวโน้มจะไปนับถือสิ่งอื่นๆ แทน แต่ก็จะมีความเชื่อใหม่ๆ จากคนที่อยากหาประโยชน์ผุดขึ้นมาอีก เช่น บัตรพลังรักษาโรคที่คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อคำหลอกลวง
โดยนัยหนึ่งในทางจิตวิทยา คนที่มีแนวโน้มยอมรับทฤษฎีสมคบคิดนั้นมีความรู้สึกวิตกจริต (paranoid) ลึกๆ ต่อการใช้ชีวิตในสังคมเป็นทุนเดิม แม้ความวิตกจริตนี้จะไม่จัดเป็นโรคหรือต้องได้รับการบำบัดทางการแพทย์ ไม่จัดอยู่ใน clinical level ที่ต้องได้รับการรักษา แต่ภาวะวิตกจริตนี้แฝงฝังอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ถูกบังคับให้ใช้ชีวิตอย่างจำเจจนกลายเป็นความชินชา เมื่อเราวิตกต่อทรัพย์สิน คุณภาพชีวิต ที่ไม่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อปัจจัยเหล่านี้พร้อม เราก็สามารถจะยอมรับชุดความเชื่อใดๆ โดยไม่ต้องตรวจสอบ
ภายใต้สังคมที่มีรากฐานของความความวิตกกังวล มักมีความเชื่อที่บิดเบือนผิดรูปเสมอ