ในช่วงที่ The MATTER เปิดตัวเพียง 3 เดือน พวกเรารับรู้ข่าวโศกนาฏกรรมแทบทุกอาทิตย์
นับตั้งแต่เหตุกราดยิงในออแลนโด้ ระเบิดสนามบินแห่งชาติตุรกี ตีนผีขับรถบรรทุกขยี้คนที่ฝรั่งเศส ยิงกลางเมืองในเยอรมัน
ราวกับการเข่นฆ่าอย่างทารุณกำลังเป็นเทรนด์โลกที่มีการแพร่ระบาด ไม่ต่างจากเชื้อไวรัสร้าย?
และหากความรุนแรงปะทุขึ้น มันมีโอกาสจะสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ให้เกิดครั้งต่อๆ ไปได้อย่างน่าพิศวง จากสถิติก่อการร้ายใน 3 เดือนที่ผ่านมา มีทั้งเหตุการณ์ที่ดังเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมและไม่เป็นข่าวเลย
- พฤษภาคมเกิดเหตุ 197 ครั้ง
- มิถุนายน 218 ครั้ง
- กรกฎาคม 162 ครั้ง
ตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา มีอัตราผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายพุ่งสูงขึ้นกว่า 10 เท่าตัว ทำไมพวกหัวรุนแรงถึงปฏิบัติกับมนุษย์ด้วยกันอย่างไร้เยื่อใย และทำไมยังมีคนใหม่ๆ คอยเติมเชื้อไฟอยู่ตลอดเวลา?
ความรุนแรงคือโรคระบาด
หากมองความรุนแรงเป็นเหมือนโรคชนิดหนึ่งที่แพร่ระบาดได้ มันก็มักมีระยะฟักตัว ไม่ต่างจากกรณีเปิดฉากยิงในที่ชุมชน (Mass Shooting) ซึ่งการก่อการร้ายที่ใช้อาวุธปืน ล้วนมีรูปแบบเกิดซ้ำในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
มหาวิทยาลัย Arizona State พยายามศึกษารูปแบบปริศนานี้ ตั้งแต่ปี 1997 ถึง 2013 พบว่าเหตุการณ์แต่ละครั้งไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ แต่มีการ ‘เสริมแรง’ จากเหตุการณ์คราวก่อนๆ แทบทั้งสิ้น
ผลการคำนวณทางคณิตศาสตร์พบว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย จะสร้างการแพร่ระบาดทางความรุนแรง ก่อให้เกิดการนองเลือดครั้งต่อไปได้นานถึง 13 วัน ซึ่งในระหว่างนี้อาจมีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นมากถึง 20 – 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ภายใต้อิทธิพลของปรากฏการณ์ ‘Emotional Contagion’ (การแพร่ระบาดทางอารมณ์) ซึ่งผู้ก่อการมักเลียนแบบหรือลงมือเมื่อเห็นผลลัพธ์ที่เกิดจากครั้งที่ผ่านมา กระตุ้นให้พวกเขาสร้างประวัติศาสตร์นองเลือดเอาอย่างบ้าง หรือกลุ่มผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญยังคงมีอารมณ์พยาบาทมุ่งร้าย และพร้อมตอบกลับด้วยความรุนแรงเช่นกัน
ดังนั้นเหตุครั้งต่อไปมีแนวโน้มกระจุกตัวในพื้นที่ หรืออาจเกิดข้ามประเทศหากกลุ่มผู้ก่อการร้ายวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า
ผู้ก่อการร้ายไม่ได้จิตป่วย
หลายคนมักสรุปว่าผู้ก่อการร้ายมักเป็นพวกวิกลจริต เป็นพวกซาดิสม์ นิยมความรุนแรงซึ่งต่างจากคนปกติอย่างสิ้นเชิง ถึงยอมเอาระเบิดมาติดกับเอวหรือหิ้วปืนกระบอกโตกราดยิงผู้คน แต่งานศึกษาทางจิตวิทยากลับค้นพบว่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนปกติสามัญอย่างเราๆ ท่านๆ ที่รู้ดีรู้ชั่ว และตระหนักอยู่เสมอว่ากำลังสังหารผู้คน
งานศึกษาอันโด่งดังในปี 1970 ของ Stanley Milgram นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ที่มักถูกยกมาอ้างอิงอยู่เสมอ เมื่อคนธรรมดาถูกผู้มีอำนาจออกคำสั่งให้ทำสิ่งที่ขัดกับมโนธรรมส่วนตัว เมื่ออาสาสมัครได้รับหน้าที่เป็น ‘ผู้ลงทัณฑ์’ ช็อตไฟฟ้าอาสาสมัครอีกรายตามคำสั่งของผู้คุมการทดลอง
หรืองานทดลองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ของ Philip Zimbardo นักจิตวิทยานามอุโฆษ ที่สร้างคุกจำลองในชื่อ ‘Stanford Country Prison’ โดยให้นักศึกษาแบ่งหน้าที่ระหว่าง ‘ผู้คุม’ และ ‘นักโทษ’ จากนั้นสังเกตบรรยากาศความสัมพันธ์ที่แปรผันไปเมื่อผู้คุมเริ่มทำร้ายนักโทษด้วยกริยาและวาจาอย่างลืมตัว ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นเพียงนักศึกษาร่วมสถาบันเดียวกัน และทุกอย่างเป็นเพียงบทบาทจำลอง
งานวิจัย 2 ชิ้นที่มักถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษานี้ เผยให้เห็นว่า หากคนธรรมดาๆ เมื่อยอมเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่มีจุดประสงค์ยิ่งใหญ่ พวกเขาก็ยอมทำอะไรเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้านั้น แม้จะลงเอยด้วยการทำร้ายคนอื่นๆ ก็ตาม
เหมือนที่ Stanley Milgram และ Philip Zimbardo โน้มน้าวผู้ร่วมงานทดลองว่า ‘ในนามของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์’ (In the name of Scientific progress) ลงในข้อตกลงให้อาสาสมัครกรอกเพื่อยินยอม
เมื่อเราสามารถสร้างวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ยิ่งใหญ่พอ จนผู้คนรู้สึกต้องการมีร่วม การฆ่าคนที่ขัดขวางและจัดการตัวเบี้ยใบ้รายทาง ก็เป็นเรื่องไม่ยากเย็นที่จะลงมือ
ขีดเส้นหนาๆ ระหว่าง ‘เขา’ และ ‘เรา’
ความรุนแรงที่เข้มข้นไม่ได้เกิดในสุญญากาศ แต่เป็นกระบวนการที่กลุ่มหัวรุนแรงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดรอยแยกและใช้ประโยชน์จากมัน หากคุณสามารถทำให้คนศาสนาอื่นๆ ปฏิบัติต่อมุสลิมด้วยความกลัว ทำให้คนผิวสีรู้สึกถูกดูแคลนจากคนผิวขาว ยั่วยุให้กีดกันแรงงานต่างด้าวว่าจะมาแย่งทรัพยากร ความรู้สึกเหล่านี้จะค่อยๆ ถูกกดทับไว้ในมโนสำนึกของคนในสังคม และผู้ก่อการจะปลุกเร้าให้คนที่ถูกกดขี่หาโอกาสเอาคืนและพร้อมเผชิญหน้าโดยไม่สนกระบวนการใดๆ
แต่กลุ่มหัวรุนแรงก็ต้องการ ‘ผู้นำ’ ที่มีเสน่ห์ ซึ่งคนที่ลงมือสังหารส่วนใหญ่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำโดยตรง ดังนั้นความท้าทายของผู้นำขบวนการ คือต้องสามารถระบุและถอดถอนอัตลักษณ์เก่าของสาวกให้ได้ก่อน (Identification & dissidentification) ถึงจะเชื้อเชิญให้พวกเขาลงมือและเดินตามวิถีที่กลุ่มสร้างไว้ การลบตัวตนเดิมทิ้งไป กล่าวโทษกับโครงสร้างที่คุณเคยอาศัย กีดกันคุณไม่ให้กลับไปหาครอบครัว จากนั้นจะมอบอัตลักษณ์ใหม่และมองว่าเป็นคนสำคัญของกลไกการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ปี 2004 บทความชื่อ Understanding Terror Network เขียนโดยอดีต CIA Marc Sageman ในบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ผู้ก่อการร้ายเกือบทุกคนรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่เป็นเพียงหุ่นยนต์ที่รับคำสั่งโดยไม่ได้ไตร่ตรอง แต่คำถามของพวกเขาถูกไขโดยการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นทางออกรูปแบบหนึ่ง แต่ละรายไม่ได้มีอาการทางจิต และพร้อมอุทิศตัวเพื่อเจตจำนงของขบวนการ
ดังนั้นปฏิบัติการนองเลือด มักเป็นการ ‘สร้างแรงบันดาลใจ’ มากกว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยตรง ทำให้ผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังตนเองกำลังทำตามคำสั่งใครอยู่
เราทุกคนจึงสามารถกลายเป็นอสูรกายได้ทั้งนั้น หากอยู่ในภายใต้ระบบที่ใช้ความรุนแรงเป็นทางออก มีผู้นำที่พยายามสร้างความแตกแยก (ดูทรัมป์เป็นตัวอย่างสิ) และสังคมที่ตกสำรวจความขัดแย้งเพราะคิดเป็นเรื่องไม่ควรแตะต้อง
การตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไตร่ตรองหนทางที่คุณกำลังก้าวไปแต่ละวัน ว่าเข้มแข็งพอที่จะไม่ถูกอำนาจใดๆ ชักจูงไปในความเสื่อม หรือใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา วันหนึ่งคุณอาจยอมเป็นเครื่องมือให้ใครเอาระเบิดมาติดตัวก็ได้
และไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่า การเติบโตไปเป็นสิ่งที่คุณเกลียดอีกแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
- The New Psychology of Leadership: Identity, Influence and Power Alexander Haslam, Psychology Press, 2011
- Fueling Extreames : Stephen D. Reicher & S. Alexander Haslam