วัคซีนที่เราฉีดกันมาจะป้องกันได้ไหม อาการของโรคจะรุนแรงขึ้นหรือเปล่า .. คำถามที่หลายคนสงสัย หลังมีข่าวว่า พบ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ได้ชื่อว่า ‘โอไมครอน (Omicron)’
COVID-19 กลายพันธุ์ครั้งนี้ ได้รับการยกสถานะจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็น ‘สายพันธุ์ที่น่ากังวล’ หรือ Variants of Concern (VOC) เป็นสายพันธุ์ที่ 5 ต่อจาก สายพันธุ์เดลตา ที่เป็นสายพันธุ์หลักอยู่ในปัจจุบัน
สายพันธุ์โอไมครอนนี้ถูกพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ และพบแล้วในอย่างน้อย 14 ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา เบลเยียม ฮ่องกง อิสราเอล อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐเช็ก และล่าสุด ญี่ปุ่น โดยมีผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดอยู่ในหลักร้อย
แม้ WHO ระบุไว้ว่า คงต้องใช้เวลาตรวจสอบอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จึงจะทราบข้อมูลของเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้อย่างแน่ชัด แต่ยิ่งรู้ข้อมูลเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่อการวางแผนรับมือเท่านั้น The MATTER จึงไปพูดคุยกับ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร แพทย์อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ถึงข้อมูลสำคัญที่ออกมาแล้วเกี่ยวกับ COVID-19 สายพันธุ์นี้
เชื้อโอไมครอน ‘กลายพันธุ์อย่างน้อย 32 ตำแหน่ง’ หมายถึงอะไร
นพ.มานพ: ตำแหน่งกลายพันธุ์ที่เยอะ ทำให้เราอนุมานได้ว่า เชื้อนี้หลบซ่อนจากการตรวจพบมานาน คือเวลาเชื้อกลายพันธุ์มันไม่ได้เกิดขึ้นทีเดียวหลายสิบตำแหน่งพร้อมกัน แต่จะเกิดการสะสมหลายตำแหน่งพร้อมกันค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องใช้เวลา
การที่เชื้อนี้โผล่ขึ้นมาในทวีปแอฟริกาก็อาจจะเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมเชื้อนี้ถึงอยู่ under the radar มาตลอด เพราะที่แอฟริกาเป็นพื้นที่ที่อาจจะยังมีระบบการเฝ้าระวังไม่ค่อยดี เชื้อนี้อาจจะมีการแพร่กระจายจำนวนน้อยอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ในพื้นที่ห่างไกล
ดังนั้น การเฝ้าระวังทางการระบาดวิทยาเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ในประเทศใหญ่ๆ หรือประเทศฝั่งตะวันตก เราจะเห็นว่าในช่วงการระบาดของเดลตา เขาจะติดตามกันอย่างเข้มข้น อย่างอังกฤษ เขาติดตามกันทุกสัปดาห์เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แต่ในแอฟริกา ระบบเฝ้าระวังไม่พร้อม ก็เลยเกิดปัญหาขึ้น
เท่าที่มีข้อมูล อาการของเชื้อโอไมครอนเป็นอย่างไร
นพ.มานพ: ข้อมูลยังน้อยอยู่ คงจะสรุปทันทีเลยไม่ได้ ถึงแม้จะมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า อาการคนที่ติดเชื้ออาจจะไม่รุนแรง แต่ว่าจำนวนคนไข้ก็ยังน้อยมาก แล้วยังดูเหมือนว่าสถานการณ์ของเมืองที่มีการระบาดอย่างที่โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น จำนวนคนไข้ที่นอนโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีแนวโน้มว่า จริงๆ แล้วคนที่ป่วยจาก COVID-19 สายพันธุ์นี้ อาจจะไม่ต่างกับคนไข้ COVID-19 สายพันธุ์อื่นๆ
เชื้อแพร่ระบาดได้เร็วขึ้นไหม
นพ.มานพ: การบอกว่า เชื้อแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ต้องเทียบกับการระบาดของเชื้อเจ้าถิ่นอย่างสายพันธุ์เดลตา ก็จะเห็นว่ามันสามารถระบาดได้ทั้งที่มีเดลตาอยู่แล้ว ก็มีหลายปัจจัย ต้องดูว่าปัจจัยไหนเป็นสาเหตุหลัก นั่นคือ เชื้อโอไมครอนอาจจะแพร่ง่ายกว่าเดลตาจริงๆ เพราะเชื้อเยอะ ติดง่าย หรืออาจดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์อื่น
อย่าลืมว่าเดลตาเพิ่งจะระบาดไปไม่นานนี้เอง ในแอฟริกาใต้ที่พบโอไมครอนเป็นครั้งแรกก็มีช่วงของการระบาดเป็นเวฟของเดลตา ใกล้เคียงกับประเทศไทย คือเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาเหมือนกัน ฉะนั้น ในช่วงที่มีการระบาดหนักผ่านไปแล้ว ประชาชนส่วนหนึ่งก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาอยู่แน่ๆ บวกกับส่วนหนึ่งก็ฉีดวัคซีนด้วย
ทีนี้การเกิดการระบาดใหม่ของสายพันธุ์นี้ ปัจจัยที่อาจจะเป็นไปได้และอาจจะให้น้ำหนักมากกว่าก็คือ เชื้อนี้ดื้อต่อภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนมากกว่าตัวอื่นๆ อันนี้ก็จะสอดคล้องไปกับข้อมูลการกลายพันธุ์ด้วยว่า การกลายพันธุ์เกิน 2 ใน 3 จะอยู่ในส่วนยีนส์ที่เราเรียกว่า spike หรือส่วนที่สร้างโปรตีนหนาม ซึ่งตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ตัวภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ไปออกฤทธิ์
เชื้อโอไมครอนจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันไหม
นพ.มานพ: เรายังไม่รู้ข้อมูลว่าโอไมครอนจะดื้อแค่ไหน ต้องรออีก 2 สัปดาห์ แต่ถ้าดูจากตำแหน่งของการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ก็มีแนวโน้มว่าจะดื้อมาก อาจจะดื้อกว่าสายพันธุ์ที่ดื้อที่สุด ณ ตอนนี้ เทียบกับสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันอย่างเบตากับมิวแล้ว สายพันธุ์โอไมครอนอาจจะดื้อกว่า นี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมคนที่ติดเดลตาไปไม่นาน อาจจะติดซ้ำได้จากเชื้อโอไมครอน
ฉะนั้น สิ่งสำคัญจะอยู่ที่ระดับภูมิคุ้มกันของเราสูงพอที่จะรับมือหรือเปล่า เพราะไม่ว่าเชื้อจะดื้อมากแค่ไหน ถ้าระดับภูมิคุ้มกันเราสูงมากกว่านั้นเยอะ สายพันธุ์ไหนก็เอาอยู่หมด
การตรวจควรเป็นแบบไหน
นพ.มานพ: จริงๆ แล้ว การกลายพันธุ์จะส่งผลต่อความแม่นยำของการตรวจ RT-PCR มากกว่า ATK เพราะว่า RT-PCR มีการตรวจโดยดูรหัสพันธุกรรมเป็นหลัก ถ้ามีการกลายพันธุ์เปลี่ยนตำแหน่งไปเยอะๆ บางแล็บอาจตรวจไม่ได้ ต้องไปอัพเดทชุดตรวจเรียกว่า Primer ให้มันจับได้ สอดคล้องกันไปกับการเปลี่ยนแปลงของ โอไมครอน
ส่วน ATK ตรวจจากโปรตีน แล้วตำแหน่งของโปรตีนที่เลือกตรวจเกือบทั้งหมด ของประเทศไทยผมไม่ค่อยแน่ใจ แต่เท่าที่เห็นในต่างประเทศ เขาจะตรวจ โปรตีนที่เรียกว่า นิวคลีโอแคปซิด (nucleocapsid) หรือ N protein ซึ่งโปรตีนนี้จะอยู่ส่วนนอก spike ตรงนี้มีการกลายพันธุ์น้อย ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อะไร ATK มักจะยังตรวจได้อยู่ จริงๆ มีข้อมูลจากเยอรมนีว่า คนที่ติดเชื้อโอไมครอน ใช้ ATK ตรวจก็เจอหมด
ตำแหน่งที่กลายพันธุ์มากๆ ไม่ใช่ตำแหน่งเป้าหมายของ ATK สำหรับ ATK มันเลือกตรวจจากตำแหน่งที่มีการกลายพันธุ์ต่ำอยู่แล้ว
ต้องใช้วัคซีนแบบไหน แล้วชนิดไหนจะมาปรับปรุงสูตรได้เร็วที่สุด
นพ.มานพ: อย่างแรกคือต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะจะกระตุ้นภูมิได้ดี ซึ่งก็จะหนีไม่พ้น mRNA อย่างที่สองคือ จะต้องเร่งกระบวนการฉีดบูสเตอร์ให้ดีขึ้น ตามเวลาที่เหมาะสม เพราะเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว เวลาผ่านไปภูมิจะตกลงเป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนอย่างที่สามเรื่องของการปรับสูตร เราสามารถปรับสูตรวัคซีนให้รองรับสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้เสมอ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ซึ่งถ้าดูแพลตฟอร์มของวัคซีนแล้ว mRNA จะปรับสูตรได้ง่ายที่สุด
เชื้อจะมาไทยไหม ต้องป้องกันยังไง
นพ.มานพ: อยู่ที่มาตรการการเฝ้าระวัง นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่าเชื้อจะเข้ามาทางไหนได้บ้าง ตัวผมไม่ค่อยห่วงเชื้อที่เข้ามาทางช่องทางปกติหรอก เรามีมาตรการอยู่ เช่น กำหนดประเทศเสี่ยง หรือให้ตรวจ RT-PCR ก่อน ทำให้เรารู้ว่า ใครที่มีโอกาสติดเชื้อ หรือมาแยกได้ว่าติดเชื้อโอไมครอนหรือเปล่า ไม่ก็ลงท้ายอาจจะต้องเข้า quarantine อีกที แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าจริงๆ คือ คนที่เข้ามาแบบไม่ปกติเนี่ยแหละ อันนี้เราจะไม่รู้เลย
เราเห็นบทเรียนจากครั้งก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่เกิดการระบาด มันเกิดจากการเข้ามาของช่องทางที่ไม่ปกติทั้งนั้น ไม่ว่าจะกรณีของสมุทรสาคร ทองหล่อ หรือแคมป์คนงานที่แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่แรกที่ตรวจพบเชื้อเดลตา จนป่านนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายเลยว่า มายังไง มันไม่มีทางตกลงมาจากฟ้าแน่ๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่กังวล