เพิ่งจะมีคนลงทะเบียนครบ 10 ล้านคน ไปเป็นที่เรียบร้อย กับมาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ ในเฟสแรก ใครตื่นมาสแกนหน้าและกดรับทัน พอทุกอย่างเสร็จสรรพจะได้รับเงิน 1,000 บาท ไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งถือว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ในระดับนึง ตามห้างร้านเองก็ดูคึกคัก คนรอต่อแถวซื้อของกันยาวเหยียด
ภายใต้บรรยากาศการออกมาใช้เงินที่กระเตื้องขึ้นมาบ้าง ชิมช้อปใช้ คือมาตรการที่รัฐบาลใช้งบประมาณถึง 10,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ซบเซา สนับสนุนให้คนเอาเงินที่ได้มาไปกระจายให้กับการท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ และเมื่อมีคนลงทะเบียนครบแล้ว สิ่งที่น่าติดตามต่อไปคือ ชิมช้อปใช้ จะได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่รัฐบาลคาดไว้ไหม? คุ้มรึเปล่ากับ 10,000 ล้านบาท ที่เสียไป?
เพื่อหาคำตอบและแนวโน้มผลกระทบจากมาตรการนี้ The MATTER เดินทางไปถึงธรรมศาสตร์ โดยนั่งคุยกับ ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และขอให้ช่วยวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพของนโยบาย ชิมช้อปใช้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะออกมาให้เห็น และข้อกังวลในอนาคต จากมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์
แต่ไม่ต้องพูดอะไรให้มากความ อาจารย์บอกกับเราเลยว่า มาตรการ ชิมช้อปใช้ จะทำให้รัฐบาลและประเทศไทยขาดทุน แถมยังไม่ใช่การขาดทุนธรรมดา แต่เป็นการขาดทุนถึงสามเด้ง! พอเปิดมาแบบนี้ก็นับว่าน่าสนใจ และน่าตกใจในเวลาเดียวกัน เพราะแทนที่เราจะได้ประโยชน์จากมาตรการ ดันกลายเป็นว่าเราเสียประโยชน์ไปซะอย่างนั้น
อาจารย์ภาวินยังเสริมอีกว่า ถ้าเอา ชิมช้อปใช้ ไปเทียบกับอย่างอื่นก็จะทำให้เราเห็นความสำคัญของงบประมาณ 10,000 ล้านบาท เข้าไปอีก เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ลองไปฟังกันเลยว่า อะไรคือความกังวลของอาจารย์ต่อ ชิมช้อปใช้ ซึ่งระหว่างทางอาจมีการใช้คำศัพท์เฉพาะอยู่บ้าง แต่เรารับรองว่าไม่ยากจนเกินความเข้าใจ
อยากทราบความเห็นของอาจารย์ต่อมาตรการ ชิมช้อปใช้
อย่างแรกเนี่ย ผมคิดว่ามาตรการ ชิมช้อปใช้ เป็นมาตรการที่ทั้งรัฐบาลและประเทศไทยขาดทุนสามเด้งเลย อีกประเด็นผมจะพูดถึงขนาดมาตรการ ที่ผมคิดว่า มันแล้วแต่ว่าเรามองเทียบกับอะไร ถ้ามองเทียบกับบางอย่างมันดูเล็ก แต่มองเทียบกับบางอย่างมันดูใหญ่ ซึ่งผมจะลองเปรียบเทียบกับบางเรื่องให้ดู
ช่วยอธิบายหน่อยว่าทำไมขาดทุนถึงสามเด้ง
ผมมองว่า มาตรการมูลค่า 10,000 ล้านบาทนี้ รัฐบาลจะขาดทุน เนื่องจากว่า ตัวคูณทางการคลัง ซึ่งจะเป็นตัวที่คล้ายๆ กับบอกถึงระดับการหมุน หรือการเพิ่มค่าการใช้จ่ายทางด้านการคลังของประเทศต่างๆ ในโลกปัจจุบันเราน่าจะยอมรับว่ามันอยู่ที่ค่าที่ต่ำกว่า 1 ซึ่งค่าที่ยอมรับในฝั่งวิชาการจะอยู่ที่ 0.7
ความหมายของค่าตัวคูณที่ต่ำกว่า 1 คืออะไร
ก็คือ ถ้ารัฐบาลใช้ออกมา 1 บาท มันจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจได้ 70 สตางค์แค่นั้นเอง ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่า เวลาเราเปรียบเทียบผลกระทบจากการใช้มาตรการทางการคลัง เราต้องเปรียบเทียบในกรณีที่มีมาตรการ กับกรณีที่ไม่มีมาตรการ
ในกรณีไม่มีมาตรการ ถ้าไม่มีรายได้จากเงิน ชิมช้อปใช้ 1,000 บาท คนก็อาจจะต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว อาจจะไปท่องเที่ยว หรือว่าใช้จ่ายในการซื้อของ สมมติ เขาใช้จ่ายอยู่ที่ 1,500 บาท ในหนึ่งรอบสัปดาห์หรือหนึ่งรอบเดือน ยังไง 1,500 บาท ก็จะลงไปสู่เศรษฐกิจอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่มันไม่มีมาตรการ ชิมช้อปใช้
ทีนี้พอมีมาตรการ ชิมช้อปใช้ แล้วได้เงินเพิ่มไปอีก 1,000 บาท คนส่วนใหญ่ที่ปกติมีสติสตางค์โดยสมบูรณ์เนี่ย จะไม่เพิ่มระดับการใช้จ่ายตัวเองไปเป็น 2,500 บาท คือระดับการใช้จ่ายจะมีความเหมาะสมกับพฤติกรรม หรือว่าการใช้ชีวิตในประจำวันอยู่แล้ว 1,000 บาท ที่เพิ่มขึ้นมาก็เหมือนกับได้ส่วนลดหรือได้เงินโดยไม่ตั้งใจ เช่นในเดือนนี้มีแผนช้อปปิ้งอยู่ที่ 10,000 บาท เราจะซื้อสบู่หนึ่งขวด แชมพูหนึ่งขวด อาหาร 30 จาน การมีเงินเพิ่มมาอีก 1,000 บาท ก็เหมือนกับเป็นส่วนลดของค่าใช้จ่ายที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เราจะไม่เพิ่มสบู่เป็นสองขวดแล้วใช้ให้หมดในเดือนนั้น ข้าวอาจจะเพิ่มเป็น 35 – 40 จาน แต่ว่าเราไม่เพิ่มให้มันมากเกินไป ไม่เพิ่มให้เท่ากับจำนวน 1,000 บาท
ถ้าลองไปสัมภาษณ์คนส่วนใหญ่ หรือดูข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เนี่ย เขาบอกว่า ชิมช้อปใช้ มันจะช่วยให้เขาประหยัดขึ้น ประหยัดขึ้นหมายความว่า เงิน 1,000 บาท มันทำให้จากเดิมที่จะต้องใช้จ่ายเงินตัวเอง 1,500 อาจจะลดลงเหลืออยู่ที่ 700 – 800 บาท พอบวกกับเงิน 1,000 บาท ก็อาจจะกลายเป็น 1,700 -1,800 บาท ที่แต่เดิมเขาใช้อยู่ 1,500 ตั้งแต่ยังไม่มีมาตรการ
ดังนั้น มาตรการ ชิมช้อปใช้ ที่จะทำให้เขาประหยัดขึ้นเนี่ย มันเลยส่งผลต่อเศรษฐกิจ ถ้าเทียบกับสองกรณี <กรณีมีและไม่มีมาตรการ> แล้วเนี่ย มันเพิ่มขึ้น 300 – 400 บาทแค่นั้นเอง ในรอบแรกนะครับ ในรอบถัดไปเราก็จะต้องคำนวณเฉพาะแค่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมา นั้นก็คือ เพิ่มขึ้นมา 300 – 400 บาท แต่มันจะเอาไปวนได้อีกกี่รอบ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มันดูไม่ค่อยดีในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีคนอยากใช้จ่าย
เพราะรายได้ในอนาคตยังไม่เห็นเลย แล้วจะให้มาใช้จ่ายเพิ่มเติมจากเงินที่ได้มาเพิ่ม 300 – 400 บาท เขาไม่ใช้จ่ายกันอยู่แล้ว ดังนั้น ส่วนใหญ่ก็จะประเมินกันว่า เงิน 1 บาท ที่ออกมาจากมาตรการรัฐจะเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจประมาณ 70 สตางค์ แค่นั้นเอง ก็คือมันจะไปเบียดการใช้จ่ายปกติของคนให้ลดลงไป ทำให้แต่ละคนรู้สึกดี เพราะว่าประหยัด หมายความว่าค่าใช้จ่ายตัวเองลดลง เหลือเงินออมมากขึ้น
นี้แค่ขาดทุนในเด้งแรก แล้วการขาดทุนระดับต่อไปล่ะ
ขาดทุนเด้งที่สองเนี่ยเป็นเพราะว่า สถานการณ์ของรัฐบาลไทยในปัจจุบันคือเราไม่ได้มีเงินเหลือเกินดุลนะครับ เรากู้ยืมเงินมา คือรัฐบาลใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ ในช่วงหลังๆ การเกินดุลในแต่ละปีมันอยู่ที่ประมาณ 3 – 4 แสนล้านบาท แต่การเกินดุลก็ไม่สามารถบอกได้ เหมือนที่นายกฯ กล่าวแถลงการณ์ในสภาว่า โครงการนี้จะเอาเงินมาจากส่วนไหน มันบอกไม่ได้ บอกได้แค่ว่า รายได้ทั้งหมดของรัฐบาลจัดเก็บได้ส่วนหนึ่ง แล้วก็จะเอาหนี้เงินกู้มาส่วนหนึ่ง เพื่อเอาไปใช้จ่ายในโครงการทั้งหมด หมายความว่าเงิน 10,000 ล้านบาทที่รัฐบาลใช้ใน ชิมช้อปใช้ เนี่ย ถ้าไม่ใช้ เราก็กู้น้อยลง 10,000 ล้านบาท ถ้าตัดสินใจใช้ก็เท่ากับเพิ่มเงินกู้ 10,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้เกิดต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปอีกในปีถัดๆ ไป เพราะว่ายังไม่มีท่าทีว่ารัฐบาลจะสามารถใช้หนี้สาธารณะได้อย่างรวดเร็วในเร็ววันนี้แน่ๆ ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นสำหรับประเทศไทยในอนาคต
ถึงแม้จะไม่ได้บอกว่าเอามาจากการก่อหนี้
แต่เลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่ามันเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดหนี้เพิ่มขึ้น
นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ของประเทศไทยที่ตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากร คือประชากรวัยแรงงานของเราจะหดลง ในขณะที่คนสูงอายุของเราจะเพิ่มขึ้น ความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาลซึ่งต้องเก็บภาษีจากคนทำงานจะมีศักยภาพลดลง แต่ความต้องการบริการและสวัสดิการของผู้คน ของคนแก่เนี่ย จะต้องการเยอะขึ้น ทั้งรักษาพยาบาล ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต ยังมองภาพไม่ออกเลยว่า ในอนาคตรัฐบาลจะปรับตัวยังไงให้สามารถลดการใช้จ่าย แล้วเพิ่มรายได้ให้อยู่ในระดับสมดุล เพราะว่าสถานการณ์ปัจจุบันเรายังขาดดุลอยู่ แล้วเรามาขาดดุลกับมาตรการที่คล้ายกับ ชิมช้อปใช้ เพิ่มเติมมาทุกปี มันเป็นความสูญเสีย
และผมมองว่ามันมีการขาดทุนเด้งที่สามเกิดขึ้น ก็คือ มาตรการลักษณะ ชิมช้อปใช้ มันเป็นมาตรการที่มีความซับซ้อน หรือว่าต้องการการเรียนรู้ของผู้คนในระดับหนึ่ง ถ้าเทียบกับตอนที่ไม่มีมาตรการ ทุกคนก็ไม่ต้องมาใช้เวลา ไม่ต้องมานั่งเรียนรู้เงื่อนไข ไม่ต้องตื่นนอนตีสามตีสี่มาลงทะเบียน ไม่ต้องมาจัดการนู่นนี่ สแกนหน้าอะไรแบบนี้ พวกนี้มันเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คือว่า ถ้าไม่มีมาตรการ คนก็ไม่ต้องทำ แทนที่เขาจะเอาเวลาไปพักผ่อน แทนที่เขาจะเอาเวลาไปเรียนรู้เรื่องอื่นที่อาจจะมีประโยชน์กับเขาในอนาคต เขาเสียเวลามาทำเรื่องนี้ บางทีต้องไปต่อคิว มาตรการ ชิมช้อปใช้ มันคือการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยสูญเสียเป็นส่วนที่สาม
โดยความเห็นส่วนตัวก็คือ ประเทศและรัฐบาลไทยขาดทุนในสามเด้งเลย
พอเห็นว่าขาดทุนขนาดนี้ แล้วตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจะเป็นอย่างที่รัฐบาลหวังอยู่ไหม
มูลค่าของมาตรการ 10,000 ล้านบาทเนี่ย ถ้าเปรียบเทียบกับ GDP <ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ> ของประเทศไทย ที่ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 16 – 17 ล้านล้านบาท มันน้อยมาก สมมติมาตรการนี้สามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย 10,000 ล้านบาท เทียบกับมูลค่า GDP ปี พ.ศ.2561 จะเป็น 0.05% แค่นั้นเอง มันจะเพิ่มน้อยมากๆ ที่ประมาณกันว่าจะช่วยเพิ่ม GDP ให้ถึง 3 – 4% บางทีมันส่งผลกระทบน้อยมากๆ เลย และเราก็ไม่รู้จะพยายามดัน GDP ของปีนี้ให้ถึง 3% ไปทำไมในเมื่อมันเป็นนโยบายที่สูญเสีย ดันปีนี้เสร็จปุ๊บ แล้วปีหน้าจะเป็นยังไง มันก็ไม่มีผลประโยชน์อะไรที่จะต่อเนื่องไปถึงอนาคตเลย เป็นนโยบายที่เหมือนกับจ่ายแล้วก็ทิ้งไปเลย เพื่อให้ปีนี้ถึง 3%
ให้ GDP ถึง 3% แล้วมันดียังไง นี่แหละคือคำถาม
จากที่พูด ผมก็รู้สึกว่า เราทุ่มเททรัพยากรให้กับการทำอะไรที่เกิดความสูญเสียค่อนข้างเยอะ และมาตรการลักษณะนี้ มันเพื่อกระตุ้น GDP ของปีนี้เท่านั้นเอง ซึ่ง GDP ที่เพิ่มขึ้นก็เชื่อว่าไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย มีผลระยะสั้นๆ มากๆ ด้วย ไม่มีผลระยะยาวเลย ไม่ได้สร้างให้ผู้คนทำงานเก่งขึ้น มีความอดทนมากขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องพวกนี้เลย ไม่เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันที่เกิดขึ้นกับต่างประเทศ เราใช้แล้วก็หมดไป
แต่เพิ่งผ่านไปแค่เฟสแรก เห็นว่าเฟสสองจะช่วยลดหย่อนภาษีด้วย
ถ้าหากรูปแบบคล้ายๆ กัน เพียงแต่เป็นมาตรการลดหย่อนภาษี ผมคิดว่าผลกระทบจะแย่ยิ่งกว่าเฟสแรก เพราะอย่างแรก ตัวคูณด้านภาษีมักอยู่ในระดับต่ำกว่าตัวคูณด้านการใช้จ่ายของรัฐบาล และสอง ผลประโยชน์ของมาตรการจะกระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มผู้เสียภาษี ซึ่งผมคิดว่าเป็นกลุ่มที่มีฐานะดีในประเทศนี้
เราคงเลี่ยงไม่ได้ว่า ชิมช้อปใช้ คือนโยบายประชานิยม
มันจะเป็นนโยบายในเชิงประชานิยมเนี่ยแหละ จะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม มันก็เป็นนโยบายที่แจกเงิน คนก็ชอบ แต่ว่ามันไม่ได้ส่งผลดีในระยะยาว ไม่เหลืออะไรทิ้งไว้ในระยะยาวเลย และอาจจะสร้างปัญหาในการเสพติดมาตรการลักษณะนี้ในอนาคตด้วย ผู้คนก็คาดหวังว่าปีหน้าจะมีอีกรึเปล่า แล้วก็จะรอคอยมาตรการลักษณะแจกเงินแบบนี้
แล้วทำไมรัฐบาลถึงเลือกใช้ในช่วงนี้
มันก็คึกคัก คนชอบ แจกเงินใครจะไม่เอา ภาคธุรกิจก็น่าจะชอบเพราะว่ามันสร้างความคึกคักให้กับระบบเศรษฐกิจได้ในระดับนึง มันซบเซามากเลยปีนี้ อยู่ดีๆ มีมาตรการให้คนออกมาจับจ่าย ใช้สอยมากขึ้น ภาคธุรกิจก็จะชอบอยู่แล้ว จะได้ประโยชน์ ไม่ได้ประโยชน์ไม่รู้ แต่สภาพแวดล้อมคึกคัก
แต่ว่าอันนี้มันไม่ใช่นโยบายที่มุ่งไปที่คนจน เพราะว่าใครก็สามารถที่จะลงทะเบียนได้ และคนที่ได้สิทธิมันไม่ใช่คนจนด้วย เพราะว่าต้องเน็ตแรง ต้องตื่นตีสี่ มีความสามารถในการใช้ไอทีในระดับนึง คนจนๆ แก่ๆ ไม่ค่อยรู้เรื่องไอทีไม่มีทางเข้าถึงนโยบายลักษณะแบบนี้เลย แต่มันก็ดีตรงที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนรวย
ถ้าไม่ใช่ ชิมช้อปใช้ 10,000 ล้านบาท เอาไปทำอะไรได้บ้าง
ถ้าเปรียบเทียบกับนโยบายอื่น 10,000 ล้านบาท มันไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอดทนเก็บเงิน 10,000 ล้านบาท จากนโยบายลักษณะนี้สี่ปี เท่ากับ 40,000 ล้านบาท เราสร้างรถไฟฟ้าได้เกือบหนึ่งเส้น แล้วมันคงทนถาวร มันสามารถช่วยลดต้นทุนในการเดินทาง ลดต้นทุนในโลจิสติกของประเทศ คนสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น ลดปัญหารถติดได้ในระดับหนึ่ง มันช่วยลดความศูนย์เสียที่เกิดในเศรษฐกิจได้อย่างยาวนาน
อย่างมูลค่าส่วนต่อขยายทางยกระดับบรมราชชนนี อยู่ที่ประมาณ 6,000 – 7,000 ล้านบาท เทียบต่อขยายไปถึงศาลายา จากปัจจุบันสุดอยู่ที่สายสองกึ่งสายสาม มันคือ 6,000 ล้านบาท ที่จะยืนยาวต่อไปในอนาคตอีกไม่รู้กี่ปี
ผมเปรียบเทียบต่อไปอีกว่า ถ้า 10,000 ล้านบาท รัฐบาลเอาไปใช้ในลักษณะเดียวกับที่พี่ตูนวิ่งระดมทุนเพื่อเอาไปซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเนี่ย ผมคิดว่า พี่ตูนวิ่งจากยะลาถึงเชียงใหม่ได้เงินบริจาคไม่ถึง 10,000 ล้านบาท รึเปล่า? แต่ถ้ารัฐบาลเอาเงินจำนวนนี้ไปให้กับโรงพยาบาล 30 โรงพยาบาล หรือจะกี่โรงพยาบาลที่พี่ตูนวิ่งให้ มันมีประโยชน์มากกว่าที่จะกระตุ้นให้คนไปใช้จ่ายท่องเที่ยว แล้วก็หมดไปในแต่ละวัน
การซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาล มันยังคงทนอยู่ในโรงพยาบาลไปอีกไม่รู้กี่ปี อย่างน้อย 5 – 6 ปี ก่อนที่มันจะเสื่อมสภาพไป มันช่วยรักษาผู้คนให้มีสุขภาพอนามัยดีขึ้น สามารถไปทำงานได้ดีขึ้นในจำนวนมหาศาลเลย ชิมช้อปใช้ ใช้เงินหมด 1,000 แล้วเกิดผลอะไรต่อไปในระยะยาวเนี่ย มันมองไม่เห็นเลย
ผมเทียบกับอีกโครงการนึง เป็นโครงการที่จริงๆ จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลนี้ ก็คือ โครงการมารดาประชารัฐ โครงการนี้จะแจกเงินให้กับมารดาผู้มีบุตรเดือนละ 600 บาท ไปถึงหกปี งบประมาณที่รัฐบาลประมาณขึ้นมาจากโครงการนี้อยู่ที่ 1,600 – 1,700 ล้านบาท แต่ว่า มารดาประชารัฐ ถ้ามองจากมุมมองของคนจน 600 บาทมันมีคุณค่าอย่างมากเลย มันคือค่ารถที่พาลูกไปฉีควัคซีน เพราะคุณแม่ที่ออกมาเลี้ยงลูกก็ไม่มีรายได้ ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่มีเงินเก็บ ก็จะลำบาก
โครงการในลักษณะ มารดาประชารัฐ ผลักดันกันมาประมาณ 7 – 8 ปี แต่มีมูลค่าทั้งหมด 1,600 ล้านบาท เทียบกับ ชิมช้อปใช้ 10,000 ล้านบาท
คือประเทศไทยเราไม่ใช่ประเทศรวยนะครับ และเราไม่สามารถที่จะใช้จ่ายงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยได้ เรายังมีการใช้จ่ายของภาครัฐที่จำเป็นต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่อีกเยอะมาก ผมยกตัวอย่างไม่หมด มันยังพูดได้ไม่รู้จบเลยว่าเรายังขาดแคลนในส่วนไหนอีก
เราจะทำให้ทุกคนเห็นความเชื่อมโยงของเงินที่ตัวเองได้ ภาษีที่ตัวเองจ่าย กับนโยบายรัฐยังไง
ผมไม่รู้มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของคนไทยรึเปล่า คือเราจะเคยได้ยินข่าวว่า สวิตเซอร์แลนด์มีโครงการที่รัฐบาลจะแจกรายได้ฟรีๆ ให้กับทุกคน <universal basic income> เดือนนึงประมาณ 80,000 บาท แต่ว่านโยบายนี้ถูกโหวตคว่ำโดยประชาชน คือเขาไม่เอา ผมไม่คิดว่าความคิดของคนต่างกัน ความคิดคนมันน่าจะคล้ายๆ กัน แต่ว่าการตัดสินใจของคนน่าจะอยู่ที่สภาพแวดล้อม หรือโครงสร้างของพวกเรามากกว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ทำงานแล้วต้องเสียภาษี และรู้สึกว่าตัวเองต้องเสียภาษีเพื่อให้รัฐบาลเอาไปใช้จ่าย แต่รัฐบาลเอาไปใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่าย ผมว่าคนจะโหวตไม่เอานโยบายเหล่านั้น
กรณีกลับกัน ถ้าผู้คนไม่รู้สึกว่าตัวเองเสียภาษี ซึ่งจริงๆ ทุกคนเสียภาษี แต่ภาษีบางตัวจะไม่ทำให้คนรู้สึก เช่น ภาษี VAT เราจ่ายโดยที่เราไม่รู้สึกว่าเราจ่ายภาษี ไม่เหมือนภาษีเงินได้ที่เรายื่นแบบแล้วต้องจ่ายเพิ่ม เพราะเห็นตัวเลขชัดและเป็นเงินก้อนใหญ่ มันอยู่ที่ความรู้สึกว่า เราได้เสียภาษี เราเป็นเจ้าของเงินภาษีรึเปล่า ถ้าเรารู้สึกว่าเป็นเจ้าของเงินภาษี เราอาจจะมีพฤติกรรมคล้ายคนสวิตเซอร์แลนด์ ที่โหวตไม่เอานโยบายสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาว
จริงๆ ลองไปถามคนในรัฐบาลที่เสียภาษีก็ได้ว่า ถ้ามีมาตรการ 3 – 4 มาตรการ ให้เขาเลือก เช่น เอาเงินไปช่วยเหลือคุณแม่ลูกอ่อน เอาเงินไปซื้ออุปกรณ์พยาบาล กับเอาเงินไปให้เพื่อนบ้านใช้เพิ่มอีก 1,000 บาท เขาจะเลือกมาตรการแบบไหน ถามเฉพาะคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานะ
คือต้องทำให้คนรู้สึกว่า เงินที่รัฐบาลเอามาใช้คือเงินที่เอามาจากกระเป๋าพวกเรานี่แหละ ถ้าเปลี่ยนจากรูปแบบการเก็บภาษีปกติเป็นว่า เราไม่ต้องจ่ายภาษี เราสมทบกองทุนของนโยบายแต่ละนโยบายแทน และลองเปิดโอกาสให้คนติ๊กเลือก อย่างเช่นระหว่าง กองทุนชิมช้อปใช้ กองทุนจัดหาอุปกรณ์ให้กับโรงพยาบาล กองทุนบริจาคให้บ้านเด็กยากไร้ สมมติคนไม่ต้องเสียภาษีนะ บริจาคเข้าไปเลย ว่าอยากจะบริจาคให้กับกองไหนบ้าง ผมเชื่อว่าถ้าให้คนที่เสียภาษีตัดสินใจเองเนี่ย เขาจะไม่ตัดสินใจเลือกนโยบาย ชิมช้อปใช้
ผมพูดแบบนี้ ถ้าพี่ตูนบอกว่าจะวิ่งเพื่อมาแจกใครก็ได้คนละ 1,000 บาท ให้เอาไปเที่ยวต่อเนี่ย มันไม่มีใครบริจาค ถ้าพี่ตูนวิ่งเพื่อจะเก็บเงินไปบริจาคต่อให้กับโรงพยาบาล บริจาคให้เด็กยากไร้ ยังไงก็มีคนบริจาค