ไม่รู้ว่ามีใครคิดเหมือนกันหรือเปล่า แต่ช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ผมรู้สึกว่าหนังสือแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่าใส่ตะกร้า 2-3 เล่มก็เสียเงินเหยียบพันแบบไม่ทันตั้งตัว ที่น่ากลัวกว่านั้นคือหนังสือเล่มเล็กๆ บางจ๋อยความยาวร้อยหน้านิดๆ ที่สนนราคาร่วม 200 บาท อาจนับเป็นความบันเทิงที่ราคาแพงกว่าเดินเข้าโรงหนังเพราะเราสามารถอ่านจบทั้งเล่มได้ในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงด้วยซ้ำ
แม้หนังสือจะราคาขึ้น แต่รายได้ของประชาชนคนไทยกลับแทบไม่ก้าวไปข้างหน้า โดยตลอดระยะเวลา 8 ปีระหว่าง 2556-2564 รายได้ครัวเรือนซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติขยับจาก 25,000 บาท เป็น 27,000 บาทเท่านั้น หากหักกลบลบกับอัตราเงินเฟ้อก็แทบไม่เหลืออะไร ส่วนค่าแรงขั้นต่ำก็แทบจะถูกแช่แข็ง เพราะกว่าจะปรับเพิ่มสักทีก็ต้องรออย่างน้อย 2-3 ปี แถมยังขึ้นทีละ 10-20 บาท ซึ่งแทบไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อหนังสือราคาหลักหลายร้อย
ราคาหนังสือที่ค่อนข้างแพงแต่ค่าแรงที่ไม่ค่อยขยับทำให้คนจำนวนไม่น้อยถอยห่างออกจากโลกการอ่าน มองหาความบันเทิงราคาประหยัดอย่างสารพัดแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับดูหนังฟังเพลงหรือเกมส์มือถือแบบ free-to-play แล้วเจียดเงินเอาไว้ใช้สำหรับสารพัดค่าใช้จ่ายจำเป็น
ในวาระงานสัปดาห์หนังสือได้กลับมาจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง หลังจากระหกระเหินเปลี่ยนสถานที่จัดงานไปหลายปี ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้แกะกล่องหาคำตอบว่าทำไมหนังสือในไทยถึงราคาแพง พร้อมกับแนวทางแก้ไขปัญหาที่ควรจะขยับจากฟากรัฐบาล
หนังสือไทยทำไมแพงจัง?
The Matter เคยเล่าเรื่องราวโครงสร้างต้นทุนหนังสือเมื่อ 5 ปีก่อน ปัจจุบัน เท่าที่ผมลองสอบถามข้อมูลก็พบว่าโครงสร้างดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ โดยผมจะแบ่งผู้เล่นเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือสายส่งและร้านหนังสือซึ่งผมขอเรียกรวมๆ ว่า ‘พ่อค้าคนกลาง’ ที่นำสินค้าไปส่งมอบให้ถึงมือลูกค้า และสำนักพิมพ์ซึ่งในสมการนี้คือ ‘ผู้ผลิต’ สินค้า
ถ้าหนังสือเล่มหนึ่งราคาปก 200 บาท พ่อค้าคนกลางจะขอส่วนแบ่งไป 90 บาท แต่ความเป็นจริงอาจได้น้อยกว่านั้นหากมีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ส่วนสำนักพิมพ์จะกำเงินส่วนที่เหลือคือ 110 บาทเดินทางกลับออฟฟิศ
แต่เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเพราะหนังสือไม่ได้เสกมาจากอากาศ คู่หูคู่ใจและเจ้าหนี้รายใหญ่ของสำนักพิมพ์คือโรงพิมพ์ที่ทำการเปลี่ยนไฟล์ให้เป็นรูปเล่มสวยงาม สำนักพิมพ์จะต้องจ่ายค่าพิมพ์หนังสือให้โรงพิมพ์ราว 40 บาท ก่อนจะเดินทางมาเจอกับด่านสุดท้ายที่ดักอยู่หน้าประตูคือเหล่านักเขียนและนักแปลที่มาต่อคิวรับส่วนแบ่งไปอีก 20 บาท
เงินก้อนสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ราว 50 บาทจะถูกนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับบรรณาธิการ นักออกแบบปก นักพิสูจน์อักษร และนักจัดรูปเล่ม รวมถึงค่าบริหารจัดการและค่าการตลาด สิ้นปีสำนักพิมพ์ก็จะเหลือกำไรไม่ถึง 10% ของราคาปกเพื่อจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น
แม้ว่าการตัดสินใจตั้งราคาปกหนังสือจะอยู่ในมือสำนักพิมพ์ซึ่งมีข้อมูลค่าใช้จ่ายทุกอย่างอยู่ในมือ แต่การขึ้นราคาหน้าปกก็ไม่ได้หมายความว่าสำนักพิมพ์จะมีกำไรเพิ่มเป็นกอบเป็นกำ เพราะพ่อค้าคนกลางรวมถึงนักเขียนนักแปลจะได้ส่วนแบ่งผันแปรไปตามราคาปก นั่นหมายความว่ายิ่งตั้งราคาปกแพง ส่วนแบ่งก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ปัญหาหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือไม่กี่ปีมานี้ ราคากระดาษในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่า 30% ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น ตัวเลขนี้นับว่ามหาศาลเพราะในอดีตเยื่อกระดาษไม่ใช่สินค้าที่ราคาผันผวนมากเท่าไหร่ แต่การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้กระดาษเพิ่มขึ้นแบบพุ่งกระฉูด ขณะที่ฝั่งอุปทานมีปัญหาเพราะโรงงานหลายแห่งต้องหยุดทำการหรือปิดตัวลง
สงสัยไหมครับว่าการระบาดของ COVID-19 เกี่ยวอะไรกับราคาเยื่อกระดาษ ผมแนะนำให้ลองมองไปรอบๆ บ้านแล้วสังเกตนะครับว่าช่วง 2-3 ปีให้หลังมีสินค้าอะไรบ้างที่เรากดสั่งจากโลกออนไลน์ สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องหุ้มห่อด้วยกล่องกระดาษอีกชั้นหนึ่ง เทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลกเพราะทุกคนต่างไม่อยากเสี่ยงออกจากบ้าน สร้างแรงกดดันในตลาดเยื่อกระดาษและส่งผลกระทบมายังอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากตัวอย่างหนังสือราคาปก 200 บาท ถ้าต้นทุนการพิมพ์เพิ่มขึ้น 10 บาท เป็น 50 บาท ราคาปกหนังสือไม่ได้ขึ้นแค่ 10 บาทนะครับ เพราะหากสำนักพิมพ์ยังต้องการรายได้เท่าเดิมจะต้องตั้งราคาปกที่ 222 บาทเป็นอย่างต่ำ เนื่องจากส่วนแบ่งของพ่อค้าคนกลางและนักเขียนจะผันแปรไปตามราคาปกนั่นเอง
ส่วนใครที่สงสัยว่าทำไมสำนักพิมพ์ไทยจึงตัดสินใจไม่กระโดดเข้าสู่ตลาดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก (e-book) จะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องค่าพิมพ์ ผมขอชวนให้มาเที่ยวชมเว็บไซต์อีบุ๊กในไทยจะได้เห็นว่าหนังสือยอดนิยมส่วนใหญ่จะเป็นนวนิยายโรมานซ์เป็นหลัก ต่างจากตลาดหนังสือเล่มที่หมวดความรู้ทั่วไปจะได้รับความนิยมสูงกว่า คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่ากลุ่มเป้าหมายของตลาดหนังสือเล่มและตลาดหนังสือดิจิทัลค่อนข้างจะแตกต่างกัน
ปัจจุบันทั้งร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ก็อยู่ในสถานการณ์ไม่สู้ดีนักเพราะตลาดสื่อสิ่งพิมพ์กำลังอยู่ในช่วงขาลง การขยับเพื่อปรับราคาจากฝั่งเอกชนคงดำเนินการได้ยาก หากรัฐบาลมองเห็นความสำคัญของการอ่านก็ควรยื่นมือเข้ามาช่วยในวันที่กลไกตลาดทำงานได้ไม่เต็มที่
รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาอย่างไร?
หนังสือคือผลิตภัณฑ์ที่พิเศษโดยจัดอยู่ในหมวดหมู่สินค้าวัฒนธรรม ประเทศส่วนใหญ่ต่างก็ต้องการให้ประชาชนอ่านหนังสือ เพราะการอ่านนอกจากจะช่วยสร้างความสุขให้กับตนเองแล้วยังช่วยยกระดับสังคมในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านการศึกษาหรือยกระดับการอ่านออกเขียนได้ หนังสือจึงสร้างคุณค่าต่อสังคมมากกว่าราคาที่ปรากฏอยู่บนปกซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐควรเข้ามาสนับสนุน
เครื่องมือยอดนิยมของภาครัฐในการสนับสนุนสินค้าหมวดศิลปะวัฒนธรรมคือนโยบายด้านภาษี อาทิ การลดหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประเทศไทยเองก็ยึดถือแนวทางนี้ทำให้ราคาปกของหนังสือลดลงราว 10% ส่วนอีกมาตรการของไทยที่เคยใช้คือการนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหนังสือมาใช้ลดหย่อนภาษี แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ก็หนีไม่พ้นผู้มีรายได้สูงซึ่งคงไม่ได้เดือดร้อนนักกับหนังสือราคาแพง
นอกจากมาตรการภาษี ภาครัฐก็สามารถสนับสนุนแบบตรงไปตรงมาในรูปของเงินให้เปล่า แต่ผมคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้สักเท่าไหร่ เพราะศิลปะที่รัฐจะอนุมัติเงินสนับสนุนย่อมเป็นผลงานอวยรัฐหรือสะท้อนอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับอุดมคติของรัฐบาลซึ่งไม่ต่างจากการใช้เงินภาษีประชาชนสำหรับผลิตโฆษณาชวนเชื่อของรัฐฉบับ soft power นั่นเอง
ถ้าอย่างนั้นให้รัฐกำหนดหนังสือเป็นสินค้าควบคุม
แล้วมีคณะกรรมการคอยตั้งเพดานราคาเลยดีไหม?
รับรองเลยว่าหายนะแน่นอนครับ หนังสือแต่ละเล่มมีอัตลักษณ์และกลุ่มผู้อ่านของตนเอง การพยายามกำหนดราคาแบบเสื้อฟรีไซซ์นอกจากจะทำลายความหลากหลายของตลาดหนังสือ ยังกระทบต่อการเลือกผลิตหนังสือของสำนักพิมพ์ที่จะกลายเป็นการมองหาเฉพาะ ‘หนังสือขายดี’ โดยไม่ต้องการเสี่ยงผลิตหนังสือที่ ‘ควรค่าแก่การอ่าน’ ซึ่งอาจไม่ถูกจริตนักอ่านชาวไทย
อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าเรากำลังเดินมาถึงทางตันโดยรัฐบาลดำเนินการทุกอย่างเท่าที่จะทำได้แล้ว แต่เดี๋ยวก่อน หากเราลองปรับมุมมองสักนิดเราอาจมองเห็นว่าทางออกของปัญหาหนังสือราคาแพงอาจอยู่ที่การพัฒนาห้องสมุดให้ดีและเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น
คำตอบที่ห้องสมุด
หนังสือเป็นสินค้าพิเศษเพราะความจริงแล้วหน้ากระดาษเป็นเพียงสื่อกลางส่งมอบเนื้อหาที่ถูกบีบอัดอยู่ในรูปตัวอักษร เมื่อหนังสือถูก ‘บริโภค’ สภาพสื่อกลางอาจผุกร่อนเพียงเล็กน้อยแต่เนื้อหาใจความยังอยู่ครบถ้วนเช่นเดิม (หากคนอ่านไม่ได้เอาหนังสือไปทารุณกรรม) การส่งเสริมการอ่านจึงไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนมีหนังสือที่บ้าน แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
คำตอบก็ไม่ยากครับ เพียงรัฐทุ่มทุนพัฒนาห้องสมุดสาธารณะซึ่งไม่จำเป็นต้องใหญ่โตโอ่อ่า แต่ประชาชนในละแวกใกล้เคียงสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีหนังสือให้บริการ พร้อมกับระบบสืบค้นและระบบยืมคืนระหว่างเครือข่ายห้องสมุดที่ใช้งานได้จริง เพียงเท่านี้หนังสือแพงก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะคนจำนวนมากสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท
สหพันธ์ห้องสมุดนานาชาติ (The International Federation of Library Associations) และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) คือตัวตั้งตัวตีสำคัญในการรณรงค์เรื่องห้องสมุดในระดับโลก พร้อมกับแนะวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ เช่น การเสนอให้แต่ละประเทศควรจะมีกฎหมายห้องสมุดสาธารณะ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะเป็นโครงสร้างสำคัญเพื่อให้ห้องสมุดมีมาตรฐานและเป้าหมายเดียวกัน พร้อมทั้งมีแหล่งเงินทุนที่ต่อเนื่องและชัดเจน นอกจากนี้การบริหารจัดการห้องสมุดต้องโปร่งใสและเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมโดยภาครัฐมีบทบาทหลักคือสนับสนุนเท่านั้น
สวีเดนคือหนึ่งในประเทศที่มีโครงข่ายห้องสมุดสาธารณะแข็งแกร่งที่สุด โดยมีการออกกฎหมายห้องสมุดสาธารณะตั้งแต่ปี 2540 ที่บังคับให้เทศบาลท้องถิ่น 290 แห่งจัดตั้งและจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับห้องสมุดสาธารณะในชุมชน พร้อมทั้งมีห้องสมุดระดับภูมิภาคอีก 20 แห่งที่จะช่วยห้องสมุดขนาดเล็กในการจัดการเรื่องระบบยืมหนังสือระหว่างห้องสมุด และส่งเสริมทักษะของเหล่าบรรณารักษ์ โครงสร้างดังกล่าวจะมีการกำกับดูแลโดยสภาวัฒนธรรมแห่งชาติของสวีเดน
ห้องสมุดของสวีเดนบริหารจัดการโดยอิงจากสถิติ เช่น การยืมคืนหนังสือซึ่งนับเป็นดัชนีชี้วัดหนึ่งในการพิจารณาเพิ่มหรือลดงบประมาณของแต่ละห้องสมุด บางแห่งก็มีการพัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมาเอง เช่น จำนวนการใช้บริการห้องสมุดต่อประชากรทั้งหมด ความพึงพอใจของผู้มาใช้บริการ ความสดใหม่ของคอลเล็กชั่นหนังสือที่มีในห้องสมุด หรือช่วงเวลาที่เปิดให้บริการสอดคล้องกับเวลาที่ประชาชนต้องการใช้บริการหรือไม่ ทำให้ห้องสมุดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
หันกลับมามองที่ประเทศไทย เราไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานกลางที่คอยกำหนดแผนและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาห้องสมุด แต่ละแห่งจึงพัฒนาไปคนละทิศละทาง บ้างอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม บ้างอยู่ภายใต้การดูแลของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย บ้างก็ได้รับเงินทุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างกรุงเทพฯ การเดินไปข้างหน้าจึงไม่เป็นขบวน
แม้หลายคนจะมองว่าห้องสมุดเป็นเรื่องล้าสมัยเพราะสมัยนี้ใครๆ ก็ค้นหาข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ตกันทั้งนั้น แต่ยอมรับเถอะครับว่าคนจำนวนไม่น้อยต่างโหยหาพื้นที่สาธารณะที่เหมาะแก่การนั่งทำงาน สืบค้นข้อมูล หรือพบปะพูดคุย หากสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ใครๆ ก็นัดกันไปห้องสมุด แต่ในวัยทำงานเรากลับต้องวิ่งหาร้านกาแฟ หรือจ่ายเงินใช้บริการ co-working space
คงจะดีกว่าหากเรามีพื้นที่สาธารณะที่สะดวก เข้าถึงง่าย และตอบโจทย์ชีวิตของคนยุคใหม่ พื้นที่ซึ่งเราสามารถเข้าไปใช้งานแล้วอาจได้หนังสือติดไม้ติดมือกลับมาอ่านที่บ้านสักเล่มสองเล่มโดยไม่ต้องเสียเงิน ขณะที่อุตสาหกรรมหนังสือก็ยังเดินหน้าไปต่อได้เพราะได้แรงหนุนจากการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด
คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่าทางออกของปัญหาหนังสือแพงนั้น ‘อยู่ที่ห้องสมุด’ ส่วนจะมีโอกาสเป็นจริงมากน้อยขนาดไหน คงต้องหวังพึ่งเสียงจากเหล่าผู้รักการอ่านทุกท่านที่อยากอ่านหนังสือดีๆ โดยไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายหลายพันบาททุกปี
อ้างอิงจาก