จำนวนประชากรของอินเดียกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คนอินเดียเกิดใหม่โหยหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากระบบสาธารณูปโภคอันจำกัด ผลักดันให้ความต้องการใช้ทรัพยากรสูงขึ้นเป็นปรากฏการณ์
ภายในปี 2040 หากเทรนด์ความก้าวหน้าของอินเดียไม่ถูกแก้ ความหวังที่โลกจะควบคุมการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อาจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ปัญหาความต้องการไฟฟ้าสูงขึ้นสวนทางกับศักยภาพในการจ่ายไฟอันน้อยนิด อินเดียต้องสร้างระบบกริดไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยมองไปยังพลังงานทางเลือกมากขึ้นแทนที่จะพึ่งพาพลังงานสกปรกอย่างเดียว
อินเดีย ผู้เล่นรายที่ 3 อาจเป็นเครื่องชี้วัดว่า โลกใบนี้จะอยู่อย่างไรต่อ?
หลายคนที่เคยไปอินเดีย ดินแดนชมพูทวีป มักอยากจะไปสัมผัสกลิ่นอายแห่งพุทธศาสนาอย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิต (หรือไปเพื่อเต้นสไตล์บอลลีวู้ด ก็แล้วแต่สะดวกใจ) แต่จำนวนไม่น้อยที่กลับมาพร้อมความรู้สึกเล็กๆ ที่เปลี่ยนไป (กับของฝากคือผ้าส่าหรี่)
“อินเดียเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ทุกที่เต็มไปด้วยนิคมเกิดใหม่ ท้องถนนเต็มไปด้วยรถราแน่นขนัด หายใจเข้าไปก็เหมือนปอดจะเจอแต่ฝุ่นกับควัน”
อินเดียกำลังเติบโตเหมือนเด็กที่กินจุ จากเหล่านักลงทุนหน้าใหม่ที่แลกนามบัตรกันจนหมดโรงพิมพ์ พร้อมนโยบายเปิดดีลการลงทุนจากต่างชาติ เชื้อเชิญให้ประชาคมโลกเปิดตาสู่ ‘อินเดียใหม่’ ที่ไฉไลกว่า คิดต่างกว่า และทำให้ทุกความฝันของใครก็ตามเป็นจริง
กระนั้นเลยท่ามกลางความสว่างไสวในดินแดนภารตะ ไฟฟ้าอินเดียยังติดๆ ดับๆ เป็นเรื่องปกติที่คุณจะมีประสบการณ์นั่งอยู่ในความมืดมิดอย่างเดียวดายจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้งเมือง หรือ Blackout ราว 1 ถึง 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ จากความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาวอินเดียที่ไม่ได้สมดุลกับความสามารถในการผลิต ประชาชนอินเดียจึงมักหันไปพึ่งไฟฟ้าปั่นเองจากพลังงานวิถีชาวบ้านอย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งแม้ขณะนี้จะมีราคาถูก แต่ก็ไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติอย่างยิ่งยวด
ช่วยไม่ได้ ก็ไฟมันดับ
ที่ประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศสเชื้อเชิญประเทศมิตรสหายมาร่วมทำความเข้าใจ ‘ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)’ ที่ทุกประเทศในฐานะสมาชิก ต้องแสดงออกถึงทิศทางในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกโลกอย่างตรงไปตรงมา จะมาทำซึนไม่สนใจก็เหมือนเป็นเด็กหลังห้องที่ทำตัวขวางโลกเท่านั้น (แบบที่สหรัฐอเมริกาทำก็ถือว่าปากว่าตาขยิบนิดหน่อย)
อินเดียเองก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการเป็นประเทศแนวหน้าของเอเชียในการต่อกรภาวะเรือนกระจกโดยผู้นำอินเดียคนล่าสุด ที่ถือว่ามีวิสัยทัศน์แบบหัวก้าวหน้า นายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที (Narendra Modi) โดยตั้งความหวังว่า Paris Agreement อาจลดภาวะโลกร้อน โดยลดอุณหภูมิโลกอย่างอภินิหารสุดๆ คือ 2 องศาเซลเซียส และอินเดียจะเป็นตัวอย่างของประเทศที่กำลังพัฒนาโดยใช้พลังงานทางเลือก เช่น ลม เซลล์แสงอาทิตย์ มาขับเคลื่อนประเทศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แม้คำปรารภจะเต็มไปด้วยเจตนาดี ฟังดูชื่นใจ แต่อินเดียในความเป็นจริงยังอยู่ในสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ในฐานะผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายที่ 3 ของโลก และความโหยหาการพัฒนาของคนในประเทศ ทำให้ภารกิจครั้งนี้ยากกว่าที่ใครคาดคิดไว้
พลังงานแบบเท่าที่จะหาได้
อินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ด้วยประชากรมากกว่า 1.6 พันล้านคน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2040 ความต้องการไฟฟ้ามวลรวมจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว หากอินเดียไม่มีการจัดการกากของเสียจากการผลิตและการเติบโตของประเทศ ภายในครึ่งศตวรรษนี้อินเดียจะเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อันดับ 1 ของโลกจากการเก็งของนักวิชาการสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันอินเดียอยู่ในตำแหน่งอันดับ 3 ในการปล่อยมลภาวะ) สาเหตุจากระบบสาธารณูปโภคของอินเดียยังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก แต่หากรัฐยังจะพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเพื่อรองรับการเติบโตของประเทศอยู่…
เพียงแนวคิดเดียว ก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มเป็น 2 เท่าจากของเดิมที่หนักหนาอยู่แล้ว
พลังงาน ‘ระดับชาวบ้าน’ เป็นแหล่งพลังงานสกปรกดึกดำบรรพ์ขั้นพื้นฐานที่หล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตของประเทศอินเดียมาอย่างยาวนาน อาทิ ‘หลุมขี้ควาย’ ที่ชาวบ้านหมักมูลสัตว์จนเกิดก๊าซมีเทน แพร่หลายถึงขนาด 2 ใน 3 ของชาวชนบทในอินเดียก็ยังใช้หลุมขี้ควายนี้หุงต้มอาหารกันอยู่ ใช้ฟางข้าว ถ่านไม้และเปลือกไม้ เผาเพื่อให้ได้พลังงานความร้อน
พลังงานที่ปล่อยกากของเสียสกปรกเหล่านี้ มีประชากรใช้ดำรงชีวิตถึง 1 ใน 4 นอกจากนั้นคือ ‘พลังงานจากถ่านหิน (Coal)’ และ ‘น้ำมันนำเข้าจากต่างประเทศ’ ก็พอเป็นที่เข้าใจได้ว่าพลังงานเหล่านี้มีราคาถูก แต่ทิ้งปัญหาเรื้อรังไว้เบื้องหลัง สร้างหมอกปกคลุมชุมชนเมืองที่มีประชากรอยู่หนาแน่นของอินเดีย
เอาเป็นว่า หากจัดอันดับ 20 เมืองที่มีมลภาวะที่สุดในโลก 10 เมืองที่อยู่ในลิสต์เป็นเมืองของอินเดีย
โรงไฟฟ้าถ่านหินใช้น้ำมากในการบริหารจัดการ ซึ่งในระยะหลังๆ อินเดียมีความมั่นคงของน้ำอยู่ในเกณฑ์น่าหนักใจอยู่แล้ว จากปรากฏการณ์โลกร้อนและฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาลจากการผันแปรของ ‘การแบ่งขั้วของมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Dipole)’ ที่มักเกิดทุกๆ 2 ถึง 3 ปี ทำให้อินเดียและประเทศข้างเคียงแล้งมากเป็นพิเศษ
และการพึ่งพาน้ำมันนำเข้าจากต่างประเทศ กดดันให้อินเดียมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอิงอยู่กับความผันผวนของตลาดน้ำมันโลกอยู่ตลอดเวลา ค่าเงินขึ้นๆ ลงๆ และเงินด้อยค่าลงเมื่อเกิดวิกฤตน้ำมัน ขาดเสถียรภาพในการจัดการเศรษฐกิจของตัวเอง
ไฟฟ้าแบบอินเดียสไตล์
ไฟฟ้าใครๆ ก็อยากมีอยากใช้ แต่กำลังผลิตไฟฟ้าของอินเดียจ่ายได้ไม่เกิน 300 ล้านรายทั่วประเทศ มีคนอีกเป็นล้านๆ ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จากระบบกริดไฟฟ้าที่ยังขาดเสถียรภาพ เพียงพายุถล่มสัก 1 ลูก ก็อาจทำให้เมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดเป็นสัปดาห์
ความตั้งใจของอินเดียจากนโยบายของนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที ที่สัญญาให้กับข้อตกลงปารีส คือการผลักดันพลังงานสะอาด จากที่มีใช้อยู่ราว 24 เปอร์เซ็นต์ให้เพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 ซึ่ง ‘พลังงานน้ำ’ เป็นพลังงานทางเลือกที่อินเดียใช้มากที่สุด แต่ก็ยากที่จะสร้างเพิ่มเติม เพราะมีความยุ่งยากในการสัมปทานพื้นที่ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย รัฐบาลอินเดียจะต้องหันไปใช้พลังงานไฟฟ้าจากลมและเซลล์สุริยะ ให้ผลิตกำลังไฟฟ้าให้ได้ราว 350 กิกะวัตต์อย่างต่ำภายในปี 2030
แม้อินเดียจะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย และถูกตราหน้าว่าเป็นผู้สร้างมลภาวะหน้าใหม่ แต่อินเดียมีทิศทาง Positive ต่อการเริ่มอะไรจริงๆ จังๆ ต่อการลดมลภาวะ รัฐบาลอินเดียวางแผนว่า ภายในปี 2030 ประชาชนชาวอินเดียจะต้องเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่ำ 250 กิกะวัตต์ ซึ่งมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทางเลือกเกือบทั้งหมด มากกว่าประเทศใดๆ ในเอเชียเสียอีก เพราะหากพวกเขาไม่ทำอะไรเลย อินเดียจะไม่ได้แค่ปล่อยมลภาวะ แต่จะมีคนตายจากมลภาวะนับล้านคน
มลพิษทางอากาศเป็นภัยที่น่ากลัวอันดับต้นๆของคนอินเดีย นำไปสู่โรคหัวใจ โรคมะเร็งปอด ภาวะติดเชื้อในทางเดินหายใจ และโรคภูมิแพ้ ปรากฏการณ์ Economy Boom ของอินเดียทำให้ถนนมีการเผาผลาญเชื้อเพลิง มีชาวอินเดีย 1.5 ล้านคน เสียชีวิตจากโรคเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ภายใน 1 ปี หรือคิดเป็น 11.6% ของจำนวนผู้เสียชีวิตมวลรวมของประเทศ
เพื่อหยุดยั้งเทรนด์แห่งความตาย การลดภาวะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นทางเดียวที่อินเดียสามารถเริ่มทำได้ก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าควรทำอยู่ประเทศเดียว มันจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดขึ้น และการปันทรัพยากรทางการเงินมาที่ฝั่งสิ่งแวดล้อมบ้าง อินเดียมีพันธมิตรที่ดีกับโครงการวิจัยพลังสะอาดของสหรัฐอเมริกา และการสนับสนุนทางการเงินและโครงสร้างพื้นฐานจากเยอรมัน
อินเดียจึงเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในธุรกิจพลังงานทางเลือก และเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ของพลังงานสะอาด ถึงจะถูกตราหน้าว่าทำบ้านสกปรก แต่อินเดียมิติใหม่ก็ไม่ได้นอนใจให้ประชาคมโลกก่นด่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
BP Energy Outlook Country and regional insights – India
India Energy Outlook – Global Innovation and Technology Alliance