ในปี พ.ศ.2563 นับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม การชุมนุมขับไล่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของกลุ่มเยาวชนและประชาชนก็ปรากฎขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการแสดงออกหลากหลายรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นการจัดแฟลชม็อบ การจัดเวทีปราศรัยใหญ่ การเดินขบวนไปยังสถานที่สำคัญ หรือว่าการแสดงสัญลักษณ์ผ่านงานศิลปะ
เนื้อหาในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองทวีความเข้มข้นในทุกสัปดาห์ และเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ภาครัฐได้มีการใช้กำลังเพื่อปราบปรามการชุมนุมเป็นครั้งแรก ผ่านการใช้รถน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน
มาตรการสลายการชุมนุมจากภาครัฐยังได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ได้แก่ การใช้แก๊สน้ำตาบริเวณหน้ารัฐสภา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 และการใช้กระสุนยางบริเวณแยกดินแดงและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 และมีการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำต่อเนื่องมาจนถึงการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564
โดยแทบทุกการชุมนุมที่มีการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยมาตรการเหล่านี้ ผู้ชุมนุมมักแตกพ่ายถอยร่น นำไปสู่การยุติการชุมนุมอย่างรวดเร็วเสมอ
จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 ก็ได้เกิดปรากฎการณ์การรวมกลุ่มของมวลชนอิสระบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ที่ยืดหยัดพร้อมเผชิญหน้ากับการปราบปรามด้วยความรุนแรงของภาครัฐ รวมไปถึงการตอบโต้เจ้าหน้าที่ด้วยวิธีที่ ‘แตกต่าง’ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลุ ประทัด หรือหนังสติ๊ก
โดยกลุ่มมวลชนนี้ถูกขนานนามผ่านสื่อว่า ‘กลุ่มทะลุแก๊ส’ ในภายหลัง
ปรากฎการณ์การชุมนุมบริเวณสามแยกดินแดงเป็นปรากฎการณ์ที่คนในสังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นวงกว้าง เนื่องจากเป็นการชุมนุมแรกๆ ที่มีรูปแบบการแสดงออกที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากการชุมนุมกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ไม่ปรากฎชื่อแกนนำผู้จัดงานอย่างเป็นทางการ, การปักหลักชุมนุมบนพื้นที่เดิม ไม่มีการเปลี่ยนพื้นที่การชุมนุม และอุปกรณ์ในการโต้ตอบ
จนเกิดเป็นคำถามจำนวนมากในช่วงต้นของการชุมนุมว่า คนกลุ่มนี้คือใคร? คนกลุ่มนี้กำลังทำอะไร? เหตุใดจึงต้องเลือกใช้วิธีการนี้? และมีความมั่นใจแค่ไหนว่าการชุมนุมในรูปแบบนี้จะประสบผลสำเร็จ?
ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา คำตอบของคำถามข้างต้นค่อยๆ เปิดเผยผ่านการวิเคราะห์หลายมุมมอง และสามารถสรุปในขั้นต้นได้ว่าพื้นฐานทางสังคมของผู้เข้าร่วมการชุมนุมของมวลชนบริเวณแยกดินแดงในช่วงปี พ.ศ.2564 จัดอยู่ในกลุ่ม ‘คนจนเมือง’ เป็นหลัก พวกเขาออกมารวมตัวเนื่องจากเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่โดยตรง และต้องการการแก้ไขจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน
ซึ่งปัญหานี้มีความแตกต่างในรายละเอียดเมื่อเปรียบเทียบกับจุดประสงค์ในการออกมาชุมนุมของมวลชน ‘ชนชั้นกลาง’ ช่วงปี พ.ศ.2563 ที่มีเป้าหมายหลักในการเรียกร้องประชาธิปไตยและต้องการให้พลเอก ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อพิจารณาเรื่องวัฒนธรรมต่างชนชั้นและปัญหาที่มวลชนประสบ จึงนำไปสู่วิธีการโต้ตอบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะกลุ่มทะลุแก๊สมองว่าพวกเขาไม่มีวิธีการอื่นใดที่สามารถเรียกร้องเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ
หากสิ่งที่ยังไม่ถูกถามหรือยังไม่ได้รับคำตอบคือ ภายหลังจากเสียงพลุนัดสุดท้ายบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง
เกิดอะไรขึ้นบ้างกับชีวิตความเป็นอยู่ของมวลชนอิสระเหล่านี้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาเป็นเช่นไร
จุดเริ่มต้น ‘ทะลุแก๊ส’
ความชุลมุนบริเวณแยกดินแดงเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2564 เมื่อกลุ่มแนวร่วมราษฎร นัดหมายให้ประชาชน เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังพระบรมมหาราชวัง แต่ในช่วงสายของวันดังกล่าว ตำรวจได้ตรึงกำลังรอบเส้นทางการเดินเท้าอย่างเข้มงวด ทางเพจเฟซบุ๊ก เยาวชนปลดแอก – Free Youth จึงได้เปลี่ยนการนัดหมายเป็นบริเวณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและทำการเคลื่อนพลไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อันเป็นที่พักของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การชุมนุมในวันดังกล่าวดำเนินไปด้วยความโกลาหล ฝ่ายรัฐได้วางตู้คอนเทนเนอร์กั้นบนถนน ปิดเส้นทางจราจรระหว่างแยกดินแดงกับถนนวิภาวดี-รังสิต เพื่อทำการสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมมุ่งหน้าไปยังกรมทหารราบที่ 1 ส่งผลให้กลุ่มราษฎรจำต้องปักหลักอยู่เพียงบริเวณแยกดินแดงเท่านั้น
จากนั้นในช่วงสายไปจนถึงช่วงเย็นของวัน ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางจำนวนมากเพื่อสลายการชุมนุม นอกจากนี้บนหน้าสื่อยังปรากฎภาพความรุนแรงด้านอื่นๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนถีบรถจักรยานยนต์ผู้ชุมนุมให้ล้ม จากนั้นก็วิ่งกรูเข้าไปจับกุม รวมไปถึงการขับรถกระบะไล่ตามผู้ชุมนุมบนท้องถนน มีการใช้ปืนยิงกระสุนยางยิงลงมาจากบนรถ มีการจับกุมประชาชนอย่างน้อย 4 รายในการชุมนุม วิธีการเข้าสลายการชุมนุมและเข้าควบคุมพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และไม่สอดคล้องกับหลักการปฏิบัติในทางสากล ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง
นับจากนั้น การเริ่มรวมตัวของกลุ่มมวลชนอิสระจำนวนหนึ่งก็เกิดขึ้นบริเวณแยกดินแดงในช่วงเย็นของแทบทุกวันโดยไร้แกนนำหรือการนัดหมายจากกลุ่มกิจกรรมใด ผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีการแสดงออกถึงความไม่พอใจในการสลายการชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาคม ผ่านการตะโกนด่าทอ หรือว่าการขับรถจักรยานยนต์ฉวัดเฉวียน มีการบีบแตรเพื่อก่อให้เกิดเสียงดัง โดยในช่วงต้นยังไม่ได้มีการตอบโต้หรือการสลายการชุมนุมจากทางเจ้าหน้าที่อย่างเป็นระบบมากนัก
ราว 1 สัปดาห์ต่อมา เหตุการณ์ก็ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อกลุ่มทะลุฟ้า ประกาศชุมนุมบริเวณอนุสาวรย์ชัยสมรภูมิ ในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2564 เพื่อเดินหน้าไปกรมทหารราบที่ 1 อีกครั้ง การชุมนุมปรากฎการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนอย่างรุนแรงบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงเช่นเดิม มีการใช้อาวุธหลากหลายเพื่อสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ถูกกระสุนแก๊สน้ำตากระแทกไปที่บริเวณดวงตาและสูญเสียความสามารถการมองเห็นในเวลาต่อมา
ในช่วงเวลานี้สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มขนานนามกลุ่มผู้ชุมนุมจากทุกสารทิศที่มารวมตัวบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงว่ากลุ่ม “ทะลุแก๊ส” จนกลายเป็นชื่อเล่นที่หน้าข่าวสังคมไทยใช้เรียกในเวลาต่อมา
สำหรับสาเหตุที่พวกเขามารวมตัวกัน จากรายงานการวิจัยเรื่อง การก่อตัว พัฒนาการ และ พลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ระบุว่ากว่า 40% ของกลุ่มมวลชนอิสระบริเวณแยกดินแดง เลือกที่จะเดินทางมาบริเวณดินแดงเพราะไม่พอใจกับการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์วันที่ 7 และ 13 สิงหาคม พ.ศ.2564
งานวิจัยยังเสริมว่ามวลชนจำนวนมากเลือกปักหลักชุมนุมต่อเนื่องยาวนาน เพราะรู้สึกว่าตนต้องเดินทางไปถึงหน้าบ้านของ พล.อ.ประยุทธ์ให้ได้ เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ในการชุมนุมทั้ง 2 วันดังกล่าว
ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2564 การชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สในช่วงเย็นของวันยังคงดำเนินต่อไป ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเริ่มใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุม การใช้ความรุนแรงเพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ส่งผลกระทบกับผู้เดินสัญจรผ่านบริเวณที่มีการสลายการชุมนุมเพื่อกลับเข้าเคหะสถานอย่าง มานะ หงษ์ทอง ซึ่งได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะจากกระสุนยางและเสียชีวิตในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2565
มานะ หงษ์ทองไม่ใช่ผู้เสียชีวิตรายเดียวจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2564 กลุ่มมวลชนอิสระเดินทางไปชุมนุมบริเวณหน้าหน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดง และ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริงในวันดังกล่าว ก่อนจะเสียชีวิตลงในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2564
เหตุการณ์การปะทะบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับมวลชนอิสระหรือมวลชนทะลุแก๊สดำเนินต่อเนื่อง
ผู้ชุมนุมมีการใช้พลุ ประทัด และลูกแก้วเพื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาปากท้อง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ยุทธการ ‘ปิดกล่อง’ บุกเข้าไปข้างในบริเวณแฟลตดินแดง จับกุมตัวกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากที่กระจายตัวหลบอยู่บนตึก มีการตั้งจุดตรวจสกัดบริเวณแฟลตดินแดงและซอยต้นโพธิ์ อันเป็นเส้นทางที่กลุ่มมวลชนมักใช้ในหลบหลีกการจับกุม
มาตรการการป้องกันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องจากทางภาครัฐ ส่งผลให้การต่อสู้ปิดฉากลงในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2564
นับเป็นการจบการชุมนุมที่ปะทะกันอย่างยาวนานมาตลอด 2 เดือน ให้เหลือเพียงการท้าทายด้วยการปาประทัดและจุดพลุประปรายในบางช่วงจังหวะ
เบื้องหลังเสียงพลุและประทัด
นับตั้งแต่วันแรกที่มีการปรากฎตัวจนถึงการชุมนุมในวันสุดท้ายของกลุ่มทะลุแก๊ส ข้อมูลโดยทั่วไปมีการบันทึกไว้เพียงผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็น ‘วัยรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี’ มัก ‘ขับรถมอเตอร์ไซต์มาเข้าร่วม’ เพื่อประโยชน์ในการหลบหนีการสลายการชุมนุมได้อย่างทันท่วงที มีการ ‘ใช้พลุและประทัด’ ในการตอบโต้ความรุนแรงจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หากเนื้อหาและรายละเอียดในหลายส่วนยังไม่ได้เผยแพร่ในวงสาธารณะมากนัก
งานวิจัย การก่อตัว พัฒนาการ และ พลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ยังให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติและพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มมวลชนทะลุแก๊สดังนี้ ผู้ชุมนุมเกินกว่า 70 % เป็นคนจนเมืองรุ่นใหม่ อายุยังน้อย ครอบครัวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะผลกระทบจากโควิด ที่ทำให้ครอบครัวคนจนเมืองจำนวนมากขาดรายได้ เสาหลักในการหารายได้ตกงาน สมาชิกหลายคนเจ็บป่วย ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าช้า
รวมไปถึงเยาวชนหลายคนจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์ในการเรียน หรือบางคนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้
ส่วนประเด็นว่า การที่มวลชนอิสระเหล่านี้พร้อมปะทะเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยประทัด พลุ หรือหนังสติ๊ก เป็นการกระทำที่ผิดแผกไปจากการชุมนุมทางการเมืองกระแสหลักในเวลานั้น และอาจไม่เข้าข่ายการชุมนุมอย่างสันติ
จนเกิดเป็นข้อสงสัยและข้อถกเถียง ที่ตามมา
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวให้คำตอบไว้ว่า เยาวชนที่ลงสนามการต่อสู้บริเวณสามแยกดินแดง ไม่ได้พิจารณาประเด็นเรื่องวิธีคิดแบบสันติหรือไม่สันติเป็นหลัก แต่พวกเขามองต่างมิติออกไป และอธิบายเหตุปัจจัยและผลของการกระทำผ่านมิติเรื่องความรุนแรงมากกว่า
โดยผู้ชุมนุมขยายความว่า พวกเขาไม่ได้เลือกอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อสนองความสนุกหรือว่าสะใจส่วนตัว เหตุที่ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องหาตัวช่วยในการชุมนุมก็เพราะว่ารัฐใช้ความรุนแรงกับผู้เข้าร่วมชุมนุมผ่านการแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตได้
ดังนั้นพวกเขาก็จำเป็นต้องโต้ตอบเพื่อป้องกันเรื่องไม่คาดคิดเช่นกัน
นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังเสริมว่า ความคิดเห็นเรื่องการใช้พลุหรือว่าประทัดเป็นส่วนหนึ่งในการชุมนุมเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล มุมมองของบางคนอาจคิดว่าการใช้พลุเป็นความรุนแรง แต่ก็ยังเป็นความรุนแรงในระดับที่ยอมรับให้ใช้ได้ เพราะถ้าหากเทียบกับความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อพวกเขาแล้ว เทียบกันไม่ได้เลย
ถัดจากเรื่องพื้นฐานทางสังคมของผู้เข้าร่วมชุมนุม มิติความคิดต่อการชุมนุมและความรุนแรง อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญที่มีการเสนอในงานวิจัยคือ การแสดงออกโดยใช้เสียงดัง เช่น ‘การตะโกน’ ‘การบีบแตรรถมอเตอร์ไซต์’ ‘การใช้พลุและประทัด’ เป็นการแสดงออกในเชิงภาษาและสัญลักษณ์อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเยาวชนเหล่านี้จำนวนมาก อาจไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านการพูด การเขียน หรือการสร้างสรรค์งานศิลปะ การแสดงออกเหล่านี้จึงเทียบได้กับไวยากรณ์ภาษาแบบหนึ่งของผู้ชุมนุม เพื่อให้แทนการส่งเสียงและแสดงออกให้รัฐเห็น และเรียกร้องให้สนใจปัญหาของพวกเขา แม้สุดท้ายแล้ว สิ่งที่รัฐทำคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการแก้ปัญหาก็ตามที
ควันจากไฟที่เริ่มจาง ผลกระทบที่ตามมา
ปรากฎการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นบริเวณแยกดินแดง ส่งผลกระทบต่อผู้เข้าร่วม และเปลี่ยนชีวิตผู้ชุมนุมไปจำนวนมาก
นับเป็นการชุมนุมที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่แกนนำเยอะที่สุดปรากฎการณ์หนึ่ง
บันทึกสถิติเฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ดินแดงของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 ถึงกรกฎาคม พ.ศ.2565 มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมทั้งสิ้น 651 คน เป็นเยาวชนอายุ 15-18 ปี 186 คน และเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี 48 คน ตามตาราง
ม็อบวันที่ | ผู้ใหญ่ | เยาวชนอายุ 15-18 ปี | เด็กอายุต่ำ
กว่า 15 ปี |
รวม | หมายเหตุ |
7 สิงหาคม 2564 | 2 | 2 | – | 4 | |
10 สิงหาคม 2564 | 33 | 13 | 2 | 48 | |
11 สิงหาคม 2564 | 3 | 1 | – | 4 | |
15 สิงหาคม 2564 | 2 | 2 | – | 4 | มานะ หงษ์ทอง ประชาชน อายุ 64 ปี ที่สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าว ถูกลูกหลงกระสุนยางเข้าที่ศีษระ และเสียชีวิตลงวันที่ 5 มีนาคม 2565 |
16 สิงหาคม 2564 | 8 | 5 | – | 13 | วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงบริเวณศีรษะ และ เสียชีวิตในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 |
17 สิงหาคม 2564 | 1 | – | – | 1 | |
18 สิงหาคม 2564 | 8 | 12 | 2 | 22 | |
20 สิงหาคม 2564 | 8 | 12 | 7 | 27 | |
21 สิงหาคม 2564 | 5 | 1 | 1 | 7 | |
22 สิงหาคม 2564 | 23 | 7 | 2 | 32 | |
23 สิงหาคม 2564 | 4 | – | 1 | 5 | |
28 สิงหาคม 2564 | 9 | – | – | 9 | |
29 สิงหาคม 2564 | 24 | 11 | 2 | 37 | |
3 กันยายน 2564 | – | 2 | – | 2 | |
5 กันยายน 2564 | – | 3 | – | 3 | ประชาชนวัย 50 ปี เสียชีวิต 1 ราย เนื่องจากขับรถชนตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้สกัดผู้ชุมนุม ในช่วงกลางดึก |
6 กันยายน 2564 | 9 | 6 | 3 | 18 | มีผู้ถูกจับกุม 5 รายที่ยืนยันว่าไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม |
7 กันยายน 2564 | 10 | 5 | – | 15 | เยาวชนอายุ 17 ปีหนึ่งรายถูกรถชน อีก 1 รายได้รับบาดเจ็บกระดูกไหปลาร้าหัก |
8 กันยายน 2565 | 1 | 1 | – | 2 | |
10 กันยายน 2564 | 2 | – | 1 | 3 | |
11 กันยายน 2564 | 66 | 11 | – | 77 | |
12 กันยายน 2564 | 2 | – | – | 2 | เยาวชน อายุ 14 ปี ถูกรถควบคุมผู้ต้องขังพุ่งชน |
13 กันยายน 2564 | 6 | 4 | 1 | 11 | |
14 กันยายน 2564 | 2 | 2 | 1 | 5 | เยาวชนอายุ 14 ปี ถูกค้นบ้านและจับกุมโดยไม่มีหมาย ในข้อหาเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ดินแดง |
15 กันยายน 2564 | 3 | 1 | – | 4 | |
16 กันยายน 2564 | 5 | – | – | 5 | จับกุมตามหมายจับ |
17 – 18 กันยายน 2564 | 4 | 2 | 1 | 7 | จับกุมตามหมายจับ |
19 กันยายน 2564 | 16 | 4 | 2 | 22 | |
23 กันยายน 2564 | 7 | 6 | 3 | 16 | |
24 กันยายน 2564 | 2 | 8 | 4 | 14 | |
25 กันยายน 2564 | 11 | 4 | – | 15 | |
27 กันยายน 2564 | – | 5 | – | 5 | |
28 กันยายน 2564 | 9 | 3 | 2 | 14 | |
29 กันยายน 2564 | 13 | 8 | 1 | 22 | 2 รายถูกเจ้าหน้าที่ยึดสิ่งของมีค่าแล้วไม่ลงบันทึก ไม่สามารถทวงสิ่งของคืนได้ |
1 ตุลาคม 2564 | 2 | 2 | – | 4 | |
3 ตุลาคม 2564 | 3 | – | – | 3 | |
4 ตุลาคม 2564 | 21 | 5 | – | 26 | ตำรวจควบคุมฝูงชนบุก เข้าไปข้างในแฟลตดินแดงกลางดึกเพื่อค้นหาตัวผู้ชุมนุมที่อาจหลบหนีเข้าไปภายในแฟลต |
6 ตุลาคม 2564 | 23 | 3 | 2 | 28 | |
7 ตุลาคม 2564 | 26 | 11 | 5 | 42 | |
8 ตุลาคม 2564 | 1 | 4 | 1 | 6 | |
10 ตุลาคม 2564 | – | – | 1 | 1 | เยาวชนอายุ 14 ปี ถูกควบคุมตัวจากบ้านไปยังสน. ดินแดง ตำรวจพยายามบีบบังคับให้รับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุยิงตำรวจควบคุมฝูงชน ในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 |
11 ตุลาคม 2564 | 3 | – | – | 3 | |
14 ตุลาคม 2564 | – | 2 | 1 | 3 | |
15 ตุลาคม 2564 | – | 1 | – | 1 | จับกุมตามหมายจับ |
19 ตุลาคม 2564 | 1 | 1 | – | 2 | จับกุมตามหมายจับ 1 ราย |
21 ตุลาคม 2564 | 12 | 1 | – | 13 | จับกุมตามหมายจับ 10 ราย |
22 ตุลาคม 2564 | 1 | 1 | – | 2 | จับกุมตามหมายจับ |
27 ตุลาคม 2564 | – | 1 | – | 1 | จับกุมตามหมายจับ 2 หมาย |
29 ตุลาคม 2564 | 6 | 2 | – | 8 |
|
31 ตุลาคม 2564 | 2 | – | – | 2 | |
13 มกราคม2565 | – | 1 | – | 1 | จับกุมตามหมายจับ |
10 เมษายน 2565 | 1 | 1 | – | 2 | จับกุมตามหมายจับ |
8 เมษายน 2565 | 1 | – | – | 1 | |
11 เมษายน 2565 | 2 | – | – | 2 | จับกุมตามหมายจับ |
12 เมษายน 2565 | 1 | 1 | – | 2 | จับกุมตามหมายจับ |
23 เมษายน 2565 | 1 | – | – | 1 | จับกุมตามหมายจับ เหตุไม่มาตามหมายเรียกแต่เจ้าตัวยืนยันไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน |
27 เมษายน 2565 | 1 | – | – | 1 | จับกุมตามหมายจับ เหตุไม่มาตามหมายเรียกแต่เจ้าตัวยืนยันไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน |
5 พฤษภาคม 2565 | – | – | 1 | 1 | เข้ามอบตัว |
11 มิถุนา 2565 | 1 | 1 | – | 2 | จับกุมตามหมายจับ |
12 มิถุนายน 2565 | – | 1 | – | 1 | |
15 มิถุนายน 2565 | – | 1 | – | 1 | จับกุมตามหมายจับ |
16 มิถุนายน 2565 | 9 | 2 | 1 | 12 | จับกุมตามหมายจับและเข้ามอบตัว |
18 มิถุนายน 2565 | – | 2 | – | 2 | จับกุมตามหมายจับ |
19 มิถุนายน 2565 | – | 1 | – | 1 | จับกุมตามหมายจับ |
1 กรกฎาคม 2565 | 1 | – | – | 1 | ถูกตำรวจแจ้งหมายจับ และยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปตรวจค้น |
รวมทั้งหมด | 417 | 186 | 48 | 651 |
การจับกุมดังกล่าว มีทั้งการจับกุมที่นำไปสู่การดำเนินคดีต่อและไม่ได้ดำเนินคดีต่อ อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการจับกุมในหลายครั้งเป็นมีการใช้กำลังเข้าจับกุมอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ที่ถูกจับกุม
จากรายงานการวิจัยพบว่าผู้ที่ถูกจับกุมจำนวนหลายราย ถูกข่มขู่และทำร้ายบ่อยครั้ง จนหลายรายเกิดความวิตกกังวล จนนำไปสู่สภาวะเครียดและซึมเศร้า
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าผู้ถูกจำคุกจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ดินแดงอย่างน้อย 15 ราย มีอาการซึมเศร้าอย่างหนัก ในจำนวนนี้ มีผู้ต้องขัง 1 รายป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นและกรมราชทัณฑ์ไม่ได้จัดหายามาให้
รวมไปถึงผู้ถูกจำคุกอย่างน้อย 3 ราย พยายามฆ่าตัวตายในเรือนจำ โดยรายแรก พยายามกลืนยาพารากว่า 60 เม็ด รายที่ 2 ใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนตนเองจนเป็นแผลเหวอะหวะ และรายสุดท้าย มีความพยายามฆ่าตัวตาย 2 ครั้ง ครั้งแรกใช้มุ้งลวดกรีดแขน อีกครั้งหนึ่งใช้ฝาปลากระป๋องเช่นเดียวกับรายก่อนหน้า
นอกจากความเครียด สภาวะซึมเศร้าและความพยายามฆ่าตัวตายในคุกแล้ว ผู้เข้าร่วมชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ยังต้องเผชิญปัญหาที่ตามมาหลังจากการถูกจับกุมคุมขังอีกหลากหลายปัญหาทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพจิต
บ้านแตกสาแหรกขาด ไร้ที่อยู่ ออกจากการศึกษา
หลังจากการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงผ่านพ้นไป และพื้นที่นั้นกลับมาเป็นเส้นทางการจราจรอย่างสมบูรณ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 การติดตามชีวิตของผู้เข้าร่วมชุมนุมพบว่า มีจำนวนมากประสบกับสภาวะซึมเศร้าหลังจากถูกจับกุมและดำเนินคดี ปัญหาที่รุมเร้าเหล่านี้ส่งผลให้บุคคลและเยาวชนบางส่วนต้องออกจากการศึกษาและบางส่วนกลายเป็นคนไร้บ้าน
น็อต (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกจับกุมในคดีร้ายแรง ถูกศาลเยาวชนตัดสินให้คุมประพฤติในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่า 4 เดือน ด้วยเหตุผลว่าเนื่องจากไม่มีผู้ปกครองมาประกันตัว
หลังจากออกจากสถานพินิจ น็อตไม่สามารถกลับไปที่บ้านได้เนื่องจากทางผู้ปกครองไม่ต้อนรับ ทำให้เขาต้องระหกระเหิน เร่ร่อนออกมาเป็นคนไร้บ้าน ก่อนที่จะไปอยู่กับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่รับไปดูแล
ทอง (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 13 ปี เคยถูกจับกุมขณะที่อายุ 12 ปี แต่ถูกปล่อยตัวออกมา จากความขัดแย้งกับผู้ปกครองในเรื่องการเมืองที่เห็นไม่ตรงกันและ ถูกทำร้ายร่างกาย เขาตัดสินใจออกจากบ้านและต้องออกจากการศึกษาหลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ทองต้องแวะเวียนเปลี่ยนไปอาศัยอยู่กับคนรู้จัก โดยย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ครั้งละ ไม่กี่วัน เนื่องด้วยเขามีความหวาดกลัวว่าผู้ปกครองจะมาตามหาและนำตัวเขากลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขาไม่ต้องการ
ปัจจุบันทองยังไม่ได้สมัครเรียนต่อในระดับชั้นมัธยม ไม่มีรายได้ และไม่ได้ทำงาน โดยที่ตัวเขาเองก็ยังไม่แน่ใจนักว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี
นอกจากเยาวชนสองคนดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้ที่เคยร่วมชุมนุมอีกจำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน โดยปัญหาส่วนมากมักจะเกิดจากการที่มาร่วมชุมนุมแล้วถูกจับกุมดำเนินคดี นำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัวกับผู้ปกครองหรือผู้ปกครองไม่ยินยอมที่จะมาประกันตัว ทำให้เยาวชนจำนวนหนึ่งต้องออกจากบ้านและหาที่อยู่กับคนที่รู้จักแทน
นอกจากนี้เมื่อไม่มีผู้ปกครองดูแลหรือให้การสนับสนุนด้านเศรษฐกิจก็เป็นการบีบให้เยาวชนเหล่านี้ต้องออกจากระบบการศึกษา เมื่อไม่มีวุฒิการศึกษาก็นำไปสู่ปัญหาเรื่องของการไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งได้ ต้องกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ การขาดรายได้และขาดความมั่นคงในชีวิต
ชีวิตกับการตัดสินใจ
นอกจากผู้ที่ถูกคุมขังและพยายามฆ่าตัวตายในเรือนจำที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นแล้ว การออกมาเผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยวโดยไร้ที่พึ่งพิง ก็ทำให้ใครหลายคนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป
อิท (นามสมมติ) อายุ 23 ปี ถูกดำเนินคดีร้ายแรงคดีหนึ่ง โดยศาลตัดสินให้ติดกำไล EM ไว้ก่อน เนื่องจากคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด
อิทเล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเองเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ต้องทานยามาเป็นเวลาหลายปี และตั้งแต่ที่เขาติดกำไลข้อเท้า ทำให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตตามปรกติได้ เนื่องด้วยเขาต้องทำงานเป็นพนักงานรับส่งอาหาร การติดกำไลข้อเท้าจำกัดเวลาให้เขาออกจากบ้านได้ถึงช่วง 16.00 นาฬิกา ทำให้เขาขาดรายได้ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่าย ไม่เพียงแต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น
ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว อิทเป็นคนที่ชอบเล่นดนตรีและพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ตั้งแต่ที่เขาต้องติดกำไลข้อเท้าทำให้เขาไม่สามารถออกไปพบปะใครได้ ไม่สามารถแม้แต่จะออกไปฟังดนตรีร้านโปรดที่หน้าปากซอยบ้านได้
“มันจะมีร้านพี่ผมอยู่ตรงนี้ (ชี้มือไปทางร้าน) ผมชอบมาฟังเพลงตรงนี้ แต่พอผมติด EM ผมก็ไปไม่ได้เลย ผมเศร้ามาก มันยิ่งบั่นทอนเรา
“ผมได้แต่นอนอยู่ที่ห้อง ทำอะไรไม่ได้เลย บางวันผมต้องนั่งจ้องมดว่ามดมันเดินไปไหน ไปทางไหนนะ มันเข้ามาได้ยังไง แล้วมันจะไปทางไหนต่อ”
อิทพยายามเล่าติดตลก แม้เรื่องจริงอาจจะไม่ได้ตลกอย่างที่เขาเล่า เขาพยายามจบชีวิตตัวเองด้วยการดื่มน้ำยาล้างห้องน้ำ แต่เคราะห์ดีที่มีคนมาช่วยไว้ได้ทันทำให้เขายังปลอดภัยอยู่
ปัง (นามสมมติ) อายุ 23 ปี หนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมทะลุแก๊สที่ออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุยังน้อย เขาหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุ 14 ปี รวมทั้งเคยเป็นคนไร้บ้าน ปังเป็นอีกคนหนึ่งที่ชีวิตเปลี่ยนไปอีกครั้ง หลังจากการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงปิดฉากลง เขาตัดสินใจเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 แต่มีคนช่วยเหลือไว้ได้
นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมรายอื่น เช่น เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ทำร้ายตัวเองและพยายามฆ่าตัวตายเพราะถูกตำรวจยึดรถจักรยานยนต์
หรือชายคนหนึ่งที่พยายามผูกคอตาย หากเพื่อนก็เข้ามาห้ามได้ทัน
หากไม่ใช่ทุกเคสที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่เผชิญกับปัญหารุมเร้ารอดชีวิตจากการอัตวินิบาตกรรม
การ์ดอาสารายหนึ่งเลือกจบชีวิตตัวเองในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 ทำให้สรุปรวมแล้ว มีผู้ที่สูญเสียชีวิต อันเกี่ยวเนื่องกับความไม่สงบในพื้นที่ดินแดงไปแล้วทั้งสิ้น 4 ราย คือ
- มานะ หงษ์ทอง ประชาชนที่ถูกลูกหลงจากกระสุนยาง
- วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงบริเวณหน้า สน.ดินแดง
- ชาย อายุ 50 ปี ประสบอุบัติเหตุขับรถชนตู้คอนเทนเนอร์
- สมาชิกการ์ดอาสา เสียชีวิตโดยวิธีอัตวินิบาตกรรม
ฉากปิด?
ภายในระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา สังคมได้ตกผลึกเรื่องราวของกลุ่มทะลุแก๊สไปในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เห็นว่าเป็นกลุ่มที่นิยมความรุนแรง ในขณะที่บางกลุ่มก็มองว่าเขาเป็นเพียงกลุ่มของลูกหลานคนจนเมืองที่จะออกมาสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น มีทั้งผู้ที่ยอมรับและไม่ยอมรับในแนวทางนี้ ผู้คนที่พยายามถอดบทเรียนจากปรากฎการณ์นี้
อย่างไรก็ดีตามวิถีของชีวิตมนุษย์ มวลชนอิสระเหล่านี้ก็แตกกระสานซ่านเซ็นไปในหลายพื้นที่
หลายคนก็ยุติบทบาทกลับไปใช้ชีวิตในเส้นทางของตัวเองต้องเผชิญกับปัญหาเดิมที่แก้ไม่ตก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและชีวิตส่วนตัว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังคงพยายามทำกิจกรรมทางการเมืองโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ออกไป
หลายคนกลับเข้าสู่การศึกษา
หลายคนหลุดออกจากการศึกษา
หลายคนเปลี่ยนผ่านจากเด็กน้อยสู่การเป็นผู้ใหญ่
หลายคนยังมีคดีติดตัวที่ยังเป็นภาระให้แก้กันต่อไป
หลายคนเลือกที่จะใช้ชีวิตต่อไป
..และบางคนเลือกที่จะจบชีวิตของตัวเองลง
หนึ่งข้อสังเกตจากการวิเคราะห์เรื่องช่วงเวลาที่เส้นทางชีวิตของมวลชนทะลุแก๊สเริ่มเปลี่ยนแปลง คือเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับช่วงที่เหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณดินแดงกำลังเริ่มปิดฉากลง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม พ.ศ.2565
เราไม่มีทางรู้หรือตัดสินได้แน่ชัดว่าการตัดสินใจเหล่านี้มาจากเหตุผลใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ชีวิตส่วนตัว หรือการเมือง แต่สิ่งที่บุคคลทั้งหมดนี้มีร่วมกันคือพวกเขาเป็นคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่หรือเพื่ออุดมการณ์อะไรบางอย่างของเขาเอง
มวลชนกลุ่มนี้ล้วน ‘กล้าจ่าย’ ราคาสำหรับการต่อสู้ด้วยชีวิตของพวกเขา เพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตที่ดีกว่าในภาพอุดมคติ ซึ่งไม่มีความซับซ้อนอะไรมากไปกว่าโอกาสในการประกอบอาชีพ เพื่อเงินมาใช้จ่ายเลี้ยงตนเองและครอบครัว
คำถามที่สมควรถูกถาม ณ ตอนนี้คือ แล้วรัฐแบบใดกันที่ปล่อยให้อิสรภาพชนิดเดียวที่ประชาชนจะมีได้ คืออิสรภาพในการเลือกว่าจะมีชีวิตอยู่หรือจบชีวิตตนเอง?
ความยุติธรรมอันเชื่องช้า
แม้คดีความจำนวนมากยังคงดำเนินตามขั้นตอนกับกลุ่มมวลชนที่มาชุมนุมที่บริเวณดินแดง จนมีผู้ถูกจับกุมคุมขังไปหลายคดี แต่คดีสำคัญ 2 คดีอย่างการเสียชีวิต ของ วาฤทธิ์ สมน้อย และ มานะ หงษ์ทอง กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม
ในคดีของวาฤทธิ์ แม้จะมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยและได้รับการประกันตัวออกมา โดยคดีนี้ถูกโอนมาที่ สน.ดินแดง ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2564 เพื่อให้ทำการรวบรวมสืบหาพยานหลักฐานเพื่อจะทำเป็นสำนวนส่งให้อัยการ ที่กว่าจะสั่งฟ้องก็ต้องรอจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565 ทั้งที่ปรากฎพยานหลักฐานชัดเจนว่า ทิศทางของกระสุนจริงมาจากคนกลุ่มไหน
ในส่วนคดีของ มานะ ทางญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าแจ้งความ ที่ สน.ดินแดง เพื่อให้รวบรวมพยานหลักฐานและหาตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาดำเนินคดีอาญา ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2565 และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในคดีดังกล่าว
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ความยุติธรรมต่อสิ่งปลูกสร้าง ทั้งป้อมตำรวจและเสาสัญญาณจราจร ดูเหมือนจะได้รับความยุติธรรมกลับคืนไปบ้างแล้ว แต่ความยุติธรรมต่อชีวิตที่สูญเสียไป จะมาถึงในเร็ววันหรือไม่
ยังมิอาจทราบได้เลย
อ้างอิง
- https://blog.mobdatathailand.org/
- https://tlhr2014.com/archives/category/statistic
- รายงานเบื้องต้นโครงการวิจัย การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม พ.ศ.2564 ของกนกรัตน์ เลิศชูสกุล และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์