อาชญากรรมมากมายที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากความขัดแย้งหรือความรุนแรง แต่หลายครั้งความรุนแรงที่คนในสังคมมักจะโทษว่าเป็นปัจจัยหลักให้เกิดเหตุการณ์สลด ก็มาจากกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานอย่าง ‘วิดีโอเกม’
เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดเหตุกราดยิงไปแล้วถึง 2 ครั้งที่เมืองเอลปาโซ รัฐเท็กซัส และเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สะเทือนใจที่ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย ด้านประธานาธิบดีอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ จึงออกมาชี้ย้ำให้ประชาชนตระหนักถึงต้นเหตุของความรุนแรงภายในสังคมมากขึ้น โดยเขาได้มุ่งเป้าไปยัง ‘วิดีโอเกม’ ที่เด็กและวัยรุ่นนิยมเล่นกันเป็นจำนวนมาก
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาโจมตีวิดีโอเกมว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศ เพราะหลังจากโศกนาฏกรรมเมื่อปี ค.ศ. 2018 ที่มีวัยรุ่นอายุ 19 ปี เข้าไปกราดยิงเด็กโรงเรียนมัธยมในเมืองปาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา เขาก็ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “ผมได้ยินคนพูดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าความรุนแรงของวิดีโอเกมส่งผลต่อความคิดของกลุ่มวัยรุ่น” และยังได้เรียกประชุมบรรดานักพัฒนาเกมมาถกกันถึงเรื่องที่วิดีโอเกมอาจส่งผลให้เยาวชนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
แม้ความเห็นของประธานาธิบดีจะไปตรงกับความคิดของผู้ปกครองหลายคน ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีผลการวิจัยที่ออกมาพิสูจน์แน่ชัดว่าการเล่นวิดีโอเกมเนื้อหารุนแรงมีส่วนเชื่อมโยงกับต้นเหตุของการกราดยิงในครั้งไหนๆ
เช่นเดียวกับเมื่อปีค.ศ. 2013 หลังจากเกิดเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุก รัฐคอนเนคติกัต รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้จัดประชุมเกี่ยวกับความรุนแรงของวิดีโอเกมนานกว่าชั่วโมง แต่ก็ไม่มีผลสรุปออกมาอยู่ดีว่าท้ายที่สุดแล้ววิดีโอเกมเป็นสาเหตุของความรุนแรงในครั้งนั้นจริงหรือไม่
นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Royal Society ได้เผยว่า ในประเทศอังกฤษ วัยรุ่นที่เล่นวิดีโอเกมเนื้อหารุนแรง ไม่ได้มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวไปกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้เล่นแต่อย่างใด แถมยังมีงานวิจัยจาก Center for European Economic Research ในเยอรมนีที่กล่าวว่า “ยิ่งเด็กๆ ใช้เวลากับการเล่นเกมมากเท่าไหร่ พวกเขาก็มีเวลาออกไปก่อความรุนแรงในโลกความจริงน้อยลงเท่านั้น”
การเข้าถึงวิดีโอเกมของกลุ่มวัยรุ่น
อาจมีผลต่อการก่ออาชญากรรมในระดับหนึ่ง
แต่ปัจจัยอื่นที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือการเข้าถึง ‘อาวุธปืน’
ในขณะเดียวกัน หลายฝ่ายต่างก็ออกมาประท้วงให้ประธานาธิบดีเลือกแก้ไขให้ตรงจุด แชนนอน วัตส์ (Shannon Watts) ผู้ก่อตั้ง Moms Demand Action องค์กรเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุก กล่าวว่า “ชาวอเมริกันเล่นวิดีโอเกม ดูรายการทีวี และประสบปัญหาทางสุขภาพจิตเช่นเดียวกันกับผู้คนอื่นๆ ในกลุ่มประเทศชั้นนำ แต่ที่แตกต่างกันก็คือ สหรัฐอเมริกามีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่หละหลวม และมีอัตราการเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนต้องการคือความปลอดภัยจากการใช้อาวุธปืน ไม่ใช่วิดีโอเกม”
ย้อนกลับมาที่บ้านเรา เหตุฆ่าชิงทรัพย์คนขับรถแท็กซี่สุดสลดเมื่อหลายปีก่อนที่ใครๆ ก็จำได้ แต่ต่างกันที่ครั้งนี้เด็กหนุ่มวัย 18 ปี ยอมรับอย่างเต็มปากว่าเขาเลียนแบบพฤติกรรมจากเกม ‘Grand Theft Auto’ หรือ GTA เกมเสมือนจริงที่ให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นอาชญากรเพื่อดำเนินภารกิจตามเนื้อเรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการขโมยรถและหลบหนีตำรวจ
แน่นอนว่าเกม GTA ตกเป็น ‘จำเลย’ ของเรื่องนี้ รวมกับการที่ผู้ปกครองบางคนมองการเล่นเกมไปในแง่ลบอยู่แล้วนั้น ก็ไม่แปลกใจเลยที่ภาพลักษณ์ของวิดีโอเกมจะดูแย่ลงในทันที แต่การเล่นเกม GTA ก็ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของการก่ออาชญากรรม
จากการสอบปากคำพบว่าจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของปัญหาคือเรื่องภายในครอบครัวที่บีบคั้นให้เด็กหนุ่มเกิดภาวะเครียด ไม่ว่าจะเป็นสภาพการเงินที่ไม่พอใช้ หรือพ่อที่ชอบดื่มสุราและทำร้ายแม่ของเขาอยู่บ่อยๆ โดยเกม GTA เป็นเพียงแค่ตัวกระตุ้นหรือตัวเร่งให้เกิดอาการอยากระบายความเครียดเท่านั้น
วิดีโอเกมเนื้อหารุนแรงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นเลือกที่จะตัดสินใจก่อเหตุอาชญากรรม โดยลอกเลียนแบบการกระทำที่ปรากฏในนั้น แต่หากจะบอกว่าวิดีโอเกมเป็นต้นตอของเหตุการณ์ก็เห็นจะไม่ใช่ไปเสียทั้งหมด เพราะยังไม่มีผลการวิจัยไหนที่ออกมายืนยันว่าการเล่นเกมเนื้อหารุนแรงบ่อยๆ จะส่งผลหรือปลูกฝังให้ผู้เล่นมีพฤติกรรมก้าวร้าวในระยะยาว และแม้กระทั่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีการอ้างถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อย่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เอื้อต่อการเกิดเหตุอาชญากรรมอีกด้วย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ายังมีเบื้องลึกเบื้องหลังอีกมากมายที่ประกอบกันจนเกิดการกระทำรุนแรงเช่นนี้ขึ้น อย่างเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพร่างกาย หรือปัญหาทาง ‘ครอบครัว’ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องคอยสอดส่องพฤติกรรมของบุตรหลานอยู่เรื่อยๆ
คงไม่มีนักพัฒนาเกมคนไหนตั้งใจสร้างเกมมาให้ผู้เล่นนำไปเลียนแบบจนเกิดความเสียหายต่อสังคม เพราะมีเกมมากมายที่ใจความหลักคือการสอนให้ผู้เล่นใช้ตรรกะความคิด การวิเคราะห์ และทักษะการเอาตัวรอด ซึ่งก็อยู่ที่ผู้เล่นจะเลือกหยิบเอามุมไหนไปประยุกต์ใช้
อ่านบทความเกี่ยวกับเกมและความรุนแรงเพิ่มเติมได้ที่ ‘เล่นเกมก็เลยชอบความรุนแรง’ ความเชื่อที่ไม่ตายไปจากสังคมเสียที
อ้างอิงข้อมูลจาก