การซื้อขายบนโลกออนไลน์กำลังทำให้อาชญากรรมสัตว์ป่าน่ากลัวขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะ ความลับ/ลวง/พรางหลายขมวด เฟซบุ๊กของคุณเองจึงกลายเป็นพื้นที่อันน่าเชิญชวนให้ผู้ค้าสัตว์ป่าทั้งรายใหญ่และรายย่อยตบเท้าเข้ามาหากินบนสิ่งมีชีวิตอื่นกันพัลวัน การซื้อ-ขายสัตว์ป่าไม่เพียงยุติที่ feedback ลูกค้าถูกใจ ผู้ค้าได้เงิน แต่ยังทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพในทุกมิติของประเทศกำลังสั่นคลอน อะไรทำให้เราไม่ควรยอมให้ธุรกิจมะเร็งกัดกินทรัพยากรของชาติอีกต่อไป
รับพรี-ออเดอร์ครับ ลงชื่อไว้ได้เลย
จะเลือกพรีออเดอร์ของแบรนด์เนม หรือจะติดจองรองเท้า Limited Edition รุ่นล่าสุด ไม่ว่าคุณปรารถนาซื้อขายสินค้าอะไร เฟซบุ๊กก็เปิดโอกาสให้คุณได้เป็นพ่อค้าและแม่ขายอย่างเท่าเทียมกัน (อาจจำเป็นต้องมีเงินจ่ายค่า boost หน่อย เพราะตามาร์คเริ่มจะเขี้ยวหนักแล้ว) แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องว่างอันโอชะให้เหล่าผู้ประกอบการหากินกับสัตว์ป่ามากขึ้น อันถือว่าเป็นอาชญากรรมสัตว์ป่า (Wildlife Crime) ที่แก้ไขและปราบปรามยาก เพราะนับว่าเป็นธุรกิจมืดที่ทรงอิทธิพลสูงสำหรับประเทศไทย มีเม็ดเงินไหลสะพัดในธุรกิจนี้หลายแสนล้านบาทต่อปี เป็นรองก็เพียงแค่ธุรกิจค้ายาเสพติดเท่านั้น
ยิ่งในปัจจุบันความสนใจเลี้ยงสัตว์แปลกๆ (Exotic Animal) เริ่มทำให้รสนิยมของคนเลี้ยงต้องการครอบครองสัตว์แหวกแนวที่ดูพิเศษกว่าชาวบ้านชาวช่อง เรียกร้องให้มีการดักสัตว์ในพื้นที่ธรรมชาติมาประดับบารมี (รวมถึงกลุ่มที่นิยมบริโภคสัตว์ป่าด้วยความเชื่อทางสรรพคุณยา) โดยตั้งเป็นกลุ่มลับที่รับเฉพาะสมาชิกที่ ‘เลือกสรร’ แล้วเท่านั้น ทำให้การค้าสัตว์ป่าในโลกออนไลน์ปรากฏอยู่ในทุกที่ แต่ตัวผู้ประกอบการแท้จริงมักซุกซ่อนในที่ที่กฎหมายไม่สามารถเอื้อมไปถึง ผนวกกับเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ที่มีช่องทางใหม่ๆ เป็นกุรุส ตามอัพเดทกันไม่หวาดไม่ไหว
“แต่จะไม่ทำต่อไปก็ไม่ได้ เพราะหากไม่มีใครทำแล้ว ใครจะปกป้องสัตว์พวกนี้”
พี่นุวรรต ลีลาพตะ รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า หรือในชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า ‘ชุดเหยี่ยวดง’ ทำงานปราบปราม จับกุม ยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีเป้าหมายเป็นกลุ่มค้าสัตว์ป่าทางอินเทอร์เน็ตหรือทางสื่อออนไลน์ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ เมื่อผู้ค้าสัตว์ป่าตบเท้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ล้วนอำพรางกายภายใต้ฉากหน้าที่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ยิ่งทำให้การสืบสวนซับซ้อนเข้าไปใหญ่
“คุณรู้ไหมว่า ผู้ค้าบางรายอาจมี avatar ในการซื้อขายสัตว์มากถึง 11 avatar ที่สามารถสลับเปลี่ยนได้ทุกเวลา ทำให้เราติดตามแหล่งกักเก็บสัตว์ได้ยาก หากมีสัดส่วนคดีที่เราสืบ 100 คดี มักเกิดการจับกุมที่ประสบความสำเร็จเพียง 10 คดีเท่านั้น ดังนั้นอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายและละเอียดอ่อนมากในเวลาเดียวกัน” พี่นุวรรต รองหัวหน้าชุดเหยี่ยวดง กล่าว
แม้ต้องเผชิญอุปสรรคด้านกำลังเจ้าหน้าที่ แต่ชุดเหยี่ยวดงกลับมีผลงานที่โดดเด่น เพียงแค่ 7 เดือน ระหว่างพฤษภาคม – กันยายน ปี 2560 มีการจับกุมการกระทำผิดกฎหมายด้านสัตว์ป่าถึง 40 คดี ได้ของกลางเป็นสัตว์ป่าถึง 1,161 ตัว และซากสัตว์ป่าอีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นงานที่แข่งขันกับเวลา ความโลภของมนุษย์ และชีวิตสัตว์ป่าอันประเมินค่าไม่ได้เป็นเดิมพัน
พรีออเดอร์เท่านั้น เมื่อผู้ค้าเปลี่ยนกลยุทธ์
เย็นนม , Ploy Pk Tan , โอบนิธิ โอบนิธิ, รวิสรา สิริ เวช, แมน บ้านโป่ง รักสัตว์, นายพนม ชุ่มอนงค์ และ วชิราภรณ์ ธีรเกษมภพ
รายชื่อพิลึกๆ เหล่านี้คือ Username ของผู้ค้าสัตว์ป่า ‘รายใหญ่’ ของประเทศไทยที่ถูกจับกุมได้ ล้วนเป็นเครือข่ายที่รู้จักมักจี่กันอย่างดี มีการติดต่อสื่อสารตลอดเวลา และมักอยู่ในกลุ่มปิด (Close Group) ของเฟซบุ๊ก ที่หากคนสนใจซื้อสัตว์ป่าจากผู้ค้าเหล่านี้ ต้องส่งคำร้องรอให้กลุ่มอนุญาต โดยจะมีการตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างละเอียด ถึงจะมีส่วนร่วมในการซื้อขายสัตว์ได้
ในอดีตผู้ค้าจะมีการสต็อกสัตว์ป่าเก็บไว้ในบ้านหรือแหล่งแอบซ่อน คล้าย ‘รัง’ แต่เมื่อถูกปราบปรามบ่อยครั้ง จึงเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นรับพรีออเดอร์เท่านั้น เช่น รับพรีออเดอร์นางอาย นกกาฮัง เม่นใหญ่ งูหลามทอง ชะมด แล้วให้คนที่สนใจโอนเงินหรือเริ่มประมูล จากนั้นผู้ค้าจะส่งออเดอร์ไปยังพรานเพื่อเป็นหมายสั่งล่าสัตว์ป่า หรือเช็กกับเครือข่ายว่ามีสัตว์ป่าเลี้ยงอยู่บ้างหรือไม่ หากมีก็จะหักค่านายหน้าเอา ดังนั้นจึงเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่จะบุกทะลายรังหรือตรวจยึดของกลางได้อย่างคาหนังคาเขา เพราะหากไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาแล้ว ผู้ค้าก็มักมีลีลาหลบเลี่ยงการจับกุมได้เช่นกัน
“พอเปลี่ยนมาเป็นพรีออเดอร์ ผู้ค้าก็จะเอารูปสัตว์ตัวเดิมๆใช้วนไปมาเพื่อให้ลูกค้าได้อ้างอิง จนกระทั่งมีออเดอร์เข้าใหม่ จึงค่อยออกไปล่า ลดพื้นที่และความเสี่ยงจากการกักตุน เทคนิคการขนส่งเองก็มีหลายวิธี อย่างสัตว์ที่อดทนมากอย่าง เต่าหรือไข่นกต่างๆ ก็จะส่งกันดื้อๆ ผ่านไปรษณีย์เลย” พี่นุวรรต กล่าว
การขนส่งเองก็ยังมีความซับซ่อนสูง ผู้ค้าจะนำสัตว์ป่าส่งผ่านคนขับรถทัวร์หรือรถตู้แล้วไปนัดรับกันกลางทาง บางกรณีมีการสั่งจากจังหวัดยะลาโดยที่รถตู้นัดรับกับรถทัวร์เอง ทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่าคันไหน ยากที่เจ้าหน้าที่จะติดตาม
“มีหลายครั้งที่ไปดักจับแต่เช้าตรู่ พอมีการลงของเตรียมจับกุม แต่ปรากฏว่าเป็นเพียงแค่ไก่เลี้ยง หากขืนไปจับก็หน้าแตกเอาเท่านั้น”
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวดงจะต้องประเมินด้วยว่า ผู้ค้าเป็นรายใหญ่หรือรายเล็ก ซึ่งในกรณีรายเล็กมักเป็นพวกมือสมัครเล่น เจ้าหน้าที่เพียงแค่ไปแสดงตัวโดยการตักเตือนในคอมเมนต์ ส่วนใหญ่มักเกิดความกลัวแล้วเลิกไปเอง
ส่วนรายใหญ่เจ้าหน้าที่จะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อหาว่าผู้ค้าเป็นใคร บางรายอาจใช้เวลาถึง 6 เดือนกว่าจะสนิทใจ จนยอมให้เจ้าหน้าที่ล่อซื้อแบบรับกับมือโดยตรง แถมยังต้องลุ้นอีกว่ามีอันตรายเกิดขึ้นระหว่างล่อซื้อหรือไม่ เป็นงานที่เสี่ยงภัยและเอาตัวเข้าแลกอยู่บ่อยครั้ง
“อย่างกรณีผู้ค้าที่ชื่อ ‘พนม ชุ่มอนงค์’ ถึงขั้นคุยว่า เขาเป็นรายใหญ่ที่สุดในแถบพระราม 2 หากจับเขาได้แล้วก็ถือว่าล้างบางการค้าสัตว์ป่าในย่านนั้น เราเจอสัตว์หายากหลายชนิด เช่น นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา ซึ่งในแหล่งธรรมชาติไทยหาไม่พบแล้ว เขาอ้างว่า สั่งตรงมาจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง กว่าจะสืบได้เช่นนี้ ใช้เวลานานหลายเดือนมาก” พี่นุวรรต กล่าวเพิ่มเติม
ถ้าขายในเฟซบุ๊กได้ แล้วเฟซบุ๊กทำอะไรอยู่?
เป็นคำถามที่ง่ายที่สุด แต่กลับดำเนินการยากยิ่งและมีความสับสนอยู่มาก ทางชุดเหยี่ยวดงได้ติดต่อไปยังเฟซบุ๊กเพื่อหาวิธีการร่วมมือ แต่ได้รับการชี้แจงว่า ธุรกิจค้าสัตว์ป่าไม่ได้อยู่ใน 7 ธุรกิจที่เฟซบุ๊กกำหนดไว้ ซึ่งไม่ครอบคลุมอาชญากรรมสัตว์ป่าเลย ดังนั้นแม้เฟซบุ๊กจะมีอำนาจเด็ดขาดในการลบการค้าสัตว์ป่าออกไป แต่เลือกไม่ปฏิบัติ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการขอข้อมูลเพื่อทำการเจาะไปยังกลุ่มผู้ค้า ทุกอย่างต้องทำจากภายนอกเท่านั้น ไม่มีตัวช่วย ดังนั้นมันจึงมีความสำคัญที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กเองต้องร่วมการผลักดันเชิงนโยบายให้อาชญากรรมค้าสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และต้องจัดการขั้นเด็ดขาด
เลี้ยงแล้วกลัวผิด แต่อยากส่งคืนก็กลัวถูกจับ?
แม้การปราบปรามและจับกุมจะเข้มงวดก็ตาม แต่ชุดเหยี่ยวดงก็ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างใจไม้ไส้ระกำ เพราะแท้จริงแล้วผู้ครอบครองสัตว์ป่ามักมีเหตุผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หลายกรณีที่เป็นเรื่องเข้าใจได้ เช่น พบสัตว์ป่าบาดเจ็บแล้วช่วยเหลือ สัตว์พลัดหลงเข้ามาในบ้านเอง หรือที่บ้านเลี้ยงไว้มานานจนสัตว์ป่าเสียสัญชาตญาณไป การส่งต่อสัตว์เหล่านี้ให้ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าโดยตรงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะทางศูนย์มีความพร้อมและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าเป็นพิเศษในการรับมือ
การปล่อยสัตว์เข้าป่าเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นภาระที่ใหญ่หลวงกว่า ถือว่าสนับสนุนให้มีพันธุกรรมแปลกปลอมเข้าไปปะปนกับสัตว์ป่าท้องถิ่น ทำให้เกิดการแพร่กระจายโรค สัตว์ป่ารุ่นต่อๆ ไปอ่อนแอ และทำลายระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง
หากคุณไม่อยากถูกดำเนินคดี แต่อยากนำสัตว์ส่งศูนย์ฯ ผ่านวิธีการที่ดีที่สุดต่อสัตว์ (และตัวคุณเอง) คือการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือสายด่วน 1362 โดยให้มีการลงบันทึกประจำวันก่อน สามารถแจ้งว่า สัตว์ป่าเหล่านั้นเป็น ‘สัตว์ป่าพลัดหลง’
จากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกสัตว์ป่าให้เป็นของกลาง โดยกรมอุทยานจำเป็นต้องทราบที่มาของสัตว์แต่ละตัว ต้องทำแหล่งที่มา เปิดช่องให้คุณเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องได้เช่นกัน ไม่ได้ขู่เข็นจับคนใส่ตะรางซะทีเดียว
อาชญากรรมค้าสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่อยู่ ณ ปลายจมูกของทุกคน มันเป็นธุรกิจมะเร็งร้ายที่ทำลายประชากรสัตว์ป่าและวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรสัตว์ป่า บั่นทอนความมั่นคงทางสังคมและการเมือง การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายยังละเมิดหลักนิติธรรม ส่งเสริมการทุจริตและการฟอกเงิน แพร่กระจายโรคสัตว์สู่คน หากพบเห็นการกระทำผิด สามารถแจ้งสายด่วน 1362 ทันที
เพราะคุณเองมีพลังในการหยุดยั้งการทารุณกรรมทางระบบนิเวศด้วยความใส่ใจและเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดอนาคตเช่นกัน
ขอขอบคุณ
ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า (ชุดเหยี่ยวดง)
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โครงการ USAID Wildlife Asia RTI International
หมอล็อต- ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
Whynot #Wildlive