ยังจำตัวเองเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้ไหม? ตัวเราในวันนี้ เปลี่ยนไปจากในวันนั้นมากหรือเปล่า? แล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า คิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านี้ไหม?
หลายๆ ครั้งที่เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า “ตัวเราในวันนี้ จะเป็นคนกำหนดตัวเราในวันหน้า” ซึ่งนั่นอาจจะไม่จริงเสมอไป ลองคิดย้อนเทียบตัวเราวันนี้กับในอดีตดูสิ เราอาจจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นจนแทบไม่เหลือบางอย่างที่เคยมีเมื่อ 10 ปีก่อนเลยด้วยซ้ำ
เช่นกัน.. ตัวเราในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า อาจไม่ได้ถูกกำหนดจากตัวเราในวันนี้ทั้งหมด ถึงวันนี้ เราอาจจะรู้สึกว่าตัวเราในอนาคตอาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปจากวันนี้มากนัก แต่จริงๆ เรากำหนดอนาคตได้ โดยไม่ต้องอ้างอิงจากประสบการณ์ในปัจจุบันเสมอไป และนั่นคือ ‘Psychology of Future Self’ วิธีออกแบบตัวเราอนาคตที่นักจิตวิทยาเสนอไว้
ทำไมต้อง Psychology of Future Self?
นั่นก็เพราะงานศึกษาในสาขาจิตวิทยาที่ผ่านมาและการคาดการณ์ถึงอนาคตของคนส่วนใหญ่ มักติดอยู่ในกรงขังของประสบการณ์ในอดีตและปัจจุบัน (อาจเพราะได้รับอิทธิพลแบบฟรอยด์) นั่นทำให้ “มนุษย์มักคิดว่าตัวเราในปัจจุบันคือเวอร์ชั่นที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว แม้ว่ามันจะไม่จริงก็ตาม” (Human beings are works in progress that mistakenly think they are finished.) ตามที่ Daniel Gilbert หนึ่งในนักจิตวิทยาที่ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง ‘The End of History Illusion’ อธิบายไว้
งานวิจัยชิ้นนี้ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันเกือบสองหมื่นคน ในช่วงอายุตั้งแต่ 18-68 ปี แล้วพบว่า คนส่วนใหญ่มักคิดว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับพวกเขาไปแล้วในอดีต ส่วนอนาคตนั้นคงจะไม่ค่อยเกิดการเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก รวมถึงยังคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่ำกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงทั้งนั้น
ตัวอย่างเช่น คนอายุ 30 ส่วนใหญ่ บอกว่าพวกเขาไม่ได้ชอบอาหารที่พวกเขาเคยชอบตอนอายุ 20 แต่คนอายุ 20 คิดว่าตัวเองจะยังชอบอาหารที่ชอบอยู่ในอีกสิบปีข้างหน้า หรือคนอายุ 50 บอกว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาไม่ได้เชื่อเหมือนตอนที่เขาเคยเชื่อตอนอายุ 40 ส่วนคนอายุ 40 กลับคิดว่าพวกเขาจะยังมีความเชื่อหลายอย่างเหมือนเดิมอยู่ในตอนอายุ 50
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราต่างมีศักยภาพในการจินตนาการและจำลองเหตุการณ์ในอนาคตมากกว่านั้น ซึ่งอธิบายได้ด้วยจิตวิทยาสาขา Prospective Psychology ที่บอกว่า มนุษย์เราสามารถเห็นโอกาสและจินตนาการได้ถึงสิ่งที่ยังไม่มี ยังไม่เกิดขึ้น ผ่านบุคลิกภาพแบบเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ๆ (Openness to experience) แถมยังสามารถใช้มันช่วยขับเคลื่อนปัจจุบัน ไปสู่อนาคตแบบที่เราอยากเป็นได้อีกด้วย
นอกจากนี้ Hal Hershfield นักจิตวิทยาจาก UCLA ยังเคยลองศึกษาผลของการสร้าง Future Self กับการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของคน แล้วพบว่าการมองหาสิ่งที่เราอยากเปลี่ยนแปลง แล้วสร้าง Future Self ให้เป็นคนละคนกับตัวเราในปัจจุบัน ช่วยสร้างเป้าหมายให้การตัดสินใจง่ายขึ้น แตกต่างออกไป และได้ผลลัพธ์ที่ต้องการมากขึ้น
ทำอย่างไรให้ Future Self เกิดขึ้นได้จริง?
Benjamin Hardy เสนอวิธีในการทำ Future Self ใน Harvard Business Review ไว้ 3 ขั้นตอนเบื้องต้นง่ายๆ คือ
1.แยกอดีต ปัจจุบัน และอนาคตออกจากกันให้ได้ : เป็นปกติที่เราจะมองปัจจุบันเป็นภาพใหญ่ และยึดมั่นกับสิ่งที่เราเป็นในวันนี้ แต่ Dr. Ellen Langer นักจิตวิทยาจาก Harvard บอกว่าการแปะป้ายหรือแม้แต่ใช้คำบอกว่า “ฉันเป็น..” ก็มีส่วนทำให้เราปิดประตูใส่ความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะเข้ามา ดังนั้น ดีกว่าการที่บอกว่าตัวเองเป็นอะไรในวันนี้ คือการบอกว่าฉันเปลี่ยนแปลงจากเมื่อวานมายังไงบ้าง
ทางหนึ่งที่ช่วยให้สังเกตและใส่ใจความเปลี่ยนแปลงได้ คือการติดตามและบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อาจจะเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี เมื่อไหร่ที่เราเริ่มแยกแยะความเปลี่ยนแปลงตัวเองจากอดีตมาปัจจุบันได้ การมองการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตได้ก็จะง่ายขึ้นเช่นกัน
2.คิดถึงตัวเองที่อยากให้เป็นในอนาคตให้ออก : การจินตนาการถึงอนาคตนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน ถามว่าให้คิดถึงตัวเองใน 3 ปี 5 ปี 10 ปี อาจจะนึกไม่ออกทันที (แค่ปีหน้า บางทียังเป็นเรื่องยากเลย) แต่หากเราไม่ลองทำ ชีวิตเราก็จะไหลไปแบบเลยตามเลย จนรู้ตัวก็เสียดายที่พลาดอะไรไปหลายอย่าง
หนึ่งในตัวช่วยที่จะก่อร่างสร้างภาพตัวเองในอนาคตได้คือ ‘Deliberate Practice’ ที่มีหลักการ 5 อย่างคือ 1) ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและเป็นไปได้ 2) ตัดสิ่งรบกวนออกไปให้หมด 3) ทำให้สำเร็จไปทีละอย่างและวัดผลอยู่เสมอ 4) ปรับวิธีการอยู่เสมอ และ 5) จินตนาการภาพตัวเองทำสำเร็จซ้ำๆ โดยอาจจะทำให้เป็นบันทึก (Journaling) อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น
แรงจูงใจและความหวังในการทำอะไรสักอย่าง ไม่ได้มาจากการฟังหรือเห็นอะไรบันดาลใจเพียงอย่างเดียว แต่มักจะมาจากผลลัพธ์ที่วัดผลและจับต้องได้ บวกกับการมองเห็นวิธีการไปถึงเป้าหมายและความเป็นไปได้ที่จะทำสำเร็จต่างหาก
3.เปลี่ยนวิธีอธิบายตัวตนของคุณ (Identity) : ก่อนอื่นต้องแยกให้ออกก่อนระหว่างอัตลักษณ์ (Identity) และบุคลิกภาพ (Personality) อัตลักษณ์นั้นทรงพลังกว่า มันสามารถขับเคลื่อนทัศนคติและพฤติกรรมต่างๆ จนกลายมาเป็นบุคลิกภาพ
สังเกตว่าเวลาคนให้เราแนะนำตัว วิธีอธิบายตัวตนของเรานั้น มักจะยึดโยงอยู่กับอดีตและปัจจุบัน จนถ้ามันถูกจำกัดไว้แค่นั้น มันอาจจะส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมต่างๆ จนกลายเป็นบุคลิกภาพในอนาคตของเราได้ แต่ถ้าเรามีตัวตนในอนาคตที่คิดภาพไว้ชัดเจน เราอาจเปลี่ยนวิธีอธิบายตัวตนของเรา จนทำให้บุคลิกภาพเราเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่เราอยากเป็นได้ (State of Becoming)
อย่างที่บอก แม้การจินตนาการถึงอนาคตนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ลองท้าทายตัวเองด้วยการคิดถึง Future Self สิ่งที่เราอยากในอีก 10 ปีข้างหน้า นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้หลุดจากวิธีคิดและชีวิตแบบเดิมๆ กล้าหวังกับอนาคตแบบใหม่ๆ และเปลี่ยนอนาคตให้เป็นแบบที่เราอยากเป็นได้ ไม่ว่าเมื่อวานและวันนี้ของเราจะเป็นแบบไหนก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
อ่านเพิ่มเติม
– The End of History Illusion: https://wjh-www.harvard.edu/~dtg/Quoidbach%20et%20al%202013.pdf
– Shaping One’s Future Self – The Development of Deliberate Practice: https://www.researchgate.net/publication/281428331_Shaping_One%27s_Future_Self_-_The_Development_of_Deliberate_Practice
– Pragmatic Prospection: How and Why People Think about the Future: https://journals.sagepub.com/doi/10.1037/gpr0000060
– Future self-continuity: how conceptions of the future self transform intertemporal choice: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3764505/