จิตวิทยากำลังหาคำตอบ ทำไมเจ้าขนฟูขโมยหัวใจคุณไปเต็มๆ
จำวันแรกที่คุณจ้องตากับเจ้าสี่ขาขนปุยที่กำลังชำเลืองมองได้หรือเปล่า?
ความรู้สึกถูกชะตาครั้งแรกๆ จนคุณยอมเปิดใจให้มันเป็นสมาชิกคนใหม่ในบ้าน หลังจากนั้นมันก็มีชื่อเรียกและมีตัวตนราวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณที่ขาดไม่ได้ แต่คุณไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนี้ เพราะประชากรในโลกกว่าครึ่ง มีสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกประจำบ้านเช่นกัน และพวกเรายอมทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อเพื่อนต่างสายพันธุ์ ซึ่งในแต่ละปีเม็ดเงินมหาศาลกว่า ห้าพันแปดร้อยล้านเหรียญสหรัฐ หมุนเวียนในธุรกิจสัตว์เลี้ยง
ภาพยนตร์เรื่องใหม่อย่าง The Secret Life of Pet ที่กำลังใกล้ถึงกำหนดฉาย ยิ่งตอกย้ำว่า
ทำไมเราถึงทุ่มเทเพื่อสัตว์เลี้ยงขนาดนี้
อะไรมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่ยากจะปฏิเสธ?
ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา นักจิตวิทยาพยายามคลายปมปริศนาที่ว่านี้มาตลอด โดยเฉพาะ Boris Levinson อาจารย์ประจำภาคจิตเวชเด็กของมหาวิทยาลัย Yeshiva เคยเสนอแนวคิดสุดพิลึกในปี 1961 ว่า
“สุนัขสามารถช่วยจิตแพทย์ในการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้”
กลายเป็นว่าแนวคิดของอาจารย์ได้รับเสียงโห่ฮาจากบรรดานักจิตวิทยาที่ร่วมอาชีพด้วยกัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความคิดที่เพ้อเจ้อและไร้แก่นสารสิ้นดี ใครจะยอมให้หมามารักษาแทนคน โอ้ย ไม่ต้องเรียนหมอแล้ว!
ซึ่งอาจารย์ Boris ได้แนวคิดนี้หลังจากวันหนึ่งเขาพาสุนัขตัวโปรดชื่อ ‘จิงเกิ้ล’ ไปที่ทำงานด้วย เพื่อทำการบำบัดคนไข้เด็กที่มีปัญหาในการสื่อสารและเก็บกด แต่กลายเป็นว่า เจ้าจิงเกิ้ลทำลายกำแพงอารมณ์ของเด็กน้อยเสียกระจุย เด็กที่เคยเงียบขรึมซึมเศร้ากลับหัวเราะร่าและให้ความร่วมมือในกิจกรรมบำบัดของ Boris อย่างน่าแปลกใจ ราวกับเจ้าจิงเกิ้ลร่ายมนต์สะกดปริศนา
ในวินาทีนั้น อาจารย์ Boris ทราบแน่ชัดแล้วว่า ทฤษฏีของเขามาถูกทางโดยตลอด จึงเตรียมทำพรีเซนต์แบบเต็มสูบนำเสนอต่อบอร์ดของ American Psychological Association จนแนวคิดของการนำสัตว์เลี้ยงเพื่อประโยชน์ในการบำบัดมนุษย์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นจุดกำเนิดของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ครั้งสำคัญ
ทำได้ดีมาก เจ้าจิงเกิ้ล!
รักตั้งแต่แรกเกิด
ความหลงใหลในสัตว์เลี้ยงอาจติดตัวพวกเรามาตั้งแต่แรกเกิด และมันเป็นธรรมชาติที่คุณยากจะปฏิเสธ ในปี 2013 นักจิตวิทยา Vanessa Lobue จากมหาวิทยาลัย Rutgers พบว่า ทารกที่อายุตั้งแต่ 1 -3 ขวบ เลือกใช้เวลาอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงนานขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปลา แฮมสเตอร์ งู แมงมุม และกิ้งก่า มากกว่าที่จะเล่นกับตุ๊กตาสัตว์จำลอง สะท้อนให้เห็นว่าสมองของทารกเอง ก็มีเซลล์สมองที่ทำให้เราจดจำสัณฐานของสิ่งมีชีวิตจริงและแยกแยะของจริงออกจากของปลอมได้ ซึ่งเซลล์ประสาท (Neurons) ในสมองส่วน Amygdala ที่มีส่วนในการควบคุมอารมณ์ มักได้รับอิทธิพลเมื่อพวกเราเห็นภาพสัตว์น่ารัก และโน้มน้าวให้เราเข้าหาดั่งต้องมนต์
น้องน่ารักจุง
สัตว์เลี้ยงที่น่ารักมักดึงดูดความสนใจพวกเราได้เป็นอย่างดี หลายงานศึกษาพบว่า พวกเราหลงใหลลูกสุนัขหรือสัตว์เล็กๆ เพราะมันมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับทารกมนุษย์ ทั้งตาโต หน้าผากกว้าง หัวใหญ่กว่าตัว
เพื่อยืนยันทฤษฏีความน่ารักนี้ ทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่น Hiroshi Nittono จากมหาวิทยาลัย Hiroshima ได้ลองให้อาสาสมัคร 132 คน ลองใช้แหนบขนาดเล็ก คีบของจิ๋วๆ ไปวางไว้บนตำแหน่งที่ผู้ทำการทดลองกำหนดไว้ โดยเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิและความระแวดระวังสูง ผลปรากกฎว่า อาสาสมัครที่เห็นภาพลูกสัตว์น่ารักๆ ระหว่างทำการทดลอง จะมีความระแวดระวังในการทำภารกิจมากขึ้น โดยชิ้นส่วนที่คีบไม่ตกระหว่างทาง
หนึ่งในข้อสรุปที่นักวิจัยหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นคือ ลูกสัตว์ที่น่ารักมีความบอบบาง คล้ายคลึงกับทารกในมนุษย์ ซึ่งต้องการความเอาใจใส่ในการดูแล มากกว่าสัตว์ที่โตแล้ว หรือหมายความว่า ลูกสัตว์ก็ใช้ประโยชน์จากสัญชาตญาณมนุษย์แบบเดียวกับทารก
หรืองานวิจัยที่ลงลึกไปอีกเพื่อศึกษาระบบการทำงานของสมอง โดย Massachusetts General Hospital โดยสัตวแพทย์ Lori Palley และทีมวิจัยใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI) เพื่อศึกษากิจกรรมของสมองของแม่มนุษย์จำนวน 14 ราย ระหว่างที่พวกเธอปฏิสัมพันธ์กับเด็กทารกมนุษย์และลูกสุนัข
กลายเป็นว่าเมื่อมาดูภาพกิจกรรมทางสมองที่เกิดขึ้น สมองของมนุษย์มีการตอบสนองจุดเดียวกันระหว่างเด็กทารกและลูกสุนัข โดยเฉพาะสมองส่วนกลาง
นั่นหมายความว่า สัตว์เลี้ยงก็สามารถมอบความพึงพอใจให้กับมนุษย์ไม่แพ้การเลี้ยงดูเด็กทารก จึงไม่แปลกเลยที่บางคนจะเลี้ยงสุนัขราวลูกหลาน
หากวิวัฒนาการจะมีส่วนพัฒนาสมองมนุษย์ให้ผูกพันกับสัตว์เลี้ยงก็มีเค้าโครงอยู่ไม่น้อย ที่สามารถนับย้อนไปราว 2.6 ล้านปี ที่มนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนกลุ่มแรกๆ เริ่มสานความสัมพันธ์ต่างเผ่าพันธุ์ จนกรุยเส้นทางแห่งความเอื้ออาทรต่อสัตว์ร่วมโลกสู่ยุคปัจจุบัน
คงไม่แปลกนักที่จะกล่าวว่า มนุษย์พัฒนาการได้ถึงปัจจุบัน เพราะพวกเราล้วนเติบโตมาพร้อมกับสัตว์เลี้ยงที่น่ารักเหล่านี้เอง
มีวันนี้เพราะพี่ให้
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0022096514001842
www.telegraph.co.uk/news/health/news/9228729/Toddlers-prefer-live-animals-to-toys-research.html
blogs.scientificamerican.com/anthropology-in-practice/the-animal-connection-why-do-we-keep-pets/