‘สวนสัตว์ดุสิต’ หรือ ‘เขาดินวนา’ เป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ เด็กๆ ที่เติบโตในกรุงเทพฯ อาจจะมีโอกาสเห็นสัตว์ตัวเป็นๆ ครั้งแรกในสวนสัตว์แห่งนี้ หนุ่มสาวอาจใช้เป็นสถานที่เดทแรกถีบเรือเป็ดพร้อมกับมี ‘ตัวเหี้ย’ (Varanus salvator) ประกบเคียงคู่อันเป็นฤกษ์งามยามดี ส่วนพ่อแม่และลูกๆ ก็ใช้พื้นที่นี้กระชับความสัมพันธ์กันในครอบครัว ด้วยราคาค่างวดที่ไม่สูงนักหากเทียบกับสวนสัตว์ที่อื่นๆ
จนกล่าวได้ว่า ‘ทุกคนเคยไปเขาดิน’
ปัจจุบันสวนสัตว์แห่งนี้มีอายุถึง 80 ปี และถึงเวลาที่จะปิดตัวลงตามที่เห็นได้จากข่าวต่างๆ ในโลกออนไลน์ เพื่อย้ายไปพื้นที่แห่งใหม่อันมีบริเวณกว้างขวางขนาด 300 ไร่ ณ ทุ่งรังสิต บริเวณคลอง 6 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสวนสัตว์เดิมถึง 3 เท่า สามารถขยับขยายส่วนจัดแสดงสัตว์ได้มากขึ้น และสัตว์อาจอยู่สบายขึ้นเมื่อไม่ต้องเผชิญมลภาวะและรถที่ติดแออัดในเมืองหลวง
อย่างไรก็ตามผู้คนและสัตว์ยังผูกพัน แม้สัตว์จะต้องถูกย้ายไปที่ไหนก็ตาม ผู้ดูแลก็จำเป็นต้องติดตามไปด้วย
หากเขาดินเปรียบเสมือนบ้าน สัตว์ก็คือสมาชิกของครอบครัว
1. ‘หยิน’ สุจินต์ ปาสมรักษ์ – ฟลามิงโก
“ผมเป็นคนรักนกมากๆ ผูกพันกับชีวิตนกมาแต่ไหนแต่ไร ทำงานที่เขาดินมานานกว่า 10 ปี ที่นี่เขาจะเลือกคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้รับหน้าที่ดูแลสัตว์ประเภทนั้นๆ อย่างหน้าที่ผมคือมีความเชี่ยวชาญเรื่องนกอยู่แล้ว เลยได้มาดูแล ‘นกฟลามิงโก’ ดูแลเองทุกตัว นกฟลามิงโกที่เขาดินนั้นเป็นกลุ่มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่สำคัญ เมื่อฟักเป็นตัวทางเขาดินจะส่งลูกๆ ไปตามสวนสัตว์ในเครือทั่วประเทศ
“ธรรมชาติของนกฟลามิงโก้เป็นสัตว์รักสะอาดมาก แหล่งน้ำต้องสะอาด เพราะเขาใช้ดื่มกินและหย่อนใจ ห้ามมีขยะเป็นอันขาด ทุกๆ เช้าผมต้องมาดูแลความเรียบร้อย กวาดเศษขยะออกให้หมด เปลี่ยนน้ำตรงเวลา เพราะนกฟลามิงโกเสี่ยงต่อการเป็น ‘โรคดักเพลก’ (โรคกาฬโรคเป็ด) เกิดในสัตว์ปีกจำพวกเป็ด ห่าน และหงส์ ฉะนั้นเรื่องความสะอาดจะต้องให้ความสำคัญอันดับแรกๆ
“ไปๆ มาๆ ไอ้เราก็รักนกพวกนี้เหมือนลูก ต้องเจอหน้ากันทุกวัน ถ้ามันไปอยู่ที่ไหน ผมก็ต้องไปอยู่ที่นั่นด้วย”
2. สวนสัตว์เขาดิน สู่การเป็น ‘องค์การสวนสัตว์’
สวนสัตว์เกือบทุกแห่งทั่วโลกจะสร้างประสบการณ์ให้ผู้ชมได้เข้าใกล้สัตว์มากที่สุดเท่าที่จะเอื้ออำนวย และไม่รบกวนธรรมชาติการใช้ชีวิตของสัตว์มากเกินไป มีกิจกรรมเสริมเพิ่มความตื่นเต้นอย่างการให้อาหาร การแสดงโชว์ หรือนิทรรศการถาวรที่เป็นพื้นที่ให้ความรู้เรื่องธรรมชาติ
‘สวนสัตว์ดุสิต’ เป็นสวนสัตว์สำคัญแห่งแรกของประเทศที่มีการศึกษาเรื่อง animal welfare ก่อนจะต่อยอดไปสู่สวนสัตว์อื่นๆ ทั่วประเทศให้เกิดระเบียบในการปฏิบัติดูแลสัตว์ โดยมีหลักการคือ การอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อการศึกษา วิจัย และส่งคืนสู่ธรรมชาติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสัตว์ป่า
ย้อนไปในอดีต สวนสัตว์ดุสิตซึ่งมีขึ้นในปี พ.ศ. 2481 ยังอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเทศบาลนครกรุงเทพฯ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2496 พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ได้พิจารณาเห็นว่า เทศบาลนครกรุงเทพฯ ได้รับงบประมาณน้อย ไม่เพียงพอที่จะปรับปรุงสวนสัตว์ดุสิตให้เจริญได้ กอปรกับมีภาระหน้าที่มากอยู่แล้ว จึงได้เสนอขอรัฐบาลจัดตั้งเป็นองค์การขึ้นเพื่อให้การบริหารงานทำได้อย่างคล่องตัว
จากนั้นเทศบาลนครกรุงเทพจึงได้มอบงานด้านสวนสัตว์และทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ ‘องค์การสวนสัตว์’ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2497
องค์การสวนสัตว์มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการให้การศึกษา การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ และการจัดสวนสัตว์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
3. ‘ลุงแดง’ ประไพ แก้วไทรท้วม – ยีราฟ และสัตว์แอฟริกา
ลุงทำงานที่นี่มา 35 ปี จำสัตว์ได้เกือบทุกตัว ยีราฟมันฉลาดนะ จำคนเลี้ยงได้หมดทุกคนจะหน้าใหม่หน้าเก่า บางทีคนทั่วไปอยากให้มันเดินมาใกล้ๆหลอกจะให้อาหารมัน ยีราฟมันก็ยังดูออก ยีราฟในสวนสัตว์จะดูลักษณะท่าทางของคุณได้
“สำหรับที่เขาดิน ลุงทำงานมานานจนผูกพันไปแล้ว มาทำงานได้ทุกวันตั้งแต่เช้ามืดเพื่อมาทักทายลูกๆ พอดีลุงกับเมียไม่มีลูกด้วยกัน เราเลยเลี้ยงสัตว์พวกนี้แทนลูกไปเลย ดูแลกันด้วยความผูกพัน ถ้าสัตว์ของลุงๆ ไปไหน ก็ต้องขอไปกับเขาด้วย คนเลี้ยงต้องไปกับอยู่สัตว์ที่เขาดูแล แยกกันไม่ขาด
“ก่อนที่สวนสัตว์แห่งใหม่ที่คลอง 6 จะสร้างเสร็จ สัตว์พวกนี้จะถูกเอาไปฝากไว้ก่อนที่สวนสัตว์ต่างๆ พวกยีราฟนี้ก็น่าจะไปฝากเขาเขียวไว้
“ที่เขาบอกว่ามนุษย์สามารถรักสัตว์ได้เหมือนลูก อันนี้ไม่เกินเลยความจริง เพราะลุงรู้สึกแบบนี้จริงๆ”
4. สัตว์แยกได้ใครคือ ‘คนมาเที่ยว’ ใครเป็น ‘คนเลี้ยงดู’
มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาสภาพแวดล้อมในสวนสัตว์ระบุว่า สัตว์หลายสายพันธุ์มีศักยภาพที่จะแยกแยะระหว่างแขกที่มาเยี่ยมชม (visitors) และเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ (keepers) มีหลายกรณีที่พฤติกรรมของผู้เที่ยวชมกลับไปกระตุ้นพฤติกรรมทางลบต่อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยอยู่อย่างสันโดษ พวกมันจะมีความเครียดสูงตามจำนวนผู้มาเที่ยว ก่อให้เกิดภาวะเครียดเรื้อรังจากฮอร์โมนเครียด (stress hormones) อย่างเช่น ชะนี อุรังอุตัง ลิงแมนดริล หมี
ในสวนสัตว์เขาดินไม่อนุญาตให้ผู้มาเที่ยวชมเคาะกระจก เอาไม้เขี่ย หรือทำเสียงดังๆ เพื่อให้สัตว์หันมาสบตากับกล้องที่รอจังหวะถ่ายรูป ลองคิดดูว่าแต่ละวัน สวนสัตว์เขาดินรองรับนักท่องเที่ยวกว่าพันคน หากนักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมเช่นนี้ทุกคน จะสะสมความเครียดให้กับสัตว์อย่างมาก
การเที่ยวสวนสัตว์ที่ดีคือการเฝ้ามองพวกมันอย่างเงียบงันในระยะที่เหมาะสมที่สวนสัตว์กำหนดไว้ให้
5. พัว ภาคสุทธิ – เต่า และสัตว์เลื้อยคลาน
“บรรดาเต่าที่เขาดินอยู่มานานกว่าผมเยอะ พวกนี้อายุตั้งแต่ 50-70 ปีรุ่นแรกๆ ของเขาดินเลยด้วยซ้ำ พวกมันแก่กว่าผมจนเรียกเต่าว่า ‘น้า’ ก็ยังได้
“ถึงคุณจะเห็นเต่าเป็นสัตว์อดทน ไม่เรียกร้องอะไรมาก แต่เรื่องอาหารต้องละเอียดรอบคอบ อาหารต้องเป็นพืชผักสด สรรหาให้ครบโภชนาการ เผลอๆ กินดีกว่าแฟนผมอีก (หัวเราะ) หากอาหารไม่ดีเต่าจะป่วยง่าย แล้วเวลาเต่าป่วยคุณแทบไม่รู้เลยว่ามันป่วย ทุกๆ เช้าผมจะต้องมาเดินเคาะกระดองเต่าดูทีละตัว ถ้าหางกระดุกกระดิกหัวผลุบๆ โผล่ๆ ได้ก็จะสบายใจหน่อย
“ถึงเต่าจะเชื่องช้า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ มันต้องมีทีมดูแลตลอดทุกวัน เวลาผมลาหยุดยังต้องตกลงกันว่าใครจะดูแทนต่อ จะหยุดไปพร้อมๆ กันไม่ได้
“การมีชีวิตอยู่กับสัตว์ต้องเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเต่าไปไหน ผมก็คงต้องไปด้วย”
6. อย่าให้อาหาร ถ้าคุณไม่ใช่คนดูแลสัตว์
สัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูในสวนสัตว์ตั้งแต่เกิดมักคุ้นชินกับบรรยากาศในพื้นที่ของมันเอง บางครั้งพวกมันอาจไม่ได้สังเกตเห็นคุณ คนส่วนใหญ่จึงอยากได้ ‘ความสนใจ’ จากสัตว์จึงโยนอาหารเพื่อล่อ แต่คุณไม่ควรให้อะไรกับสัตว์พวกนี้กินหากคุณไม่ได้มีความรู้ในการดูแลสัตว์
สัตว์แต่ละชนิดมีความต้องการด้านโภชนาการที่แตกต่างกัน อาหารของมนุษย์อาจเป็นพิษต่อระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะสัตว์ที่มีลูกอ่อนที่อยู่ในภาวะให้น้ำนม ผู้ดูแลสัตว์แต่ละคนจะมีความรู้เรื่องอาหารที่ต้องวัดตวงอย่างถูกต้องเพื่อให้สัตว์มีสุขภาวะที่ดี
7. ‘ป้ายา’ กันยา แก้วมณี – ร้านถ่ายรูปเก่าแก่ในเขาดิน
“จานป้าใส่ข้าวกินได้นะคุณ แต่เวลาคุณกินข้าวแล้วเห็นหน้าตัวเอง คุณกินลงไหมล่ะ?”
“สวนสัตว์เขาดินเปิดมา 80 ปี ร้านถ่ายรูปของคุณพ่อเปิดมานานราว 40 ปี ตั้งแต่ประมูลพื้นที่ตรงนี้ในสวนสัตว์ได้ ยุคนู้นคนทั่วไปยังไม่มีกล้องส่วนตัวกันหรอก คนส่วนใหญ่ต้องมาถ่ายรูปที่ร้านคุณพ่อจนเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ถ่ายเป็นฟิล์มขาวดำ ถ่ายแล้วก็มีบริการล้างให้ และร้านถ่ายรูปนี้ก็พยายามเปลี่ยนรูปแบบไปตลอด 40 ปีพร้อมๆ กับเรื่องราวในสวนสัตว์
“ตอนนี้ร้านคุณพ่อ ป้ากับพี่ก็ต้องมาช่วยดูแลต่อ อยู่ตรงนี้มา 40 ปี คุ้นชินกับภาพมุมเดิมๆ มองไปเห็นบ่อหมี ถ้าเขาดินจะย้ายไปที่ใหม่ เราคงไม่ย้ายตาม ไม่เอาแล้ว กว่าจะตั้งสักร้านมันลำบากนะคุณ ใช้เวลามาก หลังจากนี้คงไปอยู่กับลูกกับหลานแล้ว
“จานรุ่นสุดท้ายลาย ‘เขาดิน’ เหลือ 7 ใบสุดท้าย ไม่ทำใหม่แล้ว ตอนนี้มีแต่คนอยากได้ เพราะหลังจากนี้จะเป็นของหายากแล้ว”
สวนสัตว์เขาดิน มีสัตว์ทั้งหมด 1,300 ตัว ที่ต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกไปจัดแสดง ณ สวนสัตว์ต่างๆ ภายใต้การบริหารขององค์การสวนสัตว์จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ‘เขาดิน’ ยังคงเป็นพื้นที่ความผูกพันของ ‘คนและสัตว์’ ณ กลางกรุงดั่งวันวาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Zoo experiences: conversations, connections, and concern for animals.
Animal Welfare