แม้ว่าจะมีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาแบบแบ่งแผนการเรียนเป็นสายวิทย์กับสายศิลป์มาเกือบ 20 ปี แต่ทุกวันนี้เด็กไทยก็ยังคงต้องมานั่งคุยกับตัวเองและผู้ปกครองในห้วงที่ต้องเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายว่าฉันจะเรียนต่อสายวิทย์ดีมั้ย เผื่อเอาไว้ก่อน ถ้าอยากสอบเข้าคณะต่างๆ หรือว่าฉันจะเรียนสายศิลป์ไปเลยดี เพราคงไปได้ไม่ดีกับวิชาคำนวณ
คำถามที่ตามมาก็คือหลักสูตรที่แบ่งสายการเรียนเป็น วิทย์-คณิต, ศิลป์-คำนวณ, ศิลป์-ภาษา หรือศิลป์ทั่วไป นั้น เพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ หรือไม่ แล้วการเรียนแบบนี้จะช่วยเพิ่มทักษะอะไรให้เด็กๆ ได้บ้าง รวมถึงแผนการเรียนแบบนี้ทำให้เด็กได้ค้นพบตัวตนของตัวเองหรือแค่เรียนจบไปตามระบบเท่านั้น?
ข้อถกเถียงเรื่องการแบ่งสายการเรียนยังคงมีมาจน ณ เวลานี้ และยังไม่รู้ว่าทางออกของปัญหาการศึกษาไทยในเรื่องนี้จะเดินไปอยู่ตรงจุดไหน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีบางโรงเรียนเริ่มทดลองอะไรใหม่ๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้ลองมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือหลักสูตรที่ใช้ระบบ Tracks
ระบบ Tracks คืออะไร?
ระบบ Tracks พูดโดยกว้างคือระบบที่เอาแผนการเรียนวิทย์-ศิลป์มาแยกย่อยเป็นสายเฉพาะลงไปอีก ซึ่งในรูปแบบการเรียนที่เป็นแผนการเรียนวิทย์-ศิลป์แบบเดิมนั้นเป็นการแบ่งสายโดยกว้างที่มีวิชาพื้นฐานทั่วไปและไม่ได้เน้นให้เกิดการเรียนรู้ทดลองเพื่อค้นหาความชอบของตัวนักเรียนอย่างจริงจัง เพราะเราจะได้เจอแค่ คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา และวิชาอื่นๆ ตามหลักสูตรของกระทรวง ซึ่งเป็นเพียงเรื่องพื้นฐาน นอกจากนี้ยังขาดความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของเด็กๆ และกลายเป็นกรอบจำกัดในการเเรียนรู้ของพวกเขาไปด้วย
การเรียนด้วยระบบ Tracks จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความยืดหยุ่น หลากหลาย และเปิดทางเลือกให้กับผู้เรียน ซึ่ง Tracks เหล่านี้จะมีความคล้ายคลึงกับ ‘คณะ’ ในมหาวิทยาลัย หรือเรียกได้ว่าเป็นการเรียนเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่คณะนั้นๆ กันตั้งแต่เริ่มต้นมัธยมปลาย เช่น ใครอยากเรียนต่อคณะอักษรศาสตร์ ก็จะมี Tracks อักษรศาสตร์ หรือ Tracks ภาษาต่างๆ ให้เลือกเข้าเรียน ใครอยากเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็จะมี Tracks วิศวกรรมศาสตร์ หรือ Tracks ที่เกี่ยวข้องอย่างคอมพิวเตอร์ หรือพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ให้เข้าเรียนได้เช่นกัน
ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เด็กๆ ได้ทดลองเรียนในวิชาของคณะนั้นๆ เพื่อค้นหาว่าชอบหรือไม่ชอบแล้ว สำหรับใครที่รู้ตัวเองว่าชอบอะไร ก็ยิ่งทำให้สนุกกับการเรียนและได้โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ ซึ่งทำให้ตัวนักเรียนเองไม่ต้องกดดันจากวิชาที่ไม่ชอบได้ด้วย
สำหรับโรงเรียนที่นำเอาระบบนี้มาใช้เป็นที่แรกๆ คือ โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) กับ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ไปดูกันว่า 2 โรงเรียนนี้เขาใช้ระบบ Tracks กันยังไงบ้าง
โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม)
สำหรับโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) นั้นในปัจจุบันมี Tracks หรือวิชาเอก ให้เรียนกันทั้งหมด 24 วิชาเอก (ดูรายชื่อวิชาเอกทั้งหมดได้ที่นี่) ซึ่งแต่ละวิชาเอกก็จะมุ่งเน้นความสำคัญของวิชาตามเอกนั้นๆ และลดวิชาที่แต่เดิม หากเป็นแผนการเรียนวิทย์-ศิลป์ ผู้เรียนอาจจะไม่ได้สนใจทุกวิชาแต่ต้องเรียนเพื่อให้ครบตามหน่วยกิตของแผนการเเรียนนั้นๆ
โดยในตารางเรียนจะยังคงมีวิชาพื้นฐานตามที่กระทรวงกำหนดต้องเก็บให้ครบหน่วยกิต แต่จะมีวิชาตามที่แต่ละเอกกำหนดไว้ใส่เข้ามาเพิ่มเติมซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นวิชาเลือก แต่ก็เป็นวิชาเลือกที่เด็กๆ สมัครใจจะเรียนทำให้การเรียนของพวกเขาไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องเรียนตามๆ กัน
ตัวอย่างเช่น หากเลือกเรียนวิชาเอก แอนิเมชั่น – ดิจิทัล มีเดีย อาร์ต ก็จะยังคงมีวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานบ้างเพียง 2-3 คาบต่อสัปดาห์ (นับเป็นแค่ 1 วิชาต่อเทอมเท่านั้น) แต่ความสำคัญของการมีวิชาเอกอยู่ตรงที่การได้เรียนวิชาเช่น วาดเส้นแอนิเมชั่น ภาพพิมพ์สร้างสรรค์ หรือวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาเอก ซึ่งรวมๆ กันแล้วใช้เวลาเรียนประมาณ 8 คาบต่อสัปดาห์ แสดงให้เห็นน้ำหนักและสัดส่วนที่นักเรียนจะได้เรียนตามความสนใจจริงๆ
“เราว่ามันตอบโจทย์นะ เพราะเราไม่ต้องไปเรียนสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องเรียน ทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่เราอยากเรียนได้เลย” นี่คือหนึ่งในความเห็นของศิษย์เก่าที่มองว่าการเรียนตามวิชาเอกช่วยให้เขาสามารถโฟกัสกับสิ่งที่อยากเรียน และยังมีเวลาไปค้นหาตัวตน ไม่ต้องมาเหนื่อยกับวิชาอื่นๆ ที่ไม่ถนัด
การเรียนด้วยระบบ Tracks แบบวิชาเอกของโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) จึงช่วยให้เด็กๆ ได้โฟกัสกับวิชาที่ตัวเองสนใจและมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการที่ทดลองเรียนรู้เกี่ยวกับคณะที่ตัวเองสนใจอยากเรียน รวมไปถึงไม่ต้องกดดันกับวิชาที่ไม่ถนัด เพราะหลักสูตรที่ออกแบบมาให้เน้นเฉพาะวิชาเอกที่ผู้เรียนชอบ และหากเรียนไปแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง ก็ยังสามาถย้ายเอกได้ก่อนขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้ด้วยเช่นกัน
เมื่อนักเรียนมีโฟกัสที่ชัดเจน ก็จะช่วยทำให้เขาได้ค้นหาตัวเองและเรียนรู้สิ่งที่เขาถนัดจนประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในปัจจุบันนั้นเป็นระบบ Track ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้สอบเข้ามหาลัยตรงตามที่ต้องการได้มากขึ้น โดย Tracks ที่มีอยู่ตอนนี้เกิดจากการลงพื้นที่สำรวจความเห็นของนักเรียนมัธยมต้นถึงความต้องการของพวกเเขาว่าต้องการเข้าคณะไหน และนำมาแปรเป็นแผนการเรียนที่มีทั้งสิ้น 14 Tracks ได้แก่
Track แพทยศาสตร์ และกลุ่มสาธารณสุขศาสตร์ / Track วิศวกรรมชีวการแพทย์ / Track วิศวกรรมศาสตร์ (ทั่วไป) / Track วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน / Track วิศวกรรมหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ / Track สถาปัตยกรรมศาสตร์ / Track บริหารธุรกิจ บัญชี เศรษฐศาสตร์ / Track สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ / Track ศิลปกรรมศาสตร / Track อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ / Track นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อดิจิทัล / Track ศิลปะการประกอบอาหาร Track วิทยาศาสตร์การกีฬา / Track ดนตรี-นิเทศศิลป์
โดยระบบ Track นี้หากนักเรียนเรียนไปแล้วรู้สึกไม่ชอบ ก็สามารถย้ายได้ก่อนขึ้น ม.5 และทุก tracks จะมีการปูพื้นวิชาทฤษฎีเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียน ถ้าตัดสินใจจะเลือกเรียนต่อสาขานั้น นอกจากนี้ก่อนสอบเข้า หากเป็นเด็กนักเรียนที่เคยเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้ในระดับมัธยมต้นก็จะได้รับการเน้นย้ำและแนะแนวผ่านคุณครูถึงการเลือกเส้นทางแผนการเรียน โดยจะมีระบบวิเคราะห์ผลการเรียนของผู้เรียนเพื่อช่วยเป็นแนวทางให้เขาเห็นว่าเขาเหมาะกับอะไร นอกจากนี้ครูแนะแนวก็มีส่วนในการให้คำปรึกษากันตั้งแต่มัธยมต้นว่าเด็กแต่ละคนเหมาะกับอาชีพไหน ซึ่งอาจช่วยให้เด็กๆ ได้เห้นแนวทางและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองมากขึ้น
แต่นอกจาก Track แล้ว ยังมีความพิเศษอีกอย่างที่จะช่วยให้การเรียนไม่มีกรอบจำกัดในการทดลองค้นหาตัวตนคือ ‘วิชาเสรี’ หรือ FE (Free Elective) ที่หลากหลาย
โดยจุดเริ่มต้นของวิชาเสรีนี้ ครูโกสุม รุ่งลักษมีศรี ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Potential ไว้ว่า “เรามี 41 หน่วยกิตที่เป็นเกณฑ์บังคับของโรงเรียนอยู่แล้ว อีก 36 หน่วยกิตที่เหลือ พอจะเป็นช่องทางที่เราสามารถผลักให้เด็กเรียนอยากเรียนได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘วิชาเลือกเสรี’” นอกจากนี้ยังได้บอกถึงที่มาที่ไปที่ทำให้เห็นความใส่ใจต่อความรู้สึกและความต้องการของผู้เรียนด้วยว่า “จุดประสงค์ตอนนั้น ครูต้องการเพียงให้เด็กๆ เขาค้นพบความชอบของตัวเอง ให้ชัดเจนว่าตัวเองจะเดินไปทางไหนเมื่อจบ ม.6 ไป เมื่อพบคำตอบว่าเด็กๆ อยากเรียนวิศวะ เรียนสถาปัตย์ เรียนการแสดง ฯลฯ จึงก่อให้เกิดรายวิชา FE ที่เกี่ยวโลจิสติกส์ การแสดงเบื้องต้น ขึ้นมา”
ซึ่งการเปิดวิชาเสรีนี้ไม่ได้เพียงแค่เปิดขึ้นมาเฉยๆ แต่ยังมีการสำรวจถึงผลลัพท์ที่ตามมาซึ่งทางโรงเรียนพบว่า สถิตินักเรียนสอบตกมีจำนวนลดลง ในทางตรงกันข้าม นักเรียนส่วนใหญ่เกรดเฉลี่ยดีขึ้น เพราะได้ลงเรียนในวิชาที่ตัวเองสนใจ
คำถามคือ แล้วสำหรับตัวคนเรียนเองนั้น พวกเขาได้อะไรจากการเลือกเรียนวิชาเหล่านี้ แล้วมันจะช่วยในการสอบเข้าอย่างไร หนึ่งในศิษย์เก่าของที่นี่ได้บอกว่า “วิชาเสรีอาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการเข้ามหาลัยขนาดนั้น แต่ทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไรมากกว่า”
การเรียนตาม Tracks จะช่วยให้เด็กค้นหาตัวเองได้ยังไง
อาจจะยืนยัน 100 % ไม่ได้เสียทีเดียวว่าหลักสูตรที่ใช้ระบบ Tracks จะช่วยตอบโจทย์กับการค้นหาตัวตนของนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถึงอย่างนั้น การได้ทดลองเรียนเกี่ยวกับคณะที่เราเคยคิดว่าสนใจอยากเรียน อาจทำให้ตัวผู้เรียนได้ลองลงสนามซ้อมก่อนไปสู่สนามจริง และจะช่วยยืนยันได้ว่าหากต้องไปเจอวิชาแบบนี้ เนื้อหาแบบนี้ในรั้วมหาวิทยาลัย เราจะยังมีความสุขกับการเรียนอยู่มั้ย เราจะได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบจริงๆ รึเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถหลบเลี่ยงไม่ให้การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยกลายเป็นความซัฟเฟอร์ที่ไม่รู้จบได้
เพราะการลงเรียนวิชาที่เจาะลึกลงไปในแต่ละ Tracks แต่ละวิชาเอก คือการทดลอง ยกตัวอย่างเช่น เราจะได้ลองเรียน ฟิสิกส์สำหรับวิศวกรรม สำหรับคนที่สนใจคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือได้ลองเรียนการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ สำหรับคนที่สนใจอยากเรียนต่อด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือใครอยากเรียนหมอ ก็อาจจะได้ลองเรียนระเบียบวิธีวิจัยที่จะได้เจอเมื่อเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว การที่นักเรียนได้มองเห็นภาพของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจริงๆ จึงอาจเป็นหนทางที่ทำให้พวกเขาได้รู้ว่าาตัวเองมีความสุขกับสิ่งที่เลือกเรียนหรือไม่ และถ้าคำตอบคือไม่ พวกเขาก็ยังมีเวลาเปลี่ยนเส้นทางได้ทันก่อนสายเกินไป
แต่สิ่งที่ยังต้องพูดคุยกันต่อไปคือ แม้การเรียนระบบ Tracks จะช่วยให้เด็กๆ ผู้เรียนได้เห็นภาพของคณะในฝันของพวกเขามากขึ้น ได้ทดลองเรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย และอาจช่วยให้ได้ค้นพบตัวเองง่ายขึ้นด้วย แต่คำถามที่ยังคงต้องคุยกันต่อไปก็คือ อนาคตนั้นโรงเรียนจะสามารถรองรับ tracks หรือวิชาเอกตามคณะที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยได้มากน้อยแค่ไหน และผลสำเร็จของการที่นักเรียนได้ทดลองเรียนนั้นจะช่วยให้พวกเขาค้นพบตัวเองในด้านอื่นๆ อีกมั้ย
รวมไปถึงคำถามที่ว่าการบูรณาการการเรียนของวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์จะสามารถผสานเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกันได้หรือไม่ เพราะในอนาคต การร่วมมือกันของความเป็นวิทย์และศิลป์อาจจำเป็นและมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในอนาคตข้างหน้าก็เป็นได้ จะทำยังไงไม่ให้เรากลับไปสู่ลูปเดิมของการแบ่งแยกสายการเรียนกันอีกหน?
อ้างอิงข้อมูลจาก
ติดตาบทความจากซีรีส์การศึกษาเรื่องอื่นๆ ได้ที่
เลือกเรียนตามความสนใจ และให้เด็กเป็นศูนย์กลาง สำรวจแนวทางการศึกษาในประเทศต่างๆ