ช่วงกลางสัปดาห์มีข่าวศาลรัฐเวอร์จิเนียสั่งให้วัยรุ่นที่ก่อคดีซึ่งทางศาลเห็นว่าไม่ได้เลวร้ายอะไรขนาดนั้น แต่ไอ้เด็กพวกนี้แค่โง่เง่าเฉยๆ ดังนั้นศาลเลยสั่งให้ไปอ่านหนังสือซะ เพราะการอ่านและทำความเข้าใจหนังสือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการศึกษา เป็นการเปิดโลกทัศน์ และสร้างความเข้าใจโลกให้กับเหล่านักเรียน ก่อนที่จะไปสู่โลกแห่งความจริง
มีงานศึกษาพบว่าการอ่านนวนิยายเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้สำคัญของเด็กๆ พลังของวรรณกรรมหรือบันเทิงคดี (fiction) ทำให้ผู้อ่านเกิดความเห็นอกเห็นใจ (empathy) มากขึ้น นักวิจัยจาก University at Buffalo ทำการศึกษาผลกระทบทางจิตวิทยาจากการอ่านนวนิยาย กล่าวว่าการที่เราเกิดอารมณ์ร่วมและเกิดความผูกพันกับพื้นที่ในจินตนาการจากการอ่าน จริงๆ แล้วเป็นการตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เรา ที่มีความต้องการที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ในสังคม
สรุปแล้ว เราไป ‘เรียนหนังสือ’ สุดท้ายก็เพื่อจะ ‘อ่านออกเขียนได้’ ดังนั้นการที่เราผ่านการศึกษาโดยที่เราไม่อ่านอะไรเลย มันก็จะแปลกๆ หน่อยเนอะ ทีนี้ Times Educational Supplement เลยทำการสำรวจความเห็นจากคุณครู 500 คนว่าสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาเนี่ย ก่อนจะเรียนจบควรจะต้องอ่านหนังสือเล่มไหนแล้วบ้าง ซึ่งทั้งหมดก็เป็นงานคลาสสิกของวรรณกรรมตะวันตก แถมยังดูเหมือนว่ารายชื่อที่ครูๆ ทั้งหลายอยากให้เด็กอ่านเนี่ย จะเข้มข้น หนักแน่นไม่เด็กเลยทีเดียว
Nineteen Eighty-Four ของ George Orwell
หนึ่งในหนังสือที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ในยุคปัจจุบัน กับ 1984 ของ George Orwell วรรณกรรมแนว dystopia ที่ทำให้เราได้จินตนาการถึงการถูกปกครองโดยรัฐบาลที่คอยควบคุมบงการชีวิตของผู้คนอย่างสุดขั้ว การที่หนังสือซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างหนักและพูดเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผยได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 สำหรับเด็กๆ มัธยม ก็เป็นการเลือกที่น่าสนใจว่าในสายตาของครู เรื่องการเมือง สิทธิเสรีภาพ การเป็นพลเมือง ไปจนถึงการถูกควบคุมโดยรัฐ ดูจะเป็นเรื่องที่ควรเข้าใจตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นนักเรียนและไม่ใช่เรื่องไกลตัว
To Kill a Mockingbird ของ Harper Lee
อีกเล่มกับวรรณกรรมอเมริกันระดับคลาสสิกและได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ To Kill a Mockingbird เป็นวรรณกรรมที่พูดถึงประเด็นหนักๆ คือ การข่มขืนและการเหยียดชาติพันธุ์ ความพิเศษของนวนิยายรวมถึงการเป็นบันเทิงคดีคือถึงแม้ว่าจะพูดถึงประเด็นยากๆ แต่ Harper Lee สามารถใช้พลังของวรรณศิลป์ส่งผ่านเรื่องราวออกมาด้วยความอบอุ่นและอารมณ์ขัน
Animal Farm ของ George Orwell
ดูเหมือนว่า ‘การเมือง’ จะยังคงเป็นประเด็นที่คุณครูอยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ก่อนที่จะพ้นการเรียนในโรงเรียนไป ในลำดับที่ 3 นี้จึงเป็นผลของ Orwell อีกแล้ว Animal Farm ถือเป็นวรรณกรรมสำคัญอีกเล่มหนึ่ง เป็นงานเขียนที่ใช้สรรพสัตว์ในฟาร์มเพื่อพูดถึงและเสียดสีล้อเลียนการปกครองของโซเวียต ซึ่งถึงปัจจุบันเราจะไม่ได้มีความขัดแย้งแบบสองค่ายเหมือนในยุคสงครามเย็นแล้ว แต่แนวคิดเกี่ยวกับการปกครองและสถานะของผู้คนภายใต้การปกครอง ก็ดูพอจะใช้ได้แม้แต่ในโลกปัจจุบัน
Lord of the Flies ของ William Golding
วรรณกรรมที่พูดเรื่องเด็กๆ แต่เปิดเผยความมืดมิดและความดีงามของมนุษย์ Lord of the Flies เล่าเรื่องราวของเด็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกบนเกาะร้างแห่งหนึ่ง จากเด็กน้อยที่บริสุทธิ์จึงถูกผลักให้ต้องดิ้นรนและเอาตัวรอดในดินแดนรกร้างห่างไกล ในระดับที่ลึกลงไปจากการรวมกลุ่มและเอาตัวรอดของเด็กๆ William Golding พาผู้อ่านสำรวจลึกลงไปยังความขัดแย้งของมนุษย์ระหว่างบุคคลและสังคม เหตุผลและอารมณ์ ศีลธรรมและความไร้ศีลธรรม ซึ่งเรื่องราวของเด็กๆ ที่ต้องเผชิญเรื่องที่ไม่เด็ก ในที่สุดแล้วเรื่องราวอาจจะไม่สวยหวานเหมือนนิทานผจญภัย คุณครูที่เลือกเล่มนี้ค่อนข้างโหดใช้ได้…แต่ เด็กนักเรียน อีกไม่นานก็ต้องโตเป็นผู้ใหญ่เหมือนกันเนอะ
Of Mice and Men ของ John Steinbeck
Of Mice and Men ในฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า ‘เพื่อนยาก’ โดยรวมแล้วพูดถึงประเด็นเรื่องมิตรภาพของชายหนุ่มสองคนที่ร่อนเร่จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐ John Steinbeck เขียนเกี่ยวกับผลงานของตัวเองชิ้นนี้ว่า ‘ลองทำความเข้าใจคนอื่นดู ถ้าเราเข้าใจผู้อื่น เราก็จะมีความปราณีต่อคนอื่นๆ การรู้ใจเบื้องลึกของมนุษย์ย่อมไม่นำไปสู่ความเกลียดชัง แต่นำไปสู่ความรัก งานเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม เขียนเพื่อจัดการความอยุติธรรม และเขียนเพื่อเชิดชูความเป็นวีรบุรุษ ความพยายามในการเข้าใจคนอื่นนี้แหละ เป็นแกนสำคัญของเรื่อง’ อนึ่ง Of Mice and Men บางครั้งก็ถูกโจมตีเรื่องการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ มีการเหยียดผิวและไม่เหมาะสมบ้าง
The Harry Potter series ของ J.K. Rowling
ชุดนี้…ไม่ต้องพูดเยอะ เมื่องานสุดฮิตของเจ.เค. ติดโผที่คุณครูเห็นว่านักเรียนควรอ่าน Harry Potter เองก็ไม่ได้เป็นแค่วรรณกรรมสนุกๆ แต่โดยเนื้อแท้แล้วเราย่อมได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายจากการผจญภัยและเติบโตขึ้นของพ่อมดน้อยของเรา ในเรื่องมีประเด็นที่เก็บเกี่ยวได้อย่างหลากหลายทั้งเรื่องมิตรภาพ ความกล้าหาญ การเติบโต ความรับผิดชอบ และอื่นๆ อีกมากมาย
A Christmas Carol ของ Charles Dickens
A Christmas Carol เป็นนวนิยายของ Charles Dickens นักเขียนคนสำคัญชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1843 นวนิยายสั้นๆ เล่มนี้พูดถึง Scrooge นายธนาคารแสนงกผู้ชอบกดขี่ลูกน้องของตัวเอง ในเรื่องพูดถึงภูติแห่งเทศกาลคริสมาสต์ 3 ตนที่จะมาเผยและทำให้ Scrooge ได้ทบทวนถึงชีวิตของตัวเองที่ขาดการให้ความรักและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ว่าในที่สุดแล้วความหมายของการมีชีวิต เราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรหรือเพื่อใคร
The Catcher in the Rye ของ J.D. Salinger
ที่บอกว่าครูจะไม่ชอบให้นักเรียนต่อต้านหรือเป็นขถบอาจจะไม่เชิง The Catcher in the Rye เป็นนวนิยายตีพิมพ์ในปี 1951 ที่พูดเรื่องวัยรุ่นทั้งความวิตกกังวลและการเป็นขบถต่อเรื่องต่างๆ ในสังคม หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่านวัยรุ่น และตัวละครเอกก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านในช่วงวัยรุ่น แกนหลักของเรื่องพูดถึงประเด็นที่ซับซ้อน เช่น ความไร้เดียงสา ตัวตน ความผูกพัน การสูญเสีย และสายสัมพันธ์กับคนอื่น ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า ‘จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น’
Great Expectations ของ Charles Dickens
Great Expectations เป็นนวนิยายขนาดยาวของ Dickens เป็นงานเขียนระดับขึ้นหิ้งอีกชิ้นหนึ่ง โดยรวมแล้วนวนิยายยาวๆ ของช่วงศตวรรษที่ 19 จะเน้นถ่ายทอดเรื่องราวที่ละเอียดลออ พูดถึงการต่อสู้ เติบโตและฝ่าฟันความยากจนและความยากลำบากต่างๆ ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือการต่อสู้กันระหว่างคุณความดีและความชั่วร้าย ไปจนถึงความรักและประเด็นในการใช้ชีวิตต่างๆ