จะมีใครคนหนึ่งที่คุณรู้จัก ไม่ว่าเขาจะมานั่งข้างๆ บอกทางเวลาคุณขับรถ หรือขออาสาเปิด GPS ตอนออกทริปเที่ยว คุณจะไม่มีทางเชื่อหมอนั่นเป็นเด็ดขาด! เพราะว่าเพื่อนของคุณนั้นมี sense of direction ยอดแย่เสียเหลือเกิน ไม่รู้ทิศรู้ทาง พาให้หลงตลอด ลองสำรวจดูว่าใครเป็นเพื่อนที่มีลักษณะเช่นนี้ (หรือตัวคุณเองนั่นแหละที่หลงบ่อยกว่าใคร)
รู้ไหมว่า ‘ผีเสื้อจักรพรรดิ’ สามารถบินเอื่อยๆ จากมหานครนิวยอร์กไปถึงเม็กซิโกที่มีระยะทางไกลถึง 4,000 กิโลเมตรได้โดยไม่หลง แต่ดูคุณสิ! แค่ออกมาจากปากซอยก็หลงตาแหกแล้ว ถ้าเป็น GPS ก็คงนำทางด้วยรองเท้าแตะยี่ห้อดาวเทียม ไม่ใช่ดาวเทียมจริงๆ เป็นแน่แท้
ทำไมมนุษย์ถึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มี sense of direction ยอดแย่ในเหล่าอาณาจักรสิ่งมีชีวิต ทำไมบางคนถึงหลงได้ง่ายดาย แต่บางคนสามารถไว้ใจได้จนต้องยกตำแหน่งนักนำทางยอดเยี่ยมให้
เอาอย่างนี้ดีกว่า มันก็ไม่ค่อยแฟร์นักที่จะเปรียบเทียบคุณกับสิ่งมีชีวิตที่มีทักษะนำทางยอดเยี่ยมระดับตำนานอย่างผีเสื้อจักรพรรดิ
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทักษะที่เรียกว่า sense of direction หรือความรู้สำนึกถึงทิศทางของมนุษย์นั้นไม่ได้เรื่องได้ราวจริงๆ แม้เราจะมีทักษะการตระหนักรู้ คิดเป็นเหตุเป็นผลซับซ้อน แต่เวลาให้หาทิศหาทางมันกลับทู่ทื่อจนน่าแปลกใจ วิทยาศาสตร์เองก็สงสัยการเรียนรู้ของมนุษย์ในการหาเส้นทางเช่นกัน ซึ่งล้วนเป็นปริศนาเพราะบางคนก็จำทางได้แม่นจนไว้วางใจได้ คุณเองก็อาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ออกจะไปทาง stereotype หน่อยๆ ว่า “ผู้ชายรู้จักเส้นทางดีกว่าผู้หญิง” ที่มักเป็นคำพูดติดปากเวลาพูดถึง sense of direction
แต่เอาเข้าจริง sense of direction ไม่ได้เป็นผัสสะเพียงตัวเดียวโดดๆ มันประกอบไปด้วยทักษะซับซ้อนหลายชั้น ซึ่งทำให้เราค้นหาทางที่เหมาะสมที่สุด ใช้เวลาเดินทางสั้นที่สุด และถึงที่หมายโดยไม่หลงให้เสียเวลา การที่จะประสบความสำเร็จเช่นนี้ได้ คุณต้องสามารถจดจำแลนมาร์กของสถานที่จะไปให้ได้ก่อน และสามารถบอกได้ว่า ณ ตอนนี้ คุณกำลังอยู่ตรงไหน ทำอย่างไรถึงจะสามารถไปถึงแลนมาร์กนั้นได้โดยสวัสดิภาพ
ที่มนุษย์มีศักยภาพน้อยกว่าสัตว์ในเรื่องการเดินทาง สาเหตุหนึ่งเพราะเราเป็นเผ่าพันธุ์ที่ไม่ค่อยอพยพเดินทางไกลบ่อย และเราไม่จำเป็นต้องรอดชีวิตด้วยการย้ายถิ่นฐานเป็นประจำ การมีถิ่นฐานเป็นหลักเป็นแหล่งมีความสำคัญต่อวิวัฒนาการและสร้างรูปแบบสังคมพวกเรามาตลอด
ในขณะที่วิวัฒนาการของสัตว์ที่ต้องเดินทางไกลเป็นกิจวัตร หรือมีชีวิตเพื่อการเดินทาง อาทิ ผึ้ง เต่ามะเฟือง ผีเสื้อจักรพรรดิ ปลาแซลมอนแอตแลนติก และกลุ่มนกอพยพ สามารถรับรู้คลื่นแม่เหล็กโลกได้ ทำให้พวกมันสามารถใช้นำทางได้ถูกต้องแม่นยำ แม้จุดหมายจะห่างไปเป็นพันๆ กิโลเมตร แต่สัตว์เองก็ไม่มีทักษะอันละเอียดอ่อนและมีหลายมิติอย่างที่คุณมี มนุษย์อาจเดินทางไม่ไกลเท่า แต่เรามีเครือข่ายความคิดที่ซับซ้อน มีแผนที่ความคิด (mental map) อันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน และมีรูปแบบภาษาเฉพาะตัวที่เข้ามาอุดช่องโหว่ดังกล่าว
คนที่หลงบ่อยเป็นคนที่โง่เขลาหรือไม่?
เป็นคำถามที่สงสัยกันมาตลอดเวลา ความสามารถจดจำเส้นทางอยู่บนพื้นที่เดียวกับความฉลาดทางปัญญาหรือไม่ คำตอบคือ ‘ไม่เชิง’ เพราะการเดินทางมันมีสมดุลบางอย่างที่ต้องทำความเข้าใจก่อน การหาเส้นทางที่ตรงไปตรงมาอิงกับทักษะที่เรียกว่า ‘route-based navigation’ ผสานระหว่างความทรงจำ หรือความคลับคล้ายคลับคลา อย่างเช่น เมื่อคุณเดินตรงไปข้างหน้า เจอวัดให้เลี้ยวขวา พอข้ามสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายจะถึงจุดหมาย
ทักษะนี้เวิร์กกับ ‘รูปแบบเมือง’ ที่คุณค่อนข้างคุ้นเคยกับโครงสร้างของมันมาแล้วระดับหนึ่ง แต่กลับไม่ค่อยยืดหยุ่นนัก เพราะเมื่อคุณพบว่าถนนข้างวัดปิดทำบุญพอดี มีป้ายกั้นห้ามผ่านหรือกำลังทำถนน และบังคับให้คุณต้องเปลี่ยนเส้นทางโดยทันที คราวนี้เองที่ route-based navigation นั้นกลับทำงานไม่ได้ผลเสียแล้ว
สิ่งที่สมองคุณใช้ทดแทนเมื่อเส้นทางไม่เป็นตามแผนคือทักษะอย่างที่สอง เรียกว่า ‘mental map’ ซึ่งนักวิจัยว่า เจ้า mental map ที่คุณสร้างมาในหัวเป็นอะไรที่พิเศษ มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถสร้างทางลัดขึ้นในหัว และใช้ทางลัดนั้นไปสู่จุดหมาย การใช้ทางลัดยังให้รางวัลสูง คือคุณมักรู้สึกถึงความภูมิใจเล็กๆ ที่สามารถพบทางลัดได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามทักษะทั้งสองล้วนอาศัยการตระหนักรู้ที่ต้องช่ำชองพอสมควร แต่ก็เรียนรู้เพิ่มได้ตลอดเวลา ซึ่งนักนำทางที่ดี (good navigators) จะสามารถหาสมดุลจากทั้งสองทักษะได้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เปลืองทรัพยากรน้อยสุด
กลับมาที่คำถามว่า “ผู้ชายหรือผู้หญิง เพศไหนเป็นนักนำทางที่ดีกว่ากัน?”
นักวิจัยต่างก็สนใจประเด็นนี้เช่นกัน ผลกลับพบว่าทั้งสองเพศทำหน้าที่นี้ได้ไม่แตกต่างกัน แต่งานวิจัยพบแง่หนึ่งว่า ผู้ชายมีแนวโน้มจะเลือกสำรวจทางลัดมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงไม่ค่อยเลือกทางลัดที่ไม่คุ้นเคย และจะเน้นเส้นทางแบบ route-based navigation ไม่ค่อยเฉไฉออกนอกเส้นทาง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ผู้ชายอาจมีแนวโน้มหลงมากกว่า (เพราะมัวแต่ไปหาทางลัดนี่แหละ)
ซึ่งการเป็น good navigators คือส่วนผสมที่ดีของทักษะการนำทางที่ต้องมีทั้งสองอย่าง ความต่างของเพศก็ยังมีอิทธิพลน้อยกว่าประสบการณ์ส่วนบุคคล การจดจำสภาพแวดล้อม และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉับพลัน
ถ้าอย่างนั้นเราสามารถฝึกคนให้มีทักษะการนำทางที่ดีได้หรือไม่? ถึงแม้จะไม่มีที่ไหนเลยกล้าบอกว่าทักษะนี้สำคัญจนต้องฝึกเป็นเรื่องเป็นราว ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการรู้จักสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และบางครั้งจำเป็นต้อง “มองข้างหลัง” ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สัตว์ในธรรมชาติทำตลอด ไม่ใช่จำเพียงว่าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตามความคุ้นชิน และที่สำคัญอย่าพึ่งพาเทคโนโลยี GPS มากเกินไป คนที่ตอบสนองกับสภาพแวดล้อมได้ดีคือคนที่ออกเดินทางและหลงเป็นครั้งคราวด้วยตัวเขาเอง
ความหลงที่ปราศจากเทคโนโลยีทำให้เราค่อยๆ สร้างการรับรู้เส้นทางในโลกที่ซับซ้อนใบนี้ได้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Different “routes” to a cognitive map: Dissociable forms of spatial knowledge derived from route and cartographic map learning
- Spatial learning while navigating with severely degraded viewing: The role of attention and mobility monitoring