คงไม่ใช่การพูดเกินจริงถ้าจะบอกว่าความแค้นเป็นความรู้สึกแง่ลบที่เราเปิดรับมากที่สุด
ความนิยมของหนังและซีรีส์เกี่ยวกับการล้างแค้น ความโกรธโมโหเมื่อเราเห็นคนผิดไม่ได้รับโทษตามสมควร และความสะใจเมื่อเห็นคนนิสัยไม่ดีโดนเอาคืน แม้จะเรียกมันคือความรู้สึกแง่ลบ ยิ่งกว่าความโกรธ ความเศร้า ความอิจฉา เรายอมรับว่าเราแค้นมากกว่าอะไรทั้งหมดแม้ในหลายๆ แง่มุมเราอาจเรียกได้ว่ามันดูลบยิ่งกว่าความรู้สึกลบอื่นๆ เพราะอะไร? อะไรทำให้ความแค้นและการล้างแค้นเข้าถึงหัวใจของมนุษย์มากที่เป็น? และความแค้นนั้นทิ้งอะไรไว้บ้างหรือไม่?
ความแค้นในมุมจิตวิทยา
ความแค้นไม่ใช่เพียงความไม่พอใจ แน่นอนอยู่แล้วเพราะเราต่างรู้ว่ามีเส้นที่แบ่งกั้นระหว่างความโกรธและความแค้น แต่มันคืออะไร? ความโกรธเป็นความรู้สึกพื้นฐานที่ตรงไปตรงมานั่นคือความรู้สึกเป็นศัตรูเมื่อเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์ แต่เมื่อพูดถึงความแค้นมันกลับมีรายละเอียดกว่านั้น อาจเป็นเพราะความแค้นมีมิติที่เพิ่มออกมาอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือความแค้นมี ‘ความต้องการ’ แอบแฝงอยู่
ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการที่จะแค้น แต่ธรรมชาติของความแค้นคือมักเป็นผลพวงจากความโกรธ มันเป็นทางเลือกหนึ่งของเราหลังจากความโกรธเดือดปะทุได้อยู่สักพักแล้ว และไม่ใช่ทุกคนหรือทุกประเด็นจะสามารถจบลงที่เราเลือกการให้อภัยและปล่อยวางได้
ในการศึกษาเพื่อหาเหตุผลว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงเลือกที่จะแค้นแทนให้อภัยโดยเอียน แมคคี (Ian McKee) นักจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยแอดดิเลด ออสเตรเลีย พบว่าความต้องการล้างแค้นมีความสัมพันธ์กับความต้องการอำนาจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่อาจมีลักษณะต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมที่พวกเขาอาศัยอยู่ นั่นคือเมื่อพูดถึงนักศึกษาในออสเตรเลียที่เอียนทำแบบสอบถามนั้นคือเป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดทางการเมืองไปในทางอำนาจนิยมและอนุรักษนิยม
แต่เมื่อเราพูดถึง ‘ความต้องการอำนาจ’ ในพื้นที่และวัฒนธรรมอื่นอาจแตกต่างออกไปได้ เพราะมันอาจหมายถึงความต้องการอำนาจจากคนผู้ไม่มีอำนาจ หรือคนในพื้นที่ที่ไม่มีกฎหมาย หรือกฎหมายไม่แข็งแรงพอมอบอำนาจให้พวกเขาเมื่อเกิดความ ‘อยุติธรรม’ ขึ้น เอียนยกตัวอย่างประเทศเช่น โซมาเลียหรือประเทศตะวันออกกลางที่มีการปกครองกึ่งชนเผ่าที่กฎของเผ่านั้นๆ จะได้รับความสำคัญเหนือกฎหมาย และพวกเขามักอาศัยการ ‘เอาคืน’ ในรูปแบบของตัวเองมากกว่าตามกฎหมายกำหนด
และเมื่อมองกลับมายังที่ที่เรายืนอยู่ เราเห็นคนใหญ่คนโตโดนจับได้ว่าทำผิดคาหนังคาเขาบ่อยครั้งแค่ไหน? การที่เราเป็นสังคมเต็มไปด้วยความแค้นก็อาจดูไม่ได้เหนือจริงจนเกินไป
ความแค้นและความยุติธรรม
ในความเรียง Civil and Moral โดยนักปรัชญาและรัฐบุรุษชาวอังกฤษ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) มีหนึ่งบทชื่อ ‘Of Revenge’ ที่เขาเขียนเกี่ยวกับมุมมองของเขาต่อความแค้น โดยนิยามมันว่า ‘ความยุติธรรมเถื่อน’ (Wild Justice) เขามองว่าผู้คนในยุคนั้นวิ่งหาการล้างแค้นก่อนกฎหมาย โดยเขาวิจารณ์การกระทำเช่นนั้นว่า “การกระทำผิดแรกเพียงผิดกฎหมาย แต่การล้างแค้นความผิดนั้นคือการเอากฎหมายทิ้งออกไปเลย”
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับมุมมองของเขา สิ่งที่น่าสนใจคือความแค้นและการล้างแค้น เชื่อมโยงโดยตรงกับความยุติธรรมและการลงโทษ อาจพูดได้ด้วยซ้ำว่าความแค้นวิวัฒนาการมาเป็นความยุติธรรมรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด นั่นคือกระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) โดยตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือเมื่อเรามองไปยังหนึ่งในกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดของโลกจากอาณาจักรบาบิโลนโบราณ กฎหมายชื่อเดียวกันกับผู้สร้างมัน นั่นคือประมวลกฎหมายฮัมมูราบี
‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ สำนวนที่เรายังใช้อธิบายเกี่ยวกับการล้างแค้นและเอาคืนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมาจากประมวลกฎหมายของฮัมมูราบี หากจะให้ยกอะไรสักอย่างหนึ่งว่าเป็นจุดเด่นของประมวลกฎหมายดังกล่าว คือความ ‘ได้สัดได้ส่วน’ ของมัน หากคนคนหนึ่งทำให้อีกคนตาบอด คนคนนั้นต้องสูญเสียตา หากเขาทำให้กระดูกใครหัก กระดูกของเขาก็ต้องหักด้วย หากเขาสร้างบ้านแล้วบ้านหล่นทับเจ้าของเขาต้องถูกประหาร แต่ถ้าบ้านหล่นทับลูกเจ้าของบ้าน ลูกเขาต้องถูกประหาร
สิ่งที่เราได้จากการมองดูกฎหมายฮัมมูราบี คือเราเห็นความหมายของความยุติธรรมในมุมมองที่พื้นฐานที่สุดของมนุษย์ เพราะในแง่หนึ่งบาบิลอนโบราณคือสังคมที่ยังไม่มีหลักคิดเชิงปรัชญาหลากหลายแขนงเท่าปัจจุบัน ความตรงไปตรงมาของข้อกฎหมายเหล่านั้นสูงกว่ากฎหมายในยุคปัจจุบันอย่างมาก ตรงเช่นเดียวกันกับมุมมองของพวกเขาต่อความยุติธรรม การที่ทำคนอื่นตาบอดตาตัวเองก็ควรบอดด้วย หากไม่อยากโดนแบบนั้น ก็อย่าทำอย่างนั้น ไม่ยุติธรรมตรงไหน?
แต่ปัญหาของกฎหมายฮัมมูราบีและ retributive justice ไม่ใช่ความตรงไปตรงมาของมัน และมันมีปัญหาแน่ๆ การที่สังคมที่เจริญแล้วในปัจจุบันไม่ยึดถือหลักตาต่อตา ฟันต่อฟัน เมื่อกลายเป็นกฎหมาย มันสามารถตัดความเป็นส่วนตัวและความไม่ได้สัดส่วนออกไปจากการล้างแค้นผ่านการนำมันไปยังมือผู้มีอำนาจได้ก็จริง ปัญหาของมันอยู่ที่ปลายทางของมันยังคงอยู่ที่เดียวกันกับการล้างแค้น นั่นคือวงจรของความรุนแรงที่ไม่นำไปสู่สังคมที่ดีขึ้น
มรดกของความแค้น
แม้ว่าประมวลกฎหมายของพวกเราจะออกห่างจากตาต่อตาฟันต่อฟันไปนานมากแล้ว ความแค้นและความต้องการล้างแค้นของเราฝังรากลึกกว่าจะเอาออกได้ บางทีมันอาจอยู่ในสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดเลยก็เป็นได้ และแม้ระบบสังคมจะสามารถพูดกับเราว่ามนุษย์เติบโตไปมากกว่านั้น ในเชิงปฏิบัติแล้วก็เป็นมนุษย์ผู้ยังแค้นเคืองหรือเปล่าที่เป็นส่วนก่อร่างของสังคมนั้นๆ?
สังเกตได้จากข่าวอาชญากรรมและผลตอบรับจากโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับข่าวเหล่านั้น เราจะเห็นความเคียดแค้นระดับสังคม ทำไมทำเลวขนาดนี้ถึงไม่ถูกจำคุก? ทำไมโดนแค่จำคุก ทำไมไม่โดนจำคุกตลอดชีวิต? ทำไมโดนจำคุกตลอดชีวิตไม่โดนประหาร? ทำไมโดนประหาร ความตายง่ายเกินไป ต้องจำคุกตลอดชีวิตสิ ฯลฯ มุมมองต่อกฎหมาย ความยุติธรรม และการลงทัณฑ์ของพวกเราไม่ได้ห่างออกจากความแค้นมากเท่าไรนักแม้ระบบจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
หลายคนไม่เชื่อว่าคนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เพราะเราไม่เคยเห็น และหลายคนยังคงมองทัณฑสถานเป็นสถานที่สำหรับการลงโทษ ไม่ใช่สถานที่ที่คนเข้าไปเพื่อให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งเหตุผลที่มันยังเป็นเช่นนั้นเพราะระบบทัณฑสถานเองก็ยังมองและบริหารจัดการมันแบบนั้น
แต่จะโทษใครได้? ในเมื่อระบบทำให้เราเห็นคนรวยผู้ไม่ได้รับโทษจากสิ่งที่เขาทำเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่คนจนที่ทำน้อยกว่านั้นมากกลับไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน ยังมีการหาเหตุผลสุดเซอร์เรียลให้ผู้มีอำนาจไม่ผิดทั้งๆ ที่ค้านสายตาตั้งแต่ประชาชนจนนักกฎหมายทั่วประเทศ และความเลือกปฏิบัติจากหลายๆ ฝ่ายในการเรียกร้องทางการเมือง การเดินเข้าหาความแค้นแม้จะเป็นเรื่องที่รู้อยู่แก่ใจเราว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นบวกนัก แต่ในมุมมองของเราในฐานะมนุษย์ เรามีตัวเลือกที่จะเชื่อถือในระบบความยุติธรรมขนาดไหน?
แต่ถึงอย่างนั้นแล้วอย่าลืมที่จะตั้งคำถามกับความแค้นและการล้างแค้นอยู่เสมอ ระดับบุคคลมนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ และมนุษย์ย่อมผิดพลาดและเลยเถิด การมีระบบและกฎหมายนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อจำกัดให้ความผิดพลาดเหล่านั้น และเมื่อระบบเองก็ไม่เวิร์คเราอาจแค้น แต่เมื่อเราแค้นสิ่งที่เราเลือกได้คือเราจะทำอะไรกับมัน และหากให้อภัยไม่ได้ ก็จงล้างแค้น แต่การล้างแค้นที่เราหมายถึงไม่ใช่การลงโทษคนนอกเหนือกฎหมาย
แต่คือการใช้ความเคียดแค้นระดับสังคมเป็นแรงผลักดันให้ระบบที่ก่อมันเปลี่ยนแปลงต่างหาก
อ้างอิงข้อมูลจาก