ผู้นำของมหาวิทยาลัยที่มีผู้เรียน 35 ล้านคน ส่งความรู้ถึงหูผู้เรียนนับเป็นชั่วโมงเรียนรวมแล้วกว่าสี่พันปี หากจะเรียกว่า ‘ท่านอธิการ’ ก็น่าจะเป็นคำที่เบาเกินไป อีกฝั่งหนึ่ง ผู้นำของโรงเรียนที่มีลูกศิษย์ 120 ล้านคน อัดคลิปสอนหนังสือเด็กประถม-มัธยมมาแล้ว 8,000 คลิป ถ้าจะเรียกว่า ‘ครูใหญ่’ หรือ ‘ผอ.’ ก็ดูจะยังไม่สมฐานะ ดังนั้นก็ขอเรียกทั้งคู่ว่า ‘เจ้าพ่อ’ เลยแล้วกัน และเมื่อไม่นานมานี้เจ้าพ่อทั้งสองคนเขานั่งคุยกัน รำลึกความหลัง ความผูกพันที่น้อยคนจะทราบ และเล่าถึงความฝันแห่งอนาคต
คำว่า ‘การศึกษาไร้พรมแดน’ มักชวนให้คิดถึงการไร้เส้นแบ่งระหว่างประเทศ แต่สิ่งที่ไปไกลกว่านั้นคือการไร้เส้นแบ่งระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ระหว่างประถม-มัธยม-มหาวิทยาลัย เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ยักษ์ใหญ่แห่งอุดมศึกษาอย่าง Harvard และ MIT เคยจับมือกันเขย่าวงการการเรียนออนไลน์ไปครั้งหนึ่งโดยสร้าง edX ขึ้นมาเป็น ‘ยักษ์ฝั่งตะวันออก (ของอเมริกา)’ ขึ้นเป็นคู่เทียบกับ Coursera ซึ่งเป็น ‘ยักษ์ฝั่งตะวันตก’ ปัจจุบันยักษ์ทั้งสองเติบโตไปทั่วโลก
ในขณะที่ฝั่งประถม-มัธยม ‘คุณน้า’ คนหนึ่งที่เคยสอนน้องๆ หลานๆ เป็นงานอดิเรก บังเอิญสอนสนุกจนลูกเศรษฐีอย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) ก็ยังมาเรียนฟรี (แต่บริจาคเงินให้หลักล้าน!) เป็นจุดกำเนิดแห่ง Khan Academy ที่เป็น ‘ที่พึ่งสุดท้าย’ ของนักเรียนหลายคนมาตั้งแต่ยุคก่อน COVID-19 และในปัจจุบันก็ยิ่งเป็นที่พึ่งที่สำคัญมากยิ่งขึ้นของเด็กทั่วโลก
เมื่อเจ้าพ่อแห่ง edX และเจ้าพ่อแห่ง Khan Academy มานั่งคุยกัน พวกเราจึงต้องจับตามองให้ดี
ไผเป็นไผ
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โลกได้พบกับการสนทนาของ ‘สองผู้มีอิทธิพล’ แห่งวงการการศึกษาออนไลน์ อาวุธอันทรงพลังที่พวกเขาใช้สร้างอิทธิพลไม่ใช่กระบอกปืน แต่เป็นเมาส์ปากกา ชอล์ก กระดานดำ และเทคโนโลยีอีกนิดๆ หน่อยๆ แต่ละคนมีลูกศิษย์ลูกหาหลายสิบล้านคนทั่วโลก
🥊 ฝั่งซ้าย ซัลมาน คาน (ซัลman Khan), ชื่อเล่น : ซัล (Sal), อายุ 44 ปี เป็น ‘เจ้าพ่อ’ ฝั่งประถมฯ และมัธยมฯ ผู้ก่อตั้ง Khan Academy
🥊 ฝั่งขวา อานันต์ อการ์วาล (Anant Agarwal) (ขออนุญาตเรียก อ.อานันต์) อายุ 62 ปี เป็น ‘เจ้าพ่อ’ ฝั่งอุดมศึกษา ผู้ก่อตั้ง edX (ของแท้ต้องสะกดขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์เล็กแบบเท่ๆ)
สองคนนี้คือ ‘ผู้มาก่อนกาล’ ในโลกของการเรียนออนไลน์ ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีคำว่า COVID-19 อยู่บนโลกใบนี้ เน้นให้การศึกษาอย่างทั่วถึง เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
ฝั่งของ Khan Academy มุ่งเน้นเนื้อหาฝั่งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เริ่มจากคณิตศาสตร์ ม.ต้น ในยุค ค.ศ.2006 จนปัจจุบันครอบคลุมทุกวิชา มีผู้ใช้ 120 ล้านคน ใน 190 ประเทศ มีวิดีโอกว่า 8000 คลิป แบบฝึกหัด 70,000 ข้อ แปลเป็นภาษาต่างๆ 50 ภาษา เรียกได้ว่าถ้าไปถามใครที่มีลูกเล็กๆ ในประเทศฝั่งตะวันตก ไม่มีใครไม่รู้จักลุงซัล วีรบุรุษผู้ช่วยติวน้องๆ ให้สอบผ่านกันมานับครั้งไม่ถ้วน
ฝั่งของ edX มุ่งเน้นเนื้อหาระดับมหาวิทยาลัย เริ่มจากคอร์สด้านไฟฟ้าที่ MIT ในปี ค.ศ.2012 ที่มีผู้เรียนแสนกว่าคน จนถึงปัจจุบันที่มีผู้เรียนกว่า 35 ล้านคน เรียนจริงจังวันละ 8 หมื่นคน ผู้สอนหมื่นกว่าคน คนดูวิดีโอรวมทั้งสิ้น 39 ล้านชั่วโมง (กว่าสี่พันปี!) มีผู้สอบผ่านและได้ประกาศนียบัตรไปแล้วกว่าสองล้านใบ
เมื่อเจ้าพ่อระดับนี้มาเผชิญหน้ากัน เขาจะทะเลาะกันหรือเปล่า? จะข่มกันอย่างไรบ้าง? เอ๊ะ หรือว่าเขาจะเกี๊ยะเซียะแบ่งเค้กกัน? … ว่าแต่ว่า สองคนนี้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง
บทสนทนาของเจ้าพ่อ
ซัล : เรามีทั้งโลกจริงและโลกในฝัน แต่ถ้าฝันของเราในแต่ละคืนมันต่อเนื่องจากคืนก่อนหน้า แล้วเราจะบอกได้ไหมว่า อะไรคือความฝัน อะไรคือความจริง?
อ.อานันต์ : อืม..เนอะ ถ้ามีเบียร์สักแก้วคงจะคุยเรื่องนี้สนุกขึ้น 🍺
ซัล : อุ๊ย เดี๋ยวครับ มีเด็กๆ ฟังอยู่
(ถอดความจากบทสนทนา ไม่ได้แปลตรงตัวนะครับ)
สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ ผู้เขียนไม่ได้แปลมาให้ฟังแบบเรียงลำดับ แต่จะใส่ไข่ลงไปเล็กน้อย (เพียงครึ่งฟอง) แต่ไม่ต้องห่วง ท่านผู้อ่านสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเอกสารและวิดีโอต้นฉบับ ตามที่อ้างอิงท้ายบทความครับ
ชีวิตในอดีตของซัลเป็นนักวิเคราะห์การเงิน จบจาก MIT และ Harvard เขามีเชื้อสายอินเดีย/บังกลาเทศ และมีญาติเยอะ วันหนึ่งญาติวัยเด็กชื่อน้องนาเดียปรับทุกข์ว่าเรียนเลขไม่รู้เรื่อง ซัลจึงติวให้ทางโทรศัพท์ พอติวไปสักพักจึงพบว่า อ้อ! นาเดียเพียงไม่เข้าใจหลักการแปลงหน่วย จึงทำให้พลอยไม่เข้าใจเรื่องอื่นๆ เป็นผลพวงอีรุงตุงนังตามไปด้วย พอซัลติวเรื่องนี้ให้จนกระจ่าง นาเดียก็ถึงกับ ‘ดวงตาเห็นธรรม’ กลายเป็นคนเรียนเลขเก่ง ได้เรียนวิชาระดับ advanced math ในโรงเรียนเลยทีเดียว
เวลาผ่านไปไม่นาน ญาติมิตรของเขาเริ่มได้ข่าวคราวจึงขอให้ซัลติวให้ลูกหลานบ้าง สมัยนั้นไม่มี Zoom เขาก็ใช้โทรศัพท์นี่แหละ ประชุมกันหลายสาย และเขียนกระดานผ่านเครื่องมือบางอย่างของ Yahoo ที่ปัจจุบันไม่มีใช้แล้ว สักพักหนึ่งเมื่อญาติเยอะขึ้น การนัดเวลากันเริ่มลำบาก ซัลจึงอัดวิดีโอลง YouTube เวลาผ่านไปไม่นาน คนก็เข้ามาดูเยอะขึ้น ซัลเริ่มมันมือ ระดมสอนมากขึ้นเรื่อยๆ หลากหลายวิชา เศรษฐีใจดีเริ่มเห็นคุณค่าก็บริจาคเงินเข้ามาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักล้าน เกิดเป็น Khan Academy เมื่อปี ค.ศ.2006 พัฒนามาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันมีคนมาช่วยกันสอนหลายคน แต่ซัลก็ยังเป็นผู้สอนหลัก
ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ในปีที่ผ่านมา คุณซัลก็เริ่มผันตัวจากการสอนเด็กมาพูดคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้น ทั้งครูและพ่อแม่ต่างรู้จักซัลเป็นอย่างดี และทุกคนต้องการคำแนะนำจากเขาว่า ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ Khan Academy มีอะไรให้เขานำไปใช้ช่วยเหลือนักเรียนได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการทดแทน แก้ขัด หรือเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ เขาจึงจัดรายการทอล์กโชว์ชื่อ Homeroom with Sal ถ่ายทอดสดบน Facebook และ YouTube เพื่อตอบคำถามประชาชน ในบางสัปดาห์เขาก็จะมีแขกรับเชิญเด็ดๆ เช่น แครอล ดเว็ก (Carol Dweck) อาจารย์จาก Stanford ผู้ผลักดันแนวคิด growth mindset (กรอบแนวคิดเชิงเติบโต), แองเจลา ดักเวิร์ธ (Angela Duckworth) ผู้ผลักดันแนวคิด grit (ความไม่ท้อถอย), หรือแม้กระทั่ง สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอของ Microsoft และ แอนโทนี ฟอขี (Anthony Fauci) แพทย์คนสำคัญของสหรัฐอเมริกา
โดยในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2564 แขกรับเชิญของซัลคือ อ.อานันต์ (Anant Agarwal) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ edX โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยยักษ์ใหญ่ MIT และ Harvard ที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับหลักสูตรออนไลน์เปิดกว้างขนาดใหญ่ (Massive Open Online Courses หรือ MOOC) โดยมีโมเดลทางธุรกิจแบบไม่แสวงหาผลกำไร (non-profit) เป็นจุดแตกต่างจากยักษ์ใหญ่ในวงการอีกสองตน คือ Coursera และ Udacity ซึ่งเป็นองค์กรแสวงหาผลกำไร (for-profit)
ผู้เขียนเองรู้จักและติดตามทั้งซัล และ อ.อานันต์ มาหลายปี เพราะเป็น FC ของทั้ง Khan Academy และ edX บทสนทนาของสองเจ้าพ่อถือว่าเปิดโลก ทำให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับประวัติที่เกี่ยวโยงกันของคนสองคน ได้รู้ว่า อ.อานันต์ เคยสอบตกฟิสิกส์ ได้รู้ว่าสองคนนี้เคยเป็นครูเป็นศิษย์กันมาก่อน ได้รู้ว่าใครเป็นผู้ส่งแรงบันดาลใจให้ใคร และที่สำคัญคือ ได้เห็นมุมมองของทั้งสองคนเกี่ยวกับองค์ความรู้ ประชาธิปไตยแห่งการเรียนรู้ (democratization of learning) และแนวคิดต่อเทคโนโลยี AI
ซัลบอกว่าเคยเป็นลูกศิษย์ในคลาสของ อ.อานันต์ ที่ MIT เขาจำอาจารย์ได้ดี แต่คิดว่าอาจารย์คงจะจำไม่ได้ อ.อานันต์ บอกว่า แหม! จำได้สิ จำได้เลยว่าตั้งแต่เห็นซัลครั้งแรกก็รู้เลยว่าเด็กคนนี้อนาคตไกล
หากจะถามว่า Khan Academy กับ edX ใครเป็นแรงบันดาลใจให้ใคร? คำตอบคือ ‘ครูบันดาลใจศิษย์ ศิษย์บันดาลใจครู’
เมื่อราวปี 2001 อ.อานันต์ เคยสอนวิชาวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (circuit) เผยแพร่เป็นสาธารณะบน MIT OpenCourseWare และ ซัลก็ได้แรงบันดาลใจในการผลิตวิดีโอเพื่อเผยแผ่ความรู้สู่ประชาชนจากที่นี่ พอ อ.อานันต์ เห็น Khan Academy ก็เกิดแรงบันดาลใจว่า โอ้โห ดีจังเลย เมื่อเด็กคนไหนเรียนไม่ทันก็สามารถทบทวนที่บ้านได้ฟรีๆ ผ่านวิดีโอของซัล คงจะดีถ้าในอดีตมีอะไรแบบนี้บ้าง
เมื่อครั้งที่ อ.อานันต์ ยังเป็นหนุ่ม ๆ วัยใส เขาเคยสอบตกวิชาฟิสิกส์ เพียงเพราะไม่เข้าใจแคลคูลัสสำหรับฟิสิกส์ กว่าจะตั้งตัวได้ก็แทบแย่เพราะในสมัยนั้นไม่มี Khan Academy พอเขาเห็นเช่นนั้นจึงเกิดแรงบันดาลใจ อยากให้ระดับมหาวิทยาลัยมีอะไรแบบนี้บ้าง เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้โดยไม่แสวงหาผลกำไร และไม่ใช่แค่นั้น ยังสามารถสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรได้ด้วย เขาจึงก่อตั้ง MITx ขึ้นมาในปี ค.ศ.2011 (x น่าจะมาจากคำว่า extension หรือ extra) ซึ่งภายหลังร่วมมือกับ HarvardX จัดตั้งเป็น edX และเชิญสถาบันการศึกษาชั้นนำอื่นๆ มารวมพลังกันไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตกเช่น UC Berkeley หรือฝั่งยุโรปเช่น Oxford
พูดถึงการเรียนออนไลน์ทีไร คำถามที่เกิดขึ้นในใจของผู้คนทั่วไป ก็จะหนีไม่พ้นว่า
– เรียนออนไลน์จะไปสู้เรียนกับอาจารย์ตัวเป็นๆ ไหม?
– เทคโนโลยียังทดแทนครูไม่ได้รึเปล่า?
– กิจกรรมแบบ hands-on (ลงมือทำจริง) ยังสำคัญอยู่นะ ออนไลน์จะทำยังไง?
– การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนร่วมเรียน เป็นประสบการณ์ที่สำคัญของชีวิตมหาวิทยาลัย (campus experience) ที่จะขาดไม่ได้รึเปล่า?
– เรียนคนเดียวเหงาแย่ ถ้าเรียนออนไลน์เด็กจะขาดทักษะทางสังคมไหม?
แต่ถ้าได้ยินสิ่งที่เจ้าพ่อการเรียนออนไลน์สองคนนี้พูดมาโดยตลอด จะพบว่า เขาเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งเหล่านั้นหมดทุกประการ ทั้งคู่คิดไว้แล้วในทุกประเด็น และคิดไปไกลกว่าคนอื่นๆ อีกหลายคน
ซัลยืนยันมาตลอดว่าไม่เคยคิดจะให้ Khan Academy ทดแทนการสอนของครูที่เป็นมนุษย์ เขาเพียงแต่ต้องการให้วิดีโอการสอนของเขาช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กที่เรียนไม่ทัน ได้มีโอกาสตามเพื่อนให้ทัน ต้องการให้โปรแกรมแบบฝึกหัดที่เขาเขียนขึ้นเอง ช่วยญาติพี่น้องของเขาทดสอบความเข้าใจในเรื่องต่างๆ แบบทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้ ไม่ต้องกลัวครูเบื่อ ไม่ต้องกลัวครูหงุดหงิด ไม่ต้องรบกวนเวลาครู ไม่ต้องกลัวว่าจะหน่วงเวลาเรียนของเพื่อนทั้งห้อง ทำไปจนกว่าจะคล่อง แล้วค่อยขยับไปเรียนเรื่องถัดไป และพอถึงเวลาที่พบกับครู เด็กจะใช้เวลาเหล่านั้นอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ทุกคนตามทัน ไม่มีใครนั่งหาวหรือหายใจทิ้ง
สิ่งหนึ่งที่คนอาจจะไม่ค่อยรู้ คือ ซัลมีโรงเรียนเล็กๆ ที่มีเด็กและครูตัวเป็นๆ อยู่ด้วย ชื่อว่า Khan Lab School ซึ่งอาจจะแปลแบบหลวมๆ ได้ว่าเป็นโรงเรียนสาธิต หรือโรงเรียนแนวทดลอง และในช่วงฤดูร้อน ซัลจะจัดค่าย (summer camp) เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะเขาเชื่อว่าเวลาที่ครูและเด็กได้พบหน้ากันนั้นมีค่า เราจึงควรใช้มันอย่างคุ้มค่า ผ่านกิจกรรมสนุกสนาน การถามตอบ การอภิปรายร่วมกัน ส่วนการสื่อสารทางเดียวแบบบรรยาย (lecture) ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวิดีโอ
อ.อานันต์ ก็เชื่อเหมือนกัน เขาไม่ได้มองว่าการเรียนออนไลน์กับการเรียนออนไซต์ (เรียนปกติ) เป็นสิ่งที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือต้องมาเถียงกันว่าอะไรดีกว่า แต่เขามองว่ามันต้องไปด้วยกัน ในยุคแรกๆ เขาสอนวิชา circuit แบบที่ใช้ชอล์กและกระดานดำในห้องเรียนที่เหมือนธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา ลองจินตนาการถึงโรงละครขนาดเล็ก แต่ด้านหน้าแทนที่จะเป็นจอภาพ กลับเป็นกระดานดำขนาดยักษ์เก้ากระดาน เต็มไปด้วยสมการและกราฟ เมื่อบรรยายเสร็จเขาก็บอกว่า รอแป๊บ เดี๋ยวจะไปหยิบอุปกรณ์มาสาธิต
เขาหายไปสักพัก…
แล้วก็กลับมาพร้อมกับทีมนักเต้นในชุดสูท ใส่หมวก ใส่แว่นดำ ถือเลื่อยไฟฟ้ามาคนละเครื่อง เปิดเพลงแดนซ์เหมือนอยู่ในผับ ที่สำคัญ อ.อานันต์ ก็เต้นไปด้วย จากนั้นก็เปิดสวิตช์เลื่อยเสียงดังบาดหู พร้อมกับชี้ไปที่จอโปรเจกเตอร์ให้เห็นกราฟของเสียงรบกวน เทียบกับสัญญาณเอาต์พุตจากระบบดิจิทัล ว่ามีการตอบสนองต่อเสียงรบกวน (noise) อย่างไรบ้าง เรียกได้ว่านักศึกษา MIT ที่หลับอยู่ในวันนั้น ถ้าไม่ตื่นขึ้นมาเพราะความฮา ก็ต้องตื่นขึ้นมาเพราะเสียงดนตรี ถ้าไม่ตื่นเพราะเสียงดนตรีก็คงตื่นเพราะเสียงเลื่อย ในคอมเมนต์ด้านล่าง มีคนเขียนว่า “จากวันนี้ฉันจะไม่ลืมคอนเซ็ปต์ของ noise margin ที่อาจารย์สอนไปจนตลอดชีวิต 😂 🤣”
การศึกษาคุณภาพเช่นนี้ โดยศาสตราอาจารย์ระดับโลก งานวิจัยกองเท่าภูเขา เคยเปิดบริษัทมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง พร้อมที่จะมาสอนคอร์สพื้นฐาน ทั้งด้านทฤษฎี ด้านปฏิบัติให้เห็นจริง และเอนเตอร์เทนผู้เรียนแบบจ้างร้อยได้ล้าน แต่เดิมมีผู้โชคดีแถวบอสตันเพียงไม่กี่คนที่เข้าถึงได้ แต่ในปัจจุบันมีคนรับประโยชน์จากเขาได้ทั่วโลก
อ.อานันต์ เคยเล่าว่า ก่อนที่จะมี edX เขาเขียนโปรแกรมชื่อ WebSim ให้นักศึกษาได้หัดต่อวงจรแบบจำลองบนหน้าจอของตนเอง ก่อนที่จะไปซื้ออุปกรณ์แพงๆ มาต่อจริง เมื่อนักศึกษาเริ่มเข้าใจหลักการพื้นฐานจากการลองผิดลองถูกบนคอมพิวเตอร์หลายครั้งแล้ว ก็จึงมาฝึกฝีมือกับของจริงในห้องแล็บระดับโลก พอเป็นแบบนี้ เวลาหนึ่งชั่วโมงในห้องแล็บก็จะมีค่ามากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการอธิบายเรื่องพื้นฐาน ไม่ต้องมัวสงสัยว่าอุปกรณ์หน้าตาแบบนี้มันเรียกว่าอะไร เพราะทุกคนเคยเห็นบน WebSim มาเรียบร้อยแล้ว
เจ้าพ่อทั้งสองเชื่อในหลักการของ blended learning การผสมผสานระหว่างการเรียนรู้แบบออนไลน์และการเรียนรู้แบบพบหน้า
ทั้งคู่เชื่อว่าแต่ละแบบมีข้อดีของมันเอง เราควรใช้ประโยชน์จากทุกแบบ ไม่ยึดติดแบบสุดโต่งกับอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเรียนผ่านวิดีโอนั้น แม้จะขาดความอบอุ่น แต่เชื่อมโยงกันได้มากขึ้น ผู้เรียนมีอิสระในการกดหยุดวิดีโอ (pause) เพื่อคิดตาม เด็กอินเตอร์สามารถเปิดคำบรรยายใต้ภาพ (subtitle) พอดูจบแล้วก็สามารถดูซ้ำเพื่อทบทวนแบบเร็วสองเท่าได้อีกด้วย แบบฝึกหัดที่มีระบบตรวจอัตโนมัติ ทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้ เมื่อทำผิดก็ได้แนะนำ (hint) ตามคำตอบที่ผิด ตรงตามประเภทของความเข้าใจผิดของผู้เรียน
สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่เอ่ยถึงบ่อยๆ คืออุดมการณ์ของ mastery learning (ในภาษาไทยมีผู้แปลว่า “การเรียนเพื่อรอบรู้” และ “การเรียนรู้แบบรอบรู้”) นั่นคือ เด็กควรจะเรียนแต่ละเรื่องให้รู้ลึก รู้จริง เรียกว่าต้องเป็นเทพ (master) ทางด้านนั้นให้ได้จริงๆ ก่อนที่จะขยับไปเรียนเรื่องอื่นๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนหน่วย การแก้สมการ การหาอนุพันธ์ ถ้าหากมีเด็กคนไหนที่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ครูก็ควรให้เขาได้ทบทวนเรื่องนั้นจนกว่าจะมั่นใจ ไม่ใช่ว่าทำได้ 50% แล้วก็ถือว่า ‘ผ่าน’ ส่งต่อไปเรียนเรื่องที่ยากขึ้นพร้อมกับเพื่อนๆ ถ้าทำแบบนั้น ความไม่เข้าใจจะพอกพูนไปเรื่อยๆ การเรียนเรื่องอื่นก็จะไม่รู้เรื่อง ส่งผลพวงอีรุงตุงนังต่อไปไม่จบสิ้น เด็กก็จะเสียกำลังใจ ขาดความมั่นใจ จนอาจถึงกับพาลคิดว่าตนเองไม่ฉลาด ตีตราตนเองไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว
เรื่องแบบนี้โทษครูไม่ได้ ในห้องเรียนมีเด็กตั้งหลายสิบคน บางคนเรียนเร็ว บางคนเรียนช้า การสอนเด็กที่ช้าที่สุดให้เข้าใจถ่องแท้ นอกจากจะทำให้เด็กที่เรียนเร็วรู้สึกเบื่อแล้ว ยังจะทำให้เด็กที่เรียนช้านั้นเกิดความอับอายที่ฉุดให้เพื่อนช้าลง และครูก็จะไม่สามารถสอนจบหลักสูตรที่วางไว้ได้ แต่ อ.อานันต์ บอกว่า เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยกำจัดปัญหาที่ว่าได้ เพราะแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเรียนในจังหวะเดียวกันอีกต่อไป ทุกคนสามารถทบทวนได้ตามเวลาที่เหมาะสมของตนเอง คนที่เรียนเร็วก็สามารถลงลึกได้ตามที่ต้องการ ดังนั้นเราควรใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยขยายโอกาสการศึกษาให้ทุกคนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงมากขึ้น เมื่อทุกคนมาพร้อมหน้ากันในห้องเรียนจะได้ทำกิจกรรมแบบพบหน้ากันได้อย่างคุ้มค่าการรอคอย
ระบบแบบฝึกหัดใน edX เมื่อทำผิดจะมีคำแนะนำ (hint) ให้เราทราบ เมื่อเราตอบใหม่อย่างถูกต้อง เราจะเห็นเครื่องหมายถูกสีเขียว ✅ โผล่ขึ้นมา เป็นสัญญาณว่า ข้ามสี่แยกแห่งการเรียนรู้นี้ไปได้อย่างปลอดภัย พร้อมที่จะไปเรียนรู้เรื่องต่อไปได้อย่างมั่นใจ อ.อานันต์ เคยเล่าใน TED Talk ครั้งหนึ่งว่า ลูกศิษย์ของเขาถึงกับฝันเห็น ‘เครื่องหมายถูกสีเขียว’ กันเลยทีเดียว (หวังว่าจะเป็นฝันดี)
ส่วน ซัลเคยพูดชวนคิดที่ Google ว่า การเรียนแบบ mastery นั้นไม่ใช่เรื่องเกินความฝันอะไรเลย ถ้าลองเทียบกับวงการอื่นจะพบว่าเป็นเรื่องปกติมาก เช่น วงการก่อสร้าง ถ้าเราจ้างผู้รับเหมามาเทปูนทำฐานราก และผู้ตรวจสอบบอกว่า ทำได้ถูกต้องตามมาตรฐาน 80% ให้เกรด C ผ่าน! จากนั้นผู้รับเหมาก็สร้างบ้านชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และปูหลังคาต่อไป… เชื่อได้ว่าคงอยู่ได้ไม่นานก็จะถล่มลงมา เพราะสิ่งที่เราคาดหวังจากฐานรากนั้นคือ ทุกอย่างจะต้องได้มาตรฐาน 100% ต่อรองไม่ได้ การศึกษาก็เหมือนกัน ถ้าเด็กยังไม่เข้าใจเรื่อง ‘ความชัน’ แบบ 100% แล้วเราปล่อยเขาไปเรียนพีทาโกรัส เรียนแคลคูลัส เรียนอนุพันธ์ เขาก็จะต้องสะสมความงงไปตลอดชีวิต แต่ครูกลับต้องทำงานเหมือนผู้รับเหมา ก็คือสร้างบ้านชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ทับฐานรากอันสั่นคลอนของเด็กไปเรื่อยๆ
เมื่อคุยกันสักพัก พอกรุ้มกริ่ม ก็มีคนถามคำถามใน live chat ว่า “What’s your favorite thing in Math?” (หัวข้อในในวิชาคณิตศาสตร์ที่คุณชื่นชอบมากที่สุด) ใครจะคิดว่าคำถามง่าย ๆ แค่นี้ จะพาบทสนทนาไปสู่ดินแดนแห่งความฝันที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก
อ.อานันต์ ตอบคำถามนี้ว่า สมการเชิงอนุพันธ์ (differential equation) คือเรื่องที่เขาชอบมากที่สุด เพราะกาลครั้งหนึ่งเขาเคยคิดว่ามันยาก แต่อยู่มาวันหนึ่งก็เกิดอาการ ปิ๊ง! อ๋อ อย่างนี้นี่เอง! ขึ้นมา และพบว่าถ้าเราเพียง ‘ไม่คิดมากเกินไป’ แล้วแก้สมการตามกลไกและกระบวนท่าของมันไปเรื่อยๆ ทีละขั้นตอน ก็จะแก้ได้ง่ายดาย เล่าไปเล่ามา อ.อานันต์ ระลึกความหลังได้ว่า หัวข้อนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องใช้บ่อยในวิชา circuit ที่ MIT เขารู้สึกเป็นห่วงนักศึกษาที่อาจมีพื้นไม่แข็งแรง จึงเคยโทรชวนศิษย์เก่าคนหนึ่งจากแคลิฟอร์เนียให้ช่วยอัดคลิปสอนน้องๆ แล้วรุ่นพี่คนนี้ก็จัดให้
ใช่แล้วครับ ศิษย์เก่าคนนั้นก็คือซัลนั่นเอง
จากคำถามเรื่องคณิตศาสตร์ พวกเขาดัดแปลงคำถามให้กว้างขึ้นอีกนิด เป็นคำถามนี้ “What’s your favorite thing in all of knowledge?” (ชอบเรื่องใดมากที่สุด ในบรรดาองค์ความรู้ทั้งหมด)
อ.อานันต์ ตอบว่า “ผมอยากเข้าใจกลศาสตร์ควอนตัม” (quantum mechanics) แบบที่เข้าใจถึงแก่นแท้จริงๆ ถ้าใครฟังเผินๆ อาจจะเผลอนึกไปว่า อ้าว! อาจารย์ยังไม่เข้าใจอีกเหรอ สอน MIT ไม่เข้าใจได้ยังไง แต่ถ้าฟังดีๆ แล้วจะพบว่าคำว่า ‘เข้าใจ’ ที่ อ.อานันต์ ใช้นั้นต่างจากที่คนทั่วไปใช้กัน สิ่งที่เขาพูดถึงนั้นอาจเทียบได้กับคำว่า ‘บรรลุธรรม’ เลยทีเดียว ปัจจุบันเขาทราบหลักการ ทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับควอนตัมทั้งหมด (เท่าที่มีการตีพิมพ์) และสามารถคำนวณได้หมดทุกสิ่งอย่างอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังไม่รู้สึกว่า ‘เข้าใจ’ แก่นแท้ของมันอย่างแท้จริง
ผู้เขียนนึกถึงจอมยุทธหนังจีนที่มักปรารภทำนองว่า ⚔️ “ข้าเข้าใจเพลงกระบี่ทุกกระบวนท่า แต่หาได้มีสำนึกกระบี่ไม่” 🗡
อ.อานันต์ บอกว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เขาเข้าใจกลศาสตร์ควอนตัมได้ยากนั้น อาจเป็นเพราะเขาเชี่ยวชาญกลศาสตร์แบบนิวตันมาโดยตลอด จนเป็นความยึดติดในใจ ยากที่จะสลัดออกไปได้ ยิ่งเข้าใจนิวตันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใจควอนตัมยากขึ้นเท่านั้น ช่างเป็นคติสอนใจเกี่ยวกับความรู้ และการแสวงหามุมมองที่แตกต่างจากที่เคยเรียนรู้
คำอธิบายเพิ่มเติม : กลศาสตร์นิวตันนั้นเกี่ยวกับความเฉื่อย แรง มวล ความเร่ง F = ma ซึ่งถือว่าโบราณ ใช้อธิบายของที่ใหญ่กว่าอะตอม ส่วนกลศาสตร์ควอนตัมเป็นของใหม่ ใช้อธิบายสิ่งที่เล็กกว่าอะตอม มีเรื่องแปลก ๆ เช่น คลื่นกลายเป็นอนุภาค อนุภาคกลายเป็นคลื่น ความไม่แน่นอน แมวเป็นแมวตายได้พร้อมกัน อาจจะฟังแล้วดูงงๆ แต่กลศาสตร์ควอนตัมเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์มากจริง ๆ เช่น Solid State Drive (SSD) ที่เริ่มนำมาใช้เก็บข้อมูลแล็ปท็อปในปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นได้เพราะกลศาสตร์ควอนตัม
หลักคิดแบบควอนตัมนี้น่าสนใจ 1. สนุกดี 2. มีเหตุผล และ 3. ฟังดูคล้ายคนเมา! สักพักซัลก็รำลึกถึงกูรูชาวอินเดียคนหนึ่งที่เคยสอนว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นเหตุเป็นผลกันนั้น แท้จริงอาจเป็นเรื่องที่บังเอิญเกิดพร้อมกันซ้ำๆ ก็ได้ และชวน อ.อานันต์ ขบคิดเรื่องความฝันว่า เราทุกคนมีทั้งโลกจริงและโลกในฝัน แต่ถ้าฝันของเราในแต่ละคืนมันเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากคืนก่อนหน้า แล้วเราจะบอกได้ไหมว่า อะไรคือความฝัน อะไรคือความจริง?
ถ้าสองคนนี้นั่งคุยกันอยู่ในคาเฟ่ แทนที่จะอยู่บน Streamyard เชื่อได้ว่าคืนนี้คงอีกยาวไกล และบาร์เทนเดอร์คงงานยุ่ง เพราะ อ.อานันต์ ดูจะสนุกกับบทสนทนา และพูดทีเล่นทีจริงว่า “นี่ถ้ามีเบียร์คนละแก้ว ก็น่าจะดี”
ปิดท้ายด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) อ.อานันต์ มองสิ่งนี้ในลักษณะคล้ายกับเทคโนโลยีการเรียนออนไลน์ในวงการการศึกษา นั่นคือ AI จะเข้ามาเสริมให้ครูทำงานได้สะดวกขึ้น ดีขึ้น เข้าถึงผู้เรียนได้มากขึ้น และให้ประสบการณ์ที่เหมาะสมเฉพาะเจาะจงกับผู้เรียนแต่ละคนได้มากขึ้น แต่ AI จะไม่มีวันมาทดแทนครูที่เป็นมนุษย์
ตัวอย่าง AI ในวงการเรียนออนไลน์ที่ อ.อานันต์ ยกมาเล่าให้ฟังก็เช่น ระบบวุ้นแปลภาษาแบบแปลสดๆ ระหว่างพูด ระบบให้คำแนะนำ (hint) ระหว่างทำแบบฝึกหัด โดยคิดคำแนะนำขึ้นเองอัตโนมัติ แล้วแต่นิสัยการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งน่าจะหมายความว่า ถ้าเราทำแบบฝึกหัดข้อนึงไม่ได้ เราอาจได้คำแนะนำว่า “ลองกลับไปอ่านบทที่ 4 หน้า 93 แล้วลองใหม่สิ สู้ๆ นะ” แต่เพื่อนที่ทำข้อเดียวกันไม่ได้อาจได้รับคำแนะนำอีกแบบหนึ่งว่า “เกือบถูกแล้วนะ เช็กดูดีๆ ว่าสิ่งที่นำไปหารเป็น 0 หรือไม่ ลองอีกทีนะ จุ๊บๆ” ซึ่งระบบที่เจ๋งจะต้องให้คำแนะนำโดยเดาใจผู้เรียนจากข้อมูลจริง ไม่ใช่แค่สุ่มมาให้ (หมายเหตุ: ตัวอย่างนี้ ยังไม่มีจริง ผู้เขียนจินตนาการขึ้นมาเอง)
อ.อานันต์ เล่าถึงระบบที่ช่วยตรวจสอบว่าผู้เรียนคนไหนมีแนวโน้มที่จะถอนรายวิชา (drop) แล้วแจ้งอาจารย์หรือผู้ช่วยสอน ให้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ เช่น อาจจะช่วยแนะนำเกี่ยวกับการบ้าน แนะนำคอร์สปูพื้นฐานที่เรียนไปพร้อมกันได้ แนะนำให้เรียนแค่บางบทและข้ามบางบทเพื่อลดภาระ หรือแม้แต่แค่ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ก็อาจเป็นการแทรกแซง (intervention) ที่เพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนก้าวเดินต่อไปได้
หรืออย่างที่มหาวิทยาลัย Georgia Tech ร่วมกับ IBM จัดให้มีผู้ช่วยสอน (Teaching Assistant: TA) ชื่อ จิล (Jill) ทำหน้าที่ตอบคำถามผู้เรียนบนเว็บบอร์ดของรายวิชา เช่น การบ้านจะส่งเมื่อไหร่? สอบปลายภาควันไหน? การบ้านข้อ 5 ต้องใช้ความรู้จากหนังสือบทใด? เปเปอร์นี้จะหาอ่านได้ที่ไหน? เมื่อจบเทอมผู้เรียนจึงทราบว่าที่แท้จิลไม่มีตัวตน แต่เป็น AI ที่อาจารย์สร้างขึ้น
ข้อสังเกตคือ AI เหล่านี้ไม่ได้แย่งงานมนุษย์ แต่ทำให้มนุษย์มีเวลาว่างมากขึ้นที่จะทำงานที่มีความหมาย เช่น ให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว สอบถามความรู้สึกของผู้เรียน ให้กำลังใจผู้เรียน ซัลเสริมว่า ในบางกรณี AI และหุ่นยนต์ช่วยเพิ่มตำแหน่งงานให้มนุษย์ด้วยซ้ำไป เช่นหุ่นยนต์ของร้านค้าออนไลน์ ที่หยิบของมาใส่ตะกร้า จากนั้นมนุษย์ก็แพ็กกล่องและนำไปส่งให้ลูกค้า เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และงานบางงาน อ.อานันต์ ก็คิดว่า AI คงไม่มีทางจะทำได้ เช่น การขี่มอเตอร์ไซค์ตามท้องถนนประเทศอินเดีย (ฟังดูก็คล้ายบ้านเรานะครับ) และงานที่ต้องใช้ ‘ความเป็นมนุษย์’ ต้องใช้วิจารณญาณ ความเมตตา และความใส่ใจเพื่อนมนุษย์
ดูโอ้เขย่าโลกอาจารย์-ศิษย์คู่นี้ ปิดท้ายบทสนทนาด้วยการตั้งข้อสังเกตต่อเทรนด์แห่งความรู้ ที่มีลักษณะ ‘สูงสุดคืนสู่สามัญ’ นั่นคือ ที่ผ่านมาเราพยายามจะไต่ระดับความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นว่าองค์กรชั้นนำของโลก ต่างหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘soft skill’ (ทักษะทางสังคม/ทักษะทางอารมณ์) กันมากขึ้น อันประกอบด้วย ความเห็นอกเห็นใจ การทำงานร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของมนุษย์ AI ยังทำแทนไม่ได้ อ.อานันต์ เสนอว่าทักษะเหล่านี้เราควรเรียกว่า ‘power skill’ ด้วยซ้ำ เพราะมันคือสิ่งที่จะนำมาซึ่งนวัตกรรมอื่นๆ ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้มากมาย
โดย ซัล ทิ้งท้ายว่า คงไม่ใช่แค่ความต้องการทางเทคโนโลยี แต่รวมถึงความสุข ความสัมพันธ์ของครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมถึงความละเอียดอ่อนด้านอารมณ์ด้วย
แม้ AI จะคืบคลานเข้ามาในวงการสุขภาพ ช่วยรักษาเราแทนหมอได้ แต่เราคงยังต้องการสัมผัสของเพื่อนมนุษย์อยู่ดี
อ้อ! ลืมบอกไป edX มีแผนที่จะนำหลักสูตรแพทย์เข้ามาอยู่ในระบบด้วยนะครับ เขายังทำไม่เสร็จ แต่ก็ก้าวหน้าไปมากแล้ว ใครสนใจคงต้องลองไปติดตามรับฟังดูครับ
เกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับ edX
ในวงการของ MOOCs (Massive Open Online Courses) มียักษ์ใหญ่ในวงการอยู่อีก 2-3 ราย นอกจาก edX เช่นกัน เช่น Coursera และ Udacity ซึ่งทั้งสองคู่แข่งนี้ถือกำเนิดจากมหาวิทยาลัย Stanford
คำว่า MOOC เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.2008 ในวิชา CCK08 ของอาจารย์ สตีเฟน ดาวน์ส (Stephen Downes) และ จอร์จ ซีเมนส์ (George Siemens) ที่มหาวิทยาลัย Manitoba ประเทศแคนาดา มีผู้เรียนสองพันกว่าคน ซึ่งในสมัยนั้นถือว่า massive (เยอะมาก) และก็ open จริงจังด้วย นั่นคือ เปิดให้ใครเข้ามาเรียนก็ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน
ต่อมาคำว่า M และ O ของ MOOC ได้เปลี่ยนความหมายไปเล็กน้อย โดย M นั้นตัวใหญ่ขึ้นพันเท่า ส่วน O ตัวแรกนั้นอาจจะตัวเล็กลงหรือเจือจางลงไปบ้าง เอ๊ะ ยังไง?
เรื่องมันมีอยู่ว่าอาจารย์ เซบาสเตียน ธรัน (Sebastian Thrun) และ ปีเตอร์ นอร์วิก (Peter Norvig) เปิดคอร์สที่ Stanford สอน AI แบบเปิดกว้าง แล้วก็มีคนมาลงทะเบียนเรียนกว่า 160,000 คน จาก 190 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้ก็คงมีทั้งคนที่มาเล่นและมาจริงจัง ตั้งใจเรียนจนสอบผ่าน ได้รับประกาศนียบัตรไปสองหมื่นคน (นี่เฉพาะในรอบแรก ในปี ค.ศ.2011) อาจารย์สองท่านนี้เป็นพระเจ้าแห่งวงการ AI ของโลก คุยกันแล้วก็คิดการใหญ่ ลาออกจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก มาตั้งสตาร์ทอัพของตนเองชื่อว่า Udacity ตอนนั้นท่านอธิการของ Stanford ก็คงจะอึ้งๆ ไปพอสมควร
แต่สิ่งที่ทำให้แผ่นดินเมือง Palo Alto ต้องสั่นสะเทือนเลือนลั่น คือ ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น อาจารย์ แอนดรูว์ อัง (Andrew Ng) (อ่านว่า อัง หรือ อึง) พระเจ้าอีกคนหนึ่งของวงการ AI ได้เปิดคอร์ส machine learning จนประสบความสำเร็จมีผู้เรียนเรือนแสนเช่นกัน เขาชวนอาจารย์ ดาฟเน โคลเลอร์ (Daphne Koller) ลาออกจาก Stanford ไปตั้งสตาร์ทอัพอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า Coursera เมื่อปี ค.ศ.2012
สรุปคือ ภายในช่วงเวลาไม่ถึงปีศาสตราจารย์ระดับเทพสี่คนของ Stanford ตบเท้าลาออกไปพร้อมๆ กัน แต่คนที่นั่งก่ายหน้าผากในเวลานั้นคงไม่ใช่แค่ท่านอธิการ Stanford เพียงคนเดียว เพราะวงการอุดมศึกษาทั่วโลกต่างจับตามองว่า การเรียนออนไลน์ผ่าน MOOCs นี้ จะมาแย่งลูกค้าจากระบบมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิมไปจนหมดสิ้นหรือไม่ ถ้าอาจารย์เก่งๆ พร้อมใจลาออกไปอยู่กับ Coursera / Udacity หมดเลยจะเป็นอย่างไร ในช่วงนั้นความกลัวจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน (disruption) เช่นนี้ ผลักดันให้มหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ หลายแห่งทั่วโลก เริ่มสะดุ้งและปรับตัวตาม สร้าง MOOCs ขึ้นเป็นดอกเห็ด เกิดเป็นกระแสที่กระเพื่อมมาเกือบ 10 ปีจวบจนปัจจุบัน
หากจะถามถึงคำนิยามดั้งเดิมของ MOOC คงจะต้องพิจารณาทีละตัวอักษร ตัวที่น่าสนใจที่สุดอาจเป็นตัว O ตัวแรก ที่ย่อมาจาก open แปลว่าเปิดกว้าง นั่นหมายถึงว่าจะต้องเปิดให้ใครก็ได้เข้ามาเรียน ไม่ว่าจะเป็นคนประเทศไหน เพศใด วัยใด หรือว่าฐานะการเงินเป็นอย่างไร ในยุคแรก MOOCs ขั้นทดลอง 3 วิชาที่ Stanford เป็นเช่นนั้นจริงๆ นั่นคือ ไม่มีใครต้องจ่ายสตางค์เพื่อเข้าเรียนหรือเข้าสอบเลย แต่ในยุคต่อมาที่ Udacity กับ Coursera มีสถานะเป็นบริษัทที่ต้องแสวงหาผลกำไร ก็เริ่มมีการคิดค่าเข้าเรียนในบางวิชา แต่ในรายวิชาส่วนใหญ่ยังเปิดกว้างให้ทุกคนได้ ‘นั่งเรียน’ (audit) ได้ฟรี โดยไม่มีสิทธิ์สอบหรือทำแบบฝึกหัด เมื่อเรียนจบก็จะไม่ได้ประกาศนียบัตร หรือบางคนอาจนั่งเรียนฟรีมาตลอดเทอม แล้วค่อยมาเปลี่ยนใจจ่ายเงินตอนท้ายก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ ‘จ่ายครบ จบแน่”’ เพราะบางทีจ่ายเงินแล้วถ้าสอบยังไม่ผ่านเขาก็ไม่ให้จบ
มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ขอยืมไอเดียนี้ไปทำ MOOC ใช้บ้าง ในยุคแรกก็มักจะปิดกั้นไม่ให้คนภายนอกได้เข้าเรียน เก็บไว้ให้นักศึกษาตนเองที่จ่ายค่าเทอม หรือบางครั้งก็เปิดให้เรียนได้ แต่จะต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษาทางไกลและจ่ายค่าธรรมเนียม ดังนั้นตัว O ในคำว่า open จึงมีการตีความหมายที่หลวมลงไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องแจกฟรี 100% เหมือนแต่ก่อน ส่วนตัว M ในคำว่า massive ก็เช่นกัน บางมหาวิทยาลัยอาจมีคนเรียนคอร์สออนไลน์ไม่ถึงพันคน ก็อาจอนุโลมให้นับเป็น MOOC ได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ massive จริง
บางคนที่ใจกว้างก็จะยอมให้ตีความอย่างไรก็ได้ แต่บางคนยืนกรานว่าหลักสูตรเล็กๆ ตามสถาบันต่าง ๆ ที่จัดไว้ให้นักศึกษาในระบบเช่นนี้ไม่ควรเรียกว่า MOOC แต่ควรเรียกว่า SPOC (Small Private Online Courses) นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เป็นศัพท์ใหม่ๆ อีกมากมาย ในปัจจุบันอาจเห็นคนเรียกรวมๆ กันว่า MOOC ในความหมายกว้าง
วงการนี้ขับเคลื่อนได้เพราะคนใจกว้างจริงๆ ครับ ทั้งอาจารย์ เซบาสเตียน ธรัน ผู้ก่อตั้ง Udacity และอาจารย์ แอนดรูว์ อัง ผู้ก่อตั้ง Coursera ล้วนเคยกล่าวให้เครดิต ซัล คาน ว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาสร้างนวัตกรรมการศึกษาเหล่านั้นขึ้นมา และทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ก็มี อ.อานันต์ ของเรานี่เอง ที่สร้าง edX ขึ้นมา โดยมีพันธกิจที่ใจกว้างบนพื้นฐานขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และโมเดลของ non-profit เช่นนี้เองที่ทำให้เขาชวนแนวร่วมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น MIT และ Harvard ผู่ร่วมก่อตั้ง จนถึง UC Berkeley, University of Texas, Caltech, Cornell, Australian Nantional University, University of Tokyo, National University of Singapore, University of Cambridge ฯลฯ เรียกได้ว่า อยู่ทุกมุมโลก กว่า 160 สถาบัน
ความใจกว้างของ edX ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ในการเรียนรู้ออนไลน์ เครื่องมือสำคัญที่สุดคือแพลตฟอร์มที่ใช้จัดการการเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแขวนคลิป การเขียนคำอธิบาย การจัดเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ การอัปโหลดเอกสาร การโพสต์การบ้าน การส่งและการตรวจให้คะแนนการบ้าน ระบบการสอบ ระบบเพื่อนประเมินเพื่อน เว็บบอร์ด ฯลฯ ซึ่งซอฟต์แวร์ประเภทนี้มีคนทำมานานแล้ว แต่ก่อนหน้าปี ค.ศ.2011 ยังไม่เคยมีระบบใดที่สามารถรองรับผู้เรียนได้ถึงหลักแสนคน ทั้ง Coursera, Udacity, และ edX จึงต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เอง
อ.อานันต์ เป็นคนแรกที่ชวนพรรคพวกของตน ให้แจกซอฟต์แวร์ทรงพลังตัวนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ แบบ open source ตั้งชื่อว่า Open edX นับเป็นคุณูปการต่อวงการการศึกษาทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีสถาบันหลายแห่งดาวน์โหลดไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชนก็เอาไปใช้ได้ฟรี รวมถึงองค์กรในประเทศไทยเช่น Thai MOOC และระบบอบรมครูของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่มีผู้เข้าอบรมหลักแสนคน ก็มีซอฟต์แวร์หลังบ้านเป็น Open edX เช่นกัน
เกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับ Khan Academy
ทั่วโลกคงต้องขอบคุณน้องนาเดีย ลูกพี่ลูกน้องของซัลที่ขอให้เขาติวเลขให้ เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้เขาสอนคนทั่วโลกผ่านวิดีโอและแบบฝึกหัดออนไลน์ และต้องขอบซัลที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเจ้าพ่อท่านอื่นในวงการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ของเขาเองอย่าง อ.อานันต์ ที่ MIT และ professor ของ Stanford อีกหลายท่านที่ก่อตั้ง Coursera กับ Udacity
ซัลมีความรักในคณิตศาสตร์และการวาดรูปมาตั้งแต่วัยเด็ก เขาเคยเป็นประธานชุมนุมคณิตศาสตร์ของโรงเรียนเล็กๆ ในลุยเซียนา และเป็นนักวาดการ์ตูนให้หนังสือพิมพ์ของโรงเรียน นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาสอนหนังสือนาเดียผ่านการวาดบนแทบเล็ตได้อย่างน่าสนใจ ถ้าใครได้ดูวิดีโอยุคแรกๆ ของเขาจะพบว่าเป็นการวาดด้วยเมาส์ปากกา (stylus) ลงบนแผ่นแทบเล็ตที่ต่อกับคอมพิวเตอร์ แทบเล็ตเหล่านี้ไม่มีจอภาพ เป็นเพียงเครื่องรับอินพุต ไม่ใช่แทบเล็ตแบบจอสัมผัสที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน และลายมือของเขาก็พออ่านได้ ภาพวาดของเขาก็พอเข้าใจได้ แต่ไม่ได้ถึงกับสวยงามระดับส่งประกวด (ที่เขียนเช่นนี้ ผู้เขียนเองก็ลำบากใจ เพราะตนเองก็ไม่สามารถวาดได้สวยกว่าเขาเหมือนกัน) ถึงอย่างนั้น การเรียงลำดับเนื้อหา วิธีการอธิบาย การจัดวางสิ่งต่างๆ บนหน้าจอ เหมือนว่าได้มีการวางแผนไว้อย่างดีแล้ว ภาพทุกภาพแม้จะเรียบๆ แต่ก็เข้าใจง่าย นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าผู้สอนรักและเข้าใจวิชานี้จริงๆ และสไตล์การเขียน การหยุดพูดระหว่างเขียนเพื่อเว้นให้คิดตาม ก็ช่วยดึงผู้เรียนวัยเด็กเล็กให้ติดตามได้ง่าย
วิดีโอการสอนของซัลส่วนใหญ่ไม่มีภาพใบหน้าเขา ไม่มีภาพจากกล้องวิดีโอ มีแต่ภาพหน้าจอดำๆ และสิ่งที่เขียนอยู่บนนั้น คล้ายกับเป็นกระดานชนวนดิจิทัล ไม่ได้มีการตัดต่อใส่ special effect อันหรูหรา หรือบางครั้งเวลาสอนผิดเขาก็ไม่ตัดออกด้วยซ้ำ แต่จะพูดว่า เอ๊ย! โทษทีนะตะกี้พูดผิด แล้วก็อธิบายใหม่ เหมือนพี่น้องติวหนังสือกันจริงๆ หรือบางทีเขาก็มาเขียนในคอมเมนต์ภายหลังว่าตรงนั้นตรงนี้สอนผิด จริงๆ ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วิถีสไตล์ minimal เช่นนี้กลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ก็ดูเหมือน ซัลจะซื้อแทบเล็ตรุ่นใหม่ (ซึ่งอาจเป็น iPad พร้อมปากกา) มาเขียนได้ชัดขึ้น ความละเอียดสูงขึ้น ใส่รูปได้มากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นการเขียนด้วยลายมือสไตล์เดิม ไม่มีการใช้ PowerPoint หรือ motion graphic หวือหวาแต่อย่างใด (นับเฉพาะวิดีโอการสอน ไม่นับวิดีโอที่โปรโมตแนวคิดต่าง ๆ)
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โด่งดังและสร้างแรงบันดาลใจให้กับครู-อาจารย์ที่ต้องการสอนออนไลน์ทั่วโลกมาตั้งแต่ก่อนยุค COVID-19 นักวิชาการต่างเรียกสไตล์วิดีโอการสอนแบบนี้ว่า Khan-style Tablet Drawing งานวิจัยบางชิ้นของ MIT ที่วิเคราะห์สถิติการรับชมวิดีโอบน edX กว่าหกล้านครั้ง พบว่าผู้เรียนมีส่วนร่วมกับวิดีโอสไตล์ ซัล คาน มากกว่า PowerPoint ใบหน้าอาจารย์ หรือแม้กระทั่งสตูดิโอราคาหลายล้านเสียอีก
นอกจากนี้สไตล์การสอนแบบกันเองของ ซัลทำให้ผู้สอนคนอื่นคลายกังวลลง ไม่ต้องเครียดกับการสอนเทคแรกให้ถูกต้องเพอร์เฟกต์ ขอเพียงผลิตเนื้อหาออกมาให้เป็นประโยชน์กับผู้เรียน ก็นับเป็นเรื่องน่าภูมิใจ
หลังจากที่ซัลเริ่มก่อตั้ง Khan Academy และมีผู้เรียนมากขึ้นเขาก็เริ่มมันมือ ลาออกจากบริษัทจัดการกองทุนที่ได้เงินเดือนสูง นำเงินเก็บมาทุ่มทุนสร้างแพลตฟอร์มให้รองรับผู้คนได้จำนวนมาก ขยายฐานวิชาไปยังวิชาอื่นๆ แม้กระทั่งบางวิชาที่เขาไม่ได้เชี่ยวชาญ แต่เนื่องจากต้องสอนน้อง เขาก็ไปอ่านหนังสือแล้วมาสอน ที่สำคัญคือเขาสร้างระบบแบบฝึกหัดที่ตรวจอัตโนมัติ เพื่อฝึกนักเรียนตามแนวทางของ mastery learning
ไม่นานนักเขาก็เริ่มได้ยินจากผู้เรียนในที่ต่างๆ หลากหลายพื้นเพ ไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้าในมองโกเลียที่เรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ผ่านคอมพิวเตอร์ที่ชาวซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ไปบริจาคให้ และเรียนวิชาอื่นๆ จาก Khan Academy ก่อนที่จะผันตัวเองจากผู้เรียนเป็นผู้สอน สอนเพื่อนๆ น้องๆ ด้วยภาษามองโกเลีย ผ่านเว็บ Khan Academy หรือน้องอีกคนหนึ่งจากอัฟกานิสถานที่อดเรียนหนังสือเพราะกลุ่ม Taliban ไม่ให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ เธอจึงแอบเรียนผ่าน Khan Academy และอพยพไปสอบ SAT ที่ปากีสถานได้คะแนนสูงมาก เป็นข่าวใหญ่ลง New York Times และผู้ใหญ่ใจดีก็ช่วยเธอทำเรื่องขอลี้ภัยมาที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเธอทำวิจัยด้านฟิสิกส์อยู่กับอาจารย์ที่ MIT
พูดถึงผู้ใหญ่ใจดี นอกจาก ซัลจะได้ยินคำขอบคุณจากเด็กในโลกที่สาม หรือเด็กยากจนในชุมชนต่างๆ แล้ว ก็มีบางครั้งที่ลูกเศรษฐีมาใช้บริการ Khan Academy เช่นเดียวกัน บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็โอนเงินเข้ามาทีละร้อยสองร้อย (ดอลลาร์สหรัฐฯ) แทนคำขอบคุณ แต่มีอยู่วันหนึ่งที่เขาได้เงินหนึ่งหมื่นดอลลาร์ ปรากฏว่ามาจากเศรษฐีนีชื่อ แอน (Ann) ที่เห็นคุณค่ากับโครงการนี้และต้องการพูดคุยเพิ่มเติม ในการสนทนาที่ร้านกาแฟนั้น แอนได้ถามคำถามจุกอกข้อหนึ่ง ก่อนจะแยกย้ายกลับบ้านว่า
แอน : “คุณทำสิ่งดีๆ เหล่านี้ น่าชื่นชม แต่คุณหารายได้ดูแลครอบครัวอย่างไร?”
ซัล : “อ้อ ไม่มีครับ กินแกลบ เอ๊ย กินเงินเก็บครับ”
(ส่วนที่เขียนว่า ‘กินแกลบ’ คือผู้เขียนอรรถรสเข้าไป)
ระหว่างขับรถกลับบ้าน ซัลได้รับโอนเงินบริจาคเพิ่มอีกหนึ่งแสนดอลลาร์จากแอน
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวดุจเทพนิยาย คนทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ฟ้าก็มีตา สวรรค์มีใจ มีคนเห็นค่า และคนเห็นค่านั้นมีเงินมากมาย
ช่วงกลางปี ค.ศ.2010 บิล เกตส์ และซัล ไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่ทั้งคู่รู้จักกัน เพราะ บิล เกตส์ คือหนึ่งในผู้ปกครองที่ส่งลูกไปเรียนฟรีกับ Khan Academy และวันหนึ่ง ในงานประชุม Aspen Ideas Festival (เป็นการประชุม Super VIP ที่เชิญคนรวย คนดัง และผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายไปพูด) บิล เกตส์ ก็ขึ้นเวที และพูดถึง Khan Academy ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับโลกนี้ขนาดไหน เขาพูดเช่นนี้โดยไม่ได้บอกกันก่อน ทำให้ซัลตกใจมาก และในขณะเดียวกัน คนก็ยิ่งรู้จัก Khan Academy มากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ
ผ่านไปไม่นาน ซัลก็ได้การติดต่อจาก Google และ บิล เกตส์ ให้ไปพบปะพูดคุย และได้เงินบริจาคมาจากแต่ละแห่ง เจ้าละ $2 ล้าน รวมเป็น $4 ล้าน นับว่าเป็นเงินกองทุนก้อนใหญ่ก้อนแรก ก่อนที่จะมีก้อนต่อๆ ไปจากทั้งเศรษฐีและบริษัท เช่น อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และ AT&T รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ทำให้เติบโตจนถึงปัจจุบัน
สิ่งหนึ่งที่ซัลย้ำเสมอในหลายวิดีโอของเขาก็คือ เราต้องเชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เราสามาถฝึกตนเองให้ฉลาดขึ้นได้เรื่อยๆ และสติปัญญาของเราไม่ใช่สิ่งที่อยู่นิ่ง ถ้าเราไม่หยุดเรียนรู้ สมองของเราจะพัฒนาไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งเหล่านี้นักวิชาการด้านการศึกษาเรียกว่า growth mindset (กรอบแนวคิดเชิงเติบโต) เป็นแนวคิดรากฐานแห่งการพัฒนาองค์ความรู้ และนี่อาจเป็นที่มาของโลโก้รูปใบไม้ที่กำลังงอกเงยจากผืนดิน
ย้อนดูประเทศไทย
คงเป็นเรื่องที่น่าลุ้น น่าติดตามกันต่อไป ว่าคนไทยจะใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ฟรี และมีคุณภาพระดับโลกเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน วิดีโอนับร้อยชิ้นของ Khan Academy มีการพากย์ไทย โดยมูลนิธิศักดิ์พรทรัพย์ และไม่ใช่การแปลแบบกากๆ แต่บางครั้งผู้แปลเป็นถึง ผศ. ดร. เลยทีเดียว สำหรับวิดีโอของเด็กเล็กก็จะมีนักพากย์ที่ทำเสียงแบบเป็นกันเอง น่าสนุก น่าติดตาม
สำหรับวิดีโอที่ไม่ได้พากย์ไทย ของทั้ง Khan Academy และ edX ผู้เรียนสามารถเปิดคำบรรยายใต้ภาพ (subtitle) ภาษาอังกฤษได้ สามารถชะลอความเร็วได้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และหากจำเป็นจริงๆ ก็สามารถเปิดระบบแปลอัตโนมัติ (auto-translate) ได้ ซึ่งแม้จะทำงานได้ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นตัวช่วยให้เข้าใจเนื้อหาบางอย่างได้มากขึ้น
ผู้เขียนในฐานะของผู้ที่ทำงานด้านการศึกษา ขอฝันไปไกล ฝันอยากให้วันหนึ่งสถาบันการศึกษาต่างๆ ในเมืองไทย เปิดเนื้อหาทั้งหมดเป็นสาธารณะเช่นนี้บ้าง สอนคนไทย สอนชาวโลก สอนคนทุกคนไม่ว่าจะสมัครผ่านระบบ TCAS มาหรือไม่ แม้ว่าองค์ความรู้จะมีคนสอนอยู่เต็มโลกแล้ว แต่เรื่องบางเรื่องก็ไม่มีใครสอนเด็กไทยได้ดีเท่ากับครูไทยด้วยกันเอง และที่สำคัญ หวังว่าเครื่องมือนี้จะไม่ได้ใช้เพื่อทดแทนการพบหน้ากันระหว่างมนุษย์ แต่ใช้เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้ใช้เวลาที่พบหน้ากันได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
ไม่แน่นะครับ อีกไม่นาน เราอาจจะมีเด็กไทยที่
– เติบโตขึ้นมาในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนมีครูหนึ่งคน แต่เผอิญมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
– เรียนจบ ม.6 เพราะศึกษาจาก Khan Academy
– เรียนจบใบประกาศนียบัตร ระดับ ‘น้องๆ ป.ตรี’ จากสถาบันการศึกษาภายในประเทศ ผ่านระบบกึ่งออนไลน์
– ใช้ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไปเรียนต่อบน Coursera หรือ edX แล้วได้ nanodegree (ใบปริญญาจิ๋ว) ด้าน Data Science
– สมัครงานบริษัท Google, Microsoft, Facebook หรือ SpaceX และได้รับการตอบรับ
– ทำงานรับเงินเดือนสูงที่ต่างประเทศ
– ใช้เวลาว่างเสาร์อาทิตย์สอนรุ่นน้องที่เมืองไทย ผ่าน YouTube หรือ TikTok ให้ได้มีโอกาสแบบพี่บ้าง
คงไม่ผิดที่จะฝัน จะขอฝันอย่างนี้ทุกคืน และถ้าฝันของเราในแต่ละคืนมันต่อเนื่องจากคืนก่อนหน้า แล้วเราจะบอกได้ไหมว่า อะไรคือความฝัน อะไรคือความจริง
หมายเหตุเพิ่มเติม : ซัล และ อ.อานันต์ คุยกันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2564 หลังจากนั้นห้าวัน ได้มีประกาศข่าวใหญ่ว่า edX จะขายกิจการให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในราคา 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นมหาวิทยาลัย Harvard และ MIT จะได้รับเงินที่ลงทุนคืน และเงินก้อนเพื่อทำโครงการด้านการศึกษาต่อไป (แต่โดยกฎหมาย จะไม่มีใครได้ ‘กำไร’ จากการขายกิจการ) ส่วน edX จะแปลงสภาพจาก non-profit เป็นแบบอื่น และจะยังคงดำเนินกิจการต่อไป โดยเจ้าของใหม่ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สอนและความเป็นส่วนตัวของผู้เรียนจะยังคงได้รับการปกป้องเช่นเดิม และจะยังคงให้ผู้เรียนเรียนฟรีได้ในหลายวิชาโดยไม่ต้องจ่ายสตางค์ (audit track) ส่วนซอฟต์แวร์ Open edX ที่คนนำไปใช้ทั่วโลก ก็จะยังคงพัฒนาต่อไปให้ทุกคนได้ใช้ฟรีแบบ open-source คงต้องติดตามกันต่อไปว่านับจากนี้เป็นต้นไปพันธกิจต่างๆ จะเป็นไปอย่างที่เจ้าของใหม่ของ edX ประกาศไว้หรือไม่ และต้องลุ้นว่า อ.อานันต์ จะย้ายตามไปหรือจะอยู่ที่เดิมที่ MIT ส่วนซัลนั้นยังคงดูแล Khan Academy ในฐานะ non-profit ที่เข้มแข็งต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
- วิดีโอต้นฉบับของบทความนี้ : Homeroom with Sal & Anant Agarwal – Thursday, June 24, youtu.be
- เกี่ยวกับ Khan Academy : support.khanacademy.org
- ช่อง YouTube: Khan Academy : www.youtube.com
- ซัล พูดที่ Google เล่าประวัติของ Khan Academy : Education Reimagined | Sal Khan | Talks at Google, youtu.be
- เกี่ยวกับ edX : www.edx.org
- สถิติของ edX ในปี 2021 : www.edx.org
- วิดีโอเลื่อยไฟฟ้าในตำนาน ของ อ.อานันต์ : 6.002x Circuits and Electronics | MIT on edX | Chainsaw Demo, youtu.be
- แหล่งข้อมูลภาษาไทย เกี่ยวกับ Mastery Learning : www.gotoknow.org และ www.trueplookpanya.com
- TED Talk ของ อ.อานันต์ ฮามากๆ ขอแนะนำครับ : Anant Agarwal: Why massively open online courses (still) matter, youtu.be
- เรื่องเกี่ยวกับ TA ที่ชื่อจิล : Artificial Intelligence Course Creates AI Teaching Assistant, news.gatech.edu
- งานวิจัยเกี่ยวกับ Khan-style Tablet Drawing เปรียบเทียบกับวิดีโอแบบอื่น : Guo, P.J., Kim, J. and Rubin, R., 2014, March. How video production affects student engagement: An empirical study of MOOC videos. In Proceedings of the first ACM conference on Learning@ scale conference (pp. 41-50).
- บทความใน New York Times เกี่ยวกับเด็กหญิงชาวอัฟกานิสถานที่เรียนกับ Khan Academy จนสอบติด MIT : Meet Sultana, the Taliban’s Worst Fear | Nicholas Kristof, www.nytimes.com
- Khan Academy ฉบับพากย์ไทย : th.khanacademy.org
Illustration by Sutanya Phattanasitubon