“ห้ะ! อะไรนะ ปีหน้าก็จะขึ้นปี 4 แล้วเหรอ นี่ชีวิตมหาลัยหรือรถไฟชินคันเซ็นเนี่ย ทำไมมันผ่านไปไวจัง ชีวิตจริงที่กำลังจะมาถึงจะเป็นยังไงนะ” เชื่อว่านักศึกษาจำนวนไม่น้อยกำลังกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งนอกจากทักษะในการทำงานที่ตรากตรำเรียนมาตลอดทั้ง 4 ปีแล้ว วิชาที่ส่งเสริมทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ก็มีความจำเป็นอยู่ไม่น้อย
Young MATTER พาไปดูว่า แล้ววิชาอะไรล่ะที่มหาวิทยาลัยน่าจะสอนบ้าง อาจจะไม่ถึงขนาดว่า How To แต่ทักษะเหล่านี้ For You ทุกคนนะ
แล้วคุณล่ะ คิดว่าวิชาไหนที่มหาวิทยาลัยน่าจะสอน?
1. วิชาจีบ
“เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
นอกจากเรื่องเรียน ก็เรื่องรักๆ นี่แหละที่คนสนใจ ขั้นแรกของความรักก็คือการจีบกันนั่นเอง แต่การจีบกันในที่นี้ ไม่ใช่เพียงแค่การจีบกันสำหรับหนุ่มสาวเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและลดความขัดแย้ง สามารถเอาไปใช้ในการทำงาน จีบลูกค้า หรือจีบเจ้านายก็ได้ เหมือนเป็นวิชาขั้นพื้นฐานการเข้าหาคนอื่นอย่างไรให้ไม่มีปัญหา ซึ่งตอนนี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เปิดเป็นวิชาเสริมหลักสูตรให้นิสิตไปลงเรียนกัน กระแสตอบรับดีตามที่เราเคยได้ยินข่าวกันนั่นแล
2. วิชารับมือกับความผิดหวัง
“เตรียมตัว เตรียมใจ อะไรก็เกิดขึ้นได้”
เคยได้ยินไหม ไม่คาดหวัง ไม่ผิดหวัง แต่ถึงจะบอกว่าไม่หวังยังไง ลึกๆ มันก็ต้องแอบหวังกันอยู่แล้ว มนุษย์เราต่างก็คาดหวังชีวิตที่มีความสุขกันทั้งนั้น แต่ชีวิตจริงไม่มีใครที่จะสมหวังไปทุกอย่าง ซึ่งความผิดหวังนั้นเกิดจากการไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยระดับของความผิดหวังก็ขึ้นอยู่กับระดับความคาดหวังด้วย เราต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความผิดหวัง ซึ่งหากภูมิต้านทานและเตรียมใจพร้อมรับมัน สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นบทเรียนในชีวิต ดูเหมือนว่าวิชานี้ยังไม่มีการสอนแบบเป็นจริงเป็นจังถึงขั้นมีวิชาเรียน มีแต่ How to หรือการสัมมนาสั้นๆ ให้เข้าร่วมเท่านั้น
3. วิชาเพศวิถี
“เรียนรู้ที่จะทลายกำแพงของความรักและความเข้าใจ”
ทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยปัญหา ไม่ว่าจะที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือปัญหาที่คารังคาซังมานานแล้วก็ตาม สาเหตุส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของความแตกต่าง ตั้งแต่ความคิดไปจนรูปลักษณ์ภายนอก เรื่อง ‘เพศ’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเราไม่เคยได้รับการสอนให้เข้าอกเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ อันเป็นพื้นฐานการเข้าใจมนุษย์นั่นเอง
ในต่างประเทศนั้นให้ความสนใจเรื่องนี้มาก และมีวิชาที่สอนเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว เช่น The University Of Iowa ในสหรัฐอเมริกา มีวิชาอย่าง Gender, Women’s & Sexuality Studies ที่สอนเรื่องวัฒนธรรมเรื่องเพศของหลายๆ ประเทศ หรือประวัติอารยธรรมโบราณของเรื่องเพศ และวิธีการสื่อสารกับคนต่างเพศ
4. วิชาบุคลิกภาพและการวางตัวเวลาทำงานหรือออกงานทางการ
“บุคลิกเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง”
ในประเทศไทยมีวิชาบุคลิกภาพไม่มากนัก แต่ก็มีอยู่บ้างเช่นวิชา Personality Development Course ของ ABAC ที่สอนเรื่องการสร้างความมั่นใจในตัวเอง กฎแห่งความดึงดูด ไปถึงการแต่งตัวอย่างไรเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ส่วนในต่างประเทศนั้น มหาวิทยาลัยแถบชมพูทวีปอย่างอินเดียก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษเช่นกัน โดยมีมหาวิทยาลัยอย่าง Uttaranchal university หรือ Mangalayatan University ที่นอกจากสอนให้ดูแลบุคลิกภาพแล้ว ยังสอนการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และสอนทักษะการทำงานเป็นทีมอีกด้วย first impression นั้นสำคัญ เราจะเป็นที่ประทับใจในสายตาของเธอหรือเขาคนนั้นมั้ย เจ้าของบริษัทล่ะ บุคลิกภาพที่ดีจึงสามารถเป็นตัวชี้วัดได้เลย
5. วิชาการจัดการเรื่องการเงิน (การบริหารเงิน)
“เรื่องเงิน ไม่ง่าย’”
เมื่อเราโตขึ้นดูเหมือนว่าเรื่อง ‘เงิน’ ไม่ง่ายอีกต่อไป การเรียนวิชาอย่างการจัดการหรือการบริหารการเงินก็เป็นภูมิต้านทานด้วยเหมือนกัน จริงๆ มหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชนก็มีสอนอยู่แล้ว แต่ทุกคนควรมีทักษะด้านนี้ ไม่ใช่แค่นักศึกษาที่เรียนสาขานี้มาเท่านั้น เพราะวิชานี้จะช่วยให้เราใช้เงินเป็น แบ่งสรรปันส่วนว่าควรเก็บหรือควรใช้เท่าไหร่ รวมถึงเรียนรู้สิ่งที่พลเมืองทุกคนต้องทำอย่าง ‘ภาษี’ (ปี 2017 นี้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่แล้วด้วยนะ)
6. วิชาการเขียนนิยาย
“จินตนาการที่มาคู่กับความรู้”
วิชาการเขียนนิยาย หรือ fiction เป็นวิชาที่ว่าด้วยการเขียน แน่นอนว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะอ่านให้ได้ซะก่อนถึงจะเขียนได้ ไม่งงเนาะ และเพื่อให้เขียนออกมาได้โดยที่ไม่ใช่การคัดลอกแต่เป็นการสร้างสรรค์ใหม่ ก็ย่อมต้องอาศัยกระบวนการคิด รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์จากการค้นคว้าข้อมูลหรือสิ่งต่างๆ ที่ได้อ่านมา
ลองนึกถึงชื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาสักชื่อนึงสิ แล้วเราจะไปดูกันว่าจุดใฝ่ฝันสูงสุดของการศึกษาที่ใครๆ ก็ต่างอยากเข้าไปเรียนเขาให้ค่ากับวิชานี้บ้างหรือเปล่า Harvard University มีวิชา ‘Creative Writing’ ที่สอนการเขียน fiction หรือ นิยายอยู่ในหลักสูตรด้วย หรืออย่างในบ้านเราก็มีวิชาศิลปะการเขียนบันเทิงคดี (art of fiction writing) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหากถามว่าวิชาที่ใช้กระบวนการคิดหรือความคิดสร้างสรรค์แบบนี้จะนำไปใช้อะไรได้ในชีวิตจริง ตัวอักษรต่อจากนี้จะบอกให้
การมีกระบวนการคิดและเขียนที่ดีคือจุดเริ่มต้นของอาชีพต่างๆ เช่น มือเขียนบทโฆษณา บทภาพยนตร์ นักเขียนคอนเทนต์ คนเขียนข่าว หรือนักเขียนนวนิยายไปเลย พลังของการเขียนนั้นมีอยู่จริง และหลายต่อหลายครั้งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ก็มาจากหนังสือที่อ่าน
7. วิชาดึงสติ
“I have สติ”
สติเกด สติ สติ *ดีดนิ้ว* บางครั้งคนเราก็มักทำอะไรไปโดยขาดสติ เมื่อไหร่ที่เราไม่มีสติเมื่อนั้นก็…พังค่ะ ที่ประเทศอังกฤษนั้นเขากำลังสนับสนุนให้มีการสอนวิชาดึงสติกับเด็กอายุ 8 – 12 ปี คือเริ่มกันตั้งแต่เด็กๆ เลย วิชานี้รวมไปถึงการรู้จักและปกป้องตนเอง ทำอย่างไรให้รับรู้ถึงสัญญาณของความรู้สึกไม่ปลอดภัย และควรจะจัดการอย่างไร ไปจนวิธีการผ่อนคลาย รวมถึงเทคนิคการกำหนดลมหายใจด้วย
8. วิชาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
“ตกลงมันเป็นยังไงนะ ครุ่นครีส”
หนึ่งในทักษะที่จำเป็นของคนยุคศตวรรษที่ 21 ตามที่หนังสือ ‘การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21’ บอกไว้ คือ ‘ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา’ ซึ่งผู้ที่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณนั้นจะเปิดใจรับความคิดเห็นของผู้อื่น จะตัดสินสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ต่อเมื่อหลักฐานเพียงพอ ไม่ใช้อคติหรืออารมณ์ ยิ่งในยุคที่ข้อมูลไวมาก เราต้องรู้เพื่อให้ทันความเป็นไปในสังคมว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น และที่สำคัญยังสามารถโต้เถียงกันได้ด้วย การคิดอย่างมีวิจารณญาณจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งจริงๆ บ้านเราก็สอนเรื่องนี้กันมาตั้งแต่มัธยม และแทรกอยู่ในวิชาต่างๆ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย นำมาใช้กับชีวิตประจำวันกันเถอะค่ะ จะได้ไม่ต้องเถียงกันด้วยอารมณ์ ใช้ fact ที่ผ่านการคิดอย่างมีวิจารณญาณมาแลกเปลี่ยนกันดีกว่า
9. วิชาการมีวิจารณญาณในการเสพสื่อ
“อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น แต่จงพิสูจน์สิ่งที่เห็นให้ตัวเองเชื่อ”
ไม่ว่าจะ ‘วันเกิดของปูติน’ หรือ ‘คนรักคนแรกของ John Lennon’ กระทั่ง ‘ร้านอาหารยอดฮิตในจาไมก้า’ ในอินเทอร์เน็ตก็มีบอก คำว่า ‘ความลับไม่มีในโลก’ ยิ่งดูชัดเจนขึ้นไปอีกเมื่อมนุษยชาติได้เดินทางมาถึงยุคที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกันไปหมด เราแทบจะไม่ต้องรอความรู้จากอาจารย์ภายในห้องเรียนอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว บางคนก็มีความรู้รอบตัวโดยที่ไม่ได้ออกไปนอกบ้านเลยด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันการมีอยู่ที่มากเกินไปของข้อมูลอาจทำให้เราเชื่อไว โดยที่ยังไม่รู้ว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ
ดังนั้นการเรียนรู้เพื่อการมีวิจารณญาณในการเสพสื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญอ ในบ้านเราเองก็มีมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องนี้ด้วย อย่างคณะมนุษย์ศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวิชาที่ชื่อ Media Literacy เพื่อให้นักศึกษารู้เท่าทันสื่ออย่างมีสติ ที่ University Of Florida ในสหรัฐอเมริกาก็มี Media Literacy Education ที่สอนให้มีความรู้ในเรื่องสื่อและเข้าใจถึงความสำคัญของสื่อในวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบันมีการบรรจุให้เป็นทักษะพื้นฐานที่ต้องเรียนกว่า 50 รัฐในอเมริกาแล้ว
10. วิชาการออกแบบชีวิต
“ใส่ใจสักนิด เพื่อชีวิตที่ลงตัว”
เพื่อนกรุ๊ปโอบอกว่าความรักออกแบบไม่ได้ แต่ชีวิตเราออกแบบได้ค่ะ วิชาการออกแบบชีวิตนี้จะสอนตั้งแต่การใช้ชีวิตให้มีความสุข พอใจกับสิ่งที่มี การจัดการเงินเดือนให้พอใช้และมีเงินเก็บ การเข้าสังคม การทำงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว เช่น การมีแฟน การพูดคุยกับพ่อแม่ เป็นต้น ก็จะช่วยทำให้เรามีความพร้อมในการต่อสู้กับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น วิชานี้ต่างประเทศเขามีสอนจริงๆ นะ อย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับความนิยมแซงหน้าวิชาอื่นๆ กันเลยทีเดียว มันอาจจะไม่ได้เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้เป๊ะๆ แต่อย่างน้อยมันก็พอเป็นแนวทางที่ดูมีคุณภาพมากขึ้น ถ้ามีเปิดที่ประเทศไทยจะรีบไปเรียนเลย เคว้งคว้างเหลือเกิน
อ้างอิงข้อมูลจาก