หากมีใครเคยทำให้คุณเจ็บแสบแสนสาหัส ถ้ามีโอกาสเล่นงานคืนบ้าง คุณจะยอมลงมือ ‘ล้างแค้น’ มันไหม?
หนังแนวล้างแค้นไม่เคยห่างหายไปจากแผ่นฟิล์มหรือละครโทรทัศน์ ไม่ว่าจะปัดฝุ่นมาทำใหม่ทีไรก็มักขายดีเสมอ ผู้ชมลุ้นระทึกไปกับชะตากรรมของตัวละครจากเดิมมีสถานะเป็นเหยื่อ ค่อยๆ พัฒนาสู่การเป็นผู้ล่า (Hunted to Hunter) สะสางบัญชีเดือดแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน
ผู้เขียนยังจำได้ถึงภาพ ‘มธุสร’ ที่นำแสดงโดย นก สินจัย (ไม่ทันเวอร์ชั่น อรัญญา นามวงศ์ อะ) เธอถือดาบคาตานะไล่เชือดชายลูกครึ่งบนหาดทรายในขณะพระอาทิตย์อัสดง เลือดแดงฉานอาบหาดทรายสีขาวที่ค่อยๆ ถูกเกลียวคลื่นซัดกลบอย่างช้าๆ เลือดที่ติดอยู่ปลายดาบหยดเป็นเม็ดทิ้งร่องรอยไว้บนเกล็ดทราย มธุสรยิ้มมุมปากอย่างพึงพอใจ นี่คือสัญญาณว่าความแค้นได้รับการชำระแล้ว จากเสียงผู้ชมหน้าโทรทัศน์ปรบมือด้วยความยินดี “ยังมีทรชนอีกหลายรายรอให้มธุสรฆ่า แต่รอติดตามตอนหน้า สวัสดี”
ละครเรื่อง ‘ล่า’ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ถือเป็นละครยอดฮิตบอกเล่าความเป็นแม่ที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นมือสังหาร ลอบเร้น แปลงกาย เพื่อปลิดชีพฆาตกรอย่างเลือดเย็นแบบเรียงตัว แต่ทำไมพวกเรารู้สึกสะใจกับภารกิจนองเลือดของมธุสร? ทำไมธรรมชาติถึงออกแบบให้เรามีอารมณ์ร่วมกับการล้างแค้น (Revenge) ที่สมบูรณ์แบบ ในขณะที่มนุษย์นิยามตนเองว่าเป็นสัตว์สังคมที่ทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืนที่สุด วิวัฒนาการ (Evolution)ใช้ประโยชน์จากการล้างแค้นอย่างไร? หรือการล้างแค้นมีแง่มุมที่งดงาม พอๆ กับความหม่นหมองภายใต้เส้นสายของชีวิต
ถ้าไม่รีบไปล้างแค้นใครที่ไหน รบกวนอ่านกันไปพร้อมๆ กัน
มันสมควรแล้วไง!
หลังจาก ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ หมดฤทธิ์เดชแล้วถูกพิพากษาแขวนคอในข้อหาอาชญากรสงคราม ชาวเมืองอิรัคต่างออกมาเฉลิมฉลองกลางท้องถนน โห่ร้องแสดงความยินดีต่อการตายของอดีตผู้นำ บ้างเชื่อว่าการประหารชีวิตจะเพิ่มขวัญกำลังใจในอิรัก ในขณะอีกซีกโลกชาวนิวยอร์กออกมาเฉลิมฉลองเช่นกัน แต่จากการตายของ ‘อุซามะฮ์ บิน ลาดิน’ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าอัลกออิดะฮ์ หลังถูกหน่วยปฏิบัติการพิเศษสังหาร ชาวอเมริกันต่างโบกธง ร้องรำทำเพลงนานเป็นสัปดาห์
ใช่แล้วครับ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่า สมองของมนุษย์สามารถรื่นรมย์กับการแก้แค้นจากกลไกของสมองส่วนให้รางวัล (Brain reward center) เมื่อทำการสแกนสมองด้วยเทคนิค MRI ในห้องทดลอง นักวิทยาศาสตร์พบว่า การเห็นพฤติกรรมล้างแค้นของใครสักคนมักกระตุ้นให้สมองส่วนให้รางวัลหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อ โดปามีน (Dopamine) ที่ทำให้คุณรู้สึกพึงพอใจ ใกล้เคียงกับการกินของหวานฉ่ำๆ หรือการใช้สารเสพติดอย่างไรอย่างนั้น
แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ความรู้สึกเศร้า (Sadness) และความทรงจำในอดีตอันเจ็บปวด มักถูกกระตุ้นให้ย้อนคืนกลับมาเป็นของแถม (สมองส่วนความทรงจำระยะยาว Long-Term memory ถูกกระตุ้นไปพร้อมๆ กัน) โดยคนปกติที่ยังมีสามัญสำนึกมักเผชิญหน้ากับความกำกวมระหว่างความตั้งใจที่จะฆ่าและการให้อภัย (Forgiveness)
ดังนั้นพื้นที่แห่งความแก้แค้นในมิติทางอารมณ์จึงเป็นพื้นที่สีเทาขุ่นๆ ไม่ขาวจัด ไม่ดำจัด แต่จะถูกแต่งเติมด้วยสีสันจากวัฒนธรรมที่คุณเติบโต รูปแบบทางสังคม ความเป็นชาติพันธุ์ สถาบันครอบครัว ที่รุกล้ำพื้นที่สีเทานี้ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ บางสังคมนิยมการบังคับใช้มาตรการเด็ดขาดในการลงโทษ ใช้ศาลเตี้ย ก็มักโอนเอียงไปทางการล้างแค้น และคิดว่ามีความชอบธรรมอยู่ในตัว
ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือของ Michael McCullough นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์ The Evolution and Human Behavior Laboratory จากมหาวิทยาลัย Miami ซึ่งมีผลงานหนังสือ Beyond Revenge: The Evolution of the Forgiveness Instinct ที่พาเราไปทำความเข้าใจการให้อภัยโดยไม่ลืมเปิดพื้นที่การแก้แค้นให้ได้ถกกันอย่างบันเทิงทีเดียว อย่างไรก็ตามการแก้แค้นมีราคาค่างวดที่ต้องจ่าย หากคุณจะเลือกใช้มัน
ประการแรกเราต้องจัดระเบียบซะหน่อยว่าพฤติกรรมไหนที่เข้าข่ายการล้างแค้น เพราะมันมีหลายพฤติกรรมที่ใกล้เคียงแต่มักไม่ใช่ หากมีใครมาทำให้คุณเจ็บ แล้วคุณตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพื่อสร้างโอกาสหนีถือเป็นการปกป้องตัวเอง
การแก้แค้นจึงเป็นกลไกที่ตอบสนองต่อภัยในรูปแบบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม การแก้แค้นไม่ควรถูกเหมารวมกับความปรารถนาต่อความยุติธรรม (Justice) ของมนุษย์ซึ่ง Michael McCullough มองไว้เป็นคนละเรื่อง แม้คนทั่วไปจะเชื่อว่าการล้างแค้นแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเป็นทางออกของความยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด หรือมักเชื่อว่า “ฉันจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ลงมือแก้แค้น” แต่ส่วนใหญ่เป็นความรู้สึกสะใจเพียงชั่วครู่ แล้วเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ไมใช่ความรู้สึกพึงพอใจที่ถาวร
อิทธิพลของการแก้แค้นไม่ได้ตกเป็นของเราผู้เดียว มันเป็นพื้นที่ที่เราใช้ร่วมกันกับผู้อื่น หากมองในกรอบที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แล้วการแก้แค้นคือพื้นที่การแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่า คุณไม่โอนอ่อนต่อการถูกทำร้าย ผู้คนที่เห็นคุณถูกกระทำอย่างไม่เหมาะสม และสนับสนุนการแก้แค้น เอาคืนสิ อย่ายอม เป็นการเชียร์ที่นัยหนึ่งก็กดดันให้คุณต้องลงมือทำอะไรบางอย่างเป็นการตอบโต้ ระบบสังคมที่ออกแบบอย่างแนบเนียนอำพรางความต้องการที่จะแก้แค้นได้อย่างแนบเนียน
สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ก็มีรสนิยมในการแก้แค้นไม่แพ้กัน เราพบเห็นในนก เช่น นกกาน้ำ (Cormorant) ที่มักจะไปบุกทลายรังของคู่อริ หากถูกขโมยกิ่งไม้ที่ใช้ทำรัง หมึกยักษ์ (Octopus) ที่จดจำใบหน้าของมนุษย์ที่มันไม่ชอบหน้า เจอเมื่อไหร่เป็นต้องพ่นหมึกใส่ทุกที เป็นต้น แต่การแก้แค้นไม่ได้ลงเอยกับใครทั่วไปก็ได้ มันมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อกำจัดคนคนนั้นออกไปจากการเผชิญหน้าในอนาคต
แม้อยากจะแก้แค้น แต่คนส่วนใหญ่เลือกไม่ทำ
อย่างน้อยคำนี้ก็ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อดัง The Better Angels of Our Nature เขียนโดยนักจิตวิทยา Steven Pinker เมื่อเขาพลิกย้อนดูหน้าประวัติศาสตร์โลก ที่ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติสามัญที่ใครๆ ก็ชี้นิ้วให้คนที่เกลียดชังตายได้โดยไม่ต้องแบกรับความผิด ทั้งการฆ่าฟันคนต่างกลุ่มก๊ก การล่าแม่มดหมอผี สงครามศาสนาที่รวบรวมศรัทธาจนแปรเปลี่ยนเป็นไฟสงครามเพื่อย่ำยีชาติอื่นๆ
โลกเราค่อนข้างมาไกลกว่าครั้งอดีตมาก ประชาคมโลกพัฒนาขึ้นอย่างมีหลักฐานแจ่มแจ้งว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือหลักอีกแล้ว วิวัฒนาการของความเป็นรัฐในแต่ละพื้นที่เอื้ออำนวยให้มีการค้าอย่างเสรีและสม่ำเสมอ ผู้คนรู้จักสิทธิที่ตนเองพึงมีต่อชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าคนยุคก่อนๆ
แม้เราจะอยู่ในยุคสมัยที่สงบสุขที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ความรุนแรงมักไหลผ่านการตัดสินใจของพวกเราอยู่ตลอดเวลา
“มีข่าวดีอยู่หน่อยๆ การแก้แค้นเป็นสิ่งที่หายากอยู่ดี” คำพูดนี้กล่าวโดย Lewis Fry Richardson อดีตนักอุตุนิยมวิทยาที่ผันตัวมาเป็นนักวิเคราะห์ด้านความขัดแย้ง พบว่า 1.6 เปอร์เซ็นต์ คือจำนวนคนที่ตายด้วยน้ำมือของมนุษย์ด้วยนับตั้งแต่ปี 1820 ถึง 1945 นอกจากนั้นนักสังคมวิทยา Randall Collins ยังมีความเชื่อที่ค้านกับความคิดของคนทั่วไปว่า ธรรมชาติมนุษย์นั้นก็ไม่สามารถเดินไปหาความรุนแรงได้ง่ายดายนัก แม้การชกต่อยในร้านเหล้าก็มักเริ่มต้นจากคนเพียงคนเดียวที่ไปปะทะกับอีกคน ไม่ถึงกับชุลมุนยกพวกต่อยพังร้านเหมือนในหนัง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารเพียง 15 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยิงสวนทหารฝ่ายตรงข้ามเมื่อถูกยิงกดดัน ส่วนใหญ่มักหนีไปตั้งหลักหรือไม่ก็ยิงอากาศเพื่อข่มขวัญ (Firing in the air) มิได้ยิงอย่างจงใจเอาเลือดเอาเนื้อ โดยทั่วไปแล้ว Randall Collins มีแนวคิดว่า มนุษย์จะเข้าสู่ความรุนแรงเต็มตัวก็เมื่อตกอยู่ภายใต้ความกดดันทางสังคมที่ค่อนข้างสาหัส จนเลือกใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือการันตีการหลุดพ้นจากสถานะนั้นๆ
อะไรที่ทำให้การตัดสินใจของมนุษย์เปลี่ยนไป ทำไมคนปัจจุบันปฏิเสธการใช้ความรุนแรงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน วิวัฒนาการของรัฐเองก็มักงอกเงยในจิตใจของผู้คนเช่นกัน แนวคิดเรื่องเสรีภาพพัฒนาไปสู่ทุกภูมิภาคแล้ว องค์กรระหว่างประเทศและสหประชาชาติเองนำเสนอนโยบายใหม่ๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งระเบียบและความเรียบร้อย การใช้สารเคมี อาวุธชีวภาพ หรือนิวเคลียร์ก็เป็นของต้องห้ามในระดับสากลโลกแล้ว แม้ Steven Pinker จะกล่าวว่า ‘Long Peace’ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ ‘True Peace’ แต่ความช่วยเหลือระหว่างชาติด้วยกันจะเป็นกุญแจดอกใหม่ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้เราพูดคุย มากกว่าบ่อนทำลายด้วยความรุนแรงเฉกเช่นอดีต
แต่หากมธุสรเลือกที่จะให้อภัย แล้วละครจะไปสนุกยังไงล่ะ?
อ้างอิงข้อมูลจาก
Beyond Revenge: The Evolution of the Forgiveness Instinct 1st Edition by Michael McCullough
www.amazon.com/Beyond-Revenge-Evolution-Forgiveness-Instinct