บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องส่วนหนึ่งของ Rogue One
ใครที่ได้ชม Rogue One ภาพยนตร์ในจักรวาล Star Wars มาแล้ว และไม่ได้ทราบข่าวมาก่อน คงแปลกใจกับการปรากฏตัวของ Peter Cushing ผู้รับบทเป็น Grand Moff Tarkin ‘ตัวร้าย’ ของเรื่อง ว่าทำไมถึงมาได้อะห์ ลุงเสียชีวิตไปแล้วไม่ใช่เหรอ (Cushing เสียชีวิตในปี 1994)
และหากคุณเป็นผู้ที่ไม่ติดตาม Star Wars มาก่อนหน้านี้เลย และเพิ่งมาชมภาค 7 และภาค Rogue One ในปีนี้ ก็คงรู้สึกได้ว่า เอ๊ะ ทำไมนักแสดงคนนี้ ‘เหมือนคอมพิวเตอร์กราฟิก’ – ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ Grand Moff Tarkin ในภาค Rogue One นั้นเป็นคอมพิวเตอร์กราฟิกล้วนๆ
การปรากฏตัวของ Peter Cushing ในภาค Rogue One นี้ถูกเปิดเผยตั้งแต่ก่อน Rogue One จะเข้าเป็นเวลานานแล้ว และก็จุดความตื่นเต้นในหมู่แฟนๆ Star Wars ได้ไม่น้อย แต่คำถามที่หลายคนอาจจะคิดขึ้นมา หลังจากดูภาพยนตร์ภาคนี้จบก็คือ
“แล้วนักแสดงเขาไม่ว่าอะไรหรือ” (ที่เอาเขาตอนเสียชีวิตไปแล้วมาเล่น)
ประเด็นเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์หน้าตา’ นี้เป็นที่ถกเถียงกันมากในฮอลลีวู้ดนะครับ เมื่อปีที่แล้วมีข่าวออกมาว่านักแสดงอย่างร็อบบิน วิลเลียมส์ ได้ให้สิทธิ์ในการใช้ชื่อ ลายเซ็น รูปภาพ และ ‘likeness’ (ซึ่งคือ ความคล้าย ความเหมือนในรูปร่างลักษณะของเขา) ถึงปี 2039 (https://www.theguardian.com/film/2015/mar/31/robin-williams-restricted-use-of-his-image-for-25-years-after-his-death) และก่อนหน้านี้ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้มากหลังจาก Paul Walker เสียชีวิต แล้วแฟรนไชส์ภาพยนตร์ Fast and Furious ก็สร้างเขาขึ้นมาใหม่เพื่อให้การถ่ายทำสมบูรณ์ (http://www.hollywoodreporter.com/behind-screen/furious-7-how-peter-jacksons-784157) รวมไปถึงโฆษณาช็อคโกแล็ต ยี่ห้อกาแล็กซี่ ที่ ‘ปลุก’ นักแสดงค้างฟ้า Audrey Hepburn ให้มาออกหน้าจออีกรอบ (http://www.hollywoodreporter.com/behind-screen/furious-7-how-peter-jacksons-784157) และข่าวนักร้อง นักแสดงหลายท่านที่สามารถลุกจากความตายขึ้นมาเล่นคอนเสิร์ท ออกซีดี ฯลฯ ได้จากภาพฟุตเทจ แซมปลิงเสียงที่อัดไว้ก่อนหน้า รวมกับการสร้างขึ้นใหม่ด้วยเทคโนโลยี
เรื่องนี้ก็อาจทำให้หลายคนนึกถึงภาพยนตร์อย่าง Congress ของผู้กำกับชาวอิสราเอล Ari Folman ที่ Robin Wright รับบทเป็นนักแสดงที่ถูก ‘ซื้อลิขสิทธิ์หน้าตา’ เพื่อให้บริษัทภาพยนตร์สร้างหนังกี่เรื่องๆ จากหน้าตาของเธอได้ทั้งหมด หรือก่อนหน้านั้นก็คือ S1m0ne ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับนักแสดงดิจิทัล ในปี 2002
คิดไปแล้วก็ไม่น่าเชื่อนะครับที่อนาคตที่ The Congress และ S1m0ne วาดไว้จะเป็นจริงแล้ว
CEO ของบริษัท Framestore ที่เป็นผู้ปลุกเฮปเบิร์นขึ้นมาเล่นโฆษณาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “นักแสดงทั้งหนุ่มสาวและแก่เฒ่าในปัจจุบัน ต่างก็ได้สแกนร่างกาย และหน้าตาของตัวเองไว้ในระบบดิจิทัลแล้วทั้งนั้น เพื่อให้มีสิทธิในร่างกายของตนเองได้ในอนาคต และเพื่อให้เทคโนโลยีสร้างพวกเขาขึ้นมาใหม่ได้”
ภาพยนตร์เก่าๆ ที่มีการปลุกนักแสดงขึ้นมาในลักษณะนี้ (รวมไปถึงโฆษณาของเฮปเบิร์นในปี 2013) ถูกวิจารณ์ว่าคุณภาพของ CG ยังไม่ดีพอ ทำให้นักแสดง (ดิจิทัล) ตกอยู่ใน Uncanny Valley ซึ่งแปลว่า “จะเหมือนก็ไม่เหมือน จะว่าไม่เหมือนก็ไม่ใช่ ทำให้ดูหลอน” มีการวิจารณ์ว่าเฮปเบิร์นที่ถูกปลุกขึ้นมาใหม่นั้นดูไร้ชีวิตจิตใจ บางส่วนถึงกับบอกว่าเหมือนกับซอมบี้เลยทีเดียว
แล้วใครกันล่ะที่จะได้รับผลประโยชน์จากการปลุกนักแสดงขึ้นมาแบบนี้? เป็นบริษัทภาพยนตร์ บริษัท CG หรือญาติมิตรของนักแสดง? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดยากมาก อย่างในกฎหมายของอังกฤษ The Guardian ก็บอกว่ากำกวมมากๆ กฎหมายในปัจจุบันไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการปกป้องหน้าตาของตัวเองขนาดนั้น นอกเสียจากมีมาตรการบางอย่างที่นักแสดงคนนั้นดำเนินขึ้นมาเพื่อให้มีการปกป้องเพิ่มเติม (อย่างที่โรบิน วิลเลียมส์ ทำ)
หลายคนสงสัยในเรื่องนี้ เช่นกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์ Quora ก็มีการตั้งคำถามว่า “หากจะทำโคลนดิจิทัลของนักแสดงที่ตายไปแล้วนั้นเป็นเรื่องถูกกฎหมายไหม” ซึ่งก็มีนักกฎหมายลิขสิทธิ์ (ของอเมริกา) มาตอบว่า “เรื่องนี้ต่างกันไปในแต่ละคดี อย่างในอเมริกาเอง สิทธิในการเผยแพร่ (The right of publicity) ก็ต่างกันไปตามรัฐ และยังไม่มีแนวทางการพิจารณา แต่ทางที่ดี หากบริษัทไหนต้องการที่จะใช้รูปร่างหน้าตาของนักแสดงมาสร้างตัวละคร ก็ควรจะซื้อลิขสิทธิ์หน้าตา หรือมีการตกลงกับบริษัทที่นักแสดงคนนั้นมอบสิทธิให้เสียก่อน มิฉะนั้นก็อาจถูกฟ้องได้” (สรุปก็คือยังไม่มีกฎหมายที่แน่นอน)
นี่จึงยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้เกี่ยวข้องในอนาคต ไม่แน่นะครับ ในอนาคต เราอาจจะไม่ต้องพึ่งทักษะของนักแสดงในการแสดงใดๆ แล้วก็ได้ เราอาจสามารถสแกนหน้านักแสดงที่สวยหล่อตามใจ แล้วปล่อยให้พวกเขาโลดแล่นอยู่ในโลกดิจิทัล ให้ความสามารถในการแสดงระดับออสการ์กับอวตารของพวกเขา และไม่ต้องหงุดหงิดที่นักแสดงหลายคนมาช้า เรื่องมาก หรือไม่ยอมทำงาน
แต่คำถามก็คือ – มันจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมดีหรือ?
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Virtual_actor
https://www.quora.com/Is-it-legal-to-make-digital-clones-of-late-actors
http://www.hollywoodreporter.com/behind-screen/furious-7-how-peter-jacksons-784157