คิดถึงญี่ปุ่นเนอะ ไว้ไปญี่ปุ่นคราวหน้า(ที่หวังว่าจะเร็วๆ นี้) เราใส่ห้องสมุดไว้ในแพลนกันดีมั้ย The MATTER แจกลายแทงห้องสมุดสวยๆ คอนเซปต์ดีๆ ออกแบบโดยสถาปนิกญี่ปุ่นระดับโลกไว้ให้ชุดใหญ่ 10 แห่งกันไปเลย
ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดที่เล็กหน่อยหรือมีคอนเซปต์ที่เฉพาะเจาะจง แถมสถาปนิกแถวหน้าไม่ว่าจะเป็น เคนโกะ คุมะ หรือทาดาโอะ อันโดะ ล้วนฝากผลงานให้กับสาธารณะชนเป็นห้องสมุดน้อยใหญ่-ใกล้ไกลประดับเมืองไว้อย่างมากมาย ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยวาเซดะก็เพิ่งเปิดห้องสมุดมูราคามิ ห้องสมุดสุดพิเศษที่จะมีคอลเล็กชั่นไวนิล มีการรักษาต้นฉบับงานเขียน รวมถึงหนังสือจากห้องสมุดส่วนตัวของมูราคามิไว้ หรือทาดาโอะเองก็ได้มอบห้องสมุดวรรณกรรมเด็กไว้เป็นของขวัญให้กับเมืองโอซากะด้วย
ดังนั้น เชื่อเรา คราวหน้า ถ้าไปญี่ปุ่นพอมีเวลา ลองแวะไปดูชมห้องสมุดสักแห่งในลิสต์ที่เราคัดสรรมาให้ การอยู่ท่ามกลางชั้นหนังสือที่สวยงามในอาคารที่ออกแบบอย่างประณีตบรรจง มันเป็นอีกหนึ่งความรู้สึกที่ยอดเยี่ยม และก็เน้นย้ำว่าห้องสมุดในที่สุดก็ยังเป็นพื้นที่สำคัญของเมืองในการส่งเสริมความรู้ เป็นสง่าราศีให้กับเมืองนั้นๆ
ห้องสมุดที่คัดเลือกมาส่วนใหญ่เดินทางไม่ยาก เข้าได้ฟรี (อาจจะต้องตรวจสอบวิธีการเข้าใช้บริการกันอีกที) แล้วก็ค่อนข้างกระจายตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะโตเกียว โอซากะ กิฟุ ตัวห้องสมุดก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่ห้องสมุดทางวรรณกรรมร่วมสมัย ป่าวรรณกรรมที่โอซากะ พิพิธภัณฑ์ทางวรรณกรรมเด็กที่สร้างเป็นเกียรติให้นักเขียนหญิงเจ้าของงานคลาสสิกเช่นแม่มดน้อยกิกิ ร้านหนังสือสวยๆ ห้องสมุดประจำเมือง หรือพิพิธภัณฑ์จากอาณาจักรสื่อสมัยใหม่ ไปจนถึงบ้านหนังน้อยที่เปิดด้านหน้าเป็นห้องสมุดเพื่อเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนกับผู้คนด้วยการอ่าน
Haruki Murakami Library (Tokyo)
ที่แรกคือภูมิใจนำเสนอและทึ่งสุดๆ ทั้งในแง่การให้ความสำคัญของมหาวิทยาลัย การสร้างพื้นที่เก็บงานที่เกี่ยวข้องกับนักเขียน และการใช้สถาปนิกแนวหน้ามาสร้างพื้นที่ทางวรรณกรรมขึ้นมา นี่คือ ห้องสมุดมูราคามิ อันที่จริงมีชื่อทางการคือ Waseda International House of Literature ห้องสมุดเปิดใหม่ของมหาวิทยาลัยวาเซดะ โดยห้องสมุดนี้ว่าด้วยมูราคามิ ผู้จบปริญญาตรีด้านการละครจากวาเซดะเป็นหลัก ตัวห้องสมุดสร้างขึ้นเพื่อเก็บทั้งเอกสาร หนังสือ แผ่นเสียงของมูราคามิ ได้รับการออกแบบโดย เคนโกะ คุมะ สถาปนิกญี่ปุ่นระดับโลกผู้ใช้รูปทรงและวัสดุธรรมชาติได้อย่างน่าทึ่ง
แฟนมูราคามิ หรือคนรักวรรณกรรม รักดนตรี รักกาแฟ รักแจ๊ส รักอาคารสวยๆ ต้องรักที่นี่ แม้ว่าตัวห้องสมุดจะค่อนข้างเป็นไปในแง่การรักษามรดก ตัวตน รวมถึงสิ่งต่างๆ ของมูราคามิ แต่โดยรวมก็ถือว่าเป็นพื้นที่ว่าด้วยวรรณกรรมรวมถึงรสนิยมร่วมสมัยต่างๆ ที่เราต่างสัมผัสได้ ภายในห้องสมุดเราจะได้เจอกับเอกสาร ต้นฉบับของมูราคามิ เจอกับห้องแผ่นเสียงกว่าสองหมื่นแผ่น แถมด้วยกิมมิกเท่ๆ เช่น การจำลองโต๊ะทำงานของมูราคามิ ชั้นหนังสือและเครื่องเล่นแผ่นเสียง แถมในห้องสมุดยังเสริฟกาแฟคั่วเข้มที่มูราคามิชอบ มีห้องฟังเพลงที่เล่นจากแผ่นเสียง แถมตัวอาคารเมื่อเข้าไปแล้ว เคนโกะ คุมะ ยังได้สร้างชั้นหนังสือทรงโค้ง ซึ่งนักออกแบบต้องการเล่นกับมิติ กับความรู้สึกของเส้นแบ่งระหว่างความจริงและความเหนือจริงแบบที่เราพบได้ในงานของมูราคามิ สำหรับมูราคามิเอง ห้องสมุดนี้เป็นเหมือนการรับเอาตัวตนและมรดกทางความคิดของเขาเอาไว้
ปัจจุบันห้องสมุดเปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ก็จะต้องสำรองที่ก่อนเข้าใช้บริการ และจะมีระบุรอบ บางรอบสงวนไว้สำหรับนักศึกษา สำรองที่ได้ที่ www.waseda.jp
Edogawa City Eiko Kadono Children’s Literature Museum (Tokyo)
เรารู้จักแม่มดน้อยกิกิ ซึ่งแม่มดน้อยกิกิมาจากวรรณกรรมเยาวชนของ เอโกะ คาโดโนะ เป็นงานซีรีส์ที่ค่อนข้างยาวตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 เรื่อยมาจนออกภาคที่ 6 ปี ค.ศ.2009 ในแง่หนึ่งคาโดโนะจึงเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนระดับตำนานคนสำคัญคนหนึ่งของญี่ปุ่น ทีนี้ก็เลยมีโปรเจกต์สร้างพิพิธภัณฑ์วรรณกรรมเด็กเพื่อเธอขึ้นมาโดยเฉพาะที่สวนนางิสะ เขตเอโดงาวะ ในกรุงโตเกียว และก็เป็นอีกครั้งที่โปรเจกต์นี้ เคนโกะ คุมะ มารับหน้าที่เนรมิตรโลกจินตนาการให้กลายเป็นพื้นที่จริงอีกครั้ง
พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมเด็กตั้งชื่อชั่วคราวไว้ว่า Edogawa City Eiko Kadono Children’s Literature Museum ก็ตรงตัวเลย ความพิเศษของพิพิธภัณฑ์นี้คือการผสานความเป็นวรรณกรรมเข้ากับพื้นที่ธรรมชาติ ด้วยความที่พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นบนเนินโดยมีแม่น้ำเอโดงาวะเป็นฉากหลัง ตัวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เน้นสร้างบรรยากาศมหัศจรรย์ ตามที่ผู้อ่านจะจินตนาการเวลาท่องไปในโลกของแม่มดน้อยและโลกของวรรณกรรม ตัวอาคารจำลองลักษณะบ้านหลังเล็กๆ โดยออกแบบให้หลังคามีลักษณะเป็นเหมือนกลีบดอกไม้ที่คลี่บาน โดยบรรยากาศทีมออกแบบจะเน้นการหลุดเข้าไปสู่โลกของนวนิยายแฟนตาซีโดยเน้นกระตุ้นทุกประสาทสัมผัสโดยเชื่อมโยงเข้ากับทิวทัศน์สวนที่สวยงาม
ตามโครงการวางแผนไว้ว่าจะสร้างเสร็จในปี ค.ศ.2023 โดยพื้นที่เขตเอโดงาวะต้องออกมาจากโตเกียวทางใต้หน่อย สวนนางิสะจะอยู่ใกล้กับสถานี Kasai station (T-17) ของสาย Tozai line ใช้เวลาเดินทางจาก Tokyo station ประมาณ 20 นาที
Ginza Tsutaya Books (Tokyo)
ที่นี่แวะไปง่าย มีความสบายๆ และถูกใจคนรักหนังสือ และหนังสือสวยงามแน่นอน Ginza Tsutaya Books ไม่เชิงว่าเป็นห้องสมุด แต่เป็นร้านหนังสือกึ่งแกลลอรี กึ่งพื้นที่จัดงาน นิยามหลักคือเป็นร้านหนังสือที่เน้นหนังสือศิลปะ (art books) แถมเรียกตัวเองว่าร้านหนังสือศิลปะที่ดีที่สุดในโลกด้วยนะ ตัวร้านนอกจากจะเป็นร้านที่ออกแบบอย่างสวยงามแล้ว ยังเน้นจัดแสดงหนังสือศิลปะในหลายๆ มิติ เช่น มีส่วนที่เรียกว่า Art Street คือเป็นพื้นที่จัดแสดงหนังสือศิลปะเรียงตามยุคสมัยจากศิลปิน 100 คน แถมยังมี Art Wall ที่จัดแสดงสินค้าทางศิลปะที่ทางร้านแนะนำ นอกจากนี้ด้วยความเป็นร้านหนังสือเลยจะมีส่วนที่จัดแสดงพวกเครื่องเขียนที่เป็นสินค้าจำพวกช่างฝีมือไปจนถึงงานฝีมือของญี่ปุ่น เช่น กระดาษไปจนถึงดาบ ซึ่งก็มีจำหน่ายด้วย
สำหรับร้านหนังสือ Ginza Tsutaya Books (แบรนด์ที่เคยมาทำร้านเช่าหนังอยู่บ้านเราพักหนึ่งนี่แหละ) สาขากินซาตั้งอยู่ที่ชั้น 6 ห้าง GINZA SIX ตัวห้างนั่งรถใต้ดินมาได้โดยใช้ทางออก A3 สถานี Ginza station หรือ A1 สถานี Higashi Ginza station ร้านเปิด 10.30–22.30 ถ้าไปช่วง COVID-19 อาจจะต้องตรวจสอบการเปิด-ปิดและการเข้าใช้บริการอีกที
Kadokawa Culture Museum (Saitama)
สุดเท่ สุดปัง และไม่ไกลจากโตเกียว กับพิพิธภัณฑ์ Kadokawa Culture Museum ความเท่ของพิพิธภัณฑ์นี้แน่นอนเป็นพิพิธภัณฑ์ของ คาโดกาวะ โชเต็ง สำนักพิมพ์และนิตยสารการ์ตูนยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ตัวพิพิธภัณฑ์ออกแบบโดย เคนโกะ คุมะ อีกแล้ว จะเล่นกับความคู่ตรงข้ามเช่นตัวอาคารที่เป็นเหมือนก้อนหินแกรนิตที่เหมือนประกอบขึ้นด้วยพิกเซลเล็กๆ ด้านในด้วยความที่เป็นพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยการ์ตูนและมังงะในฐานะวัฒนธรรมใหม่ก็จะมีการเล่นกับความเป็น high culture และ pop culture ที่จัดแสดงเล่นล้อกัน โดยตัวพิพิธภัณฑ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ Tokorozawa Sakura Town complex โครงการพัฒนาย่านที่มีอนิเมะเป็นศูนย์กลาง ในย่านก็จะมีพื้นที่สวน ไปจนถึงโรงแรมธีมอนิเมะ
ด้วยความเป็นพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยสิ่งพิมพ์และวัฒนธรรมร่วมสมัย พื้นที่ด้านในนอกจากพื้นที่จัดแสดงแล้ว ภายในก็จะโดดเด่นด้วยห้องสมุดเฉพาะทาง เช่นห้องสมุดมังงะและไลต์โนเวล โดยห้องสมุดก็มีห้องหมุดหลัก ไฮไลต์คือ Bookshelves Theater เป็นโถงชั้นหนังสือสูง 8 เมตร ลักษณะเหมือนหลงเข้าไปในมิติแห่งหนังสือ โดยในห้องสมุดจะประกอบด้วยหนังสือคอลเล็กชั่นของอาณาจักรคาโดกาวะกว่า 50,000 เรื่อง แถมในห้องสมุดมีการเล่นกับเครื่องฉายโปรเจกเตอร์เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับหนังสือและชั้นหนังสือที่มีสีสันและแปลกใหม่ออกไป
สำหรับพิพิธภัณฑ์มีค่าเข้า สามารถเช็กราคาตั๋วได้ ถ้าเข้า Bookshelves Theater ก็ประมาณ 1,200 เยน การเดินทางก็นั่งรถไฟ JR สาย Musashino มาลงสถานี Higashi Tokorozawa station ใช้เวลาประมาณ 50 นาที
International Library of Children’s Literature, National Diet Library (Tokyo)
จากห้องสมุดใหม่ๆ มาที่การเดินเล่นในห้องสมุดเก่าแก่อันเป็นส่วนหนึ่งของหอสมุดแห่งชาติของญี่ปุ่นกันบ้าง ห้องสมุดนานาชาติด้านวรรณกรรมเด็กเป็นห้องสมุดสาขาของหอสมุดแห่งชาติญี่ปุ่น(National Diet Library) ตัวห้องสมุดเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.2000 โดยถือเป็นห้องสมุดแห่งแรกของญี่ปุ่นที่เน้นไปที่หนังสือเด็กโดยเฉพาะ แต่ว่าตัวอาคารของห้องสมุดนั้นเป็นอาคารอิฐเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ1960 เดิมเป็นหอสมุดหลวง (Imperial Library) โดยต่อมาเมื่อมีการปรับและเปิดให้บริการใหม่เป็นห้องสมุดวรรณกรรมและหนังสือสำหรับเด็กตัวอาคารได้รับการออกแบบและปรับปรุงอีกครั้งโดย ทาดาโอะ อันโดะ และ Nikken Sekkei จนบูรณะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี ค.ศ.2002
ความพิเศษของห้องสมุดนี้จึงอยู่ที่การรักษาอาคารอิฐเก่าที่มีความโอ่อ่าของต้นศตวรรษที่ 20 ไว้ พร้อมกันนั้นก็ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มส่วนประกอบของอาคารขึ้นใหม่ ถ้าเราดูตึกด้านนอกจะเห็นสภาพตึกเก่า มีการครอบและรักษาส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ เช่น โครงสร้างไม้ ราวบันได ประกอบกับพื้นที่ใหม่ทีมออกแบบได้วางแนวกล่องกระจกขวางและตัดเข้าไปในตัวอาคารเก่าจนเกิดเป็นความรู้สึกและพื้นที่ใช้สอยใหม่ ด้านในและบางส่วนของภายนอกอาคารก็จะเน้นใช้กระจกสูงที่เป็นแนวเส้นตรง ทำให้ได้ทั้งความรู้สึกร่วมสมัย แต่ก็ไม่ได้รบกวนความโออ่าเดิมมาก
สำหรับการเดินทางไปยังห้องสมุดวรรณกรรมนานาชาติที่โตเกียวนี้ก็ไปง่ายมาก เพราะว่าตัวห้องสมุดตั้งอยู่ในสวนอูเอโนะ เดินทางได้ทั้งรถไฟ JR ลง Ueno station หรือรถไฟเคเซ (Keisei) ก็ลงสถานี Keisei Ueno station
Nakanoshima Children’s Book Forest (Osaka)
ความน่ารักและความน่าอิจฉาของญี่ปุ่นคือการให้ความสำคัญกับเด็ก รวมถึงการรักษาและเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้มีจินตนาการ ซึ่งก็คือการเปิดหรือรักษาห้องสมุดที่มีเนื้อหาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ Nakanoshima Children’s Book Forest ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เกี่ยวกับหนังสือและวรรณกรรมที่ออกแบบและสร้างให้เด็กๆ โดยเฉพาะ และก็เป็นอีกครั้งที่ป่าหนังสือแห่งนี้มีชื่อ ทาดาโอะ อันโดะ เข้ามาเป็นผู้ออกแบบ และพิเศษกว่านั้นคือคราวนี้อันโดะไม่ได้แค่ออกแบบ แต่เป็นเจ้าของ และได้มอบป่าแห่งการสำรวจนี้เป็นของขวัญให้กับเด็กๆ และเมืองโอซากะ น่ารักไม่ไหว
ในแง่ความสวยงาม แน่นอนว่าป่าแห่งนี้ยังคงจุดเด่นของทาดาโอะ คือ การออกแบบที่มีความเรียบง่าย เน้นวัสดุที่เป็นไม้หรือคอนกรีต ในขณะเดียวกันก็ใช้รูปทรงเช่นทรงโค้ง หรือการตัดขวางไปมาของเส้นตรงไปจนถึงการซ้ำกันของชั้นหนังสือมาทำให้พื้นที่เกิดความซับซ้อน แกนหนึ่งของห้องสมุดนี้คือการสร้างป่าหนังสือขึ้นผ่านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ดังนั้นพื้นที่ซับซ้อนและรายล้อมไปด้วยหนังสือนี้จึงถูกออกเพื่อกระตุ้นความรู้สึกของการผจญภัย เด็กๆ จะได้หลงและสำรวจป่าของงานเขียนและจินตนาการได้อย่างไม่รู้จบผ่านการสำรวจชั้นหนังสือที่จัดระบบด้วยประเภทและอายุ
ห้องสมุด Nakanoshima Children’s Book Forest ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะนากาโนะชิมะ ซึ่งก็เป็นสวนใหญ่กลางเมืองโอซากะ ตัวสวนเดินทางได้ง่ายเพียงลงสถานี Kitahama station ของ Keihan Main Line เดินประมาณ 5 นาที
Akita International University Nakajima Library (Akita)
ไปที่จังหวัดอาคิตะ จังหวัดที่เรามักได้ยินในรายการทีวีแชมป์เปี้ยนที่จะมีคุณปู่จากอาคิตะถูกพูดถึงอยู่เสมอ สำหรับที่อาคิตะมีมหาวิทยาลัยชื่อ Akita International University เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ โดยที่มหาวิทยาลัยจะมีห้องสมุดหลักที่สวยงามติดอันดับต้นๆ ห้องสมุดสวยของญี่ปุ่น ตัวห้องสมุดประจำมหาวิทยาลัยนี้จะอบอุ่นไปด้วยโครงสร้างและสถาปัตยกรรมไม้ ในขณะเดียวกันก็มีความยิ่งใหญ่ด้วยรูปทรงอาคารที่เป็นทรงโดมเหมือนกับโคลอสเซียมของโรม แต่โคลอสเซียมนี้เรียงรายไปด้วยหนังสือ เป็นโคลอสเซียมแห่งหนังสือตามคอนเซปต์การก่อสร้าง และที่พิเศษไปกว่านั้น ในความอบอุ่นของไม้ ไม้ที่ใช้สร้างล้วนเป็นไม้สนซีดาร์ของท้องถิ่นจังหวัดอาคิตะเอง
ที่พิเศษที่สุดคือ ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับสมญานามว่าเป็นห้องสมุดที่ไม่เคยหลับ คือตัวห้องสมุดจะไม่ปิดเลย เปิด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ แต่การเปิดแบบ 7-11 นี้จะเปิดให้บริการเฉพาะนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย สำหรับบุคคลภายนอกสามารถเข้าใช้งานได้ในเวลา 8.30–22.00 ในวันธรรมดา ในวันหยุดและวันเสาร์เปิดให้บริการ 10.00–18.00 วันอาทิตย์ 10.00–22.00 สำหรับการเดินทางไปก็อาจจะต้องต่อรถหน่อยคือนั่งรถ JR จากสถานี Akita station ไปลงสถานี Wada station แล้วจากสถานีวาดะใช้ทางออก South exit ก็จะมีรถเมล์ไปมหาวิทยาลัย ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ค่ารถ 200 เยน แต่ตารางการเดินรถต้องเช็กอีกทีเพราะเวลาปกติกับช่วงวันหยุดและปิดเทอมจะแตกต่างกัน
Minna no Mori Gifu Media Cosmos (Gifu)
สวยไม่ไหว เท่ไม่ไหว คอนเซปต์ก็ดี กับห้องสมุดแห่งอนาคต จักรวาลความรู้ล้ำยุคที่เรียกว่าเป็น ‘ป่าของทุกคน’ Minna no Mori Gifu Media Cosmos เป็นเหมือนศูนย์ความรู้ คือภายในประกอบด้วยทั้งห้องสมุด พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ โดยไฮไลต์อยู่ที่ห้องสมุดขนาดยักษ์ และศูนย์การเรียนรู้ที่ทั้งสวย ทั้งล้ำสมัย เป็น cosmos แห่งอนาคต ตัวศูนย์การเรียนรู้นี้ออกแบบโดย โทโย อิโตะ สถาปนิกชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่น ด้วยความที่ชื่อเป็นจักรวาลความรู้ แล้วก็เน้นไปที่การเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งอนาคต องค์ประกอบหลักของพื้นที่ด้านในจะมีวงกลมเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ไฮไลต์หลักๆ ของอาคารคือการใช้ร่มทรงกลมที่ประกอบกับเพดานจากการถักสานของไม้ เป็นสถาปัตยกรรมและห้องสมุดที่มีหน้าตาทั้งล้ำสมัยแต่ก็อบอุ่นนุ่มนวลพร้อมกับความแปลกประหลาด หัวใจหนึ่งของพื้นที่คือการ ‘เพาะปลูกความรู้’ และความสัมพันธ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากตัวพื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งนี้จึงใช้ชื่อว่า ‘ป่าของทุกคน’ คือ minna no mori เป็นที่ที่คนจะมาแสวงหาโอกาสและมิตรภาพที่เบ่งบานขึ้นจากความรู้
Gifu Media Cosmos ตั้งอยุ่ในจังหวัดกิฟู พื้นที่ตรงกลางระหว่างโตเกียวและเกียวโตของญี่ปุ่น สำหรับการเดินทางไปจากในกิฟูเองก็ไกลนิดหนึ่งคือต้องเดินจากสถานี Gifu JR ประมาณ 2 กิโลเมตร
Yusuhara Community Library (Kochi)
ไม่ว่าที่ไหนก็ลงทุนห้องสมุด แถมสร้างและออกแบบอย่างอบอุ่นสวยงาม จากเมืองใหญ่ไม่ว่าจะโตเกียว กิฟู โอซากะ อาคิตะ มาที่เมืองน้อยเช่นที่เมืองยูซูฮาระ ในจังหวัดโคจิ ภูมิภาคชิโกกุ เมืองยูซูฮาระเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเมืองกลางหุบเขาที่มีประชากรไม่ถึง 4,000 คน โดยในเมืองน้อยนี้ก็มีห้องสมุดที่ไม่ธรรมดา คือห้องสมุดชุมชนของเขานั้นออกแบบอย่างสวยงามโดยล้อกับความเป็นป่าด้วยสถาปัตยกรรมไม้ และที่สำคัญ ออกแบบโดย เคนโกะ คุมะ อีกแล้ว
ห้องสมุดชุมชนแห่งเมืองยูซูฮาระนี้ถือว่าสวยงามไม่แพ้ห้องสมุดในเมืองใหญ่ ตัวอาคารเน้นโครงสร้างไม้ โดยเฉพาะลูกเล่นที่เพดานที่ออกแบบให้เป็นแท่งทิ่มลงมาจากด้านบนโดยมีแรงบันดาลใจพื้นที่ที่รายล้อมด้วยป่า เส้นสายของไม้ที่พุ่งลงนั้นก็คล้ายกับแสงแดดที่ลอดผ่านกิ่งใบของต้นไม้ในป่าใหญ่ ตัวเพดานนี้เป็นจุดเด่นที่ทั้งมีความเป็นธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็มีความแปลกประหลาดผิดธรรมชาติจากการพุ่งลงของไม้ด้วย ห้องสมุดขนาดไม่ใหญ่นี้ก็มีองค์ประกอบคล้ายกับห้องสมุดของญี่ปุ่นที่ใช้อุปมาของป่า ของไม้ ใช้วัสดุธรรมชาติที่เน้นความอบอุ่น และเป็นตัวแทนของการเรียนรู้
สำหรับเมืองยูซูฮาระนั้นค่อนข้างต้องตั้งใจไปหน่อย คือค่อนข้างไกล แค่จังหวัดโคจิก็ไม่ค่อยคุ้นแล้ว แต่หลักๆ คือต้องเดินทางจาก Kochi Station มีรถบัสวิ่งไปถึงเมืองใช้เวลานั่งประมาณ 3 ชั่วโมง ตัวห้องสมุดอยู่กลางเมือง อันที่จริงเมืองน้อยบนภูเขานี้ถือว่ามีสถาปัตยกรรมร่วมสมัยฝีมือ เคนโกะ คุมะ อีกหลายแห่ง ห้องสมุดเปิด 9.00–20.00 โดยปิดให้บริการทุกวันอังคารและศุกร์สุดท้ายของเดือน
House with Small Library (Tottori)
ส่งท้ายด้วยจังหวัดทตโตริ อีกหนึ่งจังหวัดที่มีรายการท่องเที่ยวพาไปบ่อยๆ โดยเฉพาะรายการเซไฮย์ ของพี่ติ๊ก กัญญารัตน์ ทตโตริเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่คนนิยมไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ นั่งรถไฟจากโอซากะประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับห้องสมุดสุดท้ายเป็นโปรเจกต์น่ารักๆ คือเป็นบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดทตโตริ ที่มีการปรับปรุงโดยบริษัท Hiroshi Kinoshita and Associates สตูดิโอออกแบบท้องถิ่น ตัวงานออกแบบนี้เป็นงานบ้านพักอาศัยส่วนตัว ด้วยความที่เจ้าของรักการอ่านก็เลยออกแบบพื้นที่ชั้น 1 เป็นห้องสมุดสาธารณะให้คนได้เข้ามานั่งอ่าน แลกเปลี่ยนหนังสือ และทำกิจกรรมร่วมกัน
บ้านสองชั้นจากคอนกรีตที่เรียบง่ายและสวยงามนี้จึงมีความหมายเป็นพิเศษ คือมีการเปิดพื้นที่บ้านจากพื้นที่ส่วนตัว เชื่อมต่อเข้าไปถนนและชุมชน ตัวห้องสมุดได้รับการออกแบบโดยคล้ายกับมีอ่างวงกลมชนาดใหญ่ซึ่งใช้สำหรับนั่งเล่น เป็นพื้นที่กว้างๆ ที่ด้านในของตัวห้องสมุดนั้นก็จะสามารถเปิดเป็นสตูดิโอ เป็นพื้นที่พบปะ จัดงานต่างๆ ของชุมชนได้
สำหรับห้องสมุดจิ๋วนี้ ด้วยความที่เป็นโปรเจกต์รีโนเวตบ้านพักอาศัยส่วนตัวก็เลยไม่มีรายละเอียดสถานที่ตั้งว่าอยู่ที่ไหนของทตโตริ แต่แนวคิดเรื่องการเปิดพื้นที่เป็นพื้นที่สาธารณะ การเชื่อมต่อเข้าหาชุมชน ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจของการอยู่อาศัยในเมือง
อ้างอิงข้อมูลจาก