สมองและจิตใจมนุษย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก บางทีเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนนั้นตัดสินใจแบบนั้น ทำไมคนนี้ถึงรู้สึกแบบนี้ และบางทีเราก็ไม่เข้าใจตัวเองด้วยซ้ำ มันจึงมีการทดลองทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์มากมาย เพื่อพยายามหาคำอธิบายให้กับสิ่งที่เราไม่เข้าใจในจิตใจของมนุษย์
ศตวรรษที่ผ่านมา มีการทดลองเกิดขึ้นจนนับไม่ถ้วน หลายการทดลองก็เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว แต่ข้อค้นพบของมันก็ยังถูกหยิบยกมาใช้อธิบายหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันได้เสมอ บทความนี้เลยอยากชวนทบทวน 5 การทดลองในรอบศตวรรษที่ผ่านมา และชวนให้เราคิดทบทวนรวม ถึงตั้งคำถามสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราและสังคมของเราในวันนี้
Asch Conformity Experiment : เราซื่อสัตย์ต่อความเชื่อของตัวเองแค่ไหน?
Solomon Asch นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ลองค้นหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่าเราซื่อสัตย์ต่อความเชื่อของตัวเองแค่ไหน ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1951 ผ่านการทดลองด้านจิตวิทยา (ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า Conformity Experiment) เพื่อดูว่าการตัดสินใจของคนหมู่มาก สามารถเปลี่ยนแปลงหรือโน้มเอียงการตัดสินใจหรือความเชื่อของปัจเจกบุคคลได้หรือไม่
วิธีการนั้นง่ายมากคือ ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองบอกว่าเส้นไหนในบรรดาตัวอย่างที่เตรียมไว้ให้มีขนาดยาวที่สุด โดยแอบบอกคนทั้งห้องล่วงหน้าไว้ (ยกเว้นคนเดียว) ให้เลือกคำตอบที่ผิดเหมือนกันหมด กลายเป็นว่าคนเดียวที่ควรจะตอบถูกนั้น เลือกที่จะตอบผิดตามคนหมู่มากถึง 37% ทั้งที่คำตอบก็เห็นชัดอยู่ตรงหน้า
Asch ให้เหตุผลที่คน 37% ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ค้านกับความเชื่อของตัวเองไว้ว่า เป็นเพราะพวกเขาเชื่อว่าคนส่วนมากอาจจะมีความรู้หรือข้อมูลมากกว่าเราที่เรารู้ และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน (Informational Influence) ไม่อย่างนั้นก็คงไม่ตอบเหมือนกันหมด หรืออีกเหตุผลก็เป็นเพราะพวกเขาไม่อยากแปลกแยกไปจากกลุ่ม (Normative influence)
แม้การทดลองนี้จะเกิดขึ้นมา 70 ปีแล้ว แต่หากเราหันมามองตัวเราหรือสังคมของเราในวันนี้ มันยังคงมีปรากฏการณ์แบบ Conformity Experiment อยู่ และนั่นทำให้เราควรจะตั้งคำถามกันให้มากๆ ว่า อะไรบ้างที่เรากำลังยอมเป็นคน 37% ที่เชื่อเพราะคนส่วนใหญ่เชื่อ ทั้งที่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น
The Lost in the Mall Experiment : ความทรงจำของเราอาจไม่ใช่ของเราเสมอไป
เชื่อไหมว่าเราสามารถสร้างความทรงจำใหม่หรือบิดเบือนความทรงจำในสมองของมนุษย์ได้ การทดลองของ Elizabeth Loftus ในช่วงปี ค.ศ.1974-1979 เป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์สิ่งนี้ โดยการทดลองฝังความทรงจำที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงลงในสมอง
โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับการบอกเล่าเรื่องราวในวัยเด็กของตัวเอง 4 เรื่อง ซึ่ง 1 ใน 4 เรื่องของทุกคนนั้นเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาเหมือนกัน คือพวกเขาเคยหลงกับพ่อแม่ในห้างสรรพสินค้า เมื่อเวลาผ่านไป ทีมวิจัยได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมอีกครั้งเกี่ยวกับ 4 เรื่องราวในวัยเด็กนั้น ปรากฏว่า 25% ของผู้เข้าร่วมการทดลองพูดถึงเหตุการณ์หลงในห้างสรรพสินค้า โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในวัยเด็กจริงๆ บางคนถึงกับเล่าลึกลงไปในรายละเอียดด้วยซ้ำ
หลังการทดลองของ Loftus ก็มีอีกหลายคนทำการทดลองในลักษณะเดียวกัน ซึ่งผลก็ออกมาไม่ต่างกันว่าความทรงจำของมนุษย์นั้นเปราะบางและถูกปั้นแต่งได้โดยง่าย
นักจิตวิทยาหลายคนเลือกใช้ข้อค้นพบจากการทดลองนี้ ไปประยุกต์เป็นวิธีการรักษาบาดแผลทางจิตใจ แต่อย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่ถูกบิดเบือนหรืออาจถูกสร้างขึ้นใหม่ ก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ชักจูงให้เกิดพฤติกรรมและการตัดสินใจอันเลวร้ายได้ อย่างเช่นกรณีของ Nancy Anneatra ที่ถูกนักจิตบำบัดสร้างความทรงจำปลอมเกี่ยวกับการถูกข่มขืนโดยพ่อของเธอ จนทำให้ถึงกับต้องขึ้นศาลและตัดความสัมพันธ์กันในครอบครัว หรือการให้ปากคำของพยานเกี่ยวกับอุบัติเหตุหรือคดีที่เกิดขึ้น ที่อาจส่งผลต่อการตัดสินชีวิตใครหลายคน
Cognitive Dissonance Experiment : เราต่างก็หาทางให้ตัวเองสบายใจกันทั้งนั้น
Leon Festinger ได้เสนอทฤษฎีที่เรียกว่า ‘Cognitive Dissonance’ ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1957 โดยอธิบายว่า เมื่อเราต้องทำบางอย่างที่ค้านกับความคิดความเชื่อของเรา เราจะพยายามหาวิธีการทำให้สองอย่างนั้นตรงกันให้ได้ เพี่อทำให้ตัวเองสบายใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล หรือการตัดสินใจที่บิดเบี้ยวได้
Festinger ได้พิสูจน์ทฤษฎีที่เขาเสนอ ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งทำงานง่ายๆ ที่ซ้ำซากและน่าเบื่อ จากนั้นก็ให้ผู้เข้าร่วมไปช่วยบอก (โกหก) อาสาสมัครคนอื่นๆ ที่จะมาช่วยงานเพิ่มว่างานนี้เป็นงานที่น่าสนใจมากๆ โดยผู้เข้าร่วมจะได้ค่าตอบแทนจากการไปบอกอาสาสมัครคนอื่นๆ คือ กลุ่มหนึ่งได้ 1 ดอลลาร์ และอีกกลุ่มได้ 20 ดอลลาร์ (แต่พวกเขาไม่รู้ว่าได้ไม่เท่ากัน)
เห็นแบบนี้ เราอาจจะนึกว่ากลุ่มที่ได้ค่าตอบแทน 20 ดอลลาร์ จะทำการโอ้อวดความน่าสนใจให้คุ้มค่าตัว แต่เปล่าเลย.. กลุ่ม 1 ดอลลาร์ กลับเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มมากกว่าที่จะบอกคนอื่นว่างานที่พวกเขาทำน่าสนใจ (แม้หลายคนจะยอมรับในตอนสุดท้ายว่ามันไม่ได้น่าสนใจก็ตาม) Festinger อธิบายความไม่สมเหตุสมผลนี้ว่าเป็นเพราะ กลุ่ม 1 ดอลลาร์นั้น แม้ไม่ได้มีแรงจูงใจด้านตัวเงิน แต่พวกเขาต้องการที่จะลดความขัดแย้งในจิตใจตัวเอง พยายามปลอบใจตัวเองว่าฉันไม่ได้ยอมทำงานที่น่าเบื่อนะ งานที่ฉันทำมันมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจนะ ฉันถึงยอมทำมัน
การทดลองของ Festinger จึงพอทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมหลายๆ ครั้ง ความคิดและการตัดสินใจของมนุษย์ (รวมทั้งตัวเรา) จึงดูไม่สมเหตุสมผลหรือตรงไปตรงมา นั่นเพราะในสมองและจิตใจเรามีเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากกว่าที่เห็นด้วยตา ทีนี้ก็อาจจะเป็นหน้าที่เราที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองและสังคมว่า ความบิดเบี้ยวที่เราสร้างขึ้นเพื่อความสบายใจนั้น มันส่งผลเสียแค่ไหนและกับใครบ้าง
Learned Helplessness Experiment : ความผิดหวังซ้ำๆ ทำให้คนเราสิ้นหวังได้
Martin Seligman ได้ทำการทดลองหนึ่งไว้ในปี ค.ศ.1967 เป็นการทดลองกับสุนัข โดยเริ่มต้นจากการสร้างเงื่อนไขการเรียนรู้ผ่านการแบ่งพวกมันออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะถูกมัดไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วปล่อยไป กลุ่มที่สองจะถูกมัดไว้และเมื่อมีเสียงดังขึ้นเมื่อไหร่ มันจะถูกช็อตด้วยไฟฟ้า แต่ถ้ามันใช้จมูกหรือเท้ากดปุ่มที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะไม่โดนช็อต ส่วนกลุ่มที่สามจะถูกมัดไว้และถูกช็อตไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ไม่มีทางที่มันจะหยุดไฟไม่ให้ช็อตได้
จากนั้น สุนัขทั้งสามกลุ่มจะถูกพาเข้าไปอยู่ในกล่องที่คั่นกลางด้วยไม้ที่เตี้ยพอให้กระโดดข้ามได้ ฝั่งที่พวกมันอยู่จะมีไฟฟ้าช็อต ส่วนอีกฝั่งคือด้านที่ปลอดภัย เมื่อมีเสียงและไฟฟ้าช็อตในกล่อง สุนัขกลุ่มหนึ่งและสองจะรีบกระโดดมาอีกฝั่งทันที ขณะที่สุนัขกลุ่มที่สามส่วนใหญ่จะนั่งอยู่กับที่ แม้จะสามารถกระโดดข้ามได้เหมือนกัน
Seligman อธิบายว่านั่นเป็นเพราะสุนัขกลุ่มที่สามเรียนรู้มาว่าจากช่วงแรกของการทดลองว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไร พวกมันก็ไม่มีทางหนีรอดจากไฟฟ้าช็อตได้
ต่อมาในปี ค.ศ.1974 มีผู้ทำการทดลอง Learned Helplessness ในทำนองเดียวกันกับมนุษย์ แต่เปลี่ยนจากการช็อตไฟฟ้าเป็นการเปิดเสียงรบกวน โดยกลุ่มแรกจะได้อยู่ในห้องที่ไม่มีเสียงรบกวน ห้องของกลุ่มที่สองจะมีเสียงรบกวนพร้อมปุ่มที่ปิดเสียงได้ ส่วนห้องของกลุ่มที่สามก็มีเสียงรบกวน แต่ปุ่มกดปิดเสียงในห้องนั้นจะไม่ทำงาน จากนั้นจะพาคนทั้งสามกลุ่มเข้าไปอยู่ในห้องที่มีเสียงรบกวนและมีปุ่มปิดเสียงที่ใช้งานได้ ผลปรากฏว่ามีเพียงกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองเท่านั้นที่ลุกขึ้นไปกดปิดเสียง ส่วนกลุ่มที่สามส่วนใหญ่ไม่มีความพยายามที่จะลุกไปกดปุ่มด้วยซ้ำ
ผลการทดลองกับสุนัขและคน ได้ยืนยันทฤษฎี Learned Helplessness ของ Seligman ว่าเมื่อคนเราผิดหวังกับสิ่งที่พยายามแล้วมากๆ เข้า เราจะหยุดพยายามแล้วยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ แม้จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงหรือทำให้สถานการณ์ดีขึ้นก็ตาม นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำไมหลายๆ คนจึงยอมแพ้กับบางอย่างในชีวิต
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่อง Learned Helplessness ของ Seligman ไม่ได้ต้องการแค่พิสูจน์ว่าคนเราผิดหวังจนสิ้นหวังได้เท่านั้น แต่ต้องการจะหาทางออกว่า หากความสิ้นหวังเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การกลับมามีความหวังก็เช่นกัน Seligman จึงได้ทดลองเรื่องนี้ต่อ ด้วยการพาสุนัขกลุ่มที่สิ้นหวังมายังอีกฝั่งของกล่อง เพื่อให้รู้ว่ากล่องอีกด้านไม่มีกระแสไฟฟ้า หลังจากเรียนรู้แล้ว สุนัขแทบทุกตัวจะกระโดดมาอีกฝั่งได้ด้วยตัวเอง 20 ปีต่อมา Seligman ยังได้ออกหนังสือเพื่อบอกเล่าทฤษฎี Learned Optimism ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวกด้วย (Positive Psychology)
Learned Helplessness และ Learned Optimism อาจจะเป็นคำอธิบายที่ชวนให้เราได้คิดทบทวนกับวิกฤตการณ์ที่เราทุกคนเจอกันอยู่ตอนนี้ ทั้งสถานการณ์โรคระบาด ไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่กระหน่ำกันเข้ามา จนเราอาจหมดหวัง โศกเศร้า และเหนื่อยหน่ายจนหลงลืมที่จะคิดหาทางออกหรือลองพยายามอีกครั้ง เพื่อพบว่ามันอาจมีทางให้เราข้ามไม้กั้นนั้นและไม่โดนไฟฟ้าช็อตก็เป็นได้
Stanford Prison Experiment : ไม่มีใครที่ไม่อ่อนไหวต่ออำนาจ
หลายๆ คนถึงกับเรียกการทดลองของ Philip Zimbardo เมื่อปี ค.ศ.1971 ว่าเป็นการทดลองทางจิตวิทยาที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ Zimbardo ต้องการพิสูจน์ว่าเมื่อคนมีอำนาจและเมื่อคนอยู่ใต้อำนาจ มันจะส่งผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของพวกเขาเพียงใด
Zimbardo ได้จำลองคุกขึ้นมาแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัย Stanford จากนั้นนักเรียนผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับบทบาทเป็นผู้คุมที่ต้องกำกับดูแลคุก และนักโทษที่ต้องเชื่อฟัง แม้ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่านี้คือคุกจำลอง แต่กลายเป็นว่ามีเหตุการณ์จริงที่น่าตกใจเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงของกลุ่มที่ได้รับบทบาทเป็นผู้คุม ด้วยความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นผู้ถืออำนาจเหนือกว่า หรือการปฏิวัติของนักโทษบางคนที่รู้สึกถูกกดขี่อย่างอยุติธรรม ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ ไม่มีใครเลยที่คิดจะถอนตัวจากการทดลองนี้ เพราะทุกคนรู้สึกอินกับบทบาทที่ได้รับ แต่ท้ายที่สุด Zimbardo ก็ต้องยุติการทดลองนี้ลง เมื่อสถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงในคุกจำลอง และถูกตั้งคำถามจากเพื่อนนักจิตวิทยาเกี่ยวกับศีลธรรมของการทดลองของเขา
เมื่อการทดลองสิ้นสุด นักเรียนที่รับบทเป็นผู้คุมหลายคนบอกว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองมีความคลั่งอำนาจอยู่ในตัว ส่วนผู้ที่รับบทเป็นนักโทษก็ไม่อยากจะเชื่อว่าตัวเองจะยอมจำนนหรือควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้
การทดลองของ Zimbardo นี้ทำให้เราเห็นถึงความอ่อนไหวต่ออำนาจของมนุษย์ ทั้งในมุมของผู้ที่ได้รับบทเป็นนักโทษที่ ‘ยอมจำนนต่ออำนาจ’ และเริ่มเข้าสู่ภาวะ Learned Helplessness หลังก่อการจลาจลในคุก แต่กลับไม่เป็นผล และยังต้องเผชิญกับความโหดร้ายของผู้คุมแบบต่อสู้ไม่ได้ รวมถึงในมุมของผู้คุมที่ ‘หลงใหลในอำนาจ’ ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้เป็นคนชอบความรุนแรงมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมีอำนาจ (ที่เชื่อว่า) โดยชอบธรรมในมือ บวกกับความรู้สึกว่าความรุนแรงเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานของกลุ่ม พวกเขาจึงกล้าทำเรื่องเลวร้าย ซึ่งมันก็ชวนให้เราคิดว่า ในสถานการณ์สังคมปัจจุบัน เรากำลังมีใครที่ต้องยอมจำนนและใครที่กำลังบ้าคลั่งหลงใหลอำนาจอยู่บ้าง แล้วเราจะสามารถตรวจสอบหรือตั้งคำถามกับพวกเขาได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ทุกๆ การศึกษาทดลองทางจิตวิทยาย่อมมีข้อจำกัดในการสรุปผล รวมถึงประเด็นด้านศีลธรรมที่ต้องคิดทบทวนเพิ่มขึ้นมาตามยุคสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้หรือผลลัพธ์ที่ได้มา ก็เป็นจุดตั้งต้นให้เราได้เข้าใจความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์แบบเราๆ ที่อาจเคยไม่เข้าใจมาก่อน รวมถึงเกิดการศึกษาเพิ่มเติมในเวลาต่อมา
ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง.. เราอาจจะได้รู้จักจิตใจของเราจริงๆ รวมทั้งเข้าใจได้ว่าเหตุใดเพื่อนมนุษย์ของเราเขาจึงเป็นเช่นนั้น
อ้างอิงจาก