“รู้รึเปล่าว่าไม่มีใครเคยเหยียบดวงจันทร์ ทั้งหมดถูกถ่ายทำขึ้นทั้งหมด”
“พวกเขาหลอกเรามาแต่เด็กว่าโลกเป็นทรงกลม”
“เหตุการณ์ 9/11 ไม่ใช่การก่อการร้าย ไม่มีเครื่องบินบินชนเพนตากอนด้วยซ้ำ”
บางครั้งการรับฟังกลุ่มคนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด เราก็อดไม่ได้ที่จะถามกับตัวเองว่า “นี่เราอยู่โลกใบเดียวกันจริงหรือเปล่า?” ในขณะที่เราอยู่ในโลกของเราผ่านสามัญสำนึกที่ได้เรียนรู้และปลูกฝังมา แต่ผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดนั้นกลับมองโลกต่างกับเราโดยสิ้นเชิง ทั้งตรรกะที่แตกต่าง ชุดข้อมูลที่แตกต่าง ตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดคือในงาน Super Bowl ครั้งที่ 58 ในขณะที่เรามองว่ามันคือคืนแห่งการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล และงานการฉายโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดหนึ่งงานในโลก แต่เสียงบางเสียงมองมันอย่าง ‘มีสีสัน’ กว่านั้น
“เธอส่งสัญญาณมือรูปปีศาจบนจอใหญ่ ใส่ไม้กางเขนกลับหัว เสื้อบาเลนเซียกา เดี๋ยวนี้เขาไม่แอบซ่อนกันแล้ว” บัญชีเอ็กซ์ฝั่งอนุรักษนิยมหนึ่งเขียนไว้พร้อมแนบรูปศิลปินสาวไอซ์สไปซ์ (Ice Spice) อยู่บนอัฒจันทร์ หรือกระทั่งการมองไปยังเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) เองก็ตกเป็นเหยื่อของทฤษฎีสมคบคิดอันหลากหลาย ตั้งแต่บอกว่าเทย์เลอร์เป็นแม่มด ไปจนความเชื่อว่าทีม Kansas City Chiefs ที่ชนะการแข่งขัน เป็นเพราะการล็อกผลจาก NFL ซึ่งแลกมากับการที่เทย์เลอร์โปรโมตให้บริษัทยาไฟเซอร์
เมื่อพูดถึงเทย์เลอร์ สวิฟต์ ไม่นานมานี้ก็มีทฤษฎีสมคบคิดที่ผุดขึ้นมาจากผู้ประกาศข่าว Fox News ว่าเธอไม่ได้เป็นเพียงศิลปินป๊อปเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือสงครามทางจิตวิทยาของเพนตากอน ผู้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างผู้ติดตามฝ่ายซ้าย เพื่อเป็นเครื่องมือต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ไม่ให้ได้ที่นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย และข่าวดังกล่าวก็ไปไกลขนาดที่ว่าโฆษกของเพนตากอนจำเป็นจะต้องปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น
ฟังดูเหลือเชื่อว่าจะมีใครหลงเชื่อความคิดที่เหนือจริงขนาดนั้น แต่จากโพลโดย Monmouth University ที่เผยแพร่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 พบว่าราวๆ 1 ใน 5 ของคนอเมริกันเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดข้างต้น โดย 71% ของคนที่เชื่อเป็นโหวตเตอร์พรรครีพับลิกัน ซึ่งมองเช่นนี้แล้วอาจทำให้มุมมองของเราต่อเรื่องดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปนิดหน่อย เพราะนี่ไม่ใช่เพียงคนไม่กี่คนที่มีความเชื่อแปลกๆ และการที่มีคนเชื่อเยอะเท่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะอะไรกัน?
ทฤษฎีสมคบคิดตามความหมายในพจนานุกรมเคมบริดจ์ คือ “ความเชื่อว่าเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ใดๆ เป็นผลมาจากแผนการลับโดยกลุ่มผู้คนที่ทรงอำนาจ” นั่นเป็นความหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในการใช้งานจริงๆ ก็อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป เช่น บางครั้งมันอาจเป็นความเชื่อแบบฟังหูไว้หูก็ได้ เช่นหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดของไทยที่โด่งดังที่สุดคือ แน็ป—ชนัทธา สายศิลา อดีตนักร้องนำวง Retrospect เป็นผู้หญิง ที่ผ่าตัดนำกล่องเสียงของพี่ชายที่เสียชีวิตแล้วมาใส่เป็นของตัวเอง
ตัวอย่างดังกล่าวออกมาเป็นเรื่องซุบซิบ หรือข่าวดาราขำขันมากกว่า แต่หากมองไปยังแนวคิดความเชื่อของเหล่าคนที่เชื่อในทฤษฎีเหล่านี้จริงๆ จังๆ เราอาจจะได้เห็นวิธีการคิดที่ลึกลงไปของพวกเขา ซึ่งในกรณีที่คล้ายๆ กันกับ “พี่แน็ปเป็น Trans Men” ก็คือกลุ่มคนที่เราเรียกว่า Transvestigator กลุ่มคนที่เชื่ออย่างจริงจังว่า คนทุกคนในวงการบันเทิงเป็นคนข้ามเพศ
เราพบเห็นพวกเขาได้ในทั้งกลุ่มก้อนของตัวเอง เช่น กลุ่มในเฟซบุ๊กภายใต้คอมเมนต์รูปดารา หรือล่องลอยอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกออนไลน์ จากการโพสต์รูปดาราสักคนแล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์แจกแจงรูปร่างของพวกเขา เช่น ตาของคนคนนี้เป็นตาผู้หญิง ไหล่กว้างแบบนี้ต้องเป็นผู้ชายแน่ๆ ฯลฯ ซึ่งไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้กันว่า การมองมนุษย์เช่นนั้นลดทอนคุณค่าของการเป็นคน เพราะไม่ว่าเพศใดก็สามารถหน้าตาแบบใดก็ได้ และนั่นจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า ทำไมจึงมีคนเชื่อในความเชื่อเหนือจริงเช่นนี้?
ทฤษฎีสมคบคิดนั้นสามารถถูกปฏิเสธ และพิสูจน์ว่าไม่เป็นจริงได้อยู่เสมอ ในปัจจุบันยังมีคนเชื่อว่าโลกแบนอยู่นับไม่ถ้วน ทั้งๆ ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และการถ่ายภาพจากดาวเทียมที่สามารถพิสูจน์ได้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เป็นผล ทำไมกัน? นั่นเพราะว่าบางทีความถูกต้องอาจไม่ใช่ประเด็นหลักของทฤษฎีสมคบคิด
“ความเชื่อว่าเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ใดๆ เป็นผลมาจากแผนการลับโดยกลุ่มผู้คนที่ทรงอำนาจ”
การมองดูความหมายของทฤษฎีสมคบคิดอย่างละเอียด ส่วนสำคัญที่เรามักมองข้ามคือ “โดยกลุ่มผู้คนที่ทรงอำนาจ” นี่ไม่ใช่เพียงกลุ่มความเชื่อแปลกๆ ที่เต็มไปด้วยคนแปลกๆ แต่คือความเชื่อว่ามีสังคมลับๆ บางอย่างกำลังควบคุมสิ่งที่เราทุกคนรับรู้ได้อยู่ กลุ่มคนสักกลุ่มที่มีอำนาจพอจะล็อกผลการเลือกตั้ง กลุ่มคนบางกลุ่มที่มีอำนาจพอจะสะกดจิตให้ใครสักคนเปลี่ยนเพศได้ หรือกระทั่งกลุ่มคนบางกลุ่มที่บังตาของเราไว้ไม่ให้เราเห็นรูปทรงที่แท้จริงของโลก
เรื่องเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเข้ารูปเข้ารอยตามตรรกะอะไร เนื่องจากมันไม่ใช่แก่นความเชื่อของพวกเขา หากแต่เป็น Confirmation Bias ในระดับสังคม เพื่อจะพิสูจน์ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของโลกนี้มีใครสักคนที่กำลังชักใยสังคมของเราอยู่ นั่นเป็นเหตุผลที่บ่อยครั้งดาราและคนมีชื่อเสียงตกเป็นเป้าหมายของความเชื่อนี้เสมอ เพราะความต่างในมิติอำนาจ หรือภาพการเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนของคนมีอำนาจ เช่น กลุ่มของเหล่าคนดังในวงการบันเทิงฮอลลีวูด หรือการรวมตัวกันของอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรคที่พวกเขาเรียกว่า บิ๊กฟาร์ม่า ด้วยการมีแผนร้ายที่จะทำให้โรคต่างๆ แย่ลงเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ซึ่งภาพเหล่านั้นสะท้อนกับภาพสังคมลับใต้ดินของผู้มีอำนาจอย่างชัดเจน
หากอ่านมาถึงตรงนี้อาจสังเกตได้ว่าความเชื่อต่างๆ ของกลุ่มคนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้มักเอนไปทางปฏิกิริยานิยม (Reactionaries) ทั้งการต่อต้านวัคซีนและการแพทย์แผนปัจจุบัน วิธีการของ Transvestigators นั้นก็ชัดเจนในตัวของมันเองว่า พวกเขาเชื่อในรูปแบบที่ถูกและผิดของการเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ความเชื่อเรื่องโลกแบนก็คือการต่อต้านวิทยาศาสตร์ และบ่อยครั้งวาทกรรมต่อต้านสื่อและวงการบันเทิงของคนกลุ่มนี้ มักถูกใส่ดอกจันเล็กๆ เอาไว้ว่าคือการต่อต้าน ‘สื่อของยิว’
การรู้เช่นนั้นอาจทำให้เราเห็นความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดได้อย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เพราะในระดับหนึ่ง ความกลัวของคนที่เชื่อนั้นจับต้องได้ โดยแดน โอลสัน (Dan Olson) นักวิจารณ์สังคม ได้พูดในวิดีโอ In Search of A Flat Earth ของเขาถึงประเด็นกลุ่มคนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดว่า “คนที่เชื่อว่าโลกแบนมีความกลัวแบบเดียวกันกับเรา พวกเขาระแวงเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจที่สามารถครอบงำชีวิตของเราได้ ระบบที่กรองข้อมูลที่เราได้รับ”
นี่คงไม่ใช่ความเห็นที่แปลกใหม่ที่จะบอกว่า เรามีความรู้สึกไร้พลังในการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในโลกของเราอยู่บ่อยๆ แม้แต่ในระบอบที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย อำนาจของเราในฐานะประชาชนยังถูกทำให้หล่นหายอยู่เรื่อยๆ โลกทุนนิยมที่ทำเราไร้พลัง หรือการเติบโตไม่จบสิ้นของอุตสาหกรรมที่ทำลายโลก โดยพื้นฐานความกลัวของเรา และความกลัวของกลุ่มคนเชื่อทฤษฎีสมคบคิดนั้นไม่ต่างกัน อย่างไรก็ดี นี่จึงอาจเป็นจุดที่ถึงทางแยกของเขาและคนอื่นๆ
“ในขณะที่เราทุกคนก็ตั้งข้อสงสัยว่าผู้มีอำนาจทำอะไรกันอยู่ ผู้ที่เชื่อว่าโลกแบนนั้นนิยามคนมีอำนาจต่างกับเราอย่างมาก” โอลสันยังพูดต่อ พร้อมอธิบายจุดมุ่งหมายของกลุ่มคนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดว่า “ปลายทางความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด คือการลดทอนความเป็นจริง ลดทอนความสับสนวุ่นวายโดยธรรมชาติของโลกให้เป็นความรับผิดชอบ และแรงผลักดันของกลุ่มกลุ่มเดียว และจะต่อต้านได้ด้วยวิธีการง่ายๆ วิธีเดียวเช่นกัน” โดยมองว่าคนกลุ่มนั้นคือกลุ่มที่ทำให้โลกซับซ้อนเกินไป คือกลุ่มคนที่สร้างความไม่มั่นคงในเพศตามขนบ ความเชื่อศาสนาถูกลบหลู่ด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นคือคนพวกเขาคาดว่า ‘มีอำนาจ’
และเป็นทางแยกของเราและพวกเขา เพราะเราทุกคนต่างรู้สึกว่าโลกนี้มีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติ และมันง่ายกว่ามากที่จะมอบความผิดนั้นๆ ให้ใครสักคนหรือคนสักกลุ่ม แทนที่จะมองไปยังโครงสร้างอันเป็นปัญหาในโลกจริงของเรา
อ้างอิงจาก