“ตั้งแต่ปี 2563 เด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีไปแล้วมากถึง 286 คน”
เมื่อ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา หยก–ธนลภย์ เยาวชนวัย 15 ปี ออกมาประกาศยุติบทบาททางการเมือง โดยความเห็นส่วนใหญ่ต่างแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของเธอ ซึ่งบางคนระบุเชิงว่า ดีแล้วเพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2563 (หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอก) จนถึง 12 มกราคม 2567 พบเด็กและเยาวชนถูกกล่าวหาและดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 286 คน ใน 217 คดี หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของคดีทางการเมืองทั้งหมด
ดังนั้น The MATTER จึงขอรับหน้าที่พาทุกคนไปดูกันว่า มีเด็กและเยาวชนกำลังเผชิญกับคดีทางการเมืองอะไรบ้าง เพื่อเป็นการให้เห็นภาพกว้างของสิทธิและเสรีภาพของเด็กไทยในปัจจุบัน
‘ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกใช้มากสุด
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็น พ.ร.บ.ที่ถูกประกาศใช้ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 – 1 ตุลาคม 2565 โดยมีเยาวชนถูกดำเนินคดีไปมากถึง 241 คน และแม้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2565 แต่การดำเนินคดีไม่ได้ถูกยกเลิกตามไปด้วย
ถัดมาคือ กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยมีเยาวชนถูกกล่าวหาอย่างน้อย 20 คน
รองลงมาคือ คดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 9 คน และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่มีอย่างน้อย 8 คน รวมถึงกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ ยุยงปลุกปั่นราว 3 คน
เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มถูกดำเนินคดีมากขึ้น
ศูนย์ทนายฯ ชี้ว่า ยังมีคดีไม่สิ้นสุดอย่างน้อย 138 คดี และกำลังอยู่ในกระบวนการอีกกว่า 230 คน ได้แก่ คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน 118 คดี, ศาลชั้นต้น 4 คดี, อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ หรือรอว่ามีการอุทธรณ์หรือไม่ 14 คดี และคดีที่อยู่ในระหว่างฎีกา หรือรอว่ามีการฎีกาหรือไม่ 2 คดี
นอกจากนี้ พบว่าปี 2566 เป็นต้นมา เด็กและเยาวชนถูกกล่าวหาเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย 7 คดี และมีเด็กที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนถูกกล่าวหาเพิ่มมาราว 3 คน
อย่างปีที่แล้วมีเด็กอายุ 14 ปีราว 2 คน ถูกกล่าวหาด้วยข้อหา ม.112 ได้แก่ เมย์ (นามสมมติ) ที่ได้รับคำสั่งให้ให้เข้าร่วมแผนการฟื้นฟูเพื่อปรับทัศนคติ
และอีกคนหนี่งก็คือ หยก ที่เธอถูกกล่าวด้วยคดี ม.112 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หยกปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม และไม่ยื่นประกันตัว ส่งผลให้เธอถูกคุมขังกว่า 51 วัน อยู่ในบ้านปราณี
ทั้งนี้ มีเยาวชนอีก 2 คน ยังถูกคุมขังที่สถานพินิจฯ แม้ว่าจะให้รับการสารภาพแล้วก็ตาม ได้แก่ ภูมิ หัวลำโพง ที่ถูกควบคุมตัว 1 ปี และ ภัทรชัย ที่ถูกควบคุมตัว 6 เดือน
ไม่ใช่เพียงถูกดำเนินคดี แต่ยังถูกคุกคาม
แอมเนสตี้ฯ เปิดเผยว่า เด็กและเยาวชนหลายคนตกเป็นเหยื่อของการถูกติดตามและคุกคาม โดยพบว่ามีเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 68 คน ถูกสอดส่องและข่มขู่จะดำเนินคดีหากเข้าร่วมการชุมนุม เช่น เด็ก อายุ 13 ปี คนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ติดตามถ่ายรูป ขณะอยู่ในพื้นที่เตรียมรับเสด็จ ร.10 และราชินี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565
ยิ่งไปกว่านั้น หลายครอบครัวที่ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ เลือกที่จะใช้ความรุนแรงกับลูกที่เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การไม่ให้ค่าใช้จ่าย จนเด็กและเยาวชนหลายคนเกิดปัญหาสุขภาพจิตและจำเป็นต้องออกจากบ้าน
“อยากให้เด็กออกไปโอบรับความแตกต่างหลากหลาย ช่วยกันสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ฉะนั้นการที่เราจะสร้างเด็กที่สามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ โอบรับความหลากหลายได้ตามที่รัฐต้องการ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นและสำคัญคือการให้ความสำคัญกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมประท้วงโดยสงบของเด็กด้วย” ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ฯ กล่าว
อ้างอิงจาก