อินเทอร์เน็ต (นาม) – ระบบการเชื่อมต่อขนาดใหญ่ระหว่างคอมพิวเตอร์รอบโลก ที่ทำให้ผู้คนสามารถแบ่งปันข้อมูลและสื่อสารต่อกันและกัน พจนานุกรมแคมบริดจ์ว่าไว้อย่างนั้น
ในโลกปัจจุบันของเรา คงไม่ใช่การพูดเกินจริงไปนักว่าอินเทอร์เน็ตคือสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต การติดต่อสื่อสาร ความบันเทิง แผนที่ การหาความรู้ การติดตามข่าวสาร การแสดงออกตัวตน ฯลฯ และอีกมากมาย ผ่านมุมมองนี้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมืออำนายความสะดวกในแง่มุมต่างๆ ที่รับใช้เรา เช่นเดียวกันกับที่ในพจนานุกรมว่า ‘ผู้คน’ คือผู้ใช้และผู้ที่อยู่ใจกลางการมีอยู่ของอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม มองไปยังพื้นที่ต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต เราอาจเริ่มตั้งคำถามกับความเชื่อนั้นๆ อยู่ดีๆ โพสต์จากเพจที่เราไม่เคยไลก์ก็ถูกแนะนำมาให้เราโดยอัลกอริทึม ใต้โพสต์มีระบบคอมเมนต์หรือเมนชั่น ระบบที่เราเข้าใจว่าสร้างเอาไว้เพื่อการพูดคุยตอบโต้ระหว่างผู้คนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่แห่งการแลกเปลี่ยนเพื่อการสื่อสารระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ แต่สังเกตหรือเปล่า ว่าเราเริ่มเห็นปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ได้มาจากมนุษย์บ่อยขึ้นเรื่อยๆ?
เซ็ตคำพูดไม่กี่คำถูกพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า “ว้าว” “เป็นเรื่องน่าสนใจ ขอบคุณมากสำหรับการแบ่งปัน” “เยี่ยม!” อาจมาพร้อมกับการรีไรต์เปลี่ยนคำเล็กน้อย กับรูปโปรไฟล์ที่หากมองไกลๆ เหมือนมนุษย์ แต่เมื่อกดเข้าไปดูก็บอกได้ทันทีว่าเป็นเหล่ามนุษย์ที่ไม่มีอยู่จริงจากภาพที่เจนเนอร์เรตขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์ ภายในโปรไฟล์ไม่มีอะไรเลยนอกจากการแบ่งปันเนื้อหา ประเภทวิดีโอตลกๆ หรือย่อหน้าถ้อยคำที่เหมือนการหยิบยกส่วนหนึ่งของบทความสักอย่างมาโพสต์ ในคอมเมนต์ของแต่ละโพสต์ก็เต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์กับบัญชีแบบเดียวกัน การสำรวจโดยคร่าวครั้งนี้เหมือนการติดอยู่ในลูปของ Uncanny Valley ที่ไม่รู้จบ ในทางเทคนิค มีทุกอย่างที่เราจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ได้ แต่ไม่ใช่
การค้นพบพื้นที่รูปแบบดังกล่าวบ่อยขึ้นและง่ายดายขึ้น ก็ทำให้เริ่มเกิดคำถามขึ้น ในโลกอินเทอร์เน็ตอันกว้างไกลนี้ เหลือมนุษย์จริงๆ อยู่เท่าไรกัน? คำถามดังกล่าวนำมาซึ่งทฤษฎีทฤษฎีหนึ่ง นั่นคือ Dead Internet Theory
เมื่อมนุษย์ไม่ใช่ผู้ชี้ทางเดินของอินเทอร์เน็ต
เช่นเดียวกับทฤษฎีสมคบคิดส่วนมากที่ถือกำเนิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต ต้นทางและจุดเริ่มต้นของทฤษฎี Dead Internet Theory นั้นไม่แน่ชัดนัก รู้เพียงแค่ว่ามันคือทฤษฎีที่โผล่ขึ้นมาในเว็บบอร์ดหรืออิมเมจบอร์ดหลากหลายแห่งเมื่อราวๆ ปี 2021 และด้วยธรรมชาติของมัน ทฤษฎีรูปแบบนี้ไม่ได้ขึ้นตรงกับหลักวิชาการอะไร แต่เป็นมุมมองการจับแพทเทิร์นที่สังเกตเห็นได้จากการใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป
หนึ่งในแหล่งแรกๆ ที่พูดถึงทฤษฎีดังกล่าวคือโพสต์ในฟอรัม Agora Road’s Macintosh Café ชื่อว่า Dead Internet Theory: Most of the Internet is Fake โดยผู้ใช้ชื่อว่า IlluminatiPirate ที่ผู้เขียนแจงปูมหลังตัวเองว่าเป็นอดีตผู้ใช้ 4chan ผู้เป็น “ขวาจัดก่อนที่มันจะเท่” ก็อาจมีการใช้ภาษาและมุมมองที่… “มีสีสัน” และ “เฉพาะกลุ่ม” ไปบ้าง ยกตัวอย่างเป็นประโยคที่ธรรมดาสุดๆ เช่น “โลกจริงกำลังใช้เว็บบอร์ดเป็นตัวอย่างว่าต้องทำอะไรบ้าง” หรือ “รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังใช้เอไอในการ gaslight ประชากรโลก” กำแพงข้อความนนี้มีมุมมองที่น่าสนใจอยู่หากเราอ่านฝ่ามันไปได้
ใจกลางของทฤษฎีสมคบคิดนี้คือ ความเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันอยู่นั้นขับเคลื่อนด้วยเอไอมาตั้งแต่ราวๆ ปี 2016-2017 ไม่ว่าจะในรูปของอัลกอริทึมหรือบอต (Bot) และแม้แต่ในมนุษย์จริงๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ต ก็มีสัดส่วนหนึ่งที่ไม่ต่างจากบอตตรงที่พวกเขาเป็นคนที่ถูกจ้างให้โพสต์อะไรก็ตามตามที่บริษัทสักบริษัทหนึ่งบอก
แน่นอน หลายอย่างก็ไม่อาจตัดสินเรื่องนี้ได้เท่าที่ควร เช่น การที่เขาเริ่มสังเกตและทึกทักทุกอย่างที่กล่าวมาเริ่มขึ้นจากการคุยกับคนที่พิมพ์ภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่ประหลาดนิดหน่อย การที่เขาเคลมนักการเมืองและอินฟลูเอนเซอร์บางคนไม่มีตัวตนจริง แต่คือการใช้หน้าและเสียง Deep Fake ล้วนๆ นั้นเหนือจริงมากๆ ไปจนการที่เขายกตัวอย่างว่าทุกสิ่งที่เขาไม่เห็นชอบด้วยนั้นเป็นผลมาจากบอตหรือคนที่ถูกจ้างมาพูด ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จริงใจ บางสิ่งที่เขาพูดนั้นกลับสื่อสารกับโลกจริงของเราที่เราใช้อย่างพูดไม่ถูก ไม่ว่าเราจะยืนอยู่ตรงไหนในเข็มทิศการเมือง
ความจืดชืดของคอนเทนต์อินเทอร์เน็ต สายธารคอนเทนต์ที่ขาดความโดดเด่นเฉพาะตัว ความเก้ๆ กังๆ ในการออกความคิดเห็น ความพวกมากลากไปของอินเทอร์เน็ต ความสุดโต่ง บอตอยู่ทุกที่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราบางคนรู้สึกอยู่ลึกๆ ความรู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตเคยเป็นที่ที่เราสามารถมีส่วนร่วมได้ ที่ที่จะทำให้การเข้าถึงสื่อเป็นประชาธิปไตย และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเราและมนุษย์คนอื่น แต่อยู่มาวันหนึ่ง ด้วยเหตุผลบางประการที่อาจไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และในบริบทของทุกวันนี้ ทฤษฎีดังกล่าว ดูจะเป็นทฤษฎีน้อยลง
โลกจริงยิ่งกว่าทฤษฎี
ถ้าเราเอาตัวเองไปสวมหมวกของ IlluminatiPirate แล้วมองมายังปี 2024 นี้ สิ่งที่เราคงพูดคือ “บอกแล้วไม่ฟัง”
เมนชั่นฝากร้านในทุกโพสต์ของ X ที่มียอดรีโพสต์สูง ปฏิบัติการไอโอ บัญชีบอตที่ฟาร์มเอนเกจเมนต์ผ่านวิดีโอที่ดูดมาจากไหนก็ไม่รู้ คอมเมนต์โปรโมต OnlyFans ในโพสต์ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือเมนชั่นที่ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการเรียงคำง่ายๆ ที่เข้ากันได้กับทุกโพสต์ที่บอตจะตอบ เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ทฤษฎีความตายของอินเทอร์เน็ตนั้นเดินก้าวข้ามเส้นของความเป็นทฤษฎีไปแล้ว
หากจะยกตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ คือการเข้าไปในบัญชี X ชื่อว่า Historic Vids (@historyinmemes) ซึ่งฟังจากชื่อก็น่าจะรู้ว่ามันควรจะเป็นที่ที่โพสต์วิดีโอประวัติศาสตร์ด้วยแคปชั่นขำขัน อย่างไรก็ตาม บัญชีดังกล่าวเปลี่ยนร่างกลายเป็นที่ที่บอตโพสต์วิดีโออะไรก็ตามตั้งแต่มีมทั่วไปจนซีนจากหนังสักเรื่อง ที่เมื่อกดเข้าไปดูเมนชั่นแล้วก็พบแต่บอตที่ตอบโต้ด้วยคำตอบรับเดิมๆ และมีมที่ไม่เกี่ยวข้องกันกับวิดีโอข้างบนเลยด้วยซ้ำ แทบจะเรียกได้ว่า เกือบทั้งหมดของเพจดังกล่าวคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างบอตสู่บอตนั่นเอง มากไปกว่านั้น การพัฒนาเอไออย่างก้าวกระโดดที่นำพวกมันเข้ามาอยู่ในมือของผู้บริโภคทั่วไปได้ เช่น ChatGPT, Gemini หรือเอไอเจนภาพมากมายในตอนนี้ ก็เป็นหนึ่งในตัวการทำให้คอนเทนต์จำนวนมากออกจากมือของมนุษย์ไปด้วย
เราคือใครในโลกที่บอตหนึ่งตัวโพสต์ภาพเอไอลงในเพจเฟซบุ๊ก
เพื่อให้บอตอีกตัวเข้าไปคอมเมนต์โพสต์นั้นๆ
ก่อนที่อัลกอริทึมที่เราไม่อาจเข้าใจได้ผลักมันมาให้กับเรา?
ใครคือผู้ตายใน Dead Internet Theory?
ในฐานะการทำงานสื่อสารมวลชน สิ่งที่เราต้องรับใช้มากที่สุดเสมอมาคือใคร? การรายงานข่าวต้องทำข่าวที่ผู้คนสนใจหรือควรจะสนใจ การเขียนบทความต้องเขียนในสิ่งที่คนต้องรู้ เรื่องที่พูดคุยเกี่ยวกับตัวตนมนุษย์ เรื่องที่ตอบโจทย์ความรู้สึก งานสื่อสารมวลชนควรเป็นงานที่รับใช้ผู้คน
เกี่ยวกับเรื่องที่เราพูดอย่างไร? เกี่ยวเพราะว่าในปัจจุบัน ย่อหน้าข้างต้นมาพร้อมกับหมายเหตุใหญ่ๆ ว่าอีกหนึ่งสิ่งที่เราต้องในความสนใจมากๆ คืออัลกอริทึมที่เราไม่อาจเข้าใจได้ ไม่เช่นนั้นเนื้อหาของเราจะไม่มีโอกาสที่จะไปถึงใครเลย หล่นหายท่ามกลางมหาสมุทรแห่งข้อมูลไม่รู้จบ และนั่นคือส่วนหนึ่งของความกลัวของทฤษฎี Dead Internet Theory ความกลัวที่ว่าพลังบางอย่างที่มาจากเทคโนโลยีนี้เริ่มครอบงำและบิดเบือนพฤติกรรมมนุษย์
ทำไมเราหลายๆ คนต้องสร้างคอนเทนต์ที่ถูกเรียกว่า “คอนเทนต์ขยะ”? ทำไมต้องมีวิดีโอแนวตั้ง? ทำไมต้องคุมโทน? ทำไมต้องเลี่ยงคำบางคำ? ฯลฯ ช่องทางการสื่อสารที่เคยทำหน้าที่สายใยเชื่อมโยงมนุษย์สู่มนุษย์ กลับถูกเปลี่ยนแปลงเป็นกำแพงที่เราไม่อาจเข้าใจได้ ในระดับหนึ่งเอไอและธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนพฤติกรรมเราให้เราสื่อสารในแบบที่มันชอบไปแล้ว และในโลกที่เราทุกคนสื่อสารกันผ่านช่องทางนี้ และเราทุกคนต่างมี ‘คอนเทนต์’ ของตัวเองที่ต้องสื่อสาร มีสิ่งที่เราสงสัย มีเรื่องที่เราอยากเรียนรู้ ใครบ้างที่จะพูดได้เต็มปากว่าเราไม่ถูกครอบงำโดยมัน?
ดูเหมือนว่าสิ่งที่เสี่ยงตายในบริบทนี้จะไม่ใช่อินเทอร์เน็ต แต่คือตัวตนของเราเสียมากกว่า
อ้างอิงจาก