คุณอาจจะเคยคิดว่า เรื่องของเศรษฐกิจ การทำมาหากิน การลงทุน และผลประโยชน์เป็นเอกลักษณ์ที่พบเจอเฉพาะในมนุษย์ แต่ที่ไหนได้! นักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งกาจอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างที่เรียบง่ายที่สุด และอาจไม่มีหัวสมองไปคิดเรื่องกำไรขาดทุนด้วยซ้ำ แต่ก็ดันไม่เคยทำธุรกิจเจ๊ง!
การซื้อขาย ต่อรอง แลกเปลี่ยน เป็นกิจกรรมที่คุณทำอยู่ทุกวัน (หรือบางคนก็ทำทุกวินาที นั่งดูหุ้นวิ่งขึ้นวิ่งลงไปมา) อดัม สมิธ (Adam Smith) ผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวสกอตแลนด์ จรดประโยคหนึ่งในหนังสือสำคัญระดับโลกของเขา ความมั่งคั่งของประชาชาติ (The Wealth of Nations) ว่า
เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้น ไม่สามารถพบเห็นกิจกรรมนี้ได้ในสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ
เอาเข้าจริง อดัม สมิธ น่าจะ ‘คิดผิด’ อยู่สักหน่อย แต่ก็ต้องเปิดใจให้กับรัฐบุรุษท่านนี้ เพราะแกเขียนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1776 ซึ่งรสนิยมการมองโลกยังอยู่ภายใต้กรอบที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง สัตว์อื่นๆ ล้วนมีชั้นวรรณะต่ำกว่า รวมทั้งเรายังไม่เข้าใจพฤติกรรมที่ซับซ้อนตามธรรมชาติของพวกมันได้ดีพอ
ไม่แปลกที่จะเกิดแนวคิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์มาอย่างยาวนาน ใครเล่าจะจัดการ supply และ demand ได้ดีเท่าเรา ไหนจะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด คงมีเพียงสัตว์ที่มีมันสมองชั้นเลิศแบบมนุษย์ถึงจะทำอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลได้เช่นนี้
แต่เมื่อมนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทักษะด้านเศรษฐศาสตร์คงไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นของมนุษย์เพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น มันต้องมีรากฐานมาจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่แชร์คุณสมบัตินี้ร่วมกัน หากเราลองมองไปไกลกว่าตัวเอง อาจจะช่วยทำให้เห็นว่า อาณาจักรสัตว์เองก็ทำธุรกิจกันคับคั่งไปหมด พวกมันอาจค้าขายแลกเปลี่ยนได้เก่งกาจ มีสัญชาตญาณนักลงทุนยิ่งกว่ามนุษย์นักลงทุนที่เป็นเหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟ (ทีคุณลงทุนแล้วเจ๊งแท้ๆ ก็ยังไปโทษแมงเม่าอีกแน่ะ!)
มีเศรษฐศาสตร์ในธรรมชาติ
หากเรามองในมุมของธรรมชาติ มีหลักฐานมากมายที่ชี้ชัดว่า เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และสามารถบริหารจัดการในระดับละเอียดอ่อนได้ ดังนั้นหากจะมองเศรษฐศาสตร์ในโลกธรรมชาติ อาจจะต้องทำความเข้าใจ ‘การร่วมมือกัน’ (cooperation) ก่อน นักชีววิทยา Toby Kiers จากมหาวิทยาลัย Free University Amsterdam กล่าวว่า การร่วมมือกันเป็นรูปแบบการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานที่สุด และเป็นเรื่องน่าขันที่มนุษย์มักคิดว่าการเรียน MBA จะทำให้เข้าใจแก่นแท้ของเศรษฐศาสตร์
ถ้าคุณยังเชื่อว่าธรรมชาติให้ความสำคัญกับการแข่งขันดิ้นรน แล้วทำไมเราถึงร่วมมือกันแต่แรก?
ในปี 1994 นักพฤติกรรมสัตว์ Ronald Noë และ Hammerstein เฝ้าสังเกตการณ์บาบูนฝูงหนึ่งในประเทศเคนยา ระหว่างช่วงผสมพันธุ์ ซึ่งทราบกันว่าบรรยากาศมักตึงเครียดเนื่องจากมีการแข่งขันสูง บาบูนที่แข็งแกร่งกว่าจะมีสิทธิเข้าถึงบาบูนเพศเมียที่มีจำนวนน้อยกว่า ทำให้บาบูนหนุ่มๆ ต้องสร้างพันธมิตรชั่วคราวขึ้นมาโดยการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันภายในเพื่อให้พวกพ้องของตัวเองมีความเข้มแข็งพอจะเอาชนะบาบูนจ่าฝูงและมีโอกาสผสมพันธุ์
นักวิจัยพบว่าพฤติกรรมของสัตว์ที่มีการแลกเปลี่ยนกันนั้นคล้ายคลึงกับกิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ของมนุษย์ จึงได้นำเสนอทฤษฏีที่ชื่อว่า ‘Biological Markets’ ซึ่งเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่ต่างลำดับชั้น ต่างสายพันธุ์ โดยมีนัยของการเป็น ‘ผู้ค้า’ (trader) ที่แลกเปลี่ยนทรัพยากร อาหาร ที่หลบภัย หรือให้บริการต่างๆ เช่น ช่วยเตือนภัย ป้องกันภัย หรือช่วยกระจายเกสรเพื่อสืบพันธุ์ แต่กระนั้นสิ่งมีชีวิตที่จะทำการ trade กัน ล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยด้าน supply และ demand ของสภาพแวดล้อมในเวลานั้นๆ ด้วย
Ronald Noë และ Hammerstein เชื่อว่าทฤษฏีใหม่ที่พวกเขานำเสนอนั้นน่าจะมีการแลกเปลี่ยนแบบ ‘Biological Markets’ ในสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน และอาจทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมความร่วมมือในอาณาจักรสัตว์ต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย
ธุรกิจแบบปลาๆ
ในทะเลมีปลาที่น่าสนใจมากมาย ถึงมันจะตัวเล็กจิ๋ว แต่ชีวิตของปลาเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็ใช้หลัก ‘Biological Markets’ เพื่อดำรงชีวิต อย่าง ‘ปลาพยาบาล’ (Bluesteak Cleaner Wrasse) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของปลานกขุนทอง มันมีพฤติกรรมทำความสะอาดปลาตัวอื่นๆ โดยกินปรสิตที่เกาะตามตัวปลา ซึ่งมีคอนเซ็ปต์การแลกเปลี่ยนง่ายๆ คือ เมื่อลูกค้าตัวสะอาด ผู้ให้บริการก็อิ่มท้อง แต่ก็อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้บ้าง เมื่อบางครั้งปลาพยาบาลก็พยายาม ‘โกง’ โดยการแอบกินเมือกที่ปกป้องอวัยวะอันบอบบางของปลาอื่นๆ แทนที่จะกินปรสิตเพียงอย่างเดียว
นักวิจัยพยายามศึกษาลึกลงไปอีกว่า ปลาพยาบาลมีลูกค้าประเภทใดเข้ามารับบริการกำจัดปรสิตบ้าง ปรากฏว่า ลูกค้านั้นมีตั้งแต่แบบ ‘ขาจร’ (visitor) เช่น ปลานกแก้วที่แวะเวียนมาเป็นบางครั้งบางคราว และ ‘ขาประจำ’ (resident) อย่าง ปลานโปเลียน ปลาเจ้าถิ่นที่มักจะมาใช้บริการเจ้าปลาพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ
น่าสนใจตรงที่ทีมวิจัยพบว่า ลูกค้าขาจรกลับได้รับการปรนนิบัติจากปลาพยาบาล ‘ดีกว่า’ ปลาเจ้าถิ่นมาก ปลาพยาบาลกัดกินปรสิตด้วยความอ่อนละมุน ไม่แอบกัดเมือกของปลาเหล่านี้ เห็นได้ว่าปลาพยาบาลไม่คิดแอบโกงปลาขาจรเลย
แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลอย่างฉับพลันซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ El Niño ทำให้ปลาขาประจำลดจำนวนลง ซึ่งก็น่าสนใจอีกเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ เพราะปลาพยาบาลกลับไม่บริการให้ปลาขาจรอย่างที่เคยทำ แต่มันกลับดูแลปลาเจ้าถิ่นขาประจำที่บอบบางก่อนเป็นอันดับแรกอย่างมีนัย เหมือนบรรยากาศของตลาดที่เปลี่ยนไป ในยามคับขัน คนในก็จะได้รับการดูแลที่ดีกว่าคนนอก และรอจนกระทั่งประชากรของปลาเจ้าถิ่นกลับคืนมา ปลาขาจรจึงจะได้รับการปรนนิบัติที่ดีเช่นเคยอีกครั้ง
นักวิจัยถึงกับทึ่งว่า พลวัตของตลาดที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ก็มีนัยในธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตเองก็สามารถรับรู้ได้ พวกมันปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของตลาด แม้เศรษฐศาสตร์ของมนุษย์จะไม่เหมือนกับสัตว์เลยเสียทีเดียว แต่ก็แสดงให้เห็นว่าในระดับที่ละเอียดอ่อน สัตว์สามารถจัดการกับภาวะที่ทรัพยากรมีอย่างจำกัดได้ ซึ่งในหลายปีต่อมาทฤษฏี ‘Biological Markets’ ก็ยังพบใน ชิมแปนซี ลิงแม็กแค็ก พังพอน มด และผึ้ง ด้วยเช่นกัน
แต่ถ้า ‘Biological Markets’ เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีสมองเลยล่ะ?
ในตลาดใต้ดินยังมีนักค้าขายฝีมือฉกาจ ชื่อว่า ‘ไมคอร์ไรซา’ (Mycorrhiza) เป็นเห็ดราที่มักอาศัยอยู่ร่วมกันกับรากของพืช มีหน้าที่เปลี่ยนธาตุฟอสฟอรัสให้เป็นคาร์บอนเพื่อที่พืชจะได้รับน้ำและธาตุอาหารที่ต้องการ ในขณะเดียวกันไมคอร์ไรซาก็ได้รับสารอาหารที่จำเป็น เช่น น้ำตาล กรดอะมิโน และวิตามินจากพืชผ่านทางระบบราก นี่ถือเป็นตลาดที่มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างสัมบูรณ์ เพราะเจ้าไมคอร์ไรซาสามารถเชื่อมโยงกับรากพืชได้มากมายจนกลายเป็น ‘เครือข่าย’ ที่มีการเปลี่ยนคู่ค้ากันอยู่เสมอ ซึ่งไมคอร์ไรซานั้นสามารถเชื่อมโยงราก host ได้หลากหลายสายพันธุ์อย่างน่ามหัศจรรย์
ที่น่าตื่นเต้นคือ ไมคอร์ไรซา รู้ว่า “ใครไม่ควรทำธุรกิจด้วย”
แม้ไมคอร์ไรซาจะไม่มีสมอง แต่เมื่อราก host ที่ค้าขายด้วยไม่คู่ควรพอจะส่งธาตุอาหารฟอสฟอรัสให้ มันก็จะต่อรองโดยการเรียกร้องให้พืชส่งน้ำตาลและกรดอะมิโนมาให้มากกว่าเดิม ถึงจะยอมส่งฟอสฟอรัสไปให้ เหมือนดั่งธุรกิจนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศที่ต้องมีการอ่อนค่าหรือแข็งค่า เพื่อรักษาชั้นเชิงในการดำเนินธุรกิจไม่ให้เสียเปรียบกันมากเกินไปนัก
คุณจะกล่าวว่า สิ่งมีชีวิตนั้นมีเหตุมีผลในระดับเดียวกับมนุษย์ตามที่ อดัม สมิธ เคยกล่าวหรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับมาถามว่า อะไรคือความมีเหตุมีผล? กลยุทธ์การแลกเปลี่ยนอาจจะถูกฝังในวิถีแห่งวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ถ่ายทอดและปรับเปลี่ยนมานับล้านๆ ปี หาใช่เรื่องเกี่ยวกับการตระหนักรู้ไม่ เราอาจจะแสดงออกมาตามสัญชาตญาณที่ไม่ยืดหยุ่นนัก แต่ก็ถูกปรับจูนมาแล้วอย่างดี
แม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างง่ายที่สุดยังมีเศรษฐศาสตร์ในการดำเนินชีวิต มนุษย์นักลงทุนหลายคนที่ใช้วลี “สัญชาตญาณนักลงทุน” ก็คงไม่ได้ผิดความหมายนัก มันอาจทำให้เราตัดสินใจถูกบ้าง เจ๊งบ้าง แต่การลงทุนบนความไม่แน่นอนยังเป็นเรื่องของชีวิตที่ต่างคนต่างลงทุนในวิถีของตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Biological markets: supply and demand determine the effect of partner choice in cooperation, mutualism and mating
- A biological market analysis of the plant-mycorrhizal symbiosis.