ห้องสมุดแบบไหนที่คุณอยากเข้าใช้งาน?
มีหนังสือเยอะๆ หลากหลายประเภท – นี่อาจเป็นคำตอบที่ผุดขึ้นมาในใจของใครหลายคนเป็นข้อแรก แน่นอน ห้องสมุดควรจะมีหนังสือหลากหลาย กว้างขวาง และเป็นหนังสือสำหรับทุกคน ทั้งหนังสือ non-fiction ที่อัดแน่นไปด้วยความรู้หลายแขนง หนังสือการ์ตูนทั้งตะวันออกและตะวันตก หนังสือนิยาย คู่มือ ไปจนถึงหนังสือเสียง และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
แต่ห้องสมุดในเมืองเวลลิงตันของประเทศนิวซีแลนด์ไม่ได้มีแค่นั้น มันยังเป็นพื้นที่จัดอีเวนต์ของชุมชน ให้บริการยืมหนังสือฟรีครั้งละร้อยกว่าเล่มโดยไม่ต้องมีค่าสมาชิก รวมถึงไม่คิดค่าปรับจากการยืมหนังสือเกินเวลาด้วย
ทั้งหมดนี้เพื่อเป้าหมายเดียว
นั่นคือ การทำให้ผู้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น
ห้องสมุดเมืองเวลลิงตันมีอะไร
“ต่อให้ไม่ได้เป็นพลเมืองของประเทศนี้ คุณก็สามารถสมัครสมาชิกห้องสมุดของเราได้นะ” คำกล่าวจากบรรณารักษ์ในห้องสมุดเมืองเวลลิงตัน หลังได้ยินคำถามของเราว่า เราไม่ใช่พลเมืองนิวซีแลนด์ แต่สามารถยืมหนังสือได้ไหม?
เรื่องราวเริ่มต้นจากการเดินสุ่มเข้าไปในห้องสมุดเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านมิรามาร์ (Miramar) แห่งเวลลิงตัน (Wellington) เมืองหลวงของประเทศนิวซีแลนด์ บรรยากาศเรียบง่ายรายล้อมด้วยหนังสือหลากหลายหมวด โซนนั่งเล่นและโต๊ะสำหรับทำงาน บอร์ดหน้าทางเข้ามีใบประกาศมากมายเกี่ยวกับอีเวนต์ต่างๆ และจุดให้คำแนะนำ พร้อมด้วยเครื่องสแกนการยืมหนังสือ
เราก้าวเข้าไปด้วยความไม่คาดหวัง เพียงต้องการฆ่าเวลาด้วยการหาสถานที่ที่ฟรี Wi-fi เท่านั้น แต่พอลองเข้าไปสำรวจแล้วก็เลยถือโอกาสเดินดูหนังสือไปด้วย จบลงที่การเจอหนังสือถูกใจและนั่งอ่านอยู่หลายชั่วโมง
แม้คำตอบที่ได้จากบรรณารักษ์จะชวนให้ดีใจ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แบบนี้จะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมอะไรหรือเปล่า?
คำตอบคือ ไม่มีค่าสมัครสมาชิกหรือค่าธรรมเนียมบัตรห้องสมุดแต่อย่างใด เพียงแค่มีเบอร์โทรศัพท์ของนิวซีแลนด์และหลักฐานที่อยู่ ก็สามารถสมัครสมาชิกห้องสมุด เพื่อเข้าถึงหนังสือหลายหมื่นเล่มในระบบ หรือหนังสือ eBooks อีกมากกว่า 15,000 เล่ม นอกจากนี้ เรายังสามารถยืมหนังสือเสียง (Audiobook) นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ (eMagazine) ฐานข้อมูลออนไลน์ ทรัพย์สินทางดิจิทัล (digitised heritage) ดีวีดีภาพยนตร์ ไปจนถึงแผ่นเสียงได้อีกด้วย
โดยแต่ละครั้ง เราสามารถยืมหนังสือได้สูงสุด 150 เล่ม แต่ละเล่มจะมีระยะเวลาในการยืมประมาณ 40 วัน และเมื่ออ่านจบแล้ว ก็สามารถนำไปคืนที่ห้องสมุดเมืองสาขาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสาขาที่เราไปยืมหนังสือเล่มนั้นมา ซึ่งห้องสมุดเมืองเวลลิงตันนี้มีด้วยกันทั้งสิ้น 36 สาขา กระจายอยู่ในแทบทุกย่านของเมือง
หรือถ้าหนังสือที่เราอยากยืม ไม่ได้อยู่ในสาขาที่เราสะดวกไป ก็สามารถสั่งจองหนังสือให้มาส่งที่สาขาที่เราเข้าใช้บริการเป็นประจำได้ และหากหนังสือเล่มนั้นเป็นที่นิยมมากๆ มีคนยืมอ่านอยู่ตลอด ก็สามารถกดจองคิว ต่อแถวรอยืมหนังสือได้ โดยเราสามารถเลือกสาขาที่ต้องการไปรับหนังสือได้อีกด้วย ซึ่งเมื่อถึงคิวของเรา ก็จะมีการแจ้งเตือนทางอีเมลหรือ SMS เพื่อให้เราไปรับหนังสือที่จองไว้
ขณะเดียวกัน ที่ห้องสมุดแต่ละสาขายังมีจุดบริการคอมพิวเตอร์และเครื่องปริ้นท์เอกสารให้ใช้แบบไม่เสียเงิน แต่ก็จำกัดเวลาและจำนวนกระดาษที่ใช้นะ
ยิ่งกว่านั้น แต่ละสาขาจะมีโซนสำหรับเด็กจัดสรรเอาไว้โดยเฉพาะ แยกห่างจากโซนอื่นๆ ไม่มาก ไม่ได้เป็นห้องเก็บเสียง โซนสำหรับเด็กนี้มีไว้เพื่อให้เหล่าพ่อแม่สามารถพาเด็กๆ มาอ่านหนังสือได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้แยกเด็กออกไปให้แปลกแยกจากพื้นที่อื่นๆ ของห้องสมุด
ในสาขาที่เพิ่งเปิดใหม่และมีพื้นที่กว้างขวางหน่อย อย่าง Te Awe Library ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองในย่านธุรกิจ ก็จะมีโซนคาเฟ่ในห้องสมุด มีก๊อกน้ำให้ดื่ม และมีพื้นที่จัดสรรกิจกรรมประจำสัปดาห์อย่างกว้างขวางด้วย บางครั้งก็มีกลุ่มพ่อแม่พาลูกวัยแรกเดินมาทำกิจกรรมเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงลูกร่วมกัน ไม่ก็เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเขียนให้คนในชุมชน
ทำห้องสมุดให้เป็นมิตร คือคีย์ของการให้คนเข้าใช้บริการ
สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของระบบห้องสมุดที่นี่ก็คือ ‘ไม่มีค่าปรับจากการยืมหนังสือเกินเวลากำหนด’
ใช่แล้ว อ่านไม่ผิดหรอก แม้จะมีจำกัดเวลาในการยืมหนังสือ แต่ห้องสมุดเมืองเวลลิงตันทั้งหลายก็มีนโยบายว่าจะไม่เก็บเงินค่าปรับจากการยืมหนังสือเกินเวลาที่กำหนด โดยมีที่มาจากสมาชิกสภาเมืองเวลลิงตัน ที่อนุมัตินโยบายปลอดค่าปรับฉบับใหม่ และเริ่มปรับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2022
เดิมที หากเรายืมหนังสือเกินเวลา ระบบจะคิดค่าปรับและบัตรห้องสมุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ในการยืม-จองหนังสือ ก็จะใช้การไม่ได้ จนกว่าเราจะจ่ายค่าปรับ แต่เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงห้องสมุดและหนังสือได้มากขึ้น นโยบายนี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา
อย่างไรก็ดี หากเราไม่คืนหนังสือนานเป็นเวลา 30 วัน จะถือว่าของที่เรายืมไปนั้น ‘สูญหาย’ ซึ่งหากไม่คืนหนังสือภายใน 30 วัน จะมีการคิดค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนสินค้า และบัตรห้องสมุดจะถูกระงับจนกว่าจะชำระค่าธรรมเนียมหรือคืนหนังสือ
“เราต้องการให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล การอ่าน และการเรียนรู้
ผ่านห้องสมุดของเราอย่างยุติธรรมและเข้าถึงได้ง่าย”
คำกล่าวจาก ลอว์รินดา โทมัส (Laurinda Thomas) ผู้จัดการห้องสมุดและพื้นที่ชุมชน ซึ่งอธิบายต่อด้วยว่า ค่าปรับที่ค้างชำระนั้นส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินได้ มีหลายครอบครัวที่หยุดยืมสิ่งของเพราะกลัวว่าจะต้องเสียค่าปรับ แม้จะเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยในสายตาของคนอีกกลุ่ม แต่บางครอบครัวไม่สามารถจ่ายไหว
“หัวใจสำคัญของวิสัยทัศน์ห้องสมุดเรา คือการเข้าถึงสำหรับทุกคน และการยกเลิกค่าปรับจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้คนให้สามารถมาเข้าใช้ห้องสมุดของเราได้ ง่ายๆ แค่นั้นเอง!”
ลอว์รินดาย้ำด้วยว่า ด้วยนโยบายใหม่นี้ เธอคาดหวังว่าผู้คนที่เคยหยุดใช้บริการห้องสมุดไป จะหวนกลับมาใช้บริการที่แห่งนี้อีกครั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น รายงานเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมายังพบว่า มีผู้คนมาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้นเป็นจำนวน 6.5% จากปีก่อนๆ โดยผลการสำรวจระบุว่า ผู้ใช้บริการห้องสมุดมองว่า ห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรมากขึ้น เมื่อไม่มีการคิดค่าปรับ และสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม ขณะที่ฝั่งบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดทั้งหลายก็รู้สึกดีขึ้น เมื่อไม่ต้องคอยพูดคุยเรื่องค่าปรับกับผู้ใช้บริการ
“การยกเลิกค่าปรับที่ค้างชำระเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในทั่วโลก เพราะห้องสมุดต่างๆ ต้องจัดการกับสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดความอัปยศของการที่ไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมคืนหนังสือล่าช้าได้ ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมการอ่านไปด้วย” ลอว์รินดากล่าว
เรื่องของการไม่คิดค่าปรับจากการคืนหนังสือล่าช้านั้น เป็นประเด็นถกเถียงมาสักพักใหญ่แล้ว อย่างในสหรัฐฯ เอง ก็เคยมีการโหวตในบรรดาบรรณารักษ์ ซึ่งผลโพลของผู้ที่ร่วมโหวตกว่า 500 ท่าน มีถึง 72% ที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับคืนหนังสือล่าช้า เพราะผู้ใช้บริการห้องสมุด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเด็กๆ จากครอบครัวยากจน
องค์ประกอบทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยให้ห้องสมุดเมืองเวลลิงตันกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น โดยไม่มีค่าบริการใดๆ
ไม่ให้แค่ห้องอ่านหนังสือ แต่คือพื้นที่ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง
การอ่านหนังสือมีประโยชน์มากมายมหาศาล เรื่องนี้คงไม่ต้องย้ำกันให้มากความ มันคือประตูสู่โลกอีกใบที่เราสามารถสัมผัส เรียนรู้ ซึมซับ และได้ประสบการณ์ร่วมจากตัวอักษรเหล่านั้น
แต่ห้องสมุดไม่ได้มีประโยชน์แค่เป็นพื้นที่เก็บหนังสือ ยิ่งได้สัมผัสเหล่าห้องสมุดในเมืองเวลลิงตัน ยิ่งทำให้เข้าใจว่า มันเป็นพื้นที่สำหรับทุกครั้ง เราลองใช้บริการหลากหลายสาขา มักมีขาประจำมาเข้าใช้บริการห้องสมุดที่สาขานั้นๆ อยู่เสมอ โดยมากเป็นผู้สูงวัยในวัยเกษียณ บางคนเข้ามาอ่านหนังสือพิมพ์ในเวลาเดิมๆ ของทุกวัน บางคนจะเดินเข้าห้องสมุดมาเพื่อทักทายทุกคนในห้องสมุดราวกับเป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาได้พบปะผู้คน หรือบางทีก็เป็นเหล่านักท่องเที่ยวแบ็กแพคเกอร์ที่เข้ามาใช้คอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อมูลหรือทำเรซูเม่ไปสมัครงานชั่วคราว
หรือถ้าหากพูดถึงแง่ของการให้ความรู้ ห้องสมุดยังมีความเกี่ยวข้องกับการคัดลอกสื่อเพื่อการวิจัยหรือการศึกษาส่วนตัวด้วย ผู้คนจำนวนมากไม่อาจซื้อหนังสือทุกเล่ม หรือจ่ายค่าทีวีโชว์ หรือวารสารทุกรายการ เพื่อเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ อีกทั้ง ห้องสมุดยังสามารถให้ผู้คนใช้บริการคัดลอกงานที่มีลิขสิทธิ์บางอย่างเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาได้ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ห้องสมุดยังเป็นแหล่งเก็บข้อมูลเก่าแก่ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่อาจหาที่อื่นบนโลกนี้ไม่ได้แล้ว บริการของห้องสมุดจึงเป็นที่พึ่งพาสำหรับใครหลายคน
ตัวอย่างที่จะช่วยให้เห็นภาพว่าห้องสมุดทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นขนาดไหน คือเรื่องราวของ วิลเลียม คัมแควมบา (William Kamkwamba) ผู้เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นเกษตรกรอาศัยอยู่ในเมืองคาซังกู ตอนกลางของสาธารณรัฐมาลาวี ซึ่งต้องเผชิญกับวิกฤตฝนแล้ง และเป็นพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แต่เมื่อเขายืมหนังสือเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ให้กำเนิดพลังงานจากห้องสมุดท้องถิ่น หนังสือเล่มนั้นก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน ทั้งยังทำให้เครื่องสูบน้ำสามารถปั๊มน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นมาใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย วิลเลียมได้ทุนไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาจนจบปริญญาตรี และกลับมาพลิกโฉมหมู่บ้านที่เคยแร้นแค้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ
นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นว่า การเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้นั้น สำคัญขนาดไหน
หากไม่อยากให้การเข้าหนังสือ กลายเป็นพริวิลเลจของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่มีเงินซื้อหนังสือทุกเล่มที่พวกเขาต้องการ การลงทุนลงแรงพัฒนาห้องสมุดในพื้นที่ต่างๆ ให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย คือแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างสังคมรักการอ่านขึ้นมาได้ และอย่างที่เล่าไปว่า ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเพื่ออ่านหนังสือเท่านั้น ห้องสมุดยังควรเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ที่โอบรับคนทุกกลุ่มอีกด้วย
การสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับทุกคนนี่แหละ คือก้าวหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม
อ้างอิงจาก